ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

๗ เดือนบรรลุธรรมเริ่มนับวันที่หนึ่งเมื่อไหร่



ถาม ขอสอบถามจุดเริ่มการนับ ๗ เดือนบรรลุธรรมครับ

ผมคงเข้าใจว่าอย่างนี้นะ ว่าถามว่าถ้าเอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนะครับ
พระพุทธเจ้าตรัสในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า
ผู้ใดก็ตาม ฟังดีๆ นะ ผู้ใดก็ตามเลยไม่ว่าจะเพศไหนวัยใด
ถ้าหากได้ปฏิบัติธรรม เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้แล้วอย่างเต็มที่
คือต้องเอาแบบที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้นะ
ถึงจะได้รับการประกันจากท่านนะครับ

บอกว่าถ้าหากใครผู้ใดก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้อย่างเต็มที่
อย่างช้าที่สุดถ้าบุญน้อย บุญเก่ามีอยู่น้อย
๗ ปีนะครับ ๗ ปีจะต้องได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ถึงที่สุดของความทุกข์นะครับ

แต่ถ้าหากว่าบารมีค่อนข้างจะน้อย
อาจจะว่าได้เป็นพระอนาคามีภายใน ๗ ปีก็ได้
หรือถ้าหากว่ามีอินทรีย์แก่กล้ามาแล้ว มีบุญเก่าเยอะนะครับ
อย่างกลางก็ประมาณ ๗ เดือน
แล้วถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าสูงสุดเลย
ก็เป็นพวกที่ว่าปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการแล้ว
ดูกาย เวทนา จิต ธรรม โดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนแล้ว
๗ วันเท่านั้นก็สามารถที่จะบรรลุเป็นอรหันต์ได้ เป็นพระอรหันต์กัน
อันนี้ไม่ใช่เรื่องบรรลุเป็นโสดา สกทาคา ไม่ใช่นะ
บรรลุถึงขั้นที่ว่าสิ้นกิเลสพ้นทุกข์ ถึงที่สุดทุกข์เลยทีเดียว
นี่คือคำรับประกันจากพระพุทธเจ้าที่รู้ดีที่สุดในอนันตจักรวาลนี้

ทีนี้คำถามก็คงหมายถึงว่า ถ้าจะเริ่มนับตรงที่จะได้รับคำประกันจากพระพุทธเจ้า
ว่าอย่างช้าที่สุด ช้าอย่างไรก็ไม่เกิน ๗ ปี
เราจะนับกันตรงไหน คิดว่าคงเข้าใจคำถามถูกต้องแล้วนะ
ก็คือเราจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของหลักการอย่างชัดเจนนะครับว่า
ที่ท่านให้เจริญสติปัฏฐานนั้น เจริญกันอย่างไร
พูดง่ายๆ ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ
แล้วก็มีการเพียรพยายาม มีการลงมืออย่างจริงจังตามแนวทางของสติปัฏฐาน ๔

ยกตัวอย่างเช่น ขึ้นต้นมาที่พระพุทธเจ้าให้สังเกตว่าจะตั้งสติ นับกันตรงไหน
นับกันตรงที่ว่า หายใจเข้ารู้ไหม หายใจออกรู้ไหม

เมื่อไรที่หายใจยาวรู้ไหม เมื่อไรที่หายใจสั้นรู้ไหม
แล้วพอรู้ไปเรื่อยๆ จิตเขาจะปฏิรูปตัวเองออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้เฝ้ามองอยู่ว่า
ลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น
ตัวของจิตที่มันพัฒนาตัวเองขึ้นไป ปฏิรูปตัวเองขึ้นไป
เป็นผู้รู้ผู้ดูลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงนี่นะ มันจะเป็นตัวตั้ง
ถ้าหากว่าจะเอาตัวคำถามนะว่าตัวตั้งอยู่ตรงไหน ผมขอให้เอาตรงนี้ก็แล้วกัน
พอมีสัมมาทิฏฐิแล้วเข้าใจหลักการแล้ว แล้วก็สามารถที่จะดูลมหายใจได้

ซึ่งผมเห็นมานะ เท่าที่เห็นมา
ประเภทที่ไม่เคยไปมีทิฏฐิ หรือว่าไปปักใจว่าจะต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้มาก่อนนี่นะ
ได้มาลองฝึกดู มันแค่ครั้งเดียวนะ
สามารถที่จะเห็นว่าลมหายใจเดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น
และจิตสามารถที่จะปฏิรูปตัวเองจากผู้คิดมาเป็นผู้รู้
ว่ากำลังมีลมหายใจเข้าบ้างออกบ้าง มีลมหายใจสั้นบ้างยาวบ้าง
แล้วจิตมันจะถอยออกมาเป็นผู้ดู
ดูอยู่ว่าจิตก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจ กองลมทั้งปวงก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง
คำว่า กองลมทั้งปวง หมายความว่า
เดี๋ยวมันก็ยาวเดี๋ยวมันก็สั้น เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก
อย่างนี้เรียกว่ากองลมนะครับ
ส่วนจิตนี่เหมือนกับเขาดูอยู่เฉยๆ
ไม่ได้มีความเป็นตัวลมหายใจ หรือว่าไม่ได้มีความรู้สึกเป็นผู้หายใจ
ตัวนี้เรียกว่าจิตถอยออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูลมหายใจ
ขอให้นับตรงนั้นแหละเป็นตัวตั้ง คือมีความสามารถที่จะดู

และมีความสามารถที่จะดู มันเริ่มขึ้นมาได้อย่างไร
เริ่มขึ้นมาจากการทำความเข้าใจ
มีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธเจ้าว่าท่านบรรลุธรรมจริง
และท่านมาสอนธรรมที่ถูกต้อง
เราทำตามด้วยใจที่สวามิภักดิ์ ด้วยใจที่ศิโรราบให้ ด้วยใจที่ไม่คิดเป็นอื่น
ด้วยใจที่พิจารณาแล้วอย่างมีเหตุมีผลว่าท่านตรัสมานี่ถูกต้อง
ถ้าหากว่าดูลมหายใจ ถ้าหากว่าดูโดยความเป็นอิริยาบถ
โดยความเป็นสุขทุกข์ โดยความเป็นภาวะของจิตใจ
เห็นว่ามันไม่เที่ยงทั้งหมด
ในที่สุดมันก็ต้องเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ด้วย
พอทำใจไว้ก่อน ปักใจไว้ก่อนตั้งแต่แรก แล้วลงมือทำจริง มันก็เห็นตามนั้น
พอเห็นตามนั้น เริ่มมีจิตที่มีความสามารถ จะเห็นว่ากายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
นั่นล่ะครับขอให้นับเป็นวันที่หนึ่งนะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP