จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

แพ้สมรภูมิรบ แต่ไม่แพ้สงคราม


งดงาม

This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


088_destination



เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสสนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งซึ่งมีปัญหาครอบครัว
โดยท่านได้หย่ากับภรรยาแล้ว ด้วยเหตุผลบางประการที่ทั้งสองฝ่ายแก้ไขไม่ได้
และทั้งสองฝ่ายก็ช่วยกันเลี้ยงดูลูก ๆ ที่ยังเล็ก
ปัญหาในปัจจุบันก็คือว่าอดีตภรรยานั้นไม่ได้ทำตามข้อตกลง
โดยพยายามเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ เกินกว่าที่ได้เคยตกลงกันไว้
และเมื่อใดที่ไม่ได้อะไรดังใจ ก็จะด่าญาติธรรมท่านนี้ โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย
ญาติธรรมท่านนี้ได้รับคำแนะนำว่าให้เก็บหลักฐานที่อดีตภรรยาด่าหยาบคายนั้นไว้
เพื่อจะได้นำไว้ใช้ดำเนินคดีทางกฎหมายต่ออดีตภรรยาต่อไป
แต่อีกใจหนึ่ง ท่านก็ไม่อยากจะทำการดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนลูก ๆ

ที่ผ่านมานั้น ผมก็ได้เคยพบหลายท่านที่มีปัญหาหย่าร้างกับคู่สมรส
โดยที่มีลูก ๆ ที่ยังอายุน้อย ๆ อยู่ และก็อาจจะมีปัญหาทำนองเดียวกัน
ผมจึงขอนำคำ
แนะนำมาแบ่งปันในที่นี้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับบางท่านนะครับ ดังต่อไปนี้


๑. ในสมรภูมิรบที่ไม่มีทางชนะ สิ่งที่แม่ทัพที่มีปัญญาจะพึงทำ
ก็คือหาหนทางถอยทัพให้เสียหายน้อยที่สุด โดยไม่ไปลุยรบในสมรภูมิรบให้เสียหายหนักกว่าเดิม
พยายามรักษาบ้านเมืองตนเองเอาไว้ และรอเวลาที่เหมาะสมที่จะชนะสงครามได้

ในทำนองเดียวกันกับคน ๆ หนึ่งที่หลงไปเล่นพนันและเสียเงินไปมากแล้ว
สิ่งที่สมควรทำคือ หยุดและเลิกเล่น เพื่อรักษาทรัพย์สินส่วนที่เหลือไว้
ไม่ใช่ว่าจะพยายามนำทรัพย์สินส่วนที่เหลือไปเล่น โดยหวังว่าจะได้ทรัพย์ที่เสียไปนั้นกลับมา
ซึ่งหากเขาสามารถเลิกเล่นพนันได้ เขาหันกลับมาตั้งใจทำมาหากินสร้างรายได้ รู้จักประหยัดอดออม
ในไม่นาน เขาเองก็จะได้ทรัพย์เพิ่มมากขึ้น และอาจจะมากกว่าเดิมเสียด้วย
นั่นก็เท่ากับว่าเขาชนะแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไปเล่นพนันต่อไป
และไม่จำเป็นต้องได้ทรัพย์จากการพนัน

ทีนี้ ในเหตุการณ์ลักษณะนี้ เราควรจะทำอย่างไร?
ตอบว่าเราพึงต้องจัดลำดับความสำคัญเสียก่อน
พิจารณาว่าสิ่งไหนสำคัญมากที่สุดและพึงต้องรักษาไว้
และพิจารณาว่าควรจะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุดสำหรับในส่วนอื่น ๆ
ในชีวิตจริงของคนเรานั้น มีหลายท่านที่ทำตามอารมณ์ชั่ววูบหรือกิเลสตนเอง
โดยไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบว่าสิ่งที่จะทำนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์จริงหรือไม่
อย่างเช่นว่า มีเงิน ๑๐๐ บาท และจะต้องเสียเงินไป ๑๐ บาท
คนหนึ่งอาจจะมองว่า ทำไมฉันจะต้องเสีย ๑๐ บาทนี้ด้วย ฉันไม่ยอม
ฉันจะต้องสู้เพื่อความถูกต้อง และพยายามรักษา ๑๐ บาทนี้ไว้ให้ได้ เสียเท่าไรก็ต้องยอม
ซึ่งโดยการที่เลือกต่อสู้ไปเรื่อย ทำให้เสียเงินไปมากกว่า ๑๐ บาทเสียอีก
หรืออาจจะทำให้เสียหมดทั้ง ๑๐๐ บาทไปเพื่อการนั้นก็ได้
อีกคนหนึ่งมองว่ายอมเสีย ๑๐ บาทไปโดยไม่เสียดาย เพื่อรักษาเงินส่วนใหญ่อีก ๙๐ บาทเอาไว้
แล้วก็ดีใจที่ตนเองสามารถรักษา ๙๐ บาท ซึ่งเป็นส่วนสำคัญนั้นไว้ได้
(มีภาษิตกล่าวไว้ว่า
เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายก็ใช้ในเหตุการณ์ทำนองนี้ได้)


๒. ในกรณีของท่านญาติธรรมก็เช่นกัน ถ้าหากมองเรื่องปัญหาชีวิตครอบครัวเป็นสงครามแล้ว
ท่านกำลังอยู่ในสมรภูมิรบที่ไม่มีทางรบชนะสงครามได้ในขณะนี้
สิ่งที่ท่านควรทำคือ หาทางถอยทัพให้เสียหายน้อยที่สุด และพยายามรักษาเมืองเอาไว้
ถามว่าจะทำอย่างไร
? ท่านก็ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อน
ทีนี้ ท่านจัดลำดับว่า จิตใจลูกสำคัญที่สุดที่ต้องรักษาไว้ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีและเป็นกุศล
แต่ผมแนะนำว่า ท่านพึงให้ความสำคัญแก่จิตใจของท่านเป็นสำคัญที่สุดก่อน
เพราะหากจิตใจของท่านเสียแล้ว ท่านมีจิตใจไม่ดี มีจิตใจชั่วร้ายเสียแล้ว
สิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญที่เหลือจะได้รับผลเสียหายกระทบกันไปเป็นลูกโซ่
ถามว่าเราจะรักษาจิตใจเราอย่างไร
? ก็ตอบว่าเราพึงฝึกตนเองให้มีสติ รู้ทันใจตนเอง
เมื่อมีสิ่งใด ๆ ผ่านเข้ามาในจิตใจ ให้เรามีสติรู้ทัน
เช่นนี้แล้ว หากกิเลสอกุศลใด ๆ ผ่านเข้ามาในใจ เราก็มีสติรู้ทัน
เราก็จะไม่โดนกิเลสนำพาให้เราไปทำผิดทำชั่วอะไร และเราใช้ชีวิตเราทำสิ่งดี ๆ ที่เป็นกุศล
สิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญที่เหลือก็ย่อมจะได้รับผลดีและได้รับประโยชน์ตามกันไปด้วย


๓. เมื่อท่านได้รักษาใจตนเองให้มีสติ ไม่ไปคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดี
โดยสามารถที่จะคิดดี พูดดี และทำดีแล้ว ทีนี้ เรามาพิจารณาปัญหาของท่านต่อไป
ท่านพึงพิจารณาว่าท่านอยากจะทะเลาะฟ้องร้องกับอดีตภรรยาที่เลิกรากันไปแล้วหรือเปล่า
ผมเห็นว่าคำตอบคือ
ไม่ต้องการทะเลาะ ไม่ต้องการฟ้องร้อง
หากท่านทะเลาะกับอดีตภรรยา ฟ้องร้อง หมิ่นประมาทกันแล้ว ถามว่าใครเดือดร้อน
?
ก็ตอบว่าเดือดร้อนกันทุกคนคือ ตัวท่านเอง อดีตภรรยา และลูก ๆ ของพวกท่าน
นอกจากนี้ ท่านก็คุยอย่างสมานฉันท์กับอดีตภรรยาได้ยากขึ้น จากเดิมที่ปัจจุบันนี้ก็คุยยากอยู่แล้ว
ฉะนั้นแล้ว การฟ้องร้องอดีตภรรยาตนเองนั้น ไม่ได้ประโยชน์อะไร และไม่ได้แก้ไขปัญหาที่แท้จริง
ลองพิจารณาตามข่าวก็ได้ที่ครอบครัวคนอื่น ๆ เขาทะเลาะกันรุนแรง และฟ้องร้องกันนั้น
คนในครอบครัวที่ทะเลาะกันได้ประโยชน์อะไรกันบ้าง และมีคนอื่นได้ประโยชน์ด้วยไหม
ที่ได้ประโยชน์ก็คือสื่อที่ขายข่าว ทนายความ
และบรรดาพวกที่ชอบคุยเรื่องชาวบ้านประสบความฉิบหาย

หากท่านทะเลาะฟ้องร้องอดีตภรรยาแล้ว คนที่ได้ประโยชน์และได้เงินคือทนายความ
คนที่เสียประโยชน์ เสียเงิน เสียใจ คืออดีตภรรยา ลูก ๆ ของท่านเอง และตัวท่านเอง
ทีนี้ หากท่านเป็นแม่ทัพอยู่ในสมรภูมิรบนี้
ท่านจะถอยทัพเพื่อรักษากองกำลังทหารไว้เพื่อไปรักษาเมืองไว้
หรือท่านจะยกทัพเข้าไปลุยแตกหักให้รู้เรื่อง และถ้าท่านแพ้ ท่านจะสูญเสียเมืองและทุกอย่างไปด้วย


๔. โอกาสในการชนะสงครามนี้มีหรือไม่? ผมขอตอบว่า มีครับ
(ท่านไม่ชนะในสมรภูมิรบนี้ แต่ท้ายสุดท่านก็ยังสามารถชนะสงครามได้)
แต่ท่านต้องรักษาเมืองของท่านไว้ให้ได้จนถึงเวลานั้น ไม่ใช่นำกองทัพทหารไปเข้าแลกในขณะนี้
การถอยทัพและรักษาบ้านเมืองไว้ได้ ก็คือยังไม่แพ้สงคราม
แต่ถ้ายกทัพเข้าไปแลกแล้ว ปรากฏว่าทำให้ทุกอย่างฉิบหายหมด นั่นก็คือแพ้และทำฉิบหายด้วย
พึงระลึกในใจไว้นะครับว่า ยอมเสีย ๑๐ บาท แต่รักษา ๙๐ บาทไว้ได้ ถือว่าเป็นประโยชน์แล้ว
ถามว่าแล้วอย่างไรจึงจะถือว่าท่านชนะสงคราม จะชนะเมื่อไร
?
ตอบว่า ท่านจะชนะสงครามก็เมื่อถึงเวลาที่ลูกของท่านโต เรียนจบ เป็นคนดี และมีอนาคตที่ดี
นั่นแหละเป็นเวลาที่ท่านชนะในสงครามนี้
ปัญหาใหญ่ของท่านในขณะนี้ คือลูกยังอายุน้อยเกินไป ยังไม่รู้ความ
ยังช่วยตัวเองไม่ได้ และต้องใช้เวลาอีกนานไม่น้อย
นั่นก็เท่ากับว่าท่านจะต้องอยู่ในสงครามอีกนาน
ก็ต้องอาศัย
ขันติคือความอดทน ต้องอดทนให้มาก

ผมเคยเห็นในกรณีหนึ่งที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงแยกทางกัน โดยที่ทั้งสองคนมีลูก ๆ ด้วย
โดยในตอนแรก ฝ่ายพ่อจะขอรับลูกไปเลี้ยงทั้งหมด แต่ฝ่ายแม่ไม่ยอม โดยเสนอให้แบ่งลูกกันไปเลี้ยง
ฝ่ายพ่อไม่อยากจะให้ลูก ๆ โตขึ้นมา โดยที่พี่น้องต้องอยู่แยกกัน และไม่ได้โตขึ้นมาด้วยกัน
ด้วยเกรงว่าพี่น้องจะไม่รักกัน หรือไม่ได้มีความผูกพันกัน จึงยอมให้ฝ่ายแม่เป็นคนเลี้ยงดูลูก ๆ ไปเรื่อย
จริง ๆ แล้วฝ่ายพ่อจะฟ้องร้องเป็นคดีแย่งลูก ๆ กับฝ่ายแม่ก็ได้ แต่ฝ่ายพ่อก็เลือกที่จะไม่ทำ
จากนั้น ฝ่ายพ่อก็ช่วยออกค่าใช้จ่ายตลอด และก็ไปดูแลลูก ๆ โดยสม่ำเสมอ
โดยฝ่ายพ่อพยายามสอนลูกให้เป็นคนดี และให้รักใคร่กันระหว่างพี่น้อง
ส่วนฝ่ายแม่นั้น กลับไปสอนลูกว่า ฝ่ายพ่อนั้นไม่รักลูก ทิ้งลูก ๆ ไป ปล่อยให้แม่เป็นคนเลี้ยงทั้งหมด
นอกจากนี้ ฝ่ายแม่ยังไปเล่าให้คนอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันอีก เพื่อจงใจให้ฝ่ายพ่อได้รับความเสียหาย
ฝ่ายพ่อไม่ได้ตอบโต้อะไร โดยก็รับผิดชอบไปเรื่อย
พยายามไปหาลูก สอนให้เป็นคนดี เท่าที่มีเวลาอำนวย
ฝ่ายพ่อสอนให้ลูก ๆ ต้องรักกัน ต้องสามัคคีกัน ต้องช่วยเหลือดูแลกัน
เวลาผ่านไปหลายปี จนเมื่อลูก ๆ โตขึ้นมาและรู้จักรับผิดชอบ เรียนจบ ช่วยเหลือตัวเองได้
ลูก ๆ เข้าใจในสิ่งทั้งหลาย ลูก ๆ ได้เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อได้เสียสละให้กับพวกเขานั้นเป็นอย่างไร
และลูก ๆ ก็เป็นคนดี และเป็นพี่น้องที่รักกันด้วยความเสียสละของฝ่ายพ่อนั้น
โดยลูก ๆ ก็ช่วยกันดูแลพ่อ และก็ดูแลแม่ด้วย ซึ่งอย่างนี้เรียกได้ไหมว่าฝ่ายพ่อชนะสงครามแล้ว
แต่ถ้าหากลูกกลายไปเกลียดแม่ ไม่เลี้ยงดูแม่ คือลูกไม่ได้เป็นคนดี
ก็คงจะเรียกว่าฝ่ายพ่อชนะสงครามไม่ได้


๕. แล้วในระหว่างนี้ล่ะ ควรจะทำอย่างไร? ตอบว่า รักษากองทัพไว้ รักษาเมืองเอาไว้ ...
รักษาใจของท่านเอาไว้ให้ดีนะครับ เพราะงานที่ท่านต้องทำนั้น ยังอีกเยอะ และใช้เวลาอีกนาน
โดยก็ขอแนะนำให้พยายามสมานฉันท์กับภรรยาไปเรื่อย ๆ
เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงดูลูกให้โตขึ้นมาเป็นคนดี และมีอนาคตที่ดี
ถามว่าทำอย่างไรล่ะ เพราะภรรยาขอเยอะเหลือเกิน ขอไม่มีเหตุผล และก็เกินกำลังเราด้วยในบางที
?


๕.๑ ก่อนอื่นแนะนำให้ประเมินสถานการณ์ก่อนนะครับว่า ลูกอยู่กับใคร อยู่กับแม่หรือเปล่า?
การที่แม่เดือดร้อน และท่านช่วยได้ แต่ไม่ช่วยเธอ แล้วจะไม่มีปัญหากับลูกเลยหรือ
?
หากแม่เลี้ยงลูกและขี้โมโหอย่างนี้ ด่าท่านหยาบคายอย่างนี้
หากเธอมีปัญหาชีวิตหนักแล้ว เธอจะไม่ไปลงกับลูกบ้างหรือ หากเธอเป็นฝ่ายเลี้ยงลูกอยู่
?
ดังนั้น การที่ท่านช่วยอดีตภรรยานั้นเท่ากับเป็นการช่วยลูก ๆ
การที่ท่านช่วยลูก ๆ คือการที่ท่านช่วยตนเองครับ ช่วยรักษาสิ่งสำคัญของตนเอง
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าอดีตภรรยาจะใช้ลูกเป็นตัวประกันและเรียกร้องอะไรก็ได้นะครับ
อะไรที่มันไม่ถูกต้อง ไม่สมควร หรือเกินความสามารถจริง ๆ ก็ต้องปฏิเสธครับ และพยายามอธิบายกัน


๕.๒ ในเมื่อแม่มีนิสัยชอบด่าท่านหยาบคาย หรือชอบขี้โมโห แล้วเธอจะสอนลูกอย่างไรบ้าง?
ทีนี้ ท่านก็คงไม่ต้องการจะไปส่งเสริมให้อดีตภรรยามีนิสัยเช่นนั้น
แต่หากเมื่อไรที่ท่านไปทะเลาะกับเธอ นั่นก็คือท่านไปส่งเสริมเธอแล้ว แล้วลูก ๆ ก็จะติดจากเธอได้
แล้วควรจะทำอย่างไร
? ก็ตอบว่าท่านจะต้องมีสติ มีธรรมะในใจ
ค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ อธิบายอดีตภรรยาว่า อันไหนทำได้ จะทำให้
อันไหนทำไม่ได้ เพราะอะไร ติดขัดอย่างไร เกินกำลังอย่างไร
เสนอว่าจะทำอย่างไรให้ได้บ้าง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน
อันไหนไม่ควรทำ เพราะไม่เหมาะสม และเป็นสิ่งไม่ดี ก็ค่อย ๆ อธิบายไป

อนึ่ง อดีตภรรยาของท่านเองมีปัญหาชีวิตอยู่แล้วว่าต้องเลิกกับสามี
เธอย่อมจะมีภาระกดดันทางสังคมอยู่แล้ว
การที่ท่านจะไปทะเลาะกับเธอเพิ่มเติมนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร
สิ่งที่ท่านควรทำคือค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ อธิบาย หากทำให้เธอเป็นคนดีมีธรรมะได้ ย่อมดีที่สุด
แต่ท่านจะทำเช่นนั้นได้ ท่านเองจะต้องมีสติ และมีธรรมะในใจเสียก่อน
ซึ่งถึงแม้ว่าท่านจะไม่สามารถช่วยให้เธอเลิกละนิสัยที่ไม่ดีได้
แต่อย่างน้อยท่านไม่ได้ไปส่งเสริมสิ่งไม่ดีนั้น และท่านได้พยายามค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ อธิบายไป


๖. สติและธรรมะในใจนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะลอยมาเองจากบนฟ้า
แต่เป็นสิ่งที่ท่านจะต้องขวนขวายศึกษา และนำมาฝึกหัดประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
การที่ท่านมีสติ และมีธรรมะในใจนี้ นอกจากจะลดปัญหาการทะเลาะกับทางภรรยาแล้ว
ประโยชน์ที่สำคัญด้วยก็คือท่านจะสามารถสอนให้ลูก ๆ เป็นคนดีได้
และท่านสามารถทำตัวอย่างที่ดีให้ลูก ๆ เห็นได้


๗. มีอะไรอีกที่ควรทำ? ผมแนะนำว่าเวลาที่ท่านช่วยเหลือภรรยาทุกคราวนั้น
ให้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไว้ และท่านเก็บหลักฐานเอาไว้ให้ลูกดูในอนาคต
เพื่อที่ว่าลูก ๆ จะไม่มองพ่อของตนเองอย่างผิด ๆ หรือมองว่าพ่อตนเองไม่รับผิดชอบ
(หากโอนผ่านเอทีเอ็มแล้ว ใบสลิปมันจางเร็ว อาจจะต้องถ่ายสำเนาเก็บ และสแกนไว้ด้วย)
ท่านพึงรักษาจิตใจตนเองให้ดี มีธรรมะ เพื่อจะไปสอนลูก ๆ ได้ และพึงแบ่งเวลาไปดูแลสั่งสอนลูก ๆ
ท่านควรจะต้องประหยัด และสะสมส่วนตัวไว้ส่วนหนึ่ง
เผื่อเวลาที่ลูก ๆ หรืออดีตภรรยามีความจำเป็นจริง ๆ
การช่วยเหลืออดีตภรรยาในกรณีปกติประจำนั้น อย่าไปทุ่มสุดตัวตลอด
เพราะท่านอาจจะต้องเผื่อไว้ว่าเธออาจจะมาขอทีหลังเกินกว่าที่ท่านเตรียมไว้บ้าง
ซึ่งหากมีการขอเกิน หากท่านช่วยได้ และเห็นสมควร ก็ควรจะช่วยไป
หากเป็นเรื่องไม่สมควร ก็พึงแนะนำ อธิบาย และสอนกันอย่างสมานฉันท์
เมื่อช่วยแล้ว ก็เก็บข้อมูลเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่ลูกโตพอที่เข้าใจอะไรได้แล้ว ก็เอาให้ลูกดูได้ครับ
ไม่ต้องใจร้อน และไม่ต้องรีบครับ เพราะอย่างที่เรียนแล้วว่า ท่านจะต้องอยู่ในสงครามนี้อีกนาน


๘. ส่วนเรื่องท่านพยายามเก็บหลักฐานกรณีโดนด่าหยาบคายไว้ดำเนินคดีกับอดีตภรรยานั้น
เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องปรามไม่ให้เธอด่าท่านหยาบคาย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเลยครับ
หากท่านโดนเธอด่าหยาบคาย แล้วท่านอดทนได้ ท่านไม่ถือสาเธอ
ผมเห็นว่าท่านเป็นผู้ชายที่ใช้ได้ แต่หากท่านไปดำเนินราวีหรือคดีกับอดีตภรรยาแล้ว
ผมว่าท่านอาจจะไม่ได้เรื่องแล้ว แม้ว่าอดีตภรรยาจะด่าท่านอย่างไม่ถูกต้องและหยาบคายก็ตามที
ยกตัวอย่างว่าสมมุติมีญาติคนหนึ่งของผมมาด่าผมอย่างหยาบคาย โดยไม่มีเหตุผลใด ๆ
ถามว่ากรณีเช่นนั้น ญาติคนนั้นไม่ดี หรือว่าผมไม่ดี
?
ก็ตอบว่าผมอยู่เฉย ๆ ผมไม่ได้ทำอะไรนี่นา ผมก็รู้จักให้อภัยแก่เขาด้วย
แต่หากผมโกรธโมโหเขาแล้ว และพยายามไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับญาติคนนั้นให้ได้
อย่างน้อยที่สุดผมก็โกรธ และผมไม่รู้จักที่จะให้อภัยแก่ญาติตนเองแล้ว

อนึ่ง ถ้าอดีตภรรยาด่าท่านได้ถูกต้อง เพราะท่านประพฤติตนแย่ตามที่เธอด่าจริง ๆ
ท่านก็ควรจะกลับตัวกลับใจ และปรับปรุงพฤติกรรมตนเอง
แต่ถึงแม้ว่าท่านอาจจะไม่ได้ประพฤติตนแย่ ๆ ดังที่อดีตภรรยาได้ด่าก็ตาม
ถามว่าท่านเองรู้จักที่จะปล่อยวางและให้อภัยแก่อดีตภรรยาได้ไหม
?
เพราะอดีตภรรยาท่านก็น่าสงสารเช่นกัน
ยอมรับไหมว่าท่านเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอต้องมากลายเป็นผู้หญิงที่ต้องเลิกกับสามี
ท่านลองพิจารณาเปรียบเทียบดูว่าระหว่างการโดนคนอื่นด่าหยาบคาย
เทียบกับการต้องเป็นผู้หญิงที่ต้องเลิกกับสามีนั้น
อย่างไหนสมควรจะเป็นเรื่องที่มีความเดือดร้อนกว่ากัน
?
เธอทำท่านเดือดร้อนว่าโดนด่าหยาบคาย แต่ท่านสามารถอดทนได้ไหม ใจกว้างได้ไหม
ส่วนท่านทำเธอเดือดร้อนว่าเป็นผู้หญิงที่ต้องเลิกกับสามี ท่านเคยเสียใจและขอโทษเธอไหม

ท่านเคยนึกย้อนไปบ้างไหมว่าตอนที่จีบอดีตภรรยานั้น ท่านบอกเธอว่าอย่างไร
ท่านเคยสัญญาอะไรเอาไว้บ้างไหม ท่านเคยให้ความหวังในชีวิตแก่เธออย่างไรบ้างไหม
ท่านลองนึกย้อนไปดูนะครับ แล้วพอมาถึงตอนนี้เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นดังที่ได้ให้ความหวังไว้นั้น
ส่วนหนึ่งก็อาจจะไม่ใช่ความผิดของท่านเสียทีเดียว
แต่ท่านก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านไม่สามารถทำตามที่เคยได้ให้ความหวังเธอไว้
และส่วนสำคัญเลยที่ทำให้เหตุการณ์มาเป็นดังในปัจจุบันนี้ ก็เพราะตัวท่านด้วยเป็นส่วนสำคัญ
(ผมไม่ได้บอกว่าทั้งหมด โดยก็คงเป็นเพราะคนอื่น ๆ ด้วย แต่จะบอกว่าท่านไม่ใช่ส่วนสำคัญหรือ)
ท่านเคยลองเปิดใจกว้าง ๆ แล้ว กล่าวว่าเสียใจ และขอโทษกับอดีตภรรยาของท่านไหม
บอกเธอว่าท่านเสียใจที่มีส่วนทำให้เหตุการณ์มาเป็นเช่นนี้ ท่านขอโทษที่มีส่วนทำให้เธอมาเป็นเช่นนี้
ท่านเสียใจและขอโทษที่ทำให้เธอต้องผิดหวัง และมีชีวิตที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้


๙. ผมไม่ทราบว่าท่านได้รับคำแนะนำให้เก็บหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับอดีตภรรยามาจากไหน
แต่เรียนว่าการทำสิ่งดังกล่าวไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่กลับจะทำให้สถานการณ์แย่ขึ้นไปอีก
การเก็บหลักฐานดังกล่าวก็เท่ากับว่าท่านนำสิ่งนั้นมาทบทวนในใจว่าโดนด่าหยาบคายกี่ครั้งแล้ว อะไรบ้าง
ถามว่าเก็บสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว จะทำให้ท่านมีความสุขใจ หรือยิ่งโกรธล่ะ
อยู่ดี ๆ ไปนั่งนึกทบทวนวนไปมาว่า เธอมาด่าเราหยาบคายอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วจะมีความสุขหรือครับ
เก็บหลักฐานไปแล้ว จะไปฟ้องร้องอดีตภรรยาก็ไม่ได้ เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักหนาขึ้น
แล้วจะเก็บไปทำไม เสียเวลาครับ ...
ท่านเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ เป็นกุศล และมีความสุข จะไม่ดีกว่าหรือ

ทั้งนี้ กรณีไม่เหมือนกับที่ผมแนะนำให้ท่านเก็บหลักฐานโอนเงินให้อดีตภรรยานะครับ
หลักฐานโอนเงินนั้นเป็นเรื่องที่ท่านทำบุญเพื่อช่วยลูก ๆ และอดีตภรรยา ซึ่งเป็นสิ่งดี เป็นสิ่งกุศล
ท่านเก็บไว้แล้ว ท่านหยิบมาดู ท่านหวนระลึก ท่านก็ภูมิใจได้ว่าท่านได้ทำดี ได้รับผิดชอบ ได้ทำหน้าที่
ท่านได้ทำบุญกุศล ท่านได้ทำสิ่งที่สมควรเพื่อที่จะทำนุบำรุงรักษาสิ่งสำคัญในชีวิตของท่าน
แต่ในส่วนหลักฐานโดนด่าหยาบคายนั้น ยิ่งหยิบมาดู ยิ่งโกรธ ยิ่งกลุ้ม ยิ่งแค้น
น่าจะเห็นทางเดินนะครับว่าเราควรจะเลือกเดินทางไหน ควรเก็บอะไร ควรจะทิ้งอะไร
ของดีเป็นกุศล ก็ควรเก็บไว้ครับ หยิบมาดูทีไร ก็ดีใจ ส่วนของไม่ดี ของเน่า ๆ จะเก็บเอาไว้ทำไม

อนึ่ง การสงเคราะห์บุตร สงเคราะห์ญาติ และให้ทานนั้น เป็น ๓ ข้อในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ
ท่านโอนเงินช่วยเหลือลูก ๆ และอดีตภรรยานี้ ท่านได้มงคลชีวิต ๓ ข้อแล้ว
การมีความอดทน ก็เป็นมงคลชีวิตอีกข้อหนึ่ง
ท่านโดนเธอด่าหยาบคาย ท่านอดทนไว้ได้ ท่านก็มีมงคลชีวิตอีกข้อหนึ่งแล้วครับ ได้มา ๔ ข้อแล้ว
หากท่านฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ถือศีลอีกด้วย ... ก็จะได้มาอีกหลายข้อเลย


๑๐. สรุปรวม ๆ แล้วท่านก็คงพอจะเห็นได้นะครับว่า
หลักการในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวนั้น ควรจะทำอย่างไร และควรจะระลึกใจอย่างไร
ท่านพึงต้องระวังครับว่า ในสงครามที่รบกันยืดเยื้อนั้น แต่ท่านกลับพยายามจะตัดบทให้จบเร็ว ๆ
ท่านจะแพ้สงครามเองครับ
ฉะนั้น เราต้องเข้าใจสภาพของปัญหาครับ ปัญหานี้ต้องแก้กันยาวครับ อยู่กันไปเรื่อย ๆ
ไม่ควรรีบร้อน หรืออยากจะให้มันพ้น ๆ ไปครับ เพราะมันไม่พ้นในเร็ววันอย่างแน่นอน
เราต้องใช้เวลามากมายในการทำให้มันดีขึ้นมา และเราต้องอดทนครับ

อนึ่ง ผมเทียบเป็นสมรภูมิ และสงคราม เพื่อให้ท่านเห็นภาพง่าย ๆ ว่าต้องอดทนสู้กับปัญหาอย่างไร
แต่หากท่านมีความสงสัยว่า แล้วฝ่ายตรงข้ามของท่านคือใคร
?
เรียนว่า ฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่อดีตภรรยานะครับ
ฝ่ายตรงข้ามของท่านคือ ปัญหาชีวิตที่ท่านกำลังประสบอยู่
ส่วนอดีตภรรยานั้น ท่านควรจะผูกมิตรดึงมาเป็นมิตรเพื่อให้มาช่วยกันดูแลลูก ๆ ของท่านครับ
ไม่ใช่ว่ามุ่งจะไปรบทำสงครามกับอดีตภรรยานะครับ
แม้จะเป็นสามีภรรยากันไม่ได้ แต่ก็เป็นมิตรกันได้นี่นา
เราไม่ได้จะรบอะไรกับใคร แต่ว่าเรามุ่งจะแก้ไขปัญหาชีวิตเราให้ดีครับ


ท้ายสุดนะครับ ข้อนี้สำคัญมาก ๆ
ลองพิจารณานะครับ ท่านยอมเสียสละเพื่อลูก ๆ ของท่านถึงเพียงนี้
เช่นนี้แล้ว พ่อแม่ของท่านก็เสียสละเพื่อท่านมาไม่น้อยกว่ากัน
ท่านจึงควรแบ่งเวลาและทรัพยากรไปดูแลและให้ความสำคัญกับพ่อแม่ด้วยนะครับ
นอกจากเป็นการกตัญญูในส่วนของท่านแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก ๆ ท่านด้วย
หากมีเวลา แทนที่จะพาลูก ๆ ไปเที่ยวสวนสนุกอย่างเดียว ควรแบ่งเวลาพาไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่า
พาไปร่วมทานข้าวกับคุณปู่คุณย่า แบ่งเวลาพาไปตักบาตรด้วยกันหรือทำบุญที่วัดด้วยกัน
จะได้ประโยชน์ทั้งหมดทุกฝ่ายครับ ทั้งลูก ๆ และทั้งปู่ย่า และทั้งตัวท่านเอง


... ที่ยกมาข้างต้น ก็เป็นกรณีที่ได้แนะนำให้ญาติธรรมท่านหนึ่งไปนะครับ
ในส่วนของท่านผู้อ่านนั้น ก็อาจจะลองพิจารณาครับว่า เรามีสงครามชีวิตยืดเยื้ออะไรหรือไม่
หากมีอยู่แล้ว เราก็ต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ แก้ไขปัญหาไปครับ
การที่เรายิ่งใจร้อนที่จะตัดบทแก้ไขปัญหาชีวิตเหล่านั้น เพื่อให้ปัญหานั้นสิ้นไปในเวลาอันสั้น
ทั้งที่โดยสภาพแล้ว มันเป็นปัญหาอันยืดเยื้อที่ต้องใช้เวลายาวนานในการแก้ไข
ย่อมไม่ได้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา แต่กลับจะเป็นโทษครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP