จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

โดนแซงคิว



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


086_destination


เมื่อไม่นานมานี้ ได้พบกระทู้คำถามจากญาติธรรมท่านหนึ่งในเว็บบอร์ด
เกี่ยวกับเรื่องของการโดนแซงคิว โดยขณะที่ญาติธรรมท่านนี้กำลังยืนเข้าคิวอยู่
ก็มีคนมาขนาบข้าง ญาติธรรมก็ไม่ยอม จึงรีบสั่งซื้อ แต่คนมาขนาบข้างก็แย่งสั่งเหมือนกัน
ในขณะนั้นญาติธรรมท่านนั้นก็โกรธ โดยไม่ได้โกรธคนที่มาแซงคิวเท่านั้น
แต่โกรธพนักงานขายด้วยที่ไม่ยอมขายของตามคิว แต่ญาติธรรมก็ไม่ได้โวยวายอะไร
ญาติธรรมท่านนั้นก็มีข้อสงสัยว่า ถ้าต้องการจะเสียสละแล้ว ควรจะทำหรือพูดอย่างไร
และถ้าไปยอมคนที่แซงคิวแล้ว จะทำให้เขาเสียนิสัยมากขึ้นหรือไม่
หรือควรจะวางใจว่าไม่ต้องคิดมาก เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าไม่ได้ทำบุญ

ในเรื่องเกี่ยวกับการแซงคิวนี้ เห็นว่าไม่สามารถจะตอบได้ตายตัวว่า
ควรจะให้แซง หรือควรจะไม่ให้แซง เพราะโดยสภาพแล้ว
การเข้าคิวนั้นเป็นการจัดระเบียบของสังคม โดยมุ่งประโยชน์ให้เกิดการจัดสรรที่เหมาะสม
เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ และยังลดปัญหาของการแก่งแย่งกันหรือทะเลาะกัน
แต่ว่าในการพิจารณาถึงการจัดสรรที่เหมาะสมและเป็นธรรมนั้น
พึงต้องพิจารณาปัจจัยประกอบหลายประการ ไม่ใช่แค่เพียงว่าใครมาก่อนเท่านั้น
อย่างสมมุติว่ามีการแจกอาหารให้แก่ผู้ยากไร้ ปรากฏว่าคนแข็งแรงก็วิ่งมาถึงเข้าคิวได้ก่อน
ส่วนคนที่อดอาหารใกล้ตายนั้นค่อย ๆ คลานมาขอรับอาหาร โดยมาถึงทีหลังท้ายคิว
โดยข้อเท็จจริงเช่นนี้ย่อมไม่ได้แปลว่าการแจกอาหารให้คนที่ยืนหัวคิวแรกนั้นจะเหมาะสม
ในทางกลับกัน คนแข็งแรงที่ยืนหัวคิวอาจจะต้องนำอาหารไปให้คนที่อดอาหารใกล้ตาย
ซึ่งเขาไม่มีแรงพอที่จะมาต่อคิวเลยก็ได้ กรณีจึงละเอียดอ่อนและไม่ใช่ว่าจะพิจารณาได้ง่าย ๆ

ในกรณีของการโดนแซงคิวนี้ เราจึงควรพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
ซึ่งเห็นว่ามี ๒ เรื่องที่เราควรพิจารณา และบริหารจัดการให้เหมาะสมทั้ง ๒ เรื่อง ได้แก่
เรื่องการบริหารจัดการคิวในทางโลก และ เรื่องดูแลใจของตนเองในทางธรรม
โดยทั้ง ๒ เรื่องนี้แตกต่างกัน

ในเรื่องการบริหารจัดการคิวในทางโลกนั้น
ควรจะเริ่มต้นด้วยพิจารณาก่อนว่า เขาเจตนาจะมาแซงคิวจริงหรือเปล่า
บางทีเขาอาจจะมายืนอยู่ก่อนเรา แต่เราไม่เห็น เพราะเรามัวแต่มองของที่เราจะซื้อ
พอเราหันไปดูอีกที ก็เห็นเขามายืนข้าง ๆ แล้ว เราก็หลงคิดไปว่าเขามาแซงเรา
ในทางกลับกัน คนอื่นก็อาจจะเป็นเหมือนกันก็ได้ คือไม่ทันมองว่าเรายืนรอคิวอยู่แล้ว
หรือบางที เขาเองอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะมาแซงคิว แต่แค่มายืนเพื่อดูของเฉย ๆ ก็ได้
ในกรณีเหล่านี้ หากเรารีบร้อนไปตัดสินว่าเขาเจตนาจะมาแซงคิว
ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็อาจทำให้เราเกิดอคติ และมองปัญหาในทางลบเกินจริง
ในกรณีดังกล่าวนี้ หากเราไม่แน่ใจเพราะมัวแต่มองสิ่งของอื่น ๆ
เราก็พึงสอบถามเขาอย่างสุภาพ ก็จะช่วยลดปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องมีขึ้นได้

สมมุติต่อไปว่า หากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเขาเจตนาจะมาแซงคิวจริง ๆ
เราก็พึงพิจารณาต่อไปว่า มีเหตุสมควรที่จะให้เขาแซงคิวหรือไม่
โดยปกติแล้ว เราเองอาจจะมองเพียงประเด็นเดียวแล้วก็ชี้ขาดว่า
ควรให้เขาแซงไป หรือว่าไม่ควรให้เขาแซง ยกตัวอย่างเช่น
อยากทำบุญโดยการให้เขาแซงคิว หรือไม่ให้เขาแซงคิวเพราะกลัวเขาจะเสียนิสัย
หรือให้แซงคิวเพราะไม่อยากทะเลาะกัน หรือเราไม่รีบอะไรจึงให้เขาแซงได้ ฯลฯ
แต่จริง ๆ แล้ว เราก็ควรจะมองหลาย ๆ ปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย
เช่น เขามีความจำเป็นรีบด่วนแค่ไหน เรามีความจำเป็นรีบด่วนแค่ไหน
คิวข้างหลังเรามียาวแค่ไหน คิวข้างหลังเราน่าจะมีใครรีบด่วนไหม
โอกาสที่จะคุยได้กันด้วยดี หรือคุยกันแล้วทะเลาะกันมีแค่ไหน
หากให้แซง และไม่ให้แซงแล้ว จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ฯลฯ

ยกตัวอย่างเช่น เราเข้าคิวซื้ออาหารอยู่ แล้วก็มีคนมาแซงคิว
เราก็ยอมให้แซงคิวไป โดยเรามองเพียงว่าเราเป็นคนใจดี และไม่ถือที่โดนเขาแซงคิว
แต่ปรากฏว่าข้างหลังเรามีคนรอคิวอยู่อีกเป็นสิบคน
หรืออาหารที่ขายอยู่นั้น ก็ไม่เพียงพอที่จะขายคนทั้งหมดในคิวนั้น
เช่นนี้การที่เรายอมให้เขามาแซงคิวเราไป
ย่อมเท่ากับว่าเราไปช่วยเขาเบียดเบียนคนอื่น ๆ ที่เขากำลังรอคิวอยู่ด้วย
หรือเท่ากับว่าเราใจดีบนต้นทุนของคนอื่น ไม่ใช่ต้นทุนเราคนเดียว
แต่หากเรารอยืนคิวอยู่คนเดียว โดยไม่มีคนอื่นต่อท้าย ก็จะเป็นกรณีแตกต่างกัน

แต่ถึงแม้ว่าเรากำลังรอคิวอยู่คนเดียวก็ตาม
แต่หากเราเองป่วยหนักเป็นโรคที่ต้องทานอาหารตรงเวลา
หรือเราต้องซื้ออาหารไปให้ผู้ป่วยหนักเป็นโรคที่ต้องทานอาหารตรงเวลา
เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคกระเพาะขั้นรุนแรง เป็นต้น การที่เราไปยอมให้เขาแซงคิว
และทำให้เราหรือคนอื่นต้องรับผลเสียหายมากจากทานอาหารไม่ตรงเวลานั้น
ก็ย่อมจะเป็นการไม่เหมาะสม

หรือยกตัวอย่างในกรณีการต่อคิวในการจราจรบนท้องถนน
หากเรามองเพียงว่ารถติดเข้าคิวยาวมาก หากใครจะมาแทรกแถวแล้ว เราไม่ยอม
เพราะทำให้เสียหายต่อคันที่ต่อคิวยาว และเป็นการเสียนิสัยของคนขับรถที่มาแทรกด้วย
แต่หากสมมุติว่ารถที่มาแทรกเป็นรถพยาบาล หรือรถดับเพลิงซึ่งกำลังเปิดไซเรน
ก็ย่อมจะเห็นได้ว่าเราพึงควรให้แทรกคิวเพราะว่าเขามีความเร่งด่วนมากกว่า

สมมุติว่าหากถนนมี ๓ เลน เลนซ้ายและเลนกลางนั้นเลี้ยวซ้าย ส่วนเลนขวาไปตรง
รถเราเข้าคิวอยู่เลนกลางรอเลี้ยวซ้าย แล้วอยู่ ๆ มีรถเลนขวาจะมาขอแทรกคิว
เราก็มองว่ารถติดเข้าคิวยาวมากในเลนซ้ายและเลนกลาง
การมาแทรกอย่างนี้เป็นนิสัยไม่ดี เราจึงไม่ให้เขาแทรก ทั้งที่สามารถให้ได้
การที่รถเขาแทรกไม่ได้ ทำให้รถเลนขวาด้านหลังก็ไปไม่ได้ด้วย ทำให้เลนขวารถติดอีกหนึ่งเลน
จริง ๆ แล้ว ที่เลนขวารถติดนั้นก็เพราะรถที่จะแทรกนั้นวิ่งผิดเลน และไม่ยอมจะไปตรง
แต่ในเมื่อยังไงเขาก็ไม่ยอมไปตรง โดยเขาก็รอแทรกอยู่อย่างนั้นแล้ว
ในสถานการณ์อย่างนี้ เราก็ควรพิจารณาว่าหากเราให้เขาแทรก
เพื่อเป็นการช่วยรถคันอื่น ๆ ในเลนขวาไม่ต้องมาติดยาวไปด้วย จะเหมาะสมหรือไม่

หากพิจารณาแล้ว เห็นว่าสมควรจะให้เขาแซง หรือไม่ให้เขาแซงก็ตาม
ในทุกกรณีก็สมควรจะคุยกันหรือประพฤติกันดี ๆ ด้วยความสุภาพ ไม่สร้างเหตุทะเลาะกัน
(จะทำเช่นนั้นได้ เราก็ต้องไม่ปล่อยให้โมหะ โทสะ โลภะครอบงำใจครับ)

ในกรณีที่เราพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ แล้วเห็นว่าสมควรจะให้เขาแซงคิว
แล้วเราก็ให้เขาแซงคิวไปตามที่เห็นเหมาะสม
กรณีการให้แซงคิวดังกล่าวนั้นไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนให้เขาเสียนิสัย
เพราะว่าเราไม่ได้มีเจตนาดังกล่าวเลย แต่เราให้เขาแซงนั้นเพราะเห็นเหตุอันสมควร
ในส่วนที่ว่าคนที่แซงนั้นจะเคยชินและเสียนิสัยหรือไม่นั้น
ก็เป็นเรื่องตามเหตุและปัจจัยส่วนตัวของเขา ซึ่งเราไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนอะไรด้วย

สรุปแล้ว การให้แซงคิว หรือไม่ให้แซงคิว ในเรื่องการบริหารจัดการคิวในทางโลกนั้น
ให้เราพึงพิจารณาปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง
กรณีไม่ได้แปลว่ามาก่อน แล้วจะต้องได้ก่อนเสมอไป หรือเราจะต้องให้เขาแซงเสมอไป
อย่างสมมุติว่ารถวิ่งสวนทางกันในซอยแคบ โดยเขามาถึงก่อน เรามาถึงทีหลัง
แต่โดยสภาพแล้ว เราอาจจะต้องไปก่อนก็ได้ เพราะมุมการกีดขวางนั้นบังคับอย่างนั้น
หรือว่าเราเข้าคิวจ่ายเงินซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตโดยเรามีของอยู่เต็มรถเข็น
แล้วมีคนหนึ่งมาต่อท้ายโดยถือของแค่ชิ้นเดียว เราอาจจะควรให้เขาชำระเงินก่อนก็ได้
(ทั้งที่เขาเองไม่ได้บอกกล่าวหรือขอที่จะชำระเงินก่อนเลยด้วยซ้ำ)
หรือเรากำลังยืนรอเรียกแท็กซี่อยู่ และเห็นอีกคนหนึ่งกำลังเร่งรีบวิ่งมาเรียกแท็กซี่เหมือนกัน
ในเมื่อเราไม่รีบอะไรแล้ว เราก็อาจจะควรให้เขาเรียกแท็กซี่ไปก่อนก็ได้
โดยเราพึงพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป
ไม่ได้ใช้อารมณ์และความรู้สึกชั่ววูบมาตัดสิน

ในเรื่องของการดูแลใจของตนเองในทางธรรมนั้นแตกต่างจากการบริหารจัดการคิวในทางโลก
โดยเราไม่ต้องไปพิจารณาปัจจัยแวดล้อมภายนอกอะไร ไม่ต้องไปพิจารณาคนอื่นเลย
แต่ให้พึงย้อนมาพิจารณาที่จิตใจตนเองเท่านั้น
โดยไม่ว่าเราจะโดนแซง ไม่โดนแซง ให้เขาแซง หรือไม่ให้เขาแซงก็ตาม
เราเองพึงมีสติรักษาจิตใจตนเองอยู่เสมอ โดยไม่ปล่อยให้โมหะ โทสะ โลภะเข้ามาครอบงำใจ

บางทีเราเห็นเหมาะสมที่จะให้เขาแซงคิว หรือเราจำเป็นที่จะต้องให้เขาแซงคิวทั้งที่ไม่เห็นด้วย
ซึ่งการที่ให้เขาแซงคิว หรือโดนแซงคิวไปนั้น ไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย
แค่เสียเวลาเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย แต่ว่าเราโดนโทสะครอบงำใจ
กลับมาบ้านแล้วยังมีโทสะอยู่ โดยที่เราไม่ได้มีสติรู้ทันจิตใจตนเองว่าโดนโทสะเข้าครอบงำ
กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าเสียหายที่จิตใจตนเองหนักกว่าที่โดนแซงคิวเสียอีก
โดยก็ไม่ใช่ความผิดคนอื่นด้วย แต่เป็นความผิดตนเองล้วน ๆ ที่สร้างไฟโทสะมาเผาใจตนเอง
ในบางคราว เรายังไม่ได้โดนแซง แค่เพียงมีคนอื่นมายืนใกล้ ๆ เพื่อดูของที่ขายว่ามีอะไรบ้าง
เราก็รีบจุดไฟโทสะมาเผาจิตใจตนเองเสียแล้ว

ในบางคราว เรายอมให้เขาแซง โดยอ้างว่าเรามีเมตตาให้คนที่แซง แต่เราไม่เห็นว่าเกิดโทสะแล้ว
หรือเราไม่ยอมให้เขาแซง โดยอ้างว่าคิวข้างหลังยาว แต่เราไม่เห็นว่าเรางกคิว
หรือเรามีความอยากจะดัดนิสัยคนที่มาแซงคิว หรือสั่งสอนคนที่มาแซงคิว
ก็กลายเป็นว่าเราหลงทำตามกิเลสอกุศลโดยที่เราไม่ได้รู้เท่าทันใจตนเอง
หรือแม้กระทั่งกรณีเราให้เขาแซงคิว เพราะเราอยากจะได้บุญกุศล
แต่เราไม่ได้รู้ทันจิตใจตนเองว่าเริ่มปรุงแต่งความโลภขึ้นมาในใจแล้ว
ในจิตใจหลงเพลินไปแต่เพียงว่าให้เขาแซงคิวเพื่อเราจะได้ทำบุญ
สรุปก็คือให้เราพึงมีสติรู้ทันจิตใจตนเองตามความเป็นจริงครับ

หากจะลองแบ่งกรณีการบริหารจัดการคิวในทางโลก และการดูแลใจตนเองในทางธรรมแล้ว
ก็อาจจะแบ่งได้เป็นกรณี ๆ ดังนี้ว่า
๑ ให้เขาแซง ไม่เหมาะสมในทางโลก และเป็นอกุศล
๒ ให้เขาแซง เหมาะสมในทางโลก แต่เป็นอกุศล
๓ ให้เขาแซง ไม่เหมาะสมในทางโลก แต่เป็นกุศล
๔ ให้เขาแซง เหมาะสมในทางโลก และเป็นกุศล
๕ ไม่ให้เขาแซง ไม่เหมาะสมในทางโลก และเป็นอกุศล
๖ ไม่ให้เขาแซง เหมาะสมในทางโลก แต่เป็นอกุศล
๗ ไม่ให้เขาแซง ไม่เหมาะสมในทางโลก แต่เป็นกุศล
๘ ไม่ให้เขาแซง เหมาะสมในทางโลก และเป็นกุศล
ฉะนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะให้เขาแซงหรือไม่ให้เขาแซง
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพฤติการณ์เหมาะสมที่จะให้เขาแซงหรือไม่
และเรามีสติรู้ทันจิตใจของเราหรือไม่ จิตใจเราเป็นกุศลหรืออกุศล

กรณีแซงคิวดังที่ได้อธิบายมานี้ ยังสามารถนำไปปรับใช้กับกรณีอื่น ๆ ได้อีกด้วย
เช่น กรณีที่คนอื่นมาขอความช่วยเหลือเราในเรื่องใด ๆ ก็ตาม
เราพึงมองใน ๒ เรื่องคือว่าปัจจัยและพฤติการณ์เหมาะสมที่จะช่วยเหลือเขาหรือไม่ อย่างไร
เรามีสติรู้ทันจิตใจของเราในการช่วยเหลือหรือไม่ช่วยเหลือเขาหรือไม่ จิตใจเราเป็นกุศลหรืออกุศล
บางที เราตัดสินใจช่วยเขา แต่เป็นสิ่งไม่เหมาะสม และจิตใจเป็นอกุศลก็ได้
หรือเราตัดสินใจไม่ช่วยเขา แต่กลับเป็นสิ่งเหมาะสม และจิตใจเป็นกุศลก็ได้ ซึ่งไม่แน่เสมอไป
โดยเราสามารถจำแนกได้เป็น ๘ กรณีเช่นเดียวกันกับที่ได้จำแนกไว้แล้วข้างต้น



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP