ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ในยามใกล้ตายหรือเผชิญภัยพิบัติ จะปฏิบัติอย่างไรให้ได้ไปดี



ถาม - อยากได้วิธีปฏิบัติง่ายๆ ตามลำดับ ในยามคับขัน
เช่นอยู่ในภาวะป่วยใกล้ตายหรือเผชิญภัยพิบัติ
เพื่อให้ตายดี ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี มีโอกาสปฏิบัติธรรมต่อค่ะ

สำหรับคำถามนี้นี่นะ พูดง่ายๆ ว่าถ้าหากว่าเรารู้เข้ามาในกาย รู้เข้ามาในใจ
ไว้ซะก่อนที่มันจะเกิดเหตุ ที่มันจะเกิดความยากลำบากในเนื้อในตัวเรา
อย่างนี้เรียกว่ามีโอกาสที่จะเตรียมสติ รับมือได้จริง
เหมือนกับเราเตรียมรับมือน้ำท่วม
ไม่มีใครหรอกที่ไปเตรียมได้ ๕ นาทีก่อนที่น้ำจะมา มาถึง
ทุกคนจะต้องมีเวลามากพอ แล้วจะต้องมีเสียงเตือนจากทางการ
บอกให้ระวังอย่างนั้นระวังอย่างนี้

นี่ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านเตือนแล้วเตือนอีก
บอกว่าใช้ชีวิตให้เหมือนกับไฟไหม้อยู่บนหัว
เราต้องเร่งหาทางดับให้ได้
ความทุกข์มันมีติดใจอยู่ตลอดเวลา มันมีติดตัวอยู่ตลอดเวลา
กายนี้เปรียบเหมือนรังโรค มันพร้อมที่จะแผลงฤทธิ์ขึ้นมาได้ทุกเมื่อ
ถ้าหากว่าเราฟังคำเตือนแล้วเชื่อ เชื่อว่านั่นเป็นคำเตือนของผู้รู้จริง
เราสามารถไปเห็นหลักฐานได้ตามโรงพยาบาล
ถ้าใครไม่รู้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ยังไง
ขอให้ไปเที่ยวโรงพยาบาลบ่อยๆ
คุณจะได้เห็นความจริงเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน
ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเสียงครวญครางของคนแก่
แล้วก็ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องไห้ของญาติที่เพิ่งสูญเสียบุพการีไป
ที่โรงพยาบาลมีครบหมด ส่ำเสียงของความทุกข์

ถ้าหากว่าเรามีแก่ใจ ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ
ว่ากายใจนี้มันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ มันเป็นรังโรค
เราก็จะเริ่ม พูดง่ายๆ ว่าเตรียมตัว เตรียมพร้อม
ขอโทษนะ คืออย่างคำถามนี้ มันเป็นคำถามของคนจวนตัว
คือไม่ได้บอกว่าเจ้าของคำถามมาประมาทหรืออะไรนะ
แต่คำถามแบบนี้เป็นคำถามของคนจวนตัว
ไม่ใช่คำถามของคนที่จะเตรียมตัว
โอกาสของคนที่จะเตรียมตัวทั้งที่ยังไม่จวนตัว มันมีอยู่สูง
สูงยังไง สูงตรงที่ว่าเราค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้
ค่อยๆ สำรวจดู ค่อยๆ เห็น
ว่ามีอะไรบ้างที่มันน่ายึดมั่นถือมั่นในกายในใจนี้

พระพุทธเจ้าให้ตั้งคำถามง่ายๆ ให้ตั้งโจทย์กับตัวเองง่ายๆ
ถ้าหากอะไรที่เราดูไปแล้วว่ามันไม่เที่ยง
มันควรที่จะยึดถือไหม มันน่าที่จะหวงเอาไหม
หรือว่าน่าที่จะทึกทักเอาไหมว่านี่คือตัวเรา นี่คือของของเรา
ถ้าหากว่าคำตอบคือว่าสิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นไม่ควรที่จะยึดถือไว้ว่าเป็นตัวของเรา

เราก็จะค่อยๆ สำรวจเข้าไปว่า
มีอะไรบ้างในกายในใจให้ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง
นับเริ่มตั้งแต่ลมหายใจนี้เลย สิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราเอาไว้นี่แหละ
ถ้าเราดูมัน มีแก่ใจดูมันตลอด ๒๔ ชั่วโมง
มันก็จะแสดงให้เห็นตลอด ๒๔ ชั่วโมง เช่นกัน
ว่ามีเข้าจะต้องมีออก เดี๋ยวมันยาวเดี๋ยวมันสั้น
ไม่มีความเที่ยงอยู่ในลมหายใจใดลมหายใจหนึ่งเลย

นี่คือสิ่งที่เราไม่สามารถเห็นแล้วเข้าใจได้ทันที
มันต้องผ่าน ผ่านวัน ผ่านเดือน ผ่านปี ไปพอสมควร
จนกระทั่งจิตของเรามีความเห็นลมหายใจไม่เที่ยงเป็นปกติ
พูดง่ายๆ ว่ามีสมาธิ เกิดความตั้งมั่นในการเห็นลมหายใจไม่เที่ยงขึ้นมา
นั่นแหละจิตถึงจะมีความฉลาดพอ ที่จะไม่อยากยึดมั่นถือมั่น

เอาลมหายใจเป็นตัวของเรา เป็นตนของเรา
หลังจากนั้นเมื่อรู้สึกว่าลมหายใจไม่เที่ยงแล้ว
เราก็จะเกิดความรู้สึกตัว ลามต่อไปเป็นอิริยาบถที่เป็นปัจจุบัน
เป็นความรู้สึกอึดอัดบ้าง เป็นความรู้สึกสบายบ้าง
หรือแม้กระทั่งภาวะของใจที่เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน
มันจะเห็นเลยว่าทุกภาวะ ไม่ว่าจะฝ่ายรูปหรือฝ่ายนาม มันไม่เที่ยงทั้งหมด
เมื่อเกิดความรู้สึกชัดๆ จิตฉลาดจริงๆ นะ
ว่าอะไรๆ มองเข้าไปในกายใจมันไม่เที่ยงไปทั้งนั้น
มันจะเกิดมรณสติขึ้นมาเอง

มันจะเกิดการเตรียมพร้อมขึ้นมาเอง ณ ขณะของจิตที่มีความฉลาด
ที่มีความรู้ว่าอะไรๆ มันไม่เที่ยงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ไม่ใช่จะไปแสดงความไม่เที่ยงเอาตอนถึงวาระที่เจ็บไข้ได้ป่วย
หรือว่าภัยพิบัติมาถามหา

สรุปคำตอบข้อนี้ก็คือคุณต้องมีเวลาเตรียมตัวพอสมควร
มันไม่มีอุบายลัดแบบไหนที่จะได้ผลอย่างแท้จริง ในขณะที่จวนตัวแล้ว

คนไทยส่วนใหญ่ก็ให้ท่องอรหัง อรหัง อรหัง นะ
มันไม่ได้ผลหรอกเพราะว่าจิตของคนที่กำลังจะตาย
ถ้าให้ไปท่องอรหังนะ เคยมี ได้ยินมากับหู
คนที่เขาได้ยินมากับหูเขามาเล่าให้ฟังนะ เป็นพระด้วย
เขาบอกว่าญาติอุตส่าห์ให้ท่องอรหัง
แต่ว่าท่องออกมาเสียงดังเลย อรหอย อรหอย
นี่คือเรื่องจริงนะ จิตมันมีความเพี้ยนแล้วตอนที่จวนอยู่จวนไป
เหมือนกับคนกำลังสะลึมสะลือใกล้หลับ
คุณจะให้เขาไปท่องหรือให้ไประลึกถึงอะไร มันไม่มีกำลัง



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP