จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ลาภอย่างยิ่ง



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

095_destination

มาถึงวันนี้ เราก็ได้ผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ไปอีกครั้งหนึ่งแล้วนะครับ
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านคงได้ให้และได้รับคำอวยพรกันไม่น้อย
หนึ่งในบรรดาคำอวยพรยอดนิยมก็คือขอให้มีสุขภาพดีหรือสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
แต่เราก็คงทราบนะครับว่า ลำพังเพียงคำอวยพรนั้นย่อมไม่สามารถทำให้เรามีสุขภาพดีได้
เราจะมีสุขภาพที่ดีได้ก็ต่อเมื่อ เราดูแลสุขภาพเราเองได้อย่างเหมาะสม
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเราได้รับคำอวยพรจากคนเป็นร้อย ๆ คนขอให้เรามีสุขภาพที่ดี
แต่หลังจากรับคำอวยพรเสร็จแล้ว เราก็ไปดื่มสุรา สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน พักผ่อนไม่เพียงพอ
ชอบคิดเรื่องเครียด ๆ ทานอาหารรสจัด ทานอาหารขยะ
(junk food)
ทานอาหารคอเลสเตอรอลสูง ๆ ทานขนมหวาน ทานเครื่องดื่มที่ทำให้เสียสุขภาพ ฯลฯ
กล่าวคือเราใช้ชีวิตตนเองไปในทางใด ๆ ที่ทำให้เสียสุขภาพนั่นแหละ
เช่นนี้แล้ว คำอวยพรก็ไม่สามารถช่วยให้สุขภาพเราดีได้ครับ

ฉะนั้นหากเราต้องการให้เป็นไปตามที่ได้รับคำอวยพรว่าให้เรามีสุขภาพดีแล้ว
เราพึงสนใจที่จะดูแลสุขภาพเราเองอย่างเหมาะสม
ขอให้สังเกตว่าผมมีคำว่า “อย่างเหมาะสม” ด้วยนะครับ โดยใช้ในความหมายกว้าง
ซึ่งหมายความรวมถึงว่า ถูกวิธี ถูกเวลา ถูกประเภท ถูกปริมาณ และถูกสุขลักษณะด้วย

สำหรับผมเองก็เพิ่งมาเริ่มสนใจศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพเมื่อไม่นานมานี้ครับ
พอได้มาใช้เวลาศึกษาจริงจังแล้ว ก็เพิ่งเข้าใจว่าความรู้เดิมที่ผมมีเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพนั้น
ไม่เพียงพอที่จะช่วยรักษาสุขภาพให้ดีได้ และยังเข้าใจผิดในหลาย ๆ เรื่อง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวผมเองไม่ได้สนใจที่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าที่ควร
โดยก็คิดแต่ว่าควรจะมุ่งสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม และสร้างกุศลไว้ก่อน
(และก็ทำงานหาเลี้ยงชีพและครอบครัวไปด้วย) ส่วนเรื่องสุขภาพก็เอาไว้ลำดับหลัง ๆ ก็ได้
เพราะเกิดแก่เจ็บตายก็เป็นเรื่องธรรมดาโลก ยังไง ๆ เราก็ต้องเจ็บและตายอยู่ดี

แต่ว่าพอผ่านประสบการณ์มาช่วงหนึ่ง (ทำนองว่าเริ่มเห็นโลงศพชัดเจนมากขึ้น)
ผมจึงเริ่มมีเข้าใจเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่ายังไง ๆ เราก็ต้องเจ็บและตายอยู่ดี
เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปเร่งให้มันเจ็บ และไม่มีความจำเป็นต้องไปเร่งให้มันตาย
จริงอยู่ว่า เรามุ่งสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม และสร้างกุศล
แต่หากปราศจากร่างกายเสียแล้ว เราก็ไม่สามารถศึกษาและปฏิบัติธรรม และสร้างกุศลได้
และหากเจ็บป่วยหนักแล้ว เราก็ศึกษาและปฏิบัติธรรม และสร้างกุศลได้ยากลำบากขึ้น
ในทางกลับกัน สุขภาพดีจะมีส่วนช่วยให้เราศึกษาและปฏิบัติธรรม และสร้างกุศลได้ง่ายกว่า
สุขภาพดีจะมีส่วนช่วยให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และมีเวลาที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมได้นานขึ้น
แต่ที่คุยเช่นนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าผมบอกว่าจะต้องรอในอนาคตนะครับ
โดยเราพึงศึกษาและปฏิบัติธรรม และสร้างกุศลในปัจจุบันนี้ทันทีที่ทำได้

หากเราลองเทียบร่างกายเราเสมือนเป็นของใช้ชิ้นหนึ่ง สมมุติว่าเป็นตู้เย็นนะครับ
หากตู้เย็นมีอายุการใช้งานปกติได้เป็นสิบ ๆ ปีแล้ว
เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้งานมันอย่างหนักหน่วง ใช้งานมันแบบไม่ดูแล ไม่บำรุงรักษา
แล้วมีผลทำให้อายุการใช้งานของตู้เย็นนั้นสั้นลง
ทีนี้ หากตู้เย็นพัง เรายังซื้อตู้เย็นใหม่ได้ แต่หากร่างกายพังแล้ว เราซื้อใหม่ไม่ได้นะครับ
บางท่านอาจบอกว่า เราก็ไปเกิดใหม่ แล้วก็ศึกษาและปฏิบัติธรรมและสร้างกุศลต่อไปได้นะ
ผมก็ต้องถามว่า แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเราจะไปเกิดใหม่อยู่ที่ไหน
จะไปลงอบายภูมิหรือเปล่า หรือจะไปเป็นพรหม หรือไปเป็นเทวดาหรือเปล่า
(โดยถึงแม้จะเป็นพรหมหรือเทวดา ก็ไม่แน่ว่าเราจะสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม
เราก็อาจจะไปมัวหลงเพลินสบายอยู่ก็ได้) ดังนี้ เราอาจจะไม่ได้เกิดมนุษย์ก็ได้
แต่แม้จะได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ตาม ก็ไม่แน่ว่าจะมีอวัยวะครบพอที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรม
ไม่แน่ว่าจะได้เกิดภายใต้พุทธศาสนา ไม่แน่ว่าเราจะสนใจ ไม่แน่ว่าจะมีครูอาจารย์มาสอนให้
ไม่แน่ว่าจะมีโอกาสได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเทียบกับสถานะของเราในปัจจุบันนี้แล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าเราได้เป็นมนุษย์
ซึ่งถือเป็นภพภูมิที่เหมาะสมที่สุดที่จะภาวนาแล้ว เราเป็นมนุษย์มีอวัยวะครบ
เราอยู่ภายใต้พุทธศาสนา เราสนใจ เรามีครูอาจารย์สอนให้
และเรามีโอกาสที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วย เราพึงใช้โอกาสอันดีนี้ให้ดีที่สุด
ในการนี้ เราก็ควรจะดูแลสุขภาพของเราอย่างเหมาะสมด้วย
เพื่อที่ว่าเราจะได้ใช้โอกาสอันดีนี้ได้ดีที่สุด และยาวนานที่สุด

เดิมทีนั้น ผมก็คิดแค่ว่าเราทานอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ออกกำลังกายให้เหมาะสม
พักผ่อนให้เพียงพอ ขับถ่ายให้ตรงเวลา และพยายามไม่ให้เครียด ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
(ซึ่งแค่ที่กล่าวมาข้างต้นเพียงแค่นี้ ก็ทำให้ครบถ้วนได้ยากแล้ว)
เมื่อได้มาศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างจริงจังแล้ว ก็พบว่ามันมีมากกว่านั้นอีก
โดยผมขอไล่เรื่องราวย้อนไปตั้งแต่อดีตกาลเลยนะครับว่า
ในอดีตนั้น บ้านเมืองเราทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชหลายอย่างในผืนดินตนเอง
ซึ่งการปลูกพืชในลักษณะเช่นนี้ แมลงก็ลงไม่มาก และความจำเป็นในการใช้ยาฆ่าแมลงก็มีน้อย
หรือหากจะใช้แล้ว เราก็ใช้สมุนไพรป้องกันแมลงและกำจัดศัตรูพืชได้ (หากท่านต้องการทราบว่า
ส่วนไหนของพืชอะไรใช้ป้องกันแมลงและกำจัดศัตรูพืชอะไรได้ ก็แนะนำให้ลองค้นในกูเกิ้ลครับ)
และการปลูกพืชสลับหมุนเวียนนั้นก็ทำให้ความจำเป็นการใช้ปุ๋ยเคมีมีน้อยลง
โดยส่วนใหญ่แล้ว เราก็จะใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมากกว่า

ต่อมา เมื่อระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามาแพร่หลายในบ้านเรา
เราได้รับการแนะนำว่าปลูกพืชแบบผสมผสานอย่างนี้ ก็ได้แค่พอมีพอกินเท่านั้น
จึงควรจะเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดเดียวกันทั้งแปลง แล้วก็จะสามารถขายได้เงินมากกว่า
พอเราเปลี่ยนมาปลูกพืชในแนวทางของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมนี้แล้ว
เราก็จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง และจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี
ถามว่าใครผลิตยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีเป็นส่วนใหญ่
? ก็ตอบว่า ต่างประเทศ
ทีนี้ เราก็เลยต้องเสียเงินซื้อยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีให้แก่ต่างประเทศ
เมื่อเราใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีมาก ๆ แล้ว เราก็ป่วยแล้วก็ต้องทานยา
ถามว่าใครผลิตยาหรือเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาเป็นส่วนใหญ่
? ก็ตอบว่า ต่างประเทศ
นอกจากนี้แล้ว ต่างประเทศเขายังส่งอาหารขยะ
(junk food) เข้ามาอีกมากมาย
อันรวมถึงเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วเสียสุขภาพ และขนมที่ทานแล้วเสียสุขภาพทั้งหลายด้วย
ซึ่งพอเราได้ทานสิ่งเหล่านี้ไปมาก ๆ และดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ไปมาก ๆ แล้ว
เราก็เจ็บป่วย และเสียสุขภาพ แล้วก็ต้องทานยา ซึ่งก็คือต่างประเทศได้เงินอีก

ฉะนั้นแล้วความรู้เดิมในเรื่องอาหารที่บอกว่าทานให้ครบ ๕ หมู่นั้น ยังไม่เพียงพอ
เพราะว่าในชีวิตปัจจุบันนี้ เราได้พบอาหารมากมายที่ทานแล้วเสียสุขภาพ
เราจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันและสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพเหล่านั้น
นอกจากนี้แล้ว อาหารแต่ละประเภทยังมีฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็นที่แตกต่างกัน
ซึ่งหากเราทานอยู่ด้านเดียวอย่างไม่สมดุลแล้ว ก็สามารถทำให้เราเจ็บป่วยได้
หรืออาหารและเครื่องดื่มแต่ละชนิดมีความเป็นกรดด่างที่แตกต่างกัน
ซึ่งหากเราทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง ๆ หรือบ่อย ๆ แล้ว
ก็ย่อมทำให้เรามีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

บางท่านก็อาจจะมองว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพนี้ไม่จำเป็นเท่าไรหรอก
เพราะว่าหากเราเจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อไร เราก็ไปหาแพทย์ และให้แพทย์รักษาได้
แต่เราก็พึงเข้าใจว่า กรณีไม่ใช่ว่าแพทย์จะสามารถรักษาให้หายได้ทุกโรคนะครับ
และสมัยนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ไม่ใช่ว่าจะถูกเสียด้วย
หากเราจะไปฝากสุขภาพของเราไว้กับแพทย์ หรือโรงพยาบาล
หรือฝากไว้กับระบบสาธารณสุขของประเทศแล้ว จะเป็นสิ่งที่สมควรทำหรือเปล่า
เราลองสังเกตได้ง่าย ๆ ครับว่า ในสมัยนี้ จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้น หรือลดน้อยลง
เวลาเราไปหาแพทย์แต่ละครั้ง คิวผู้ป่วยนั้นสั้นหรือยาว เราต้องนั่งรอนานหรือรอไม่นาน

ยกตัวอย่างว่า ญาติธรรมท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังเมื่อหลายเดือนก่อนว่า
ลูกเขาป่วยเป็นไข้สูงมากในกลางดึกคืนหนึ่ง ซึ่งรอดูอาการแล้วไข้สูงขึ้นไม่ยอมลดลง
เขาและภรรยาจึงขับรถพาลูกไปที่โรงพยาบาล ๒ แห่งใกล้บ้าน
ปรากฏว่าโรงพยาบาลทั้ง ๒ แห่งใกล้บ้าน เตียงผู้ป่วยเต็ม ไม่มีเตียงว่างเลย
เขาก็บอกกับภรรยาว่า “เดี๋ยวนี้คนป่วยเยอะมากเลย ขนาดว่าเตียงเต็มหมด”
จากนั้น เขาและภรรยาได้ขับรถพาลูกไปที่ใจกลางเมืองเพื่อไปที่โรงพยาบาลแห่งใหญ่แห่งหนึ่ง
ปรากฏว่าไปถึงแล้วก็มีเตียงว่างและได้ห้องพักผู้ป่วย ภรรยาของเขาก็บอกเขาว่า
“คนป่วยไม่ได้เยอะขนาดนั้นหรอก เห็นไหมว่าที่นี่ก็มีเตียงว่างและเราก็ได้ห้องด้วย”
พยาบาลที่รับจองห้องอยู่ตรงนั้นในขณะนั้นได้ยิน จึงบอกกับทั้ง ๒ คนว่า
“จริง ๆ แล้วเตียงเต็มนะคะ แต่ว่าที่ได้เตียงนี้ เพราะว่ามีคนป่วยเพิ่งออกไปค่ะ
หากมาในตอนนี้แล้ว ก็เตียงเต็ม และไม่มีห้องว่างแล้ว”

เราย่อมจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน เรามีโรงพยาบาลหลายแห่ง มีร้านขายยามากมาย
มียาเยอะแยะ มีวิตามินหลากหลาย มีอาหารบำรุงสุขภาพมากมายสารพัดสารพัน
แต่เราลองพิจารณาดูสิว่า แล้วจำนวนคนป่วยลดลงหรือไม่ แล้วเรามีสุขภาพดีหรือไม่
ฉะนั้นแล้ว ผมไม่แนะนำให้เราฝากสุขภาพของเราไว้กับโรงพยาบาล หรือแพทย์
หรือระบบสาธารณสุขของประเทศนะครับ
แต่เราควรต้องมีความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองด้วย
ในการนี้ เราพึงต้องแบ่งเวลาศึกษาหาความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพด้วย
โดยเมื่อเรามีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องแล้ว
เราก็สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม แล้วเราย่อมจะมีสุขภาพที่ดีได้
และสามารถช่วยเหลือแนะนำคนรอบข้างให้มีสุขภาพที่ดีได้
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าราคาได้ครับ

บางท่านอาจจะบอกว่าตนเองไม่มีเวลาจะมาสนใจศึกษาเรื่องเหล่านี้หรอก เพราะงานเยอะ
ตนเองต้องทำงาน และทำเรื่องต่าง ๆ ที่รับผิดชอบมากมาย ต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว
ในอันที่จริงแล้ว หากเรามีสุขภาพที่ดี และคนรอบข้างเรามีสุขภาพที่ดี โดยไม่มีใครเจ็บป่วยแล้ว
ก็เท่ากับว่าเราสามารถประหยัดค่าดูแลรักษาโรคได้มากมายแล้ว
และสุขภาพที่ดีนั้นก็ย่อมจะอำนวยให้เราทำงาน และรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ได้ดีกว่าครับ

บางท่านอาจจะไม่ค่อยสนใจเรื่องสุขภาพดีเท่าไร แต่มุ่งเอาสุขภาพตนเองไปแลกกับสิ่งอื่น ๆ
โดยเมื่อตนเองต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว ก็ลงทุนใช้สุขภาพตนเองอย่างสิ้นเปลือง
ซึ่งในกรณีนี้ ผมก็ขอเปรียบเทียบสุขภาพกับเรื่อง “ลาภ” ต่าง ๆ นะครับ
หลายท่านต้องการที่จะให้ตนเองได้มี “ลาภ” อย่างโน้นอย่างนี้
แต่ใน “มาคัณฑิยสูตร” นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนว่า
“ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=4769&Z=5061
ซึ่งหากเราต้องการได้ลาภอย่างยิ่งนี้ เราก็ต้องศึกษาและลงมือลงแรงทำเอาครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP