ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

วิธีรับมือยามสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก



ถาม - หากต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น ลูกหรือพ่อแม่ เราจะมีวิธีรับมืออย่างไรคะ

ตรงนี้เป็นคำถามที่ถือว่าเข้าประเด็นของพุทธศาสนาเลยนะ
พุทธศาสนาบอกว่าทุกข์อันดับหนึ่ง ทุกข์หมายเลขหนึ่ง
ความทุกข์ซึ่งมีดีกรีสูงสุดเลย เห็นจะไม่มีอะไรเกินไปกว่า
การต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก
ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตายก็ตาม
การที่เราจะทำใจหลังจากที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ณ วันเกิดเหตุ ณ จุดเกิดเหตุ มันเป็นไปไม่ได้
เพราะว่าธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันนะ
มันจะมีพลังผูกมัดใจเข้าไว้ด้วยกันของคนอยู่ร่วมกัน
โดยเฉพาะคนอยู่ด้วยกันมาดีๆ อยู่บนเส้นทางบุญมาด้วยกันนี่นะ
มันจะมีแต่กระแสความรู้สึกที่อ่อนโยน ละมุนละไม
แล้วก็มีความรู้สึกแสนดี มีความรู้สึกอ่อนหวาน
มีความรู้สึกเหมือนกับทุกอย่างสว่างไสวไปหมดเมื่อมีกันและกัน
แม้กระทั่งนั่งกินข้าวด้วยกันนี่นะ มันก็เหมือนกับมีสายใยผูกพันระหว่างเรากับเขา
จนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่ามันแน่นแค่ไหน
จนกระทั่งเขาต้องจากไป อาจจะจากไปต่างจังหวัดหรืออาจจะจากไปต่างประเทศ
หรืออาจจะจากไปจากโลกนี้ก็ตาม
ถึงวันนั้นเราจะค่อยรู้ว่าเราผูกพันกับเขาหรือเธอมากแค่ไหน

การที่เราไม่เตรียมตัวเตรียมใจ หรือว่าไม่เตรียมเนื้อเตรียมตัวไว้เลย
แล้วจะถามว่าหากต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะให้ทำอย่างไร
ตรงนั้นมันสายเกินไปครับ
พระพุทธศาสนาไม่แนะนำให้ไปทำใจ หลังจากที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักแล้ว
เพราะว่าอย่างบางคนนะพอสูญเสียลูก สูญเสียสามีพร้อมกันในวันเดียวกัน
หรือในเวลาไล่ๆ กัน ในสมัยพุทธกาลเคยมีมาแล้วที่เป็นบ้า แล้วก็ผ้าผ่อนนี่หลุดเลยนะ
ร้อนถึงพระพุทธองค์ต้องทรงช่วยกลับฟื้นคืนสติให้
วิธีที่เราจะไม่โศกเศร้าเสียใจกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักมากเกินไป
มีอยู่ทางเดียวคือ เราต้องเห็นความจริงไว้ก่อนว่าวันหนึ่งเขาจะจากไป
คือต้องมีการทำใจไว้เลยนะครับ


สมัยนี้ก็มีวิทยาการมากมายหลากหลายที่จะบอกได้คร่าวๆ
บอกได้แบบล่วงหน้านะครับว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไหร่ ด้วยโรคอะไร
ด้วยมะเร็ง หรือว่าด้วยอะไรก็แล้วแต่
ที่มันเป็นโรคกรรมพันธุ์ ที่มันเช็คได้ง่ายๆ ด้วยวิทยาการยุคใหม่นะ
หัดพูดถึงความตายกันบ้าง อย่าพูดถึงแต่การอยู่
ครอบครัวที่พูดถึงความตาย บางครอบครัวกลัวว่ามันจะเป็นอัปมงคล
ในขณะที่ครอบครัวพุทธนะ
ได้รับการสนับสนุนจากพระพุทธเจ้าว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะพูดไว้บ้าง
พูดไว้เพื่อที่จะให้ใจไม่เหลิง ไม่หลงไปว่าจะอยู่กันไปเรื่อยๆ
มันมีชะงักขึ้นมาสักกึ๊กนึง มันมีความรู้สึกขึ้นมาสักจึ๊กนึงว่า
เออ ไอ้ที่อยู่ ๆ กันมีความสุขเหลือเกินอย่างนี้
มันไม่ใช่ของถาวรนะ มันไม่ใช่จะเกิดขึ้นตลอดไปนะ
แค่ได้พูดได้คุยกันบ้าง ก็เรียกว่าเป็นการเจริญมรณสติได้บ้างแล้ว
เป็นการเจริญมรณสติแบบอ่อนๆ แล้วนะครับ


ที่บอกว่าเป็นการเจริญมรณสติแบบอ่อนๆ เพราะอะไร
เพราะว่ามันเป็นแค่การพูดกัน
มันเป็นการเตือนให้ระลึกถึงความตายในแบบง่ายๆ
ในแบบที่มันอาจจะคิดขึ้นมาสักวินาทีสองวินาทีนะครับว่า เออ มีสิทธิ์ที่จะตายนะ
แล้วทำบ่อยๆ มันก็กลายเป็นความเคยชิน
แต่ถ้าหากว่าจะเจริญมรณสติอย่างกลางหรือว่าอย่างแก่กล้าเลยนะครับ
อันนี้มีทางเดียวคือเราต้องค่อยๆ หันเข้ามาดู เข้ามาพิจารณาว่า
อะไรบ้างที่เป็นองค์ประกอบทางกายทางใจนี้ที่มีความเที่ยง ที่มีความทน

นับเริ่มตั้งแต่ลมหายใจเลย มันไม่เที่ยงอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
แต่คนเราไม่เคยเห็น ไม่เคยสังเกต
แล้วถ้าไม่สังเกตมันก็ไม่ยอมรับ
คนเราจะมีแต่การเพ่งเล็งไปถึงสิ่งที่กำลังอยากได้เฉพาะหน้า
ใจมันเลยผูกอยู่กับกิเลส ใจมันเลยผูกอยู่กับไอ้โลกภายนอก
ที่มันดูเหมือนกับจะมีอะไรมาล่อตาล่อใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันๆ
แต่ไม่ได้กลับไปสังเกตความจริงขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเองเลยนะว่า
แม้กระทั่งลมหายใจ เรายังเอาไว้ไม่ได้
แล้วชีวิตทั้งชีวิต จะมีความเป็นไปได้ที่เราจะรักษาไว้ได้อย่างไร
เมื่อเราไม่สามารถจะรักษาชีวิตของตัวเองไว้ได้
ก็ไม่สามารถที่จะรักษาชีวิตของคนอื่นไว้ได้เช่นกัน


มันต้องมองออกมาจากตัวเองก่อนนะ มองอย่างตระหนัก
ลมหายใจของเราไม่เที่ยง ลมหายใจของคนอื่นก็ไม่เที่ยงเช่นกัน
อิริยาบถของเราไม่เที่ยง อิริยาบถของคนอื่นก็ไม่เที่ยงเช่นกัน
ความสุข ความทุกข์ หรือว่าจิตจะสงบหรือฟุ้งซ่านของเรา มันก็ไม่เที่ยง
ถ้าสังเกตอยู่ เห็นอยู่ แล้วก็เปรียบเทียบกับคนอื่น
เออ ของเขาก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
แยกดูเป็นส่วนๆ อย่างนี้ รู้จริงเป็นส่วนๆ อย่างนี้
ในที่สุดมันจะถอนจากความยึดมั่นถือมั่น
ว่าคนเราจะไม่ตาย คนรักเราจะไม่จากไป ได้อย่างเด็ดขาดนะครับ
ถึงวันที่เขาไป เราอาจจะรู้สึกเสียใจ คือเป็นธรรมดานะอย่าปฏิเสธเลย
อย่าไปเล่นกับความรู้สึกว่าฉันจะต้องไม่ทุกข์ เมื่อญาติอันเป็นที่รักเสียชีวิตไป
แต่ให้เล่นกันตรงนี้ดีกว่าว่าความยึดของเรา มันยังรุนแรงแค่ไหน
หรือว่ามีความผ่อน มีความบรรเทาลงไปแล้ว

จากการได้เจริญสติตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนตามลำดับนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP