จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เรียนธรรมะให้เข้าถึงใจ



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

099_destination

เคยรู้สึกบ้างไหมครับว่า เราอ่านหนังสือธรรมะหรือบทความธรรมะมาไม่น้อยแล้ว
แต่ก็ดูเหมือนว่ากุศลกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร และอกุศลกรรมไม่ได้ลดลงเท่าไร
บรรดากิเลสตัวโลภ โกรธ หลง ก็ยังคงมีอยู่เท่าเดิม ไม่เห็นจะลดลงเลย
นอกจากนี้ อ่านหรือฟังธรรมะแล้ว ก็ยังรู้สึกว่ามีคำถามหรือข้อสงสัยเกิดขึ้นมากมาย
บางคำถามก็หาคำตอบได้ (ได้คำตอบเป็นที่พอใจบ้าง หรือไม่เป็นที่พอใจบ้าง)
บางคำถามก็หาคำตอบไม่ได้ แถมไม่รู้ด้วยว่าควรจะไปหาคำตอบที่ไหน

หากใครรู้สึกว่าตนเองมีอาการทำนองนี้แล้ว ผมขอแนะนำว่าให้ลองตรวจสอบว่า
เราได้นำธรรมะที่ได้อ่านและศึกษานั้นไปประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่ธรรมหรือไม่
หากเราเอาแต่อ่านหนังสือหรือบทความธรรมะไปเรื่อย หรือฟังธรรมเทศนาไปเรื่อย
แต่ไม่ได้นำธรรมะที่ได้อ่านหรือได้ฟังเหล่านั้นไปประพฤติปฏิบัติตามสมควรแล้ว
ก็เป็นธรรมดาครับที่กุศลกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้น และอกุศลกรรมไม่ได้ลดลง
กิเลสทั้งหลายก็อยู่เท่าเดิม ไม่ได้ลดลงเลย
ในขณะที่ข้อสงสัยและคำถามต่าง ๆ ก็ยังเกิดขึ้นมากมาย

การเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า
เราสามารถเข้าถึงได้ในชั้นปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
การเข้าถึงในชั้นปริยัติก็คือ การได้อ่าน ได้ฟัง ได้เรียนจนเข้าใจ
และเกิดความเลื่อมใสหรือเคารพนับถือที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติตาม
การเข้าถึงในชั้นปฏิบัติก็คือ การนำพระธรรมคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ หากเราทำทาน ก็คือเข้าถึงทานในชั้นปฏิบัติ
หากเรารักษาศีล ก็คือเข้าถึงศีลในชั้นปฏิบัติ
หากเราทำสมาธิ ก็คือเข้าถึงสมาธิในชั้นปฏิบัติ
หากเราเจริญปัญญา ก็คือเข้าถึงปัญญาในชั้นปฏิบัติ
เมื่อได้ปฏิบัติไปแล้วเกิดผลคือ บรรลุธรรมในแต่ละขั้นตั้งแต่โสดาปัตติผล
ไปจนกระทั่งถึงขั้นอรหัตตผลก็คือเข้าถึงพระธรรมในชั้นปฏิเวธในแต่ละขั้น

ทีนี้ เวลาเราอ่านหรือฟังธรรมะจนจบ บางทีเราก็คิดว่าเราเข้าใจทั้งหมดแล้ว
แต่อันที่จริงแล้ว สิ่งที่อ่านหรือฟังไม่ได้เข้าไปที่ใจหรอกนะครับ แต่ว่ามันเข้าไปที่สมอง
ถามว่ากิเลสเกิดขึ้นที่สมอง หรือเกิดขึ้นที่ใจ
?
ยกตัวอย่างว่า เรารักคนอื่น ความรักเกิดขึ้นที่ใจหรือที่สมอง
?
เราโกรธคนอื่น ความโกรธเกิดขึ้นที่ใจหรือที่สมอง
?
เราเกลียดคนอื่น ความเกลียดเกิดขึ้นที่ใจหรือที่สมอง
?
เราอิจฉาคนอื่น ความอิจฉาเกิดขึ้นที่ใจหรือที่สมอง
?
เราโลภอยากได้โน่นได้นี่ ความโลภเกิดขึ้นที่ใจหรือที่สมอง
? เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ากิเลสคือโลภ โกรธ หลงนั้นเกิดขึ้นที่ใจนะครับ
ฉะนั้นแล้ว การที่จะล้าง หรือลดละกิเลสเหล่านี้ ก็พึงทำที่ใจด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่กระทำด้วยการไปล้างหรือลดละที่สมอง

เสมือนกับว่าเราเรียนว่ายน้ำ แต่ว่าเรียนโดยการฟัง และการอ่าน
แต่เราไม่เคยไปฝึกหัดว่ายน้ำด้วยตนเองจริง ๆ เลย เราก็ยังว่ายน้ำไม่เป็นอยู่ดี
และเมื่อเราเกิดไปตกน้ำ หรือจมน้ำเมื่อใดจริง ๆ แล้ว เราก็ว่ายไม่ได้อยู่ดี
หรือเราเรียนทำอาหาร แต่ว่าเรียนโดยการฟัง และการอ่าน
แต่เราไม่เคยไปทำอาหารด้วยตนเองจริง ๆ เลย เราก็ยังทำอาหารไม่เป็นอยู่ดี
และเมื่อเราต้องไปทำให้คนอื่นทานจริง ๆ เราก็ทำอาหารออกมาไม่ได้เรื่องอยู่ดีครับ
ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกันกับเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรมนะครับ
หากเราได้อ่านหรือได้ฟังว่า การเจริญเมตตาช่วยให้ลดความโกรธลงได้
แต่เราไม่ได้ฝึกหัดเจริญเมตตาจริง ๆ เลย
ลำพังเพียงอ่านหรือฟังนั้นก็ย่อมจะไม่ช่วยให้ความโกรธลดลง
หรือเราได้อ่านหรือได้ฟังว่า การเจริญอสุภกรรมฐานช่วยลดกามราคะลงได้
แต่เราไม่ได้ฝึกหัดเจริญอสุภกรรมฐานจริง ๆ เลย
ลำพังเพียงอ่านหรือฟังนั้นก็ย่อมจะไม่ช่วยให้กามราคะลดลง
จะเห็นได้ว่าลำพังเพียงการเรียนโดยการอ่านและการฟังธรรมะเข้าสู่สมองนั้น ยังไม่พอ
แต่จะต้องเรียนและศึกษาโดยการนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ธรรมะเข้าสู่จิตใจด้วย

ในเรื่องนี้ บางท่านอาจเคยได้ยินคำสอนของครูบาอาจารย์ ซึ่งท่านสอนว่า
“ธรรมะใดก็ไร้ค่า หากไม่ปฏิบัติ” หรือ “ธรรมะใดก็ไร้ค่า หากไม่ทำ”
ก็เนื่องด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันครับ

พระธรรมคำสอนในแต่ละเรื่องนั้น เช่น ทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ เจริญสติ เจริญปัญญา
เราย่อมไม่สามารถจะเข้าใจพระธรรมคำสอนเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้งได้
หากเราไม่นำไปประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง
เปรียบเสมือนว่าเรากำลังศึกษาเรื่องรสชาติมะม่วง
เราได้อ่านหรือได้ฟังว่ารสชาติของมะม่วงแต่ละพันธุ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น
แต่ว่าเราไม่เคยได้ทดลองชิมหรือทานมะม่วงพันธุ์ใด ๆ เลย
เราก็ย่อมจะไม่ทราบหรือไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่ารสชาติมะม่วงเป็นอย่างไรกันแน่
และรสชาติของมะม่วงแต่ละพันธุ์นั้นมีรสชาติแตกต่างกันอย่างไร
ต่อให้ใครมาอธิบายด้วยคำพูดยาวนานขนาดไหน ก็ไม่ทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งได้

ฉันใดก็ฉันนั้น เรื่องทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ เจริญสติ และเจริญปัญญานั้น
ก็ต้องอาศัยว่าเราต้องนำไปประพฤติปฏิบัติด้วย
จึงจะเห็นความก้าวหน้าในความรู้ความเข้าใจในธรรมะของเราเอง
จึงจะเห็นผลได้ว่ากุศลกรรมเพิ่มขึ้นเพียงไร อกุศลกรรมลดลงอย่างไร
และกิเลสลดลงเบาบางเพียงไร
และคำถามและข้อสงสัยต่าง ๆ ในพระธรรมคำสอนเหล่านี้ก็จะลดน้อยลง หรือหมดไป
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ใครทำใครได้ และใครไม่ทำก็ไม่ได้ครับ





แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP