จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กาลามสูตร


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


084_destination


ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินพระสูตรที่ชื่อว่า “กาลามสูตร”
ซึ่งเป็นเรื่องว่าด้วยการมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง
พระสูตรนี้เกิดขึ้นเมื่อสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปยัง
แคว้นโกศล
โดยเสด็จไปถึงเมืองเกสปุตตะ ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งหมู่ชนชาวกาลาม
ในสมัยนั้น ชาวกาลามได้ทูลพระพุทธเจ้าว่า
ได้เคยมีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเมืองเกสปุตตะนี้
และได้สอนว่าคำสอนของตนเองนั้นดี ควรเชิดชูและยึดถือตาม
ดูหมิ่นคำสอนของผู้อื่นว่าไม่ดี และไม่ควรยึดถือตาม

เมื่อสมณพราหมณ์พวกหนึ่งได้จากไป ก็มีสมณพราหมณ์พวกที่สองมาถึง
และได้สอนทำนองเดียวกันว่าคำสอนของตนเองนั้นดี ควรเชิดชูและยึดถือตาม
ดูหมิ่นคำสอนของผู้อื่นว่าไม่ดี และไม่ควรยึดถือตาม
โดยที่คำสอนของสมณพราหมณ์พวกที่สองเป็นปฏิปักษ์กับสมณพราหมณ์พวกแรก
พอสมณพราหมณ์พวกที่สองจากไป ก็มีสมณพราหมณ์พวกที่สามมาถึง
และก็ได้สอนทำนองเดียวกันอีก โดยคำสอนก็เป็นปฏิปักษ์กับสมณพราหมณ์พวกก่อน ๆ
ซึ่งก็มีสมณพราหมณ์หลายพวกเดินทางผ่านมาเช่นนี้แล้วก็สอนทำนองเดียวกัน
ทำให้มีคำสอนหลากหลายมากมาย ดังนี้ ชาวกาลามจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
สมณพราหมณ์กลุ่มไหนพูดจริง พูดเท็จ และควรเชื่อคำสอนของสมณพราหมณ์กลุ่มไหน

ในสถานการณ์เช่นนั้น หากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงสอนว่า
ให้เชื่อคำสอนของพระองค์ โดยไม่ต้องเชื่อคำสอนของ
สมณพราหมณ์กลุ่มอื่น ๆ นั้น
ก็จะกลายเป็นทำนองเดียวกับสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว
และไม่ได้ช่วยแก้ไขความสงสัยของชาวกาลามได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนว่า อย่าได้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง ดังต่อไปนี้
๑. อย่าได้เชื่อโดยได้ฟังตามกันมา
๒. อย่าได้เชื่อโดยลำดับสืบ ๆ กันมา
๓. อย่าได้เชื่อโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ
๔. อย่าได้เชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าได้เชื่อโดยเหตุนึกเดาเอา
๖. อย่าได้เชื่อโดยนัยคือคาดคะเน
๗. อย่าได้เชื่อโดยความตรึกตามอาการ
๘. อย่าได้เชื่อโดยชอบใจว่าต้องกันลัทธิของตน
๙. อย่าได้เชื่อโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
๑๐. อย่าได้เชื่อโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา

แต่เมื่อใดที่เรารู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอกุศล มีโทษ สิ่งเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน
สิ่งเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์
ดังนี้ เราควรละเว้นสิ่งเหล่านั้นเสีย
และเมื่อใดที่เรารู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล เป็นคุณ สิ่งเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
สิ่งเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งเป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์
ดังนี้ เราควรประพฤติสิ่งเหล่านั้น
และได้ทรงยกตัวอย่างของโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ขึ้นเป็นตัวอย่าง
ให้ชาวกาลามทูลพิจารณาและทูลตอบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
ควรละเว้นหรือควรประพฤติสิ่งเหล่านั้น

หลังจากจบพระธรรมเทศนาแล้ว ชาวกาลามได้ขจัดความสงสัยเสียแล้ว
ได้ทูลรับว่าเป็นจริงดังที่ทรงแสดงธรรมเทศนา ได้ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา
และแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาว่า ภาษิตของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมเทศนาโดยบรรยายหลายอย่าง
ให้ชาวกาลามเห็นทางที่จะปฏิบัติแจ้งชัดแก่ปัญญา อุปมาดุจบุคคลหงายของที่คว่ำ
หรือเปิดของที่มีสิ่งกำบังไว้ หรือเหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง
หรือเปรียบอย่างตามตะเกียงไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีนัยน์ตาจักได้เห็นรูป
และชาวกาลามได้ขอถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต

กาลามสูตรนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับพวกเราชาวพุทธศาสนาสนิกชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ได้มีหลายความเชื่อและคำสอนปะปนเข้าในหมู่ชาวพุทธ
ซึ่งอาจทำให้สับสนว่าความเชื่อหรือคำสอนบางอย่างนั้นเป็นจริงหรือไม่
ความเชื่อและคำสอนบางอย่างอาจแพร่หลายเป็นวงกว้างโดยผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ
กระจายแพร่หลายโดยการเล่าสืบต่อ ๆ กันในสังคม
กระจายแพร่หลายสืบต่อกันโดยผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ค หรือผ่านอีเมล์ หรือเว็บบอร์ด
กระจายแพร่หลายผ่านหนังสือ หรือผ่าน
E-Book หรือคลิปวิดีโอในเว็บไซต์
กระจายแพร่หลายสั่งสอนโดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มีฐานะน่าเชื่อถือ เป็นต้น

พวกเราชาวพุทธซึ่งได้รับข้อมูลความเชื่อและคำสอนดังกล่าวนั้น
ไม่ควรเชื่อถือตามในทันที แต่ควรจะพึง “รู้ได้ด้วยตนเอง” ว่า
สิ่งเหล่านั้นเป็นกุศล หรืออกุศล เป็นคุณหรือเป็นโทษ ท่านผู้รู้ติเตียน หรือสรรเสริญ
เป็นไปเพื่อสิ่งเป็นประโยชน์หรือสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ หรือเพื่อพ้นทุกข์
แล้วเราก็จะทราบว่า เราควรละเว้นสิ่งเหล่านั้นหรือควรประพฤติสิ่งเหล่านั้น
ถามว่าทำอย่างไรจึงจะ “รู้ได้ด้วยตนเอง” ก็คือเราศึกษาทำความเข้าใจโดยเปิดใจกว้าง
และพิจารณาพิเคราะห์พิสูจน์ด้วยตนเองโดยปราศจากอคติ เพื่อรู้ได้ด้วยตนเอง

หากเราใช้กาลามสูตรอย่างเหมาะสมแล้ว จะสามารถช่วยกลั่นกรอง
ความเชื่อและคำสอนจำนวนมากมายที่พุ่งเข้ามาหาเราในแต่ละวัน
ซึ่งปริมาณข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบันนี้มีเป็นจำนวนมาก
และสามารถช่วยให้เราเชื่อและประพฤติสิ่งที่เป็นกุศล เป็นคุณ ท่านผู้รู้สรรเสริญ
เป็นไปเพื่อสิ่งเป็นประโยชน์ และเป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ได้
สามารถช่วยให้เราละเว้นสิ่งที่เป็นอกุศล เป็นโทษ ท่านผู้รู้ติเตียน
เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ และเป็นไปเพื่อทุกข์นั้นได้

ในทางกลับกัน เราอาจพบว่ามีบางท่านนำกาลามสูตรไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง
กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีใครไปแนะนำให้ประพฤติสิ่งกุศล และละเว้นสิ่งอกุศลใด ๆ ก็ตาม
ท่านนั้นก็ปฏิเสธทั้งหมด หรือมีใครนำตำราอะไรมาอ้าง นำตำราอะไรมาสอนแนะนำ
ท่านนั้นก็ปฏิเสธทั้งหมด โดยก็อ้างว่าไม่ควรเชื่อตามสิ่งที่เล่าต่อ ๆ กัน และไม่ควรเชื่อตำรา
ปรากฏว่าเมื่อไม่เชื่อแล้ว ท่านนั้น ๆ ก็ทำแต่ที่คิดเอาเองว่าดี ทำสิ่งที่ตนเองชอบใจจะทำ
(ซึ่งก็แย้งกับหลักกาลามสูตรเช่นกัน แต่ไม่เคยพิจารณาว่าขัดแย้ง)
ลงท้ายก็คือทำแต่สิ่งที่เป็นอกุศล และละเว้นสิ่งกุศลไปเสีย
ประพฤติทำแต่สิ่งที่เป็นโทษ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ตนเอง
ไม่ได้สนใจทำสิ่งที่เป็นคุณ สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์แก่ตนเอง
กล่าวโดยง่ายก็คือไม่เชื่ออะไรใครสอนทั้งนั้น แต่ว่าเชื่อและทำตามกิเลสของตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราจะไปดื่มสุรา พอมีคนมาแนะนำว่าผิดศีล เราก็ไม่เชื่อ
กิเลสก็สรรหาสาเหตุหาข้ออ้างมาให้ตนเองอยู่เรื่อย ๆ บอกว่าคลายเครียดบ้าง
เพื่อเข้าสังคมบ้าง เพื่อพักผ่อนบ้าง หรืออื่น ๆ ตามแต่ที่กิเลสจะสรรหาข้ออ้างมาให้
หรือกรณีไปทำงานสายและโดดงานกลับบ้านเร็ว บางคนมาแนะนำว่าไม่ดี
เราก็อ้างเหตุโน่นอ้างนี่เยอะแยะตามแต่ที่กิเลสจะสรรหาข้ออ้างมาให้
หรือเราทำงานไม่ทันเพราะขี้เกียจหรือใช้เวลางานไปในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงาน
เราก็อ้างโน่นอ้างนี่ว่างานยากบ้าง งานเยอะบ้าง มีปัญหาโน้นปัญหานี้บ้าง
หรือเวลาที่เราพูดเท็จหรือพูดส่อเสียดใด ๆ ก็ตาม เราก็อ้างเหตุจำเป็นโน่นนี่ไปเรื่อย
และเมื่อมีใครมาตักเตือนโดยชอบ จะอ้างตำรา จะอ้างครูอาจารย์ก็ดี เราก็ไม่ฟังเขา
เราอ้างแต่ว่ากาลามสูตรสอนว่าไม่ต้องเชื่อในสิ่งเหล่านั้น

ในกรณีที่เราทำเช่นนั้น เห็นว่าเรายังประพฤติไม่ชอบ และไม่ตรงตามกาลามสูตรนะครับ
ในประการแรกคือ เราอ้างกาลามสูตรว่าไม่ต้องเชื่ออะไรทั้งนั้น ไม่ต้องเชื่อตำราด้วย
แต่ในอันที่จริง กาลามสูตรเองก็ถือเป็นตำรา กล่าวคือเป็นพระสูตรในพระไตรปิฎก
ฉะนั้นที่บอกว่า เราไม่ต้องเชื่อตำราโดยอ้างกาลามสูตรนั้น ก็คือว่าเรากำลังอ้างตำราอยู่
ในประการที่สองคือ เราพึงศึกษาและปฏิบัติตามกาลามสูตรให้ครบถ้วน
ในส่วนที่พระสูตรสอนว่าไม่ควรเชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่างนั้นเป็นแค่ส่วนแรก
แต่ในส่วนหลังยังได้สอนว่าควรจะรู้ด้วยตนเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล ฯลฯ สิ่งใดเป็นอกุศล ฯลฯ
ฉะนั้นแล้ว แม้เราจะไม่เชื่อในข้อแนะนำของคนอื่น ๆ ในทันทีก็ตาม
เราก็พึงนำข้อแนะนำนั้น ๆ มาศึกษาทำความเข้าใจ พิเคราะห์พิสูจน์ และรู้ด้วยตนเองว่า
ข้อแนะนำเหล่านั้นเป็นกุศล ฯลฯ หรือเป็นอกุศล ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นควรประพฤติหรือควรละเว้น

หากเราละเลยส่วนแรกของกาลามสูตร โดยใครสอนอะไร เราก็เชื่อทั้งนั้น
เราก็จะพบคำสอนขัดแย้งกันมากมาย จนเราฟุ้งซ่านและเราปฏิบัติไม่ถูกว่าจะเดินทางไหน
และหากไปพบเจอคำสอนไม่ดี หรือลากไปผิดทางแล้ว ก็จะนำพาเราไปในทางที่ไม่ดีได้
แต่หากเรายึดถือแต่ส่วนแรกของกาลามสูตร โดยเราไม่เชื่อคำสอนอะไรทั้งสิ้น
เราละเลยส่วนหลัง โดยเราไม่สนใจที่จะรู้ได้ด้วยตนเองว่าอะไรดีหรือไม่ดีแล้ว
ก็เท่ากับว่าเราอยู่ไปวัน ๆ โดยทำตามกิเลสของเราเท่านั้นเอง และเราก็ไปอบายภูมิอยู่ดี
ฉะนั้นแล้ว การรู้ได้ด้วยตนเองว่าอะไรดีหรือไม่ดีนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากครับ

ทีนี้ หากบางท่านบอกว่าความเชื่อและคำสอนมีอยู่มากมายเยอะแยะ
ในแต่ละวันก็มีคนส่งมาให้เราเยอะแยะ โพสต์ให้เราอ่านมากมาย
บางอย่างก็สอดคล้องกัน บางอย่างก็ขัดแย้งกันจนเราสับสนไปหมด
แล้วจะมีวิธีการอะไรง่าย ๆ บ้างไหม ที่จะพิจารณาความเชื่อและคำสอนเหล่านี้
ว่าเราควรจะเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ในประเด็นนี้ วิธีการที่ผมใช้อยู่ก็คือ
ผมยึดถือหลักคำสอนตามโอวาทปาฏิโมกข์นะครับ โดยพิจารณาเพียง ๓ ข้อว่า
๑. พึงละเว้นบาปอกุศลทั้งปวง
๒. พึงทำกุศลทั้งปวงให้ถึงพร้อม และ
๓. พึงทำจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์
ซึ่งวิธีง่าย ๆ ก็คือ ลองพิจารณาว่าความเชื่อและคำสอนเหล่านั้นว่าสอดคล้องกับ
หลักคำสอนตามโอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ข้อนี้หรือไม่ หากสอดคล้องก็ถือว่าใช้ได้ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP