สารส่องใจ Enlightenment

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย



พระธรรมเทศนา โดย พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
วัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี
แสดงธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๓

วันนี้เป็นวันอาทิตย์คงไม่ไปทำงาน หยุดแล้วจะทำอะไร
หยุดทำงานก็พากันภาวนา ตั้งใจภาวนา ให้เป็นศิษย์ที่ดี
ท่านว่าศิษย์ที่ดีย่อมส่งสุขถึงครู ลูกที่ดีย่อมส่งสุขถึงพ่อแม่
ได้ยินไหม พ่อแม่ได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณที่ดีของลูกย่อมภูมิอกภูมิใจ
ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกันนั่นแหละ
เวลาศิษย์ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนแล้ว ได้ทราบกิตติศัพท์กิตติคุณแล้วก็ภูมิใจ
ก็รู้สึกว่าครูบาอาจารย์เป็นเกียรติมีเกียรติ
พวกเราเอาให้เก่งนะ ได้ยินไหม เอาให้เก่งๆ
กำลังสติ กำลังสมาธิ กำลังปัญญา ทั้งสามอย่างนี้เป็นเรื่องของจิตตานุภาพ
เห็นลูกศิษย์ลูกหาตั้งอกตั้งใจปฏิบัติก็ภูมิใจ
ถ้าหากเห็นลูกศิษย์ลูกหาไม่เอาใจใส่แล้วเศร้าใจ
ดูเหมือนพระพุทธศาสนาจะเสื่อมโทรมลง
ถ้าเห็นอย่างนี้ก็ดูเหมือนพระพุทธศาสนาจะวัฒนาถาวร

ท่านว่าสิ่งนี้ดีสิ่งนี้ชั่ว สิ่งไหนที่ดีก็เอา สิ่งไหนที่ไม่ดีก็เลือกเอา คัดออก
ไม่เอามาหมักไว้ที่ใจของเรา ละชั่ว ประพฤติดี ละทิฏฐิ ไม่เป็นพาล
คนพาลนั้นมันคอยดักอยู่ที่ใจของเรา
คือความเห็นผิด เรียกว่าคนพาล คือพาลภายใน
พาลภายนอกได้แก่การที่เราประพฤติชั่ว เรียกว่าพาลภายนอก
ประพฤติชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจนี้ เรียกว่าพาลภายนอก
ไม่เป็นนักปราชญ์หรือบัณฑิต
บัณฑิตนั้นเป็นผู้ฉลาด มีสติ มีปัญญา สามารถที่จะแก้ไขตนของตน
หรือยกตนของตนให้พ้นทุกข์ได้ เรียกว่าปัญญา ได้รู้รอบในสังขารนั้น
สังขารคือความปรุงความแต่ง
มันคิดมันปรุงนั้นน่ะเรียกว่าสังขาร เรียกว่าจิตตสังขาร
มันปรุงไปโน้น มันปรุงไปนี่อยู่ไม่หยุดไม่หย่อน เรียกว่าสังขาร
ให้เรารู้เท่าเรื่องของสังขาร สังขารนั่นแหละที่มันทำให้เราหลง
ทำให้เราหมุนเวียน เกิด แก่ เจ็บ ตาย

ดังนั้นท่านจึงให้ตัดสังสารวัฏ
วัฏฏะคือความหมุนเวียน ความหมุนเวียนนั่นแหละเรียกว่าสังขาร
ตัดออกไม่ให้มันหมุน ตัดกงกรรมมันเสีย มันจึงจะไม่หมุน
ถ้ามันไม่หมุนแล้วมันก็หยุด มันเป็นเอกจิตเอกธรรม มันเป็นอันเดียว
มันอยู่สบายๆ รู้แจ่มแจ้งอยู่ตลอดเวลา

ถ้ามันสงบลงไปแล้ว อะไรมันจะมาปรากฏเราก็รู้เท่าอยู่นั้น
คล้ายๆ ว่ากระจกเงาที่เราขัดดีแล้วนั่น
ใครจะไปไหนมาไหนหรือคนจะเดินผ่านไปมา ก็จะปรากฏอยู่
หรือจะแสดงอาการหรือกิริยาอะไร มันก็ปรากฏอยู่ในกระจกนั้นเอง
เราจะฟ้อนเราจะรำอะไรก็แล้วแต่ มันก็ปรากฏอยู่ในกระจกนั่น
ฉันใดก็ดีเรื่องของใจที่ใสบริสุทธิ์แล้วมันก็อย่างนั้น เหมือนกระจกนั่นแหละ
เราก็จะสามารถมองเห็นอะไร มันจะแสดงอาการหรือกิริยาอะไร เราก็รู้
มันรู้อยู่ในนั้น อยู่ในความสว่าง ความแจ้ง ความสะอาด ความบริสุทธิ์
มันเห็นมันรู้อยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรประมาท
ควรประพฤติปฏิบัติขัดเกลาจิตใจของตนให้มันผ่องใส
เราเคยเห็นใจของเรามันผ่องใสไหม เคยเห็นไหม
ถ้าใครเคยทำจิตสงบก็เคยเห็น
ความผ่องใสของใจนั้น ถ้าจิตไม่สงบมันก็ไม่เห็น
จิตมันสงบนั้นมันปล่อยวางจากสัญญาอารมณ์ทั้งหมด
มันรวมลงเป็นเอกจิตเอกธรรม มันก็สว่างไสวอยู่นั่น มันเห็นอยู่ที่ตรงนั้น
ที่เราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น นั้นก็เนื่องจากจิตใจของเรามันฟุ้งซ่าน
มันไม่เป็นเอกจิตเอกธรรม เพราะฉะนั้นจึงเป็นของที่ควรปฏิบัติ

เมื่อเวลาเห็นอย่างนี้แล้วนะ มรรคผลจะไปไหน สุคติจะไปที่ไหน
มันก็มารวมอยู่ที่ใจของเรานั้นเอง รวมในปัจจุบัน
เมื่อรวมอยู่ในปัจจุบันแล้ว อดีตหรืออนาคตก็ไม่ต้องสงสัย มันดีไปหมด
ถ้าปัจจุบันดีแล้วอดีตก็ดี อนาคตก็ดี มันดีไปหมด
ถ้าปัจจุบันไม่ดีแล้ว อดีตก็ไม่ดี อนาคตก็ไม่ดี

เพราะฉะนั้นจึงควรทำใจของเราให้สงบ อย่าประมาท
วันคืนเดือนปีล่วงๆ ไป เราไม่ได้อะไร ไม่มีอะไรที่ติดตัวอยู่ มีแต่วันคืนล่วงไป
ใครลองนับเอาเดือนปีนั้นมาเป็นอายุของตนสิ
อายุของตนแท้นะ ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน อยู่แค่ลมหายใจเท่านั้นนะอายุ
ถ้าหายใจเข้าไปแล้วไม่กลับออกมาแล้วมันจะเป็นยังไง
ถ้าหายใจออกแล้วไม่กลับเข้าไปมันจะเป็นยังไง
เขาเรียกว่าคนตาย นี่ชีวิตของคน อายุของเราแค่นี้
แต่ความจริงเรามันไปหลงนับเอาเดือนปีมาเป็นอายุของตน
ว่าเท่านั้นปีเท่านี้ปี เออ ไปนับเอาเดือนปีนั้นมาเป็นอายุ
นี่จะเรียกว่าคนฉลาดหรือคนหลง
พระพุทธเจ้าท่านว่าคนโง่ ไม่ใช่คนฉลาด
ถ้าคนฉลาดแล้วท่านไม่ได้ไปนับเอาสิ่งที่หมดไป

ดูที่ใจอย่างเดียว ตั้งสติลงไปให้มันถึงใจ
ถ้าสติกับใจมันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว
มันก็ไม่มีอะไร มันสบาย ไม่เดือดร้อนอะไร
เพราะอย่างนั้นท่านจึงมีภาษิตไว้ว่า
นัตถิ สันติ ปะรัง สุขขัง สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี
เมื่อเวลาผู้มีความสงบแล้วมันสบาย มันเยือกเย็น
อะไรที่เยือกเย็นกว่าความสงบไม่มีแล้ว
จะมีทรัพย์สมบัติกองไว้ตั้งแต่พื้นดินยันท้องฟ้า มันก็ยังไม่สบาย
อันนี้มันสบายจะหาสิ่งที่จะเปรียบเสมอเหมือนไม่มี มันสบายเหลือเกิน
ถ้าหากว่ามันเข้าถึงที่ถึงฐานมันแล้ว มันสบายดี
เพราะฉะนั้นอย่าประมาท เมื่อไรความตายนั้นนะไม่มีนิมิตล่วงหน้า
เขาบอกไหมจะตายวันโน้นวันนี้ เขาบอกไหม ไม่มีใครบอก
ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย นี้แหละเมื่อเวลาไม่รู้จักอย่างนี้แหละ
จึงไม่ควรประมาท ไม่ว่าแก่ ไม่ว่าหนุ่ม ตายได้ทั้งนั้นแหละ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงว่าเราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้นับไม่ถ้วน
ท่านว่าอย่างนั้น อยู่ที่ไหนก็ล้วนแต่เป็นกองฟอนของเรา
รู้จักไหม กองฟอนที่เขาเผาศพน่ะ
เอาปลายเข็มทิ่มแทงลงไปก็ถูกแต่ที่เกิดที่ตาย
นี่แหละให้เร่งรีบเสียในเวลาที่เรายังมีกำลังอยู่
เมื่อเวลาโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนแล้วละเราจะไม่มีเวลา
ทำให้มีทำให้เกิดขึ้นเสียในระยะเวลานี้ จึงจะเป็นที่พึ่งของตนได้

ถ้าเมื่อเวลามันเจ็บมันปวดอันโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนนั้น
โอ
! หาที่พึ่งก็ไม่มี มีแต่เดือดร้อน มีแต่อยากจะหายจากโรคภัยอันนั้น
เวลามันไม่หายจากโรคภัยไข้เจ็บอันนั้น มันก็เป็นทุกข์
ดิ้นกระเสือกกระสนอยู่อย่างนั้น
เพราะอะไรจึงดิ้น เพราะไม่อยากตายนั่นเอง
ถ้ามีที่พึ่งของเราดีแล้วนะ ตายก็ไม่เดือดร้อนอะไร
หรือไม่ตายก็ไม่เดือดร้อนอะไร มันสบายอยู่อย่างนั้น
นี่เพราะฉะนั้นท่านจึงว่ามันสุข สุขเกินโลก
ไม่มีอะไรจะสุขยิ่งกว่า ท่านว่าอย่างนั้น

นี่รีบทำให้เกิดให้มีขึ้นเสียในตัวของเรานั่น จึงจะไม่เสียเวลา
ถ้าใครไม่ประมาทแล้วจะได้ที่พึ่งอันอุดม จะได้ที่พึ่งอันประเสริฐแน่นอน
สุคตินี้นะไม่ต้องสงสัย เป็นของได้ ไม่ได้เสีย มันมีอยู่ มันสบาย
อยู่ที่นี่ รีบทำซะ แต่ก่อนก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนที่จะสอนอย่างนี้
มีแต่พูดไปตามบุคลาธิษฐาน เอ้า
! นิทานเรื่องโน้นเรื่องนี้ตามเรื่องนั่นแหละ
เอาทุกนิทานมา มันก็เลยไม่เข้าใจ
ทีนี้ท่านให้น้อมเข้ามา น้อมเข้ามาหาตัวของเรา จึงเรียกว่า โอปนยิโก
ให้น้อมเข้ามาสู่ใจ ท่านว่ายังงั้น ไม่ต้องนำออก
ถ้านำออกไปได้ชื่อว่าเป็นทางที่ผิด ให้นำเข้ามา นำเข้าหาใจนะ ใจผู้รู้
ใครก็รู้ประจำกันนะ ประจำตัวกันอยู่ทุกคน
รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีกาล ไม่มีเวลา
รู้อยู่อย่างนั้นทั้งหลับทั้งตื่น ตื่นก็รู้ หลับก็รู้อยู่อย่างนั้น

ทำไมจึงว่าตื่นก็รู้ หลับก็รู้ ทำไมจึงพูดอย่างนั้น
สมมติอย่างเรานอนหลับไปนั้น เราว่าหลับ
ทำไมไปเกิดนิมิตขึ้นมา หรือที่เราถือกันว่าฝันนะ
มันไปรู้อะไร มันยังจำเอาได้ มันยังรู้โน้นเห็นนี่ แล้วตื่นขึ้นมา
เอามาพูดให้คนโน้นคนนี้ฟัง เอ้า
! เราฝันอย่างนั้น เราเห็นอย่างนู้น เราเห็นอย่างนี้
รู้อยู่อย่างนั้น เมื่อเวลาตื่นขึ้นมาก็รู้ หลับไปก็รู้อยู่
ไม่มีใครที่จะลบล้างความรู้อันนี้ได้ มีอยู่เป็นประจำ
ทีนี้ที่เราไม่รู้นะ เราไม่มีโอปนยิโก ไม่น้อมเข้ามาหาใจของเราซะที
ไม่ตั้งสติเข้าไปถึงใจของเรา เรามัวคิดโน้น คิดการงาน คิดยุ่งเหยิงอยู่อย่างนั้นนะ
มีแต่การงานมาทับถมเอาซะหมด เลยไม่รู้
การงานนั้นนะมาปิดบังเอาไว้ ไม่ให้เรารู้เราเห็น

เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรประมาท ตั้งใจประพฤติตั้งใจปฏิบัติให้ได้ที่พึ่งอันอุดม
ได้หรือยังล่ะที่พึ่งอันอุดม ที่พึ่งอันประเสริฐ ได้หรือยัง?
เราได้ไหม? มีใครบ้าง? ถ้าได้ก็เล่าให้ฟังด้วย เป็นยังไงได้
ถ้าคนได้มันก็ต้องสงบสุขอยู่ ร่าเริงอยู่อย่างนั้น ไม่เดือดร้อนอะไร
ถ้าคนไม่ได้มันก็เดือดร้อน
แม้อารมณ์ที่มากระทบกระเทือนมันก็เดือดร้อนอยู่อย่างนั้น
ไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหนกัน มีแต่ความเดือดร้อนทั้งนั้น
มันเดือดร้อนอยู่ที่ไหน มันเดือดร้อนอยู่ที่ใจ
นั้นแหละเป็นสิ่งที่เดือดร้อน มันเดือดร้อนอยู่ ระอุอยู่
ถ้ากำจัดออกแล้วนะ มันเย็น มันสบาย ไม่มีอะไรที่จะเย็นเสมอเหมือน
ไม่ใช่เป็นของเหลือวิสัย เป็นของที่ควรได้ควรมี ควรทำได้
สิ่งที่เหลือวิสัยพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เอามาสอน ไม่ได้เอามาอบรมแก่พุทธบริษัท
ถ้าหากว่าเราจะตั้งใจกันจริงๆ ปฏิบัติกันจริงๆ มันก็ได้จริงๆ
เว้นเสียแต่เราจะไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันเท่านั้น

จิตใจของเรามันยังตามกระแสโลก ลอยตามกระแสอยู่
จิตเต นิเยติ โลโก โลกอันจิตย่อมนำไป
ท่านว่า โน่น มันนำไปตามโลกไม่หยุดไม่หย่อน ไม่มีสถานี ไม่มีสนามหรอก
ไปไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ย้อนเข้ามาหาตัวสักที
เห็นไหมล่ะ คนเรามันวิ่งกันอยู่อย่างนี้แหละ เรื่องของจิตใจ
รถที่ติดกันตามถนนหนทางก็ล้วนแล้วแต่จิตใจของคนนั้นแหละ
มันติดอยู่อย่างนั้น อยู่ในทุกตรอกทุกมุม มันติดอยู่อย่างนั้น
เข้าตรอกโน้นก็ติด เข้าตรอกนี้ก็ติด ไปตามถนนใหญ่ก็ติด วุ่นวายอยู่อย่างนั้น
จิตใจมันยุ่งมันไม่มีทางออก มันก็เลยยุ่งอยู่อย่างนั้น

ถ้าจิตใจของเรามันปล่อยวางแล้วมันก็ไม่มีอะไร ไม่ติด
เขาจะติด เราก็ไม่ติด เพราะเรามีที่ปล่อยวางอยู่แล้วในมัชฌิมา
อยู่ในทางกลาง ไม่เอนเอียงทางซ้ายทางขวา ไปตรงเลย
ตรงอยู่ที่ไหนล่ะ ไปที่ไหนล่ะ ตรงอยู่ที่ใจนั่นแหละ ตรงลงไปอยู่ที่นั่น
ไปให้ถึงใจ อย่าไปหลงเรื่องของใจ ใจเป็นผู้รู้ ใจเป็นผู้เห็น
ความรู้และความเห็น ท่านว่าประชุมเป็นดวงตา
ความรู้และความเห็นประชุมกันนั้นแหละ จะมีดวงตาเกิดขึ้น
ในตรงนั้นแหละ เราเข้าใจอย่างนั้น

ฟังแล้วต้องปฏิบัติ ไม่ใช่ฟังแล้วเอาไปทิ้ง
ส่วนมากเวลาฟังแล้ว พอออกไปจากที่นี่หายหมด
มันจะเอาอะไร มันจะได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย
หยิบยกใส่มือให้แล้วก็ยังไปปล่อยวางทิ้ง
จะได้อะไร เราไม่ต้องการ เราไปสลัดทิ้งหมด
เหมือนภาชนะท่านเรียกว่าภาชนะแตก จะรองรับน้ำฝนที่ตกลงมามันก็รองรับไม่ได้
มันก็ซึมซาบออกมาหมด ไม่มีอะไรเหลือ
ฉันใดก็ดีเรื่องของจิตใจที่มันทะลุ มันก็รองรับเอาธรรมะไม่ได้
มันรั่วไหลออกไปหมดเลย ไม่มีอะไรค้างอยู่ ก็เลยไม่ได้ถ้อยได้ความอะไร
ที่จะได้ความสงบของจิตใจได้ความสบายของจิตใจ มันเลยไม่มี
นั่นมันเป็นอยู่อย่างนั้น นี่เพราะอะไร เพราะภาชนะมันแตก ภาชนะมันรั่ว
ก็คือหัวใจรั่วนี่เอง มันรั่วอยู่อย่างนั้น หาอะไรที่ค้างอยู่ไม่มี
เลยเป็นเหตุให้เดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา
เพราะความเยือกเย็นธรรมะไม่เข้าถึงใจ มันเป็นอยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงอย่าประมาท ให้ตั้งใจทำ ตั้งใจประพฤติ ตั้งใจปฏิบัติ
ถ้าเราไม่ปฏิบัติจะให้ใครปฏิบัติให้ ถ้าเราไม่ทำใครจะมาทำให้
ลองคิดดูสิ เราจะบำเพ็ญคุณงามความดีก็ให้ผู้อื่นบำเพ็ญให้
มันก็เป็นสมบัติของเขา เหมือนอย่างคนที่รับประทานอาหาร
สามีจะไปรับประทานอาหารแทนภรรยาก็ไม่ได้
สามีทานแล้วภรรยาไม่ต้องทานอีก หรือภรรยาทานแล้วสามีไม่ต้องทาน
มันจะอิ่มได้ไหมล่ะ อันนี้ท่านจึงว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว
เรียกว่า ปัจจัตตัง มันเป็นของเฉพาะตัว
ใครกินใครก็อิ่ม ท่านว่าอย่างนั้น ใครทำก็ใครได้
นั่นมันเป็นกรรมสิทธิ์ของเราที่เราจะทำเอาเอง
อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
คนอื่นนั้นเป็นที่พึ่งไม่ได้ ถ้าเราทำแล้วมันก็เป็นที่พึ่งของเรา
จะเอาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้ เราต้องพึ่งตนเอง เป็นสมบัติของเราเอง
ถ้าเป็นสมบัติของเราก็จะได้ไม่เดือดร้อนอะไร สบายใจ
ถ้าเอาของคนอื่นมาก็เดือดร้อน
บางทีเจ้าของเขามาถามเอาคืน เราจะเอาอะไรให้เขา นี่สมมติ
ถ้าเป็นสมบัติของเราแท้จริงแล้ว ใครจะมาถามมาเรียกร้องเอาไม่ได้หรอก
เป็นของของเราอยู่ตลอด ให้เข้าใจอย่างนี้ อย่าไปหลงโน่นหลงนี่
ให้ทำเอา ไม่มีใครจับจองเอาไว้ เป็นของที่ควรทำได้ทุกคน
ไม่มีใครที่จะกีดกันกั้นกางไว้ได้ ให้ลงมือทำลงไปเป็นสมบัติของตน

คนเรามันต้องมาบำเพ็ญอยู่ในโลกมนุษย์
นอกจากโลกอันนี้มีแต่จะไปเสวยผลในภพโน้น
จะทำดีหรือทำชั่ว ก็ทำเอาแต่ในปัจจุบัน คือเดี๋ยวนี้หรือโลกนี้แหละ
ทำเอาเดี๋ยวนี้ พอเมื่อเวลาลับโลกนี้ไปแล้วก็ไปเสวยผล
จะไปอยู่กามาวจรหรือสวรรค์ก็ไปเสวยผลเอาเอง หรือจะไปนรกก็ไปเสวยผล
จะไปทำในเวลาไหน ถ้าไม่ทำในเวลานี้ ในโลกนี้หรือในปัจจุบันนี้
ไม่มีสถานที่จะทำนอกจากโลกนี้
เพราะว่าโลกนี้เป็นสถานย่านกลางของการทำความดีหรือความชั่ว
ใครจะทำเอาดีก็ทำเอาเสียในปัจจุบันในโลกนี้
ใครจะทำเอาชั่วก็ทำเอา มีสิทธิ์ที่จะทำเอาได้ทั้งนั้น ให้เข้าใจอย่างนี้
ว่าไง เข้าใจไหมล่ะ หรือจะไปทำเอาในเวลาไหน
ต้องสังเวชสลดใจ สังเวชตนสิ เกิดมาด้วยความลำบากรำคาญ เกิดมาด้วยความหลง
เอ้า ถ้าเกิดมาด้วยความรู้ความฉลาดนั้นจะว่าไง มาก็ไม่รู้เวลา ไปก็ไม่รู้
ถ้ารู้ มาจากไหน มาเกิดนะ มาจากนรกหรือมาจากสวรรค์
หรือมาจากอสุรกายหรือเปรต หรือภูตผีปีศาจนั้น
มาจากที่ไหนมาเกิด ไม่มีใครรู้ เห็นไหม
เมื่อเวลาสิ้นลมหายใจแล้วจะไปที่ไหน
จะไปสวรรค์หรือจะไปนรก หรือจะไปเป็นเปรตหรืออสุรกายนั้น รู้ไหม
ไม่รู้อีก ทำยังไงล่ะ เรามาก็มืดไปก็มืด
จะทำยังไง ต้องทำให้แจ้งในปัจจุบัน
แจ้งในปัจจุบันแล้วมันก็แจ้งจนไปตลอดในอนาคต
แจ้งไปตลอดจนอดีตที่ล่วงมาแล้ว ล่วงไปแล้ว มันแจ้งตลอดหมด

ธัมโม ปทีโป ธรรมของพระศาสดารุ่งเรืองราวกับประทีป
นั่นมันสว่างไสวอยู่อย่างนั้น ทำไมจึงไม่อยากประพฤติ
ทำไมจึงไม่อยากปฏิบัติเป็นของตัวเอง เป็นสมบัติของตัวเอง
ทำไมจึงไม่อยากได้ หรืออยากไปที่ไหน หรืออยากไปทุคติ
นรกน่ะ เอาไหมล่ะไปทนทุกข์อยู่ในนรกน่ะ
ไฟในมนุษย์เขาว่าร้อน ท่านว่ายังไม่ร้อนเท่ากับไฟในนรก

sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


(กมล โสวรัตนพงศ์- ถอดเทป)
คัดจาก กมโล ผู้งามดั่งดอกบัว (๒๕๔๐) กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP