กระปุกออมสิน Money Literacy

คำนวณเงินออม เตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ



Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

หายไปนานเลย ช่วงที่ผ่านมาติดภารกิจยาวเลยครับ กลับมาไม่ลืมสัญญา พาไปอ่านภาคต่อจากบทความฉบับที่แล้ว ที่พาไปรู้จักกับตัวเอง และขั้นตอนง่ายๆ ๕ ขั้นตอนในการพิจารณาว่า เราต้องทำอย่างไรเพื่อรับมือกับคำว่า "เกษียณ"

คราวนี้ ผมมารวมวิธีการคำนวณแบบง่ายๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่า ตัวเราเองควรมีเงินออมเท่าไหร่

สูตรคำนวณแรก มาจากคำถามที่ว่า ณ วันนี้ เรามีเงินออมเพียงพอที่จะตั้งต้นวางแผนเกษียณหรือยัง?
วิธีการคำนวณก็คือ

๐.๑ x อายุ x รายได้ทั้งปี

จากสูตร ใส่ตัวเลขของคุณลงไปเลยนะครับ ผมก็จะลองใส่เล่นๆจะได้ตามนี้

๐.๑ x ๓๒ x ,๐๐๐,๐๐๐ ผลลัพธ์ก็จะเท่ากับ ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท

นั้นแปลว่า ถ้าอายุ ๓๒ และรายได้ทั้งปีอยู่ที่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เราควรมีเงินเก็บในบัญชีไม่ต่ำกว่า ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท ณ ตอนนี้ ... ใครมีมากกว่า ก็สบายใจได้ว่า กำลังดำเนินชีวิตมาถูกทาง ส่วนใครยังมีไม่ถึง ก็คงต้องเร่งหาทางเพิ่มเงินออมกันแล้วนะครับ ส่วนจะเพิ่มยังไง ลองย้อนกลับไปอ่านบทความเก่าๆได้ มีเขียนไว้เยอะพอสมควร

ข้อสังเกต จากการใช้สูตรคำนวณนี้ก็คือ ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนซึ่งฐานเงินเดือนไม่ได้ขยับขึ้นมาก ตัวแปรที่สามารถเปลี่ยนแปลงเงินออมที่เราต้องการให้เพิ่มขึ้น ก็คือ อายุจากตัวอย่างข้างต้น ถ้าอายุเพิ่มขึ้นอีก ๑ ปี คำนวณใหม่ เงินเก็บในบัญชีก็ควรจะเท่ากับ ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเพิ่มจากเดิมแค่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือ ร้อยละ ๑๐ จากเงินเก็บปีก่อนหน้าแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นความยาก มันอยู่ที่ทำอย่างไรจะไปถึงเป้าแรกให้ได้ ส่วนเป้าในปีต่อๆไป ถ้าถึง ก็ไม่ได้ยากอะไรแล้วครับ การปฏิบัติภาวนานั้น ครูบาอาจารย์ท่านก็ว่าไว้ ยากในช่วงแรก แต่เมื่อเดินถูกทาง เดินได้ถูกต้อง หลังจากนั้นก็แค่มีความเพียร ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ เรื่องการออมนี้ก็เหมือนกันเลยครับ


ขั้นตอนต่อไปในการคำนวณ มาจากคำถามที่ว่า แล้วเราต้องเก็บเงินอีกจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะสบายได้จริงๆหลังเกษียณ?

ก่อนอื่น เราหารายจ่ายประจำที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี เช่นกะไว้ว่า มีค่าใช้จ่ายประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี (หรือเท่ากับ ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อเดือน)
เสร็จแล้วก็คำนวณ ที่คาดว่าจะใช้ หมายถึง นับจากวันเกษียณ ถึงวันที่คาดว่าจะเสียชีวิตนั่นเอง สมมติว่าเกษียณอายุ ๖๐ ปี และอยู่ถึงอายุ ๗๕ ปี (อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยในปัจจุบัน) เท่ากับระยะเวลาหลังเกษียณคือ ๑๕ ปี (๓๖๐,๐๐๐ x ๑๕) = ๕,๔๐๐,๐๐๐ บาท

จากสูตรคำนวณอันแรก ผมมีเงินเก็บอยู่ ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท เมื่ออายุ ๓๓ ปี จะหาว่า ต้องเก็บอีกเท่าไหร่ ก็คือ นำเงินออมส่วนนี้ มาหักลบออกจากจำนวนเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ = ๕,๔๐๐,๐๐๐ - ๓,๓๐๐,๐๐๐ = ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท

จากการคำนวณ ปัจจุบัน อายุ ๓๓ ปี ดังนั้น จะเหลือเวลาอีก ๒๗ ปี ก่อนจะเกษียณเมื่ออายุ ๖๐ ในการเก็บออมเงิน ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท นำมาหารต่อปี เท่ากับ ผมต้องหาเงินออมเพิ่มปีละ ๒,๑๐๐,๐๐๐ / ๒๗ = ๗๗,๗๗๗ บาท แค่นั้นเอง ซึ่ง ๗๗,๗๗๗ บาท ต่อปีนี้ คิดเป็นร้อยละ ๗.๗ ของรายได้ต่อปีในปัจจุบันแค่นั้นเอง ไม่ยากเลยนะครับ


การคำนวณวิธีอย่างง่ายที่ผมนำมาให้ดูวันนี้ ยังไม่ได้คำนวณรวมดอกเบี้ยกรณีมีเงินฝาก รวมกำไรจากการลงทุน และเงินเฟ้อที่อาจส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเงินนะครับ เพราะฉะนั้นใครที่ลองคำนวณดูแล้ว ดูเหมือนตัวเองจะเกษียณได้สบายจริงๆ ก็ขอจงอย่าได้ประมาทเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางโลก หรือทางธรรมะ ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดในการไปถึงเป้าหมายก็คือ ความเพียร และความมีวินัย เพราะฉะนั้นถ้าใครที่คำนวณดูแล้วยังต้องขยันเก็บเงินอีกเยอะ ผมก็ขอเอาใจช่วยนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP