สารส่องใจ Enlightenment

ทวนกระแสจิต



วิสัชนาธรรม โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


โยม : อยู่บ้านอย่างนี้ไม่มีเวลาทำสมาธิเท่าไหร่เลย มักจะวุ่นวายไปกับเรื่องทางโลก แล้วผมจะทำอย่างไรครับ

หลวงปู่ : เราอยู่กับโลกมันก็เป็นธรรมดา แต่ให้ทำความรู้เท่า เจ้าของคิดไปแล้วก็รู้เท่าความคิดเจ้าของ ความคิดเหล่านี้ก็ล้วนไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป ให้เตือนตนอย่างนั้น เราจะไปห้ามจิตไม่ให้คิดนึกเสียเลยไม่ได้นะ ต้องมีปัญญากำกับ คิดอะไรไปแล้ว เห็นว่ามันไม่มีสารประโยชน์อะไร อันนี้ ความคิดธรรมารมณ์เหล่านี้ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาอะไร ต้องเตือนจิตตัวเองให้รู้อย่างนี้ รู้ว่าความคิดมันไม่ใช่ตัวตน มันเกิดแล้วมันก็ดับไป ให้ทำความรู้เท่ามันเรื่อยไป

เราจะไปห้ามจิตไม่ให้คิดอะไรไม่ได้ แต่ว่าเราก็ห้ามเป็นบางอย่าง คือความคิดที่ไม่มีประโยชน์หนึ่ง ที่มีโทษหนึ่ง เราก็ต้องห้าม ต้องปัดออกไป ความคิดอย่างนี้มันมีโทษนะ ตัวเองต้องปฏิเสธตัวเอง คำว่าจิตมีดวงเดียว ถ้าจิตหลงไป เผลอไป รู้ตัวแล้วก็ไม่ใช่นี่ ไม่ใช่ทางอย่างนี้ แล้วมันก็หยุดแหละ

ส่วนมากคนเรานี่ไม่ค่อยทวนกระแสจิตเตือนตน มันคิดไปอย่างไรก็ปล่อยให้มันคิดเรื่อยเปื่อยไปอย่างนั้น เรื่องที่คิดไม่มีประโยชน์อะไร บางสิ่งมันให้เกิดความโกรธบ้าง ความเสียใจบ้าง อย่างนี้แล้ว คนเราไม่รู้เท่าความคิดตัวเอง ฉะนั้นให้พากันรู้เท่าความคิดตัวเอง อย่าไปหลงเชื่อความคิดที่ไม่มีเหตุไม่มีผล ความคิดที่มันเป็นศีลเป็นธรรม ที่มันเป็นประโยชน์และมันมีเหตุมีผลเพียงพอจึงค่อยคิดไป ถ้าเหตุผลไม่เพียงพอแล้ว ไม่คิดมัน


โยม : แต่ก่อนมีความรู้สึกว่ามีใจเป็นสมาธิ เดี๋ยวนี้สมาธิไม่มีค่ะหลวงปู่ คิดอะไรอยู่แป๊บเดียวมันก็จะหายไป

หลวงปู่ : อันธรรมเหล่านี้มันยังเป็นธรรมโลกีย์ มันมีเสื่อมได้เหมือนกัน เมื่อมันเสื่อมไปแล้ว เราก็ต้องพยายามทำให้มันเกิดขึ้นมาอีก ฉะนั้นอย่าไปท้อถอย เพราะคำว่าสมาธิแปลว่าใจตั้งมั่น ทำใจให้ตั้งมั่นต่อบุญต่อคุณ นี่แหละ พูดง่ายๆ เป็นอย่างงั้น

ส่วนมากใจคนเรามันไปยึดเอาเรื่องภายนอก เรื่องไม่เป็นประโยชน์ไปปรุงไปแต่งอยู่นั่น อันนี้เมื่อรู้ตัวว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร มันก็ทวนกระแสกลับเข้ามา พิจารณาถึงความดีที่ตนทำมา เมื่อเห็นความดีของตนเองแล้ว ก็เกิดปีติเกิดความอิ่มใจ สติก็ตั้งอยู่ที่จิต ไม่หวั่นไหว เพ่งอยู่ที่ความรู้นั้น ไม่ท้อไม่ถอย

แล้วก็เมื่อมันมีบุญมีคุณเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ใจนั้นมันก็สงบเท่านั้นแหละ เพราะว่าบุญกุศลนั้น เป็นลักษณะอาการแห่งความสงบ เรื่องบาปเรื่องอื่นใดที่ไม่ใช่บาปก็ดี มันไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว เรื่องอย่างนั้นมันไม่เป็นไปเพื่อความสงบ คิดไปเท่าไหร่ยิ่งลามไปเท่านั้น

ดังนั้นเรามาทวนกระแสจิตเข้ามาหาความรู้อันนี้นะ บุญกุศลก็อยู่ที่จิตนี้ คุณพระรัตนตรัยก็อยู่ที่จิตนี้ ถ้าไม่มีที่จิตนี้แล้วก็เป็นอันไม่มี ให้เข้าใจอย่างนั้น และบุญคุณเหล่านี้ไม่ใช่เป็นรูปร่าง มันเป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีรูปไม่มีร่าง เป็นแต่ความรู้สึก รู้สึกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ประเสริฐอย่างนั้นๆ ทรงคุณประเสริฐอย่างนั้นอย่างนี้ หมายความว่าพระพุทธองค์นั้นมีคุณความดีพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง เรานึกอย่างนี้แล้ว เราก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสขึ้นมา แต่ว่าคุณงามความดีของพระพุทธองค์นั้น มันก็ไม่มีรูปร่างเหมือนกัน มันเป็นธรรมารมณ์ซึ่งเราคิดขึ้น

คุณแห่งทาน แห่งศีล การรักษาศีล การทำบุญทำทานนี้นะ มันก็ไม่มีรูปร่างอะไร เป็นธรรมารมณ์ที่เราปรารภขึ้นในจิต การให้ทานมีคุณประโยชน์อย่างนั้นๆ การรักษาศีลมีคุณประโยชน์อย่างนั้น เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ไปตกนรกอบายภูมิ เราก็ซักซ้อมตัวเองเข้าไป เรียกว่าซักซ้อมให้จิตมันมั่นในศีลเลย

ถ้าหากว่าคนที่ไม่มั่นในศีลแล้ว มักจะไปสู่นรกเมื่อตายแล้ว มันเป็นอย่างนั้น ต้องเตือนตนถ้าไม่อยากไปนรก ให้พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มันอยู่ที่ตัวของเราสอนตัวเราเอง มันถึงได้ ผู้อื่นสอนถ้าเราไม่ทำตามแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ผู้อื่นสอนแล้ว เราก็น้อมเอาคำสอนนั้นมาพิจารณาในใจ เห็นว่าเป็นทางพ้นทุกข์ได้จริง อย่างนี้แล้วก็ลงมือปฏิบัติตาม ลงมือปฏิบัติตามรักษาความรู้ ความดีทั้งหลาย ที่เราน้อมเข้ามาสู่จิตนั้นไว้ อย่าให้จิตมันวิตกวิจารไปในทางบาปอกุศลต่างๆ ในทางเกลียดชังคนนู้น เกลียดชังคนนี้ ถึงแม้คนนั้นจะแสดงอาการให้เป็นที่น่าเกลียดน่าชัง เราก็อโหสิกรรมให้เขาไปซะ เราจะไม่เกลียดไม่ชัง เขาจะด่ามาเราก็อโหสิ ไม่ด่าตอบเขา

ต้องเพียรพยายามกระทำในใจอย่างนี้ แล้วความชั่วมันก็จะค่อยหายออกไปจากจิตใจเพราะเราไม่สั่งสมมัน เราสั่งสมแต่กรรมดีความดี ถ้าหากว่าไม่มีกิจธุระภายนอกเกี่ยวกับงาน หมายความว่าทำการงานอะไรเสร็จลงไปแล้ว ก็วางจิตให้เป็นกลางอยู่อย่างนั้น พยายามมีสติประคองอยู่ อย่าให้มันคิดเลื่อนลอยไปโดยไม่มีประโยชน์ ให้พากันรักษาจิตไว้อย่างนี้

เมื่อการรักษาจิต ทำจิตให้เป็นกลางอยู่อย่างนั้น บุญคุณทั้งหลายก็จะไม่เสื่อมไปจากจิตใจ ถ้าปล่อยจิตให้คิดฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปทั่ว นั้นแสดงว่าจิตไม่ตั้งมั่นอยู่ในบุญในคุณ บุญคุณก็ย่อมเสื่อมไปอย่างนี้นะ บุญคุณเหล่านี้มันเป็นโลกิยธรรม เป็นธรรมอันเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่รักษา มันเสื่อมได้มันหมดไป ไม่เหมือนกับโลกุตตรธรรม

โลกุตตรธรรมนี้บังเกิดขึ้นแก่ท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลยเพราะบรรลุถึงความจริง รู้จริงในใจ คุณพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐจริง จริงอย่างนี้ตลอดไปเลย คุณพระธรรมเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐจริงอย่างนี้ คุณพระสงฆ์เจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐจริงอย่างนี้ มันจริงใจอยู่อย่างนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรไปนับถือสิ่งอื่นใดว่าวิเศษยิ่งกว่านี้ นี่จึงเรียกว่าบรรลุธรรมของจริง แต่คนธรรมดาสามัญเอาแน่นอนไม่ได้นะ บางทีมันก็พลิกไปทางนู้นพลิกมาทางนี้ เพราะว่าใจมันยังไม่สงบอย่างจริงจัง ปัญญายังตัดกระแสของกิเลสไม่ได้

ส่วนโลกุตตรธรรมนี้ ผู้บรรลุนั้นต้องมีปัญญา ตัดกระแสของกิเลสหรือว่าตัดสังโยชน์ขาดออกจากจิตใจได้ หมายความว่าจิตใจห่างจากโลกิยะ อยู่คนละตอนกันเลยบัดนี้ โลกุตตระแปลว่าเหนือโลกนี่นะ ธรรมอันนี้เป็นธรรมเหนือโลก จิตของผู้บรรลุแล้วก็ย่อมตั้งเหนืออารมณ์ต่างๆ อยู่เหนือลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุขความทุกข์ คำสรรเสริญนินทาต่างๆ เหล่านี้ ท่านผู้บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว ท่านไม่หวั่นไหว มันเป็นอย่างงั้น เพราะฉะนั้นพวกเราก็ต้องบำเพ็ญไปเรื่อยๆ ไม่บำเพ็ญโลกิยธรรมนี้ให้สมบูรณ์แล้ว มันก็ไม่มีทางที่จะบรรลุถึงโลกุตตรธรรมได้ มันเป็นอย่างนั้น

sathu2 sathu2 sathu2


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คัดจาก “การปฏิบัติภาวนาประจำชีวิต” ใน วรลาโภวาท
ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP