จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๙๙ จิตอย่างไร ตายไปก็อย่างนั้น



จิตสวย จิตหล่อ จิตขี้เหร่ จิตเรียบ จิตยู่ยี่ จิตกล้า จิตขลาด จิตนิ่ง จิตฟุ้ง จิตสบาย จิตข้อง จิตขาว จิตดำ จิตกุศล จิตอกุศล ทุกคนรู้สึกได้ตลอดชีวิตว่ามีจริง เปลี่ยนได้เรื่อยๆจริง ทว่าด้วยความไม่รู้ จึงไม่อยากเชื่อว่าจิตเป็นอย่างไร ตายไปก็อย่างนั้น แถมยังเข้าข้างตัวเองว่า เคยมีรูปร่างหน้าตาและฐานะอย่างไร ถ้าชาติหน้ามีจริง ก็คงเป็นเหมือนเดิมอย่างนั้น

กรรมขาวสร้างจิตขาว กรรมดำสร้างจิตดำ เมื่อจิตแบบใดตั้งมั่นในขณะมีชีวิต หลังตายย่อมมีชีวิตใหม่สอดคล้องกัน ทั้งรูปร่างหน้าตา ฐานะ ความเป็นอยู่ และชะตาดีร้าย

ปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของจิต เห็นจิตแปรไปตามกรรม ทำให้จิตใสด้วยความฉลาดแบบพุทธ ส่วนโมหะยึดอยู่ว่าจิตเที่ยงที่จะเป็นตน ทำให้จิตขุ่นด้วยความไม่รู้แบบคนทั่วไป แม้เป็นคนดี มีจิตขาว ก็เป็นขาวขุ่น ไม่ใช่ขาวใส

อย่าช้าเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้อุบัติในทุกชาติที่เราเกิด ท่านเป็นผู้เดียวที่สอนวิธีรู้วาระจิตตนเองเพื่อให้เห็นว่าจิตไม่เที่ยง

เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ (คือ เมื่อติดใจรูปเสียงกลิ่นรสขึ้นมา ก็ให้มีสติยอมรับความจริงว่ามีราคะอ่อนๆ พอราคะหายไป ก็จะเห็นว่าจิตที่ปราศจากราคะเป็นอย่างไร)

เมื่อจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
เมื่อจิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
เมื่อจิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
เมื่อจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น เมื่อจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

เห็นความเป็นจิตของตนบ้าง เห็นความเป็นจิตของคนอื่นบ้าง
เห็นทั้งจิตตนและจิตคนอื่น (ว่าต่างกันอย่างไร) บ้าง
เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมรู้สึกว่าเดี๋ยวจิตก็เกิด เดี๋ยวจิตก็ดับ
กระทั่งเห็นทั้งความเกิดและความดับของจิตเป็นเรื่องธรรมดา
จึงเลิกยึดมั่นว่าจิตแบบใดแบบหนึ่งเป็นตนเสียได้
ที่ตรงนั้นจิตย่อมโปร่งเหมือนฟองสบู่ใสๆที่ไร้ความรู้สึกว่ามีตัวของตน
เห็นชัดว่าคติที่ไปทั้งสูงและต่ำไม่มี
นั่นเอง คือความดับทุกข์จากการเกิดและตายด้วยความไม่รู้เสียได้
หรือถึงแม้ยังไปถึงความดับทุกข์ไม่ได้ ทุกข์ย่อมลดลง
ทางแห่งทุกข์ย่อมสั้นลง ความลุ่มหลงติดใจเหตุแห่งทุกข์ย่อมน้อยลง
กับทั้งจะได้ยินดีในเส้นทางแห่งพุทธะสืบไป

ดังตฤณ
มีนาคม ๕๖


 

 


ใจคนเรานั้นเหมือนน้ำ ที่คอยแต่จะไหลลงต่ำตามแรงฉุดของกิเลส
ใครที่อยากทวนกระแสกิเลส ต้องไม่พลาดคอลัมน์ ดังตฤณวิสัชนา
ฉบับนี้ตอน วิธีฝึกใจให้เข้มแข็งไม่แพ้กิเลส

เรียนให้เข้าใจว่ายากแล้ว เรียนให้เข้าถึงนั้นยากกว่า
แต่ไม่ว่าจะยากอย่างไรผลตอบแทนก็คุ้มค่าหากเป็นการเรียนธรรม
ส่วนจะมีวิธีเรียนอย่างไรให้ได้ผล ติดตามจากคุณงดงามได้ในคอลัมน์ จุดหมายปลายธรรม
ตอน เรียนธรรมะให้เข้าถึงใจ

และใครที่กำลังน้อยใจตัวเองที่โชคชะตาไม่เคยเข้าข้าง
บทความจากคุณ Aims Astro ฉบับนี้จะทำให้คุณมีความสุขขึ้นอย่างแน่นอน
ติดตามได้ในคอลัมน์ โหรา (ไม่) คาใจ
ตอน สุขแท้เพราะแพ้เป็น ค่ะ


 




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP