สารส่องใจ Enlightenment

ทางสายกลางของการประหยัด



พระธรรมเทศนา โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่


ท่านสาธุชนทั้งหลาย เมื่อเราหวนระลึกถึงวันที่เราเกิด
ทุกคนคงนึกได้ว่าเรามาตัวเปล่า ไม่มีสมบัติใดๆ ติดตัวเรามาเลย
สิ่งของสมบัติที่เรามีอยู่ขณะนี้ล้วนแล้วแต่ได้มาทีหลังทั้งนั้น
แม้บางคนจะได้รับมรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ ก็หาได้มาพร้อมกับวันเกิดนั้นไม่
เมื่อกล่าวโดยสิทธิในทางกฎหมาย ก็ได้หลังจากบรรลุนิติภาวะแล้ว
และการได้มานั้นหาใช่ว่าได้มาพร้อมกันในขณะเดียวกันทุกอย่าง หามิได้
ได้มาทีละอย่างสองอย่าง ได้มาทีละเล็กทีละน้อย
แม้ความรู้ความฉลาดความสามารถที่เรามีอยู่ขณะนี้ ก็ได้มาจากหลังวันเกิดทั้งนั้น


คนเราเริ่มต้นจากการได้ก่อน การระบายถ่ายออกมาจึงจะตามมาภายหลัง
เมื่อไม่มีการได้ จะมีการถ่ายออกได้อย่างไร
และโดยนัยตรงกันข้าม เมื่อมีการได้แล้วไม่มีการถ่ายออก
สิ่งที่ได้มาแทนที่จะเป็นประโยชน์กลับเป็นของบูดเน่า
พึงดูอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นตัวอย่าง
เมื่อเรารับประทานเข้าไปแล้ว ถ้าไม่มีการระบายถ่ายออกมา
แทนที่อาหารจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ก็กลับจะเป็นภัยอันตรายต่อร่างกาย
ผู้ที่มีความฉลาดในการได้
และมีอุบายในการระบายจ่ายออกนี้แล เรียกว่าการประหยัด


คำว่า ประหยัด โดยตรงหมายถึง
การรู้จักประมาณในการใช้จ่าย รู้จักประมาณในการกิน
ในที่บางแห่งท่านนำไปใช้ประกอบกับเวลา ประกอบกับคำพูด
เช่น คำว่าประหยัดเวลา ประหยัดคำพูด
คนที่มีนิสัยประหยัดกับคนที่มีนิสัยตระหนี่ มีลักษณะไม่เหมือนกัน
คนตระหนี่มีลักษณะหวงแหน เอาแต่ได้ไม่ยอมจ่าย
ความสุขของคนตระหนี่คือคอยเก็บเข้าไว้
มีความรู้สึกอย่างเดียวว่าประโยชน์ของการได้มาคือการเก็บไว้
ถ้าจะเปรียบนิสัยของตระหนี่กับประตู
ก็เปรียบได้กับประตูที่เปิดให้คนเข้าไปได้ แต่ไม่ยอมเปิดให้ออกมา


ความตระหนี่ตรงข้ามกับความสุรุ่ยสุร่าย
คนที่มีนิสัยสุรุ่ยสุร่ายคือคนที่ขาดความเสียดาย ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งของ
ไม่คิดหน้าคิดหลังว่าความทุกข์เดือดร้อนจะติดตามมาอย่างไร
ถือเอาความอยากเป็นผู้บงการ เมื่อความอยากเกิดขึ้นต้องสนองความอยากทันที
ความสุรุ่ยสุร่ายคู่กับความฟุ่มเฟือย
ความฟุ่มเฟือยหมายถึงกิริยาที่กินอยู่อย่างเหลือเฟือ
แทนที่จะกินวันละ ๓ มื้อ ก็กินวันละ ๔-๕ มื้อ
มื้อหนึ่งควรจะจ่ายเพียง ๒๐ บาท ๓๐ บาท ก็หมดเป็นร้อยเป็นพัน
เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวควรจะมีเพียง ๓-๔ ชุด ก็มีไว้เป็นร้อยชุด
การที่มีของกินของใช้จนเกินพอดีเรียกว่าความฟุ่มเฟือย
ซึ่งความฟุ่มเฟือยกับความตระหนี่ทั้งสองอย่างนี้เป็นฝ่ายเสียหาย ไร้ประโยชน์
ก่อทุกข์โทษทั้งทางโลกและทางธรรม


การประหยัดอยู่ระหว่างความตระหนี่กับความสุรุ่ยสุร่าย
คือใช้จ่ายในที่ควรใช้จ่าย เก็บในสิ่งที่ควรเก็บ
เมื่อถึงคราวที่จะต้องใช้จ่ายหรือจะต้องเสียแล้ว
คนที่มีนิสัยประหยัดจะยอมเสียสละทันที
แต่เมื่อจะต้องใช้จ่ายหรือจะต้องเสียโดยไม่จำเป็นแล้ว
คนที่มีนิสัยประหยัดจะไม่ยอมใช้จ่ายหรือยอมเสียเลย
พูดง่ายๆ ว่าคนประหยัดจะไม่ยอมให้ทุกอย่างผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
การเสียมากเสียน้อย หรือจ่ายมากจ่ายน้อยไม่ถือเป็นประมาณ
แต่ถือเอาประโยชน์จากการเสียการจ่ายเป็นประมาณ
ถ้าจะเปรียบเป็นนิสัยของคนประหยัดเหมือนประตู
ก็เปรียบได้กับประตูที่มีทั้งเวลาเปิดและเวลาปิด
“ประตูที่มีไว้สำหรับเปิดปิด เพื่อป้องกันความเสียหาย
และรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของฉันใด
การประหยัดก็มีลักษณะฉันนั้น”


คุณธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งการประหยัดคือการเสียสละ
การประหยัดสอนให้รู้จักเก็บ ให้รู้จักรักษา หรือให้มีศิลปะในการใช้ของ
เช่น คนบางคนเก็บเอาเศษผ้าที่เขาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เอามาปะติดต่อกันสำเร็จเป็นผ้าปูนั่งปูนอนได้อย่างสวยงาม
แทนที่จะถูกตำหนิว่าเป็นคนตระหนี่ แต่กลับถูกชมว่าเป็นคนมีศิลปะ
การเสียสละสอนให้รู้จักเสีย คือมุ่งทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น
เมื่อถึงคราวต้องเสียแล้ว แม้ร่างกายและชีวิตก็ต้องยอมเสียเพื่อรักษาสิ่งมีค่ายิ่งกว่าไว้
การเสียที่เรียกว่าเสียสละนี้เป็นการเสียที่มีผลได้มากกว่าผลเสีย


พระพุทธโอวาทที่ทรงประทานไว้
สำหรับเป็นหลักปฏิบัติของฆราวาสส่วนใหญ่สอนให้รู้จักประหยัด
เช่น ทรงสอนว่าตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่ไม่ได้นานเพราะเหตุ ๔ ประการคือ
๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน


พระพุทธโอวาททั้ง ๔ ข้อนี้ แสดงถึงเหตุแห่งความเสื่อมของตระกูลที่มั่งคั่ง
ผู้ที่ไม่อาจจะรักษาสมบัติของตระกูลที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ก็เพราะเหตุ ๔ ประการ
หรือเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๔ ประการนี้
โดยนัยตรงข้าม ตระกูลที่มั่งคั่งจะตั้งอยู่ได้นานก็เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
๒. บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่าแล้ว
๓. รู้จักประมาณในการบริโภคทรัพย์สมบัติ
๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษที่มีศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน


การประหยัดเป็นหลักธรรมเก่าแก่ในพระพุทธศาสนา
ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกตอนที่พระอานนท์สนทนากับพระเจ้าอุเทนถึงเรื่องของการใช้จีวร
พระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “เมื่อจีวรเก่าแล้วจะทำอย่างไร ?”
พระอานนท์ทูลตอบพระเจ้าอุเทนว่า “ก็พยายามที่จะปะ”
พระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ถ้าปะไม่ไหวจะทำอย่างไร ?”
พระอานนท์ทูลตอบพระเจ้าอุเทนว่า
“ก็จะดาม คือซ้อนเข้าหลายๆ ชั้น เป็นจีวรหลายชั้นซ้อนกัน”
พระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ถ้าดามไม่ไหวคือมันเปื่อยแล้วจะทำอย่างไร ?”
พระอานนท์ทูลตอบพระเจ้าอุเทนว่า “ทำให้เป็นผ้าปูนอน คือเป็นฟูกผ้าบางๆ”
พระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ถ้าใช้ไปจนมันยุ่ยแล้ว จะทำอย่างไรอีก ?”
พระอานนท์ทูลตอบพระเจ้าอุเทนว่า “เอามาพับกัน ทบกันเข้าเป็นผ้ารองนั่ง เป็นผ้าปูนอน”
พระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ถ้าผ้าปูที่นั่งก็ใช้จนเก่าจนขาดแล้วจะทำอย่างไร ?”
พระอานนท์ทูลตอบพระเจ้าอุเทนว่า “เอาไปเผาไฟ เอาขี้เถ้าขยำกับมูลโค
แล้วเอาไปฉาบกุฏิซึ่งทำด้วยดิน ให้มันเป็นของสะอาดขึ้นมาใหม่”


พระเจ้าอุเทนทรงสดับแล้วทรงพอพระทัย ทรงเลื่อมใสในหลักคำสอน
และยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จากคำสอนของพระอานนท์นี้ แสดงถึงความหมายของการประหยัดว่า
ให้พยายามใช้สิ่งของให้คุ้มค่า อย่าใช้สุรุ่ยสุร่าย ทิ้งๆ ขว้างๆ โดยไม่จำเป็น


พระพุทธโอวาทที่ทรงประทานไว้เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ
เพื่อผลคือการตั้งตนได้ในชีวิตปัจจุบัน คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ หมั่นในการศึกษาเล่าเรียน
หมั่นในการแสวงหาทรัพย์ หมั่นในการทำธุระหน้าที่
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ เอาใจใส่ท่องบ่นความรู้ที่เล่าเรียนมาแล้ว
รักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ไม่ให้เป็นอันตราย รักษาหน้าที่การงานของตนไม่ให้เสื่อมเสีย
๓. กัลยาณมิตตตา มีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว
๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก

หลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เมื่อถือเอาความมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ที่ต้องการแล้ว
ก็คือหลักของการประหยัดนั่นเอง

ข้อที่ ๑ ความหมั่น หมายถึงบุคคลที่มีความพากเพียรพยายาม
คนที่มีความเพียรคือคนที่ไม่ยอมให้แรงกายแรงใจเป็นหมัน
พยายามใช้แรงกายแรงใจให้เป็นประโยชน์ พร้อมกันนี้ได้ชื่อว่าทำกาลเวลาให้มีค่า
ไม่ปล่อยกาลเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์
ชีวิตของผู้มีความเพียรชื่อว่าชีวิตไม่เป็นโมฆะ
ตรงกับหลักการประหยัดที่ว่า
ไม่ยอมปล่อยให้ทุกสิ่งผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์


ข้อที่ ๒ ถึงพร้อมด้วยการรักษา ข้อนี้เป็นหลักของการประหยัดโดยตรง
เพราะการประหยัดหมายถึง การรู้จักเก็บ รู้จักเสียดาย
รู้จักป้องกันอันตราย รักษาทรัพย์มิให้สูญเปล่า


ข้อ ๓ มีเพื่อนเป็นคนดี หมายถึงการรู้จักเลือกคน
ไม่ยอมคบกับคนชั่ว เลือกคบเฉพาะคนดีเท่านั้น
ก็เข้าหลักของการประหยัดว่า ไม่ยอมตัวให้มั่วสุมอยู่กับคนชั่ว
ซึ่งเป็นทางแห่งความเสียหาย ทำลายยศศักดิ์และหลักฐานให้หมดไป
เมื่อมีเพื่อนเป็นคนดี ก็เป็นวิถีทางแห่งความเจริญ
และลาภ ยศ สรรเสริญ ก็จะตามมาโดยลำดับ


ข้อ ๔ รู้จักการดำรงชีพ คือไม่ยอมให้อดอยากปากแห้ง
เพราะอำนาจของความตระหนี่ถี่เหนียว
ไม่ยอมฟุ้งเฟ้อเห่อห่าม ตะกละตะกลามเห็นแก่กิน
ดำรงอยู่ในทางสายกลาง ไม่ถี่ไม่ห่างจนเกินควร
นี้คือหลักใหญ่ของการประหยัด


ทั้ง ๔ หัวข้อนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นหัวใจของเศรษฐี
ถ้าจะกล่าวโดยย่อก็คือ อุ อา กะ สะ
ผู้ใดสาธยายท่องบ่นและนำไปปฏิบัติอยู่เสมอจะได้เป็นเศรษฐี


สุนทรภู่กวีเอกของไทยรู้จักกฎของการประหยัดได้ดีที่สุด
ดังคำกลอนของท่าน ในสุภาษิตสอนหญิงว่า
มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์

คำกลอนสองบทนี้แสดงความหมายของการประหยัดว่า
ให้รู้จักเก็บ รู้จักสั่งสม เงินจำนวนมากก็มาจากเงินสลึง
เงินร้อยเงินพันก็มาจากเงินหนึ่งบาทเช่นเดียวกัน
การรู้จักเก็บออมถนอมไว้ย่อมให้ความอุ่นใจเมื่อมีภัยเกิดขึ้น
ย่อมสามารถจะแก้ไขอุปสรรคปัญหาด้วยทุนทรัพย์ที่มีอยู่
ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากคนอื่น ทำให้ตัวเองมีความอุ่นใจชุ่มชื่นใจอยู่ตลอดเวลา


คำกลอนในบาทต่อไปกล่าวว่า
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
หมายความว่า การประหยัดมิได้มุ่งแต่ให้เก็บอย่างเดียว
เมื่อถึงคราวจ่ายต้องจ่าย แต่การจ่ายต้องจ่ายตามฐานะ
ถ้ามีน้อยต้องค่อยบรรจงจ่าย คือ พิจารณาให้รอบคอบแล้วจึงจ่าย
อย่าให้เป็นทำนองว่า “เห็นช้างขี้ ก็ขี้บ้างเอาอย่างช้าง”
ถ้าไม่พิจารณาให้รอบคอบแล้วจ่ายเกินกว่าที่มี
จะเป็นเหตุก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปอีกนาน


บทต่อไปว่า ไม่ควรซื้ออย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน
ความหมายของคำว่าประหยัดที่เป็นประการสำคัญขึ้นอยู่กับคำว่า “ควรหรือไม่ควร”
ถ้าทำไปในสิ่งที่ไม่ควร ชื่อว่าไม่ประหยัด
แต่ถ้าทำในสิ่งที่เหมาะสม หรือจำเป็นจะต้องทำแล้ว
แม้จะต้องเสียเงินทองมากมายก็ยังจัดว่าเป็นการประหยัดอยู่นั่นเอง


sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จาก การประหยัด ตอนที่ ๑ ใน เครื่องหมายของคนดี
โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP