จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เทศกาลทานเจ



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


089_destination


เวลาแห่งช่วงเทศกาลทานเจเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งแล้วนะครับ
ณ วันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ซึ่งเรียกกันว่าวันล้างท้อง
แต่ ณ วันที่วารสารเผยแพร่ก็คงเข้าสู่วันที่ ๔ ของเทศกาลทานเจแล้ว
ผมลองค้นหาประวัติของเทศกาลทานเจในเว็บไซต์วิกิพีเดีย (เวอร์ชั่นภาษาไทย)
ก็พบว่ามีตำนานเกี่ยวกับเรื่องการทานเจอยู่ถึง ๖ ตำนาน
ผมไม่ทราบว่าตำนานไหนเป็นของจริง หรือเป็นของจริงทั้งหมด หรืออาจจะไม่จริงทั้งหมด
ก็ขอละไว้ไม่นำมาลงนะครับ แต่หากท่านใดสนใจก็สามารถไปหาอ่านเองได้ครับ
https://th.wikipedia.org/wiki/เทศกาลกินเจ

เรื่องการทานเจกับไม่ทานเจ หรือการทานมังสวิรัติกับไม่ทานมังสวิรัตินี้
สามารถถกเถียงกันได้ไม่รู้จบนะครับ ในอดีตผมก็เคยพบเห็นกระทู้เถียงกันเรื่องนี้มาไม่น้อย
ซึ่งผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า ในอนาคตก็คงจะมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้อยู่ต่อไป
แต่ในที่นี้ เราไม่ได้จะมาสนทนากันว่า ทานเจแล้วดีหรือไม่ทานเจแล้วดีนะครับ
โดยท่านใดจะทานเจหรือไม่ทานเจก็ตาม
แต่หากท่านประพฤติปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ช่วยทำให้ท่าน ๑. มีการปฏิบัติธรรมเจริญก้าวหน้า
๒. จิตใจบริสุทธิ์มากขึ้น ๓. สะดวก และ ๔. มีสุขภาพดีแล้ว ท่านก็พึงทำต่อไปครับ
ซึ่งในที่นี้แต่ละท่านก็ย่อมจะมีสภาพ ข้อจำกัด เงื่อนไข และปัจจัยที่แตกต่างกัน


เรามาลองพิจารณากันอย่างย่อ ๆ นะครับ

๑. มีการปฏิบัติธรรมเจริญก้าวหน้า ก็คือมีศีล สมาธิ และปัญญาเจริญก้าวหน้า
หากท่านทานเจหรือไม่ทานเจแล้วก็ตาม มีส่วนช่วยให้ท่านมีศีล สมาธิ และปัญญาเจริญก้าวหน้า
ท่านก็พึงประพฤติดังกล่าวต่อไปครับ
ยกตัวอย่างว่า บางท่านไม่ได้ถือศีลเท่าไรเลย หรือถือศีลมาอย่างเบาบางในช่วงเวลาปกติ
แต่พอถึงช่วงเวลาทานเจแล้ว ท่านก็หันมาถือศีลอย่างแข็งแรง เช่นนี้ก็พึงทำต่อไปครับ
ในทางกลับกัน บางท่านนั้นพอถึงช่วงเวลาทานเจแล้ว ตนเองทานเจของตนเองอยู่แล้ว
จากนั้นก็นำเรื่องทานเจของตนเองไปตำหนิว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทานเจนั้นว่า ทำไม่ดี ทำบาป
โดยยังพึงพอใจกับการเบียดเบียนผู้อื่นทางวาจาและใจ ซึ่งอาจถึงขั้นทะเลาะกันด้วยก็มี
ในทำนองนี้ก็ถือว่าไม่เหมาะสม และทำให้มีผลเสียในการทานเจของท่านเอง

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์วิกิพีเดีย (เวอร์ชั่นภาษาไทย) นั้น ได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในช่วงเวลาทานเจว่า
ในช่วงเทศกาลทานเจ ๙ วัน ๙ คืน ผู้ที่ต้องการทานเจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเพณีการทานเจ
พึงจะต้องปฏิบัติตนดังนี้
(๑) รับประทานอาหารเจ
(๒) งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
(๓) รักษาศีลห้า
(๔) รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
(๕) ทำบุญทำทาน
(๖) นุ่งขาวห่มขาว

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตนในช่วงเวลาทานเจนั้น ไม่ใช่แค่เพียงทานอาหารเจเท่านั้น
แต่จะต้องรักษาศีลห้า ทำบุญทำทาน และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วย
หากเราทานเจ แต่ไม่ได้รักษาศีล โดยยังไปเบียดเบียนผู้อื่นทางกาย วาจา หรือใจอยู่
ก็เท่ากับว่าเรายังเข้าไม่ถึงการประพฤติปฏิบัติในการทานเจอย่างแท้จริง


๒. จิตใจบริสุทธิ์มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกับคำแนะนำข้อ (๒) ข้างต้นในเว็บไซต์
โดยหากเราทานเจแล้ว เรามีจิตใจที่บริสุทธิ์มากขึ้น ปล่อยวางความยึดติดได้มากขึ้น
มีเมตตาต่อผู้อื่นและสัตว์โลกทั้งปวงมากยิ่งขึ้น กิเลสครอบงำจิตใจได้น้อยลง เราก็พึงทำต่อไปครับ
แต่หากเราทานเจแล้ว เรากลับมีจิตใจขุ่นมัว เช่น อาหารเจไม่อร่อย ก็ไม่พอใจ
อาหารเจราคาแพง ก็มีโทสะ เห็นคนรอบข้างไม่ทานเจ ก็ไม่พอใจเขา
หรือทานเจ เพราะโลภอยากจะให้โชคดีมีลาภเยอะ ๆ เป็นต้น
ในทำนองนี้ก็ถือว่าไม่เหมาะสม และทำให้มีผลเสียในการทานเจของเราเอง


๓. สะดวก โดยต้องพิจารณาทั้งในแง่ของการซื้อหา และราคา
อย่างสมมุติว่าเราตั้งใจจะทานเจทุกวัน แต่ว่าแถวบ้านและที่ทำงานเราไม่มีขายอาหารเจเท่าไร
หรือเราต้องไปต่อคิวยาว ๆ เพื่อรออาหารเจ ทำให้เพิ่มความไม่สะดวกหรือเสียเวลาขึ้นเยอะ
ทั้งที่เราเองก็มีงานเร่งด่วนหรือภารกิจเร่งด่วนหลายอย่างที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ
หรืออาหารเจแถวบ้านและที่ทำงานเรามีราคาสูงมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกมาก
ทั้งที่เราเองก็มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวสูง และมีรายได้ไม่ค่อยจะพออยู่แล้ว
เช่นนี้เราก็ต้องพิจารณาครับว่า การทานเจทำให้เพิ่มปัญหาชีวิตตนเองมากขึ้นหรือเปล่า
ในทางกลับกัน บางคนนั้นไม่ทานเจ แต่ว่าแถวบ้านและที่ทำงานกลับขายแต่อาหารเจเสียมาก
มื่อเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่เสียหายที่จะทานอาหารเจไปเลย เพราะว่าสะดวกมากกว่า


๔. สุขภาพดี โดยเราอย่าเพิ่งรีบเหมานะครับว่า ทานเจหรือไม่ทานเจแล้วจะทำให้สุขภาพดีหรือไม่ดี
แต่เราควรจะพิจารณาแต่ละท่านแตกต่างกันครับ
อย่างเช่น บางคนเป็นโรคเกาต์ หรือเป็นความดันโลหิตสูง การทานเจก็ย่อมจะเป็นประโยชน์
แต่หากบางคนเป็นโรคเลือดจาง หรือโรคขาดสารอาหาร ก็อาจจะทำให้เสียสุขภาพได้
โดยแต่ละคนก็พึงดูสุขภาพของตัวเองเป็นสำคัญครับ
เพราะสุขภาพแต่ละคนนั้นอาจจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน และแข็งแรงแตกต่างกัน


นอกจากนี้ บางท่านก็อาจจะพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ อีกก็ได้
แต่จากสี่ข้อที่ได้พิจารณาแล้วในข้างต้น ก็คงทำให้เราเห็นได้ว่า แต่ละคนมีปัจจัยแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้นแล้ว เราพึงพิจารณาในส่วนของตัวเราครับว่า
เราประพฤติปฏิบัติอย่างไหนแล้วมีประโยชน์ เป็นกุศล พัฒนาจิตใจ ช่วยให้สุขภาพดี
เราก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นไป โดยไม่พึงไปตำหนิติเตียนคนอื่นที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับตนเอง
เช่นนี้ก็จะช่วยอำนวยให้เราอยู่ในเทศกาลทานเจนี้ได้อย่างมีความสุข
และไม่ต้องมีปัญหาทะเลาะกับคนรอบข้างหรือคนอื่น ๆ ครับ

ทีนี้ บางท่านอาจจะสงสัยว่าในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีข้อห้ามไม่ให้เราทานเนื้อสัตว์หรือไม่
ในประเด็นนี้ ผมขอยกพระสูตรที่ชื่อว่า “ชีวกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย) มาตอบนะครับ
โดยในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงห้ามทานเนื้อสัตว์ ๓ สถาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=13&A=950
ในเนื้อหาของพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงสอนว่า
เนื้อซึ่งประกอบด้วย ๓ สถานดังนี้ คือ ตนไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจอย่างใดอย่างหนึ่ง
ย่อมถือว่าเป็นเนื้อที่ควรบริโภคได้
หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า หากเนื้อนั้น เราไม่เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน
และเราไม่สงสัยว่าเนื้อนั้นเขาฆ่ามาเพื่อเรา ก็เป็นเนื้อที่สมควรทานได้
เมื่อแปลในทางกลับกันก็คือ ถ้าหากเรารู้ เราเห็น เราได้ยิน
หรือเราสงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อเอาเนื้อมาทำอาหารให้เราแล้ว
เนื้อนั้นเป็นของไม่สมควรทาน โดยถือว่าทานแล้วเป็นบาปอกุศล
สรุปว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องทานเจหรือทานมังสวิรัติครับ

ในทางกลับกัน ในสมัยพุทธกาลนั้น พระเทวทัตได้เข้าไปกราบทูลขอพระพุทธเจ้าในวัตถุ ๕ ประการ
โดยหนึ่งใน ๕ ประการนั้นคือ ทูลขอว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต”
แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงอนุญาตดังกล่าว
โดยพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม
คือไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ (ดังที่ได้อธิบายแล้วในชีวกสูตรข้างต้น)
(ข้อมูลจากพระวินัยปิฎก จุลวรรค)
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=7&A=3770&Z=3863

นอกจากเนื้อสัตว์ใน ๓ สถานข้างต้นแล้ว
พระพุทธเจ้ายังได้ทรงห้ามพระภิกษุทานเนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิด ได้แก่
เนื้อมนุษย์ เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสิงห์โต เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง
เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง และเนื้อช้าง (ข้อมูลจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค)
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=5&A=1372&Z=1508

ในชีวกสูตรยังมีคำสอนที่น่าสนใจอีกคือ พระพุทธองค์ได้ทรงสอนว่า
ชนใดที่ฆ่าสัตว์เจาะจงต่อพระตถาคตหรือต่อสาวกของพระตถาคตแล้ว
เขาจะประสบบาปเป็นอันมาก เพราะ ๕ สถาน คือ
เมื่อสั่งบังคับว่า
ท่านจงไปนำสัตว์โน้นมาเขาก็ประสบบาปมากตอนหนึ่ง
สัตว์นั้นเมื่อถูกผูกคอจูงมาได้รับทุกขโทมนัส เขาก็ได้ประสบบาปมากตอนหนึ่ง
เมื่อผู้นั้นสั่งบังคับว่า
ท่านจงไปฆ่าสัตว์นั้นเขาก็ประสบบาปมากตอนหนึ่ง
สัตว์นั้นถูกเขาฆ่าอยู่ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส เขาก็ได้ประสบบาปมากตอนหนึ่ง
ผู้นั้นนิมนต์พระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตมาฉันเนื้อดังกล่าวนั้น
เขาก็ได้ประสบบาปมากตอนหนึ่ง จึงรวมเป็น ๕ สถานเช่นนี้
ดังนั้นแล้ว หากท่านใดทำอาหารถวายพระภิกษุนั้น โดยได้กระทำการฆ่าสัตว์อื่น ๆ แล้ว
แทนที่จะได้บุญกุศล แต่กลับจะได้บาปอกุศลใน ๕ คราวเลยทีเดียว
แม้กระทั่งเวลาที่ไปนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาฉันเนื้อนั้น ก็ยังเป็นบาปอกุศลด้วย

ทีนี้ บางท่านอาจจะบอกว่าการทานเจย่อมจะช่วยทำให้เรามีจิตใจบริสุทธิ์
ในอันที่จริงแล้ว เราพึงเข้าใจว่าการทำให้จิตใจบริสุทธิ์นั้นไม่ได้เกี่ยวกับอาหาร
แต่เกี่ยวกับว่าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติถือศีลทั้งทางกาย วาจา และใจ
โดยหากเราเข้าใจว่า อาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ที่เราทานนั้น จะทำให้จิตใจเราบริสุทธิ์แล้ว
เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะว่าไม่เกี่ยวกันครับ
โดยเมื่อทานอาหาร (จะเจหรือไม่เจก็ตาม) ลงท้องไปแล้ว ร่างกายก็ย่อยอาหารดังกล่าว
แล้วก็ออกมาเป็นอุจจาระในท้ายที่สุด
ไม่ได้มีผลต่อจิตใจว่า จะทำให้จิตใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นได้อย่างไร

ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง ๒ พระสูตรคือ “สังครวสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย)
และ “วัตถูปมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย)
โดยใน “สังครวสูตร” นั้น ได้มีพราหมณ์ท่านหนึ่งชื่อว่า “สังครวพราหมณ์”
พราหมณ์ท่านนี้ถือลัทธิว่าความบริสุทธิ์นั้นต้องใช้น้ำชำระล้าง
โดยเขาประพฤติการลงอาบน้ำชำระร่างกายทั้งเวลาเช้าและเย็นอยู่เป็นนิตย์
ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเสด็จไปสั่งสอนพราหมณ์ท่านนี้
โดยพราหมณ์ท่านนี้ได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ท่านพระโคดม บาปกรรมใดที่ข้าพระองค์ทำในเวลากลางวัน
ข้าพระองค์ลอยบาปกรรมนั้นเสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเย็น
บาปกรรมใดที่ข้าพระองค์ทำในเวลากลางคืน
ข้าพระองค์ลอยบาปกรรมนั้นเสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า
ท่านพระโคดม ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์นี้แหละ
จึงได้ชื่อว่ามีลัทธิถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ
ถือการลงอาบน้ำชำระร่างกาย ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสั่งสอนว่า
“ดูกรพราหมณ์ ห้วงน้ำคือธรรมมีศีลเป็นท่าไม่ขุ่น สัตบุรุษสรรเสริญต่อสัตบุรุษ
เป็นที่ที่บุคคลผู้ถึงเวทอาบแล้ว บุคคลผู้มีตัวไม่เปียกเท่านั้น จึงจะข้ามถึงฝั่งได้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว สังครวพราหมณ์ได้กราบทูลว่า
ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง
ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้
ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=สังครวสูตร&book=9&bookZ=33

สำหรับ “วัตถูปมสูตร” นั้น ได้มีพราหมณ์ท่านหนึ่งชื่อว่าสุนทริกภารทวาชพราหมณ์
โดยพราหมณ์ท่านนี้ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้
ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นบุญ
ชนเป็นอันมาก พากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า “คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ
ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้
แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้
จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย
ผัคคุณฤกษ์ (หมายถึงฤกษ์ที่ถือกันว่าผู้อาบน้ำในฤกษ์นี้ย่อมชำระบาปที่ทำมาทั้งปีได้)
ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ
อุโบสถก็ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ
วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ
ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด
ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้
เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้
ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้ว จักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าน้ำคยา ก็จักทำอะไร ให้แก่ท่านได้
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสั่งสอนแล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด
พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ
ข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมผู้เจริญเถิด
ซึ่งเมื่อสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ท่านได้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านานเท่าไร
ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=1136&Z=1236

ในทำนองเดียวกันนะครับ ไม่ว่าเราจะทานเจหรือไม่ทานเจก็ตาม
หากเรามุ่งจะชำระล้างความบริสุทธิ์แก่กาย วาจา และใจของเรา
ก็พึงใช้ศีลและพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนนั้นเป็นเครื่องชำระล้างกาย วาจา และใจ
แทนที่จะมุ่งหวังว่าจะใช้อาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ดังกล่าวมาชำระล้างให้

นอกจากนี้แล้ว สิ่งดี ๆ ที่เป็นบุญกุศลทั้งหลายที่เราได้มีโอกาสทำในช่วงเวลาทานเจนี้
เราก็ควรจะทำต่อไป ไม่ใช่ว่าทำแค่เพียงช่วงสั้น ๆ เพียงไม่กี่วัน แล้วก็เลิก
จากนั้น ก็รอว่าปีหน้าค่อยกลับมาทำใหม่ เช่นนี้ถือว่าเสียโอกาส
(กลายเป็นว่าเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปีนั้น เราทำเรื่องผิดศีล หรือเรื่องบาปอกุศลเสียมาก)
หากในช่วงเทศกาลทานเจ เราได้ถือศีลห้าอย่างแข็งแรง และได้ทำบุญทำทานดีแล้ว
แม้เมื่อพ้นเทศกาลทานเจก็ตาม เราก็ควรจะถือศีลห้าให้แข็งแรง และได้ทำบุญทำทานต่อเนื่องไป
ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องไปรอให้ถึงโอกาสเทศกาลทานเจในปีหน้าหรอกครับ
อะไรก็ตามที่ทำแล้วดี มีประโยชน์ เป็นกุศล พัฒนาจิตใจ ช่วยให้สุขภาพดี
เราก็ควรจะทำต่อเนื่องไปนะครับ ไม่ใช่ว่าทำแค่เพียงไม่กี่วันในแต่ละปีเท่านั้น



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP