จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กลัวตายกับแผ่นดินไหว


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

091_destination

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ หลายท่านคงได้ทราบข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่านะครับ
หากเราลองตรวจสอบข่าวย้อนหลังแล้ว ผมเชื่อว่าเราน่าจะพบว่า
ในช่วงหลัง ๆ นี้ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นและกระทบถึงบ้านเรานั้น เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม
ทำไมผมจึงเชื่ออย่างนั้น
?
เรียนว่าผมเองไม่ได้ทำสถิติข่าวแผ่นดินไหวในบ้านเราไว้หรอกครับ
แต่อาศัยว่าตนเองต้องทำงานอยู่บนตึกสูงมานานร่วมยี่สิบปี
ก็รู้สึกว่าในช่วงปีหลัง ๆ นี้ จะต้องวิ่งลงมาจากตึกเพราะแผ่นดินไหวบ่อยกว่าเดิม

เมื่อได้พบเหตุการณ์ทำนองนี้แล้ว หลายท่านก็อาจรู้สึกเฉย ๆ รู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง
แต่หลายท่านก็อาจจะรู้สึกวิตกกังวล โดยเกรงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในบ้านเรา
โดยเฉพาะหลายท่านที่เป็นคนเมือง เวลาพักอาศัย ก็พักอยู่อาคารชุดซึ่งเป็นตึกสูง
เวลาทำงาน ก็ทำงานอยู่ในสำนักงานซึ่งตั้งอยู่บนตึกสูง
เวลาไปซื้อกับข้าว ซื้อของ ทานอาหาร หรือดูภาพยนตร์ ก็ไปที่ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นตึกสูง
เวลาเดินทางไปไหนก็อาศัยรถไฟฟ้าลอยฟ้า หรืออาศัยทางด่วนยกระดับ
ชีวิตส่วนใหญ่นั้นวนเวียนอยู่ในตึกสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จึงอาจทำให้กังวลว่า หากเกิดภัยพิบัติดังกล่าวขึ้นในบ้านเราแล้ว เราจะรอดไหม

เรื่องความกังวลที่เกิดจากความกลัวตายนี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับปุถุชนนะครับ
ทำอย่างไร เราจึงจะไม่กลัวตาย
?
บางท่านที่ได้เคยอ่านคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุแล้ว
ก็อาจเคยพบว่า ท่านได้สอนให้เรา “ตายก่อนตาย”
โดยท่านสอนว่า
ตายก่อนตายมิใช่กลายไปเป็นผี แต่กลายเป็นสิ่งที่ไม่สูญหาย
ที่แท้ก็คือ ความตายที่ไม่ตาย มีความหมายว่าไม่มีใครได้เกิด
กล่าวคือ เข้าถึงซึ่งพระนิพพานนั่นเอง
แต่หลายท่านก็อาจจะบอกว่าขอลดระดับลงมาหน่อยได้ไหม
?
หากว่าเรายังไม่ถึงพระนิพพาน แล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงด้วย
เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อที่เราจะสบายใจและไม่กลัวตาย
ขอแบบเบื้องต้น และปฏิบัติได้ผลทันทีเลย
?

ตรงนี้ก็ขอเรียนว่าหัวอกเดียวกันนะครับ เพราะผมเองก็ยังไม่ถึงเหมือนกัน
ขอตอบว่าหากจะลดลงมาจากพระนิพพานแล้ว และต้องการแบบปฏิบัติได้ทันทีนั้น
ก็อาศัยการ “เจริญสติ” ครับ เมื่อใดที่เรามี “สติ” เกิดขึ้น เมื่อนั้น “ความกลัว” ก็ดับไป
โดยเราก็ฝึกเจริญสติบ่อย ๆ ในปัจจุบันนี้แหละ จะสามารถช่วยเหลือเราได้ในยามคับขัน
เสมือนว่าเราหัดว่ายน้ำให้เป็นและชำนาญเสียก่อน ถึงเวลาเราตกน้ำขึ้นมา เราก็ว่ายได้
บางท่านอาจจะบอกว่า หากสมมุติว่าตกใจมากหรือกลัวมากจริง ๆ จนเจริญสติไม่ไหวล่ะ
จะมีวิธีการอื่นอีกบ้างไหม นอกจากการเจริญสติ
?
ในกรณีนี้ ผมขอ
แนะนำให้พิจารณาพระสูตรที่ชื่อว่า “ธชัคคสูตร” ครับ
(ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)

โดยเนื้อหาในพระสูตรมี ดังต่อไปนี้


ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ในเมืองสาวัตถี
ท่านได้ทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว
ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ผู้เป็นจอมเทพแห่งเทวดาทั้งหลายตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า
ท่านทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี
จะพึงเกิดขึ้นแก่พวกท่านทั้งหลายผู้เข้าสู่สงครามแล้ว พวกท่านพึงแลดูยอดธงของเรา
เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี
ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีขึ้นก็จักหายไป
หากพวกท่านไม่แลดูยอดธงของเราแล้ว พวกท่านก็พึงแลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราช
เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราชอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี
ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีขึ้นก็จักหายไป
หากพวกท่านไม่แลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราชแล้ว พวกท่านพึงแลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราช
เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราชอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี
ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีขึ้นก็จักหายไป
หากพวกท่านไม่แลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราชแล้ว พวกท่านพึงแลดูยอดธงของท้าวอีสานเทวราช
เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของท้าวอีสานเทวราชอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี
ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีขึ้นก็จักหายไป

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเทวดาแลดูยอดธงของท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพแห่งเทวดาก็ดี
แลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราชก็ดี แลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราชก็ดี
แลดูยอดธงของท้าวอีสานเทวราชก็ดี ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี
ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นพึงหายไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร
?
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพแห่งเทวดา ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ
ไม่ปราศจากโทสะ ไม่ปราศจากโมหะ ยังเป็นผู้กลัว หวาดสะดุ้ง หนีไปอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนเรากล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี
ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี
พึงบังเกิดแก่พวกเธอผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดี
พวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่
ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีขึ้นก็จักหายไป

หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงเรา พวกเธอพึงตามระลึกถึงพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี
ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีขึ้นก็จักหายไป
หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงพระธรรม พวกเธอพึงตามระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม
เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใคร ได้แก่คู่แห่งบุรุษสี่ รวมเป็นบุรุษบุคคลแปด
นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก
ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี
ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีขึ้นก็จักหายไป
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากราคะ
ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย
ถ้าเธอทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ถ้าเธอทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์อยู่
ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=ธชัคคสูตร&book=9&bookZ=33


จากพระสูตรดังกล่าวนั้น เราก็พึงทราบว่าอีกวิธีการหนึ่งที่ไม่ยากก็คือ
ให้เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ครับ
หากกลัวมาก ตกใจมาก ก็อาศัยท่องบทสวดอิติปิโสไว้ด้วยก็ได้ครับ
(จะท่องแบบแปลหรือแบบไม่แปลก็แล้วแต่ตามที่แต่ละคนถนัด)
ส่วนการที่เราจะไประลึกถึงเทพยดาอื่น ๆ นั้น ย่อมจะไม่ได้ช่วยครับ
เพราะว่าเทพยดาอื่น ๆ นั้นเองก็ยังเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะอยู่
ยังเป็นผู้กลัว หวาดสะดุ้ง และหนีไปอยู่ จึงไม่สามารถจะช่วยให้เราหายกลัวได้

แต่ทั้งนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องสำหรับเหตุการณ์ภัยพิบัตินั้น ๆ นะครับ
เช่น ต้องหลบใต้โต๊ะ หรือต้องรีบไปลงบันไดหนีไฟ หรือต้องรีบออกจากอาคาร ฯลฯ
ไม่ใช่ว่าพอเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแล้ว เราจะมัวแต่นั่งสวดมนต์ อย่างนี้ไม่ได้นะครับ
การที่เราระลึกถึงพระรัตนตรัย ก็เพื่อช่วยให้ลดความกลัวลงหรือให้หายกลัว
แต่ว่าไม่ได้ทำให้เราปลอดภัยจากภัยพิบัตินั้น ๆ นะครับ (ถึงไม่กลัว แต่ก็ตายและบาดเจ็บได้)
เราจึงต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องสำหรับภัยพิบัตินั้น ๆ ด้วย
โดยพวกเราก็ควรเตรียมความรู้และความพร้อมของเราไว้ โดยไม่ควรประมาท
หากไม่เช่นนั้น สมมุติพอเจอไฟไหม้แล้ว เราอาจจะรีบยกตู้เย็นหรือยกตุ่มน้ำออกมาจากบ้านก็ได้




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP