จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

วันพ่อแห่งชาติ



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

092_destination


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านพบหัวข้อข่าวเล็ก ๆ บอกว่า
พม่ากำลังมีโครงการจะสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ซึ่งก็ถือว่าเป็นข่าวใหม่สำหรับผมนะครับ
แต่ในส่วนของเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และลาวนั้น
ผมเคยเห็นมีข่าวประกาศมานานได้พอสมควรแล้ว
ในส่วนประเทศไทยเราคงจะสร้างยากมาก และการต่อต้านก็คงจะมาก
เพราะลำพังการทิ้งสารพิษอันตรายในปัจจุบัน ก็ยังพบข่าวแอบปล่อยทิ้งลงลำน้ำ
ปล่อยทิ้งลงเขื่อน หรือกระทั่งแอบนำไปทิ้งตามพื้นที่ว่างเปล่าที่ลับตาคน ก็ยังมี
ประกอบกับพิจารณาตัวอย่างเรื่องการบริหารจัดการเรื่องอื่น ๆ แล้ว ก็น่ากังวลมาก

ในทางกลับกัน ถ้าหากเราไม่มีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เราใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่น
ต้นทุนค่าไฟฟ้าในประเทศเราจะสูงกว่าเพื่อนบ้านมาก
ซึ่งจะกระทบไปถึงต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศไทย
ก็จะส่งผลกระทบว่าสินค้าที่ผลิตในบ้านเราจะต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
สินค้าราคาสูงก็ขายยาก และนักลงทุนก็จะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศอื่น
ฉะนั้นแล้ว บ้านเราจะมีหรือไม่มีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ตาม ก็จะมีปัญหาในอีกด้านหนึ่ง

ขอข้ามไปดูข่าวเรื่องสหรัฐอเมริกาได้มาชวนไทยลงนามเป็น
หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)
ซึ่งมีรายละเอียดอะไรบ้างก็ไม่ทราบ บางคนก็บอกว่าจะสร้างโอกาสให้ธุรกิจไทย
แต่เราเชื่อจริง ๆ หรือว่าคนอื่นเขาอุตส่าห์บินมาบ้านเราเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจไทย
ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของธุรกิจของประเทศเขาเอง
ในทางกลับกัน หากเราบอกว่าเราไม่สนใจเข้าร่วมในทีพีพี
ปรากฏว่าเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ๔ ประเทศนี้ได้ร่วมลงนามไปก่อนแล้ว
พวกเขาลงนามไปทำไมล่ะ และเราจะเสียโอกาสการแข่งขันอะไรบ้างไหม
ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราเข้าร่วมในทีพีพี เราอาจจะเสียประโยชน์อื่น ๆ รวมทั้งมีปัญหากับจีน
แต่ถ้าเราไม่เข้าร่วมในทีพีพี เราอาจจะมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา
ดู ๆ ไปแล้วก็มีปัญหาที่น่าปวดหัวอยู่ไม่น้อยนะครับ

ขออีกสักข่าวหนึ่งนะครับ เรื่องเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งก็อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
อ่านข่าวแล้วพบว่าจะส่งผลกระทบถึงความสามารถในการแข่งขัน
ของ ๓๖ กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นอย่างน้อย
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องการเข้ามาแย่งงานทำโดยคนต่างชาตินะครับ
ซึ่งในปัจจุบันก็มีคนต่างชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทยมากมายอยู่แล้ว

ตรงนี้เราเพียงแค่ลองหยิบแค่เรื่องเศรษฐกิจการค้าบางเรื่องขึ้นมาคุยนะครับ
แต่จริง ๆ แล้วปัญหาเรื่องเศรษฐกิจการค้านี้มีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมดเลย
ซึ่งแม้ว่าปัญหาในเรื่องเหล่านี้จะเป็นปัญหาในระดับมหาภาคก็ตาม
แต่ก็มีผลกระทบถึงระดับจุลภาคด้วย กล่าวคือกระทบถึงเราด้วย
พวกเราหลาย ๆ ท่านในปัจจุบันก็อาจจะมีปัญหาเศรษฐกิจส่วนตัวเหมือนกัน
อย่างเช่นค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้น รายได้ไม่พอรายจ่าย เป็นต้น
แล้วเราจะสามารถเอาตัวรอดจากปัญหาเศรษฐกิจการค้าเหล่านี้ได้อย่างไร
ผมก็นึกถึงพระบรมราโชวาทในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ

หากเรายึดถือตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว
ผมรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าสมองปลอดโปร่ง และเห็นทางเดินในชีวิตข้างหน้าที่ควรเดิน
โดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แปลว่าเราจะต้องจน หรือต้องอดอยากนะครับ
กล่าวโดยง่ายก็คือ เราทำไปตามที่เหมาะสม ทำไปตามที่พอเพียงแก่กำลังเรา
เราไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใคร ไม่จำเป็นต้องไปเอาชนะใคร ไม่ต้องกลัวโดนใครแซง
เราทำไปตามที่เหมาะสมแก่กำลังเรา ทำไปตามที่สมควรที่เราควรจะทำ
และผลที่ได้นั้นจะรวย จะจน จะแซงเขา จะโดนแซง ก็ตาม ก็คือพอเพียง
แต่ในอันที่จริงแล้ว ถ้าเราพอเพียงจริง ๆ นะครับ เราก็ไม่จนอยู่แล้ว
ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่พอนะครับ เราก็จนอยู่ตลอด
เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ในความพอเพียงนั้น ไม่มีคำว่าจนหรอกครับ

เปรียบเสมือนกับการเป่าลมลงไปในลูกโป่งนั่นล่ะครับ
ถ้าหากจะตะบี้ตะบันเป่าลมลงไปจนเยอะเกินสมควร ลูกโป่งก็จะแตก
แต่หากเป่าลมน้อยเกินไป ลูกโป่งก็จะเหี่ยว
ที่เราควรทำก็คือเป่าลมเข้าไปตามที่เหมาะสม ลูกโป่งก็จะพองได้ขนาดที่ดี

แต่สิ่งที่พวกเราหลาย ๆ ท่านกำลังทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ พวกเราไม่ได้พอเพียง
แต่พวกเราไหลไปตามกระแสของทุนนิยมโลก
พวกเราไปให้ความสำคัญกับตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ตัวเลขยอดการส่งออก ตัวเลขฐานะการเงิน ตัวเลขการลงทุน และดัชนีข้อมูลการเงินอื่น ๆ
มาเป็นตัวชี้วัดถึงการพัฒนาประเทศไทยเรา มาชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา
เรามองว่าตัวเลขเหล่านี้ยิ่งสูงยิ่งดี ยิ่งมีทุนเข้ามาเยอะยิ่งดี ยิ่งมีเงินเยอะยิ่งดี
เราไม่ได้มองว่าแล้วมันพอเพียงหรือเปล่า มันเหมาะสมหรือไม่
เราไม่สนใจเศรษฐกิจพอเพียง เราสนใจแต่เศรษฐกิจทุนนิยม ขอให้ได้เงินเยอะ ๆ เข้าไว้
เราไหลตามระบบทุนนิยม และใช้ตัวเลขของทุนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
โดยเราลืมที่จะให้ความสำคัญในมิติอื่น ๆ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันเลย
เช่น ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาศีลธรรม
ปัญหาการเมือง ปัญหาบุกรุกป่าและที่ทำกิน ปัญหาอบายมุข ปัญหาการศึกษา
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ เป็นต้น

ในมิติอื่น ๆ หรือปัญหาอื่น ๆ เหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องเศรษฐกิจ
แต่ว่าดูเหมือนว่าคนจำนวนมากจะให้ความสำคัญเพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ผมลองยกตัวอย่างว่า หากท่านผู้อ่านมีครอบครัว โดยมีลูก ๒ คน
สมมุติให้ท่านสามารถหารายได้มากขึ้น ๑๕
% ในปีนี้ แต่ปรากฏว่าลูกท่านคนหนึ่งติดยาเสพติด
ลูกอีกคนหนึ่งโดนไล่ออกจากโรงเรียน และคู่สมรสของท่านแอบนอกใจท่าน
ถามว่าท่านจะบอกว่าท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตได้ไหม
เทียบกับว่าหากให้ท่านมีรายได้เท่าเดิม ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเลยในปีนี้
แต่ว่าครอบครัวท่านไม่มีปัญหาทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว ท่านจะเลือกอย่างไหน

ในทำนองเดียวกัน หากเรามองครอบครัวเราเป็นประเทศแล้ว
ตัวเลขจีดีพี ตัวเลขส่งออก ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งหลายนั้น
มันไม่ได้ตอบโจทย์ได้ทุกคำถาม และไม่ได้เป็นตัววัดว่าเราพัฒนามาถูกทางนะครับ
ในขณะเดียวกันอาจจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราพัฒนาไปผิดทางก็ได้
เพราะเรามุ่งสนใจแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยสนใจมิติอื่น ๆ และปัญหาอื่น ๆ เลย
เราเคยสนใจที่จะมาทำตัวเลขดัชนีอื่น ๆ มาพิจารณาและให้ความสำคัญไหมครับว่า
ประชาชนมีศีลธรรมมากขึ้นไหม ประชาชนทำบุญทำทานมากขึ้นไหม
ประชาชนมีความสงบในใจมากขึ้นไหม ประชาชนทำความดีมากขึ้นไหม
ประชาชนลดละความชั่วได้มากขึ้นไหม ประชาชนลดละอบายมุขได้มากขึ้นไหม ฯลฯ
ผมไม่เห็นว่าประเทศเราจะมุ่งสนใจในเรื่องเหล่านี้นะครับ
ประเทศยิ่งพัฒนาไปเรื่อย ๆ ก็ปรากฏว่าปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติด
ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาศีลธรรม ฯลฯ กลับยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นก็เพราะว่าพวกเราไหลไปตามทุนนิยม โดยเราให้ความสำคัญกับทุนเท่านั้น
พวกเราละเลยที่จะให้ความสำคัญกับศีลธรรม และเรื่องสำคัญอื่น ๆ

ในขณะที่ในหลวงของเราท่านทรงสอนเราว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” นะครับ
คือเราต้องมีความพอเพียงในเศรษฐกิจ
แล้วเราก็จะมีกำลัง แรงกาย แรงใจเหลือไปให้ความสำคัญกับมิติอื่น ๆ
ไม่ใช่ว่าเรามีกำลัง แรงกาย แรงใจเท่าไร ก็ทุ่มเกือบทั้งหมดไปที่เศรษฐกิจเท่านั้น
หากเราจะลองพิจารณาในหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ก็สอดคล้องกันนะครับ
โดยได้มีพระพุทธพจน์กล่าวว่า
“ธนํ จเช องฺควรสฺส เหตุ ... พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน ... พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต
องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต ...
พึงสละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิต สิ้นทุกอย่าง เพื่อรักษาธรรม”

แต่ดูเหมือนว่าสังคมบ้านเราในปัจจุบันไม่ได้เดินตามพระพุทธพจน์นะครับ
ผู้คนจำนวนมากไหลไปตามระบบทุนนิยม ให้ความสำคัญแต่เรื่องทุนและทรัพย์สิน
อย่างเอแบคโพลเมื่อเดือนกันยายนในปีนี้ ก็ยังได้ผลโพลออกมาว่า
ประชาชนร้อยละ ๖๕.๘ เห็นว่ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นได้ หากตนเองได้ประโยชน์ด้วย
ซึ่งกลายเป็นว่า เรายอมรับว่าให้คนอื่นทำผิดศีลธรรมได้ ขอเพียงให้เราได้ผลประโยชน์
กลายเป็นว่าเรายอมทิ้งธรรมะ เพื่อประโยชน์แห่งทรัพย์ คล้าย ๆ กับพวกเราบอกว่า
พวกท่านไปโกงใครมาก็ได้ เท่าไรก็ได้ ขอเพียงว่าแบ่งผลประโยชน์ให้เราด้วย

ในลักษณะนี้ สมมุติว่ามีโจรคนหนึ่งไปปล้นบ้านอื่นมา
แล้วโจรนั้นก็ได้มาแบ่งทรัพย์ที่ปล้นมาให้กับเรา
เราจะบอกหรือครับว่า การที่โจรคนนั้นไปปล้นบ้านคนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้สำหรับเรา
หลายท่านก็คงจะบอกว่า เราบอกเช่นนั้นไม่ได้
แต่ก็เรียนว่ามีผู้คนจำนวนมากบอกว่ายอมรับได้
ถามว่าน่าแปลกใจหรือไม่ที่เป็นเช่นนี้
?
ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าไม่น่าแปลกใจนะครับ
เพราะก็มีพระพุทธพจน์ได้กล่าวไว้ว่า
“มธุวา มญฺญตี พาโล ยาว ปาปํ น ปจฺจติ ...
ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน
ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ อถ ทุกฺขํ นิคจฺฉติ ...
แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น”

บางท่านคงจะมีคำถามต่อไปว่า แล้วเราควรจะทำอย่างไร?
ผมเห็นว่าเราควรจะดำเนินรอยตามพระพุทธพจน์ และพระบรมราโชวาทครับ
เราคงไปเปลี่ยนทุกคนในประเทศไม่ได้ แต่เราสามารถทำตัวเราเองให้ดีได้
เรายึดหันกลับมาหลักเศรษฐกิจพอเพียง กินอยู่ใช้อย่างพอเพียง
และเราหันมาให้ความสำคัญกับมิติอื่น ๆ และเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของเรา
เราหันมาให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง
ให้ความสำคัญกับสุขภาพ จิตใจ คุณธรรม ศีลธรรม การศึกษาและปฏิบัติธรรม
ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การศึกษา อนามัย ฯลฯ
เราอาจจะไม่ได้มีเงินทอง ทรัพย์สินมากมาย แต่ว่าพอที่จะใช้ได้อย่างพอเพียง
และเราไม่ต้องทุกข์ทรมานโดนไฟกิเลสเผาด้วยความที่ต้องการอยากได้โน่นได้นี่
ตามที่ค่านิยมทั้งหลายในระบบทุนนิยมมาพยายามจูงใจเราให้ทุ่มเทเพื่อสิ่งเหล่านั้น

เรามีสติปัญญาที่จะพิจารณาได้ว่าสิ่งไหนมีสาระ ไม่มีสาระ เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์
และสิ่งไหนสมควรแก่เรา ไม่สมควรแก่เรา โดยเราสามารถคัดกรองสิ่งเหล่านั้นได้
ชีวิตในเส้นทางสายนี้ จะมีความสุขกว่า และปลอดภัยกว่าทั้งในชีวิตปัจจุบัน
และชีวิตในภายหลังเมื่อเราได้ตายลงไปแล้ว

ในวาระโอกาสที่ใกล้จะถึงวันพ่อแห่งชาตินี้ ผมก็ขอเชิญชวนญาติธรรมทุกท่าน
ร่วมระลึกถึงคุณประโยชน์ที่ในหลวงของเราได้ทรงเสียสละเพื่อประเทศชาติและพวกเรานะครับ
โดยพวกเราตั้งใจที่จะเป็นพสกนิกรที่ดีของพระองค์ท่าน โดยตั้งอยู่ในทาน ศีล และภาวนา
สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้ทุกคนก็คือ ทำความดี (และละเว้นความชั่ว) ถวายเป็นพระราชกุศล
นอกจากทำดีถวายพ่อหลวงแล้ว ก็อย่าลืมทำดีต่อคุณพ่อคุณแม่ของเราด้วยนะครับ
หากแม้ท่านได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว เราก็ยังทำบุญกุศลแล้วอุทิศบุญกุศลแก่ท่านได้

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ _/\_ _/\_ _/\_


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP