จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กองเชียร์


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

083_destination


ในคราวก่อนเราได้คุยถึงเรื่องความสุขจากการชมกีฬา ชมภาพยนตร์ และชมละคร
ว่าความสุขเหล่านี้อยู่ชั่วคราวและหมดไปอย่างรวดเร็ว
แล้วเราก็ต้องหาความสุขเหล่านี้มาเติมไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีสิ้นสุด
อย่างสมมุติว่า เราติดตามเชียร์ทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ซึ่งจะเป็นสโมสรไหนก็ตาม
แล้วก็มีการแข่งฟุตบอลนัดสำคัญของทีมที่เราเชียร์นั้นกับทีมฟุตบอลชื่อดังอีกทีมหนึ่ง
ก่อนที่จะชมการแข่งขันนั้น เราก็ตื่นเต้น ใจจดจ่อเฝ้ารอ
ระหว่างที่กำลังชมการแข่งขัน เราก็สนุกตื่นเต้น พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง
หลังจากชมการแข่งขันนัดสำคัญจบแล้ว หากทีมที่เราเชียร์นั้นเล่นไม่ดีและพ่ายแพ้
เราก็อาจจะเสียใจ หรืออาจจะทำใจไว้อยู่แล้วก็ตาม
หากทีมที่เราเชียร์นั้น เล่นดีมากและชนะการแข่งขันนัดสำคัญได้ เราก็สนุกดีใจ
แต่ความสนุกดีใจนั้นก็อยู่กับเราได้ไม่นาน แล้วเราก็ต้องรอชมการแข่งขันนัดอื่นต่อไป

อย่างกรณีเชียร์มวยสากล มวยปล้ำ หรือกีฬาต่อสู้อื่น ๆ ยิ่งถือว่าก่ออกุศลในใจนะครับ
สมมุติว่าเป็นกรณีเชียร์กีฬามวยสากล เวลานักมวยที่เราเชียร์ต่อยฝ่ายตรงข้าม
เราก็เชียร์ว่าดี ๆ ต่อยเข้าไป ๆ ต่อยให้หนัก ต่อยให้ล้ม
เวลาที่ฝ่ายตรงข้ามเขาโดนต่อยนี้ เขาก็เจ็บนะครับ เขาไม่ใช่หิน ไม่ใช่เหล็กนะครับ
แต่เราก็เชียร์ว่าดีแล้วที่โดนต่อย เขาสมควรโดนต่อยให้พ่ายแพ้ไปเลย
หรือหากเขาจะโดนต่อยให้หนักถึงขนาดโดนน็อคลงไปนอนกับพื้นก็ยิ่งดี
ใจเราก็ย่อมจะเป็นอกุศลตลอดเวลาที่เชียร์เช่นนั้น

หรืออย่างกรณีเราไปชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง
เวลาที่เราไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์นั้น
เรายังไม่ทันได้ชมภาพยนตร์เรื่องที่ซื้อตั๋วนี้เลย
แต่แค่เพียงไปถึงหน้าโรงภาพยนตร์ เขาก็นำภาพยนตร์ตัวอย่างเรื่องอื่นมาให้ชมแล้ว
หรือก่อนที่ภาพยนตร์จะฉาย เขาก็ยังมีภาพยนตร์ตัวอย่างของเรื่องอื่น ๆ ให้ชมอีก
เพื่อชักจูงใจเราว่าชมเรื่องนี้แล้วก็ยังไม่พอ และยังไม่จบนะ
เราก็ยังมีหน้าที่หรือสมควรจะต้องมาชมภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ในอนาคตต่อไปด้วย
ก่อนที่เราจะได้มาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เราตื่นเต้น ใจจดจ่อเฝ้ารอ
ระหว่างที่กำลังชม เราก็สนุกตื่นเต้นบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง
หลังจากชมภาพยนตร์จบแล้ว เราก็พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง
บางทีก็พอใจว่าภาพยนตร์สนุกถูกใจ หรือไม่พอใจว่าภาพยนตร์ไม่ถูกใจเรา
แต่สรุปแล้ว เราก็รอชมภาคต่อไปหรือรอชมภาพยนตร์เรื่องต่อไป
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ชั่วคราว และเราต้องหามาเติมเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด

ทีนี้ เรามาลองพิจารณาลงในรายละเอียดในส่วนของกองเชียร์
เวลาที่เราชมฟุตบอลหรือการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ นั้น
เราก็อาจจะเชียร์ทีมใดทีมหนึ่ง หรือเชียร์นักกีฬาคนใดคนหนึ่ง
เวลาที่ทีมที่เราเชียร์เล่นดี หรือทำคะแนนนำได้ เราก็พอใจ ชอบใจ
เวลาที่ทีมที่เราเชียร์เล่นไม่ดี หรือโดนทำคะแนนนำ เราก็ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ
ส่วนเวลาที่เล่นสูสีหรือเสมอกัน เราก็ทั้งลุ้นว่ากลัวแพ้ และทั้งอยากจะชนะ
การที่เราเป็นกองเชียร์ก็จะส่งผลให้ใจเราต้องกระเพื่อมอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

ในการชมภาพยนตร์ หรือละครนั้น เราก็เชียร์เหมือนกันนะครับ
เราเชียร์พระเอก เชียร์นางเอก เราลุ้นพระเอก ลุ้นนางเอก
ภาพยนตร์ หรือละครบางเรื่องนั้น ตัวร้ายอาจจะหล่อ สวย หรือเท่ห์กว่าตัวเอกก็มี
เราก็ไปเชียร์ และชื่นชมตัวร้ายนั้นก็ยังมี
บางตอนเนื้อเรื่องน่าเบื่อ เราก็อยากจะให้ผ่านไปเจอตอนสนุก ๆ
บางตอนเนื้อเรื่องต้องลุ้นตื่นเต้น เราก็ลุ้นกันตัวโก่งว่าจะผ่านเหตุการณ์ไปอย่างไร
บางตอนเนื้อเรื่องสลับซับซ้อน เราตามไม่ทัน ก็สงสัยว่า เอ ยังไงกันแน่
แต่ระหว่างที่ชมภาพยนตร์ หรือละครนั้น
เราก็เชียร์โดยต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้
ต้องการให้เป็นอย่างนี้ ชอบใจที่เรื่องเป็นอย่างโน้น ไม่ชอบใจที่เรื่องเป็นอย่างนั้น
ใจเราก็กระเพื่อมตามเนื้อหาของภาพยนตร์หรือละครเหล่านั้นไปด้วย

ด้วยความที่เรายังสามารถเชียร์ได้ เรายังมีพอใจและไม่พอใจ
เรายังมีบวกและมีลบในการชมกีฬา ชมภาพยนตร์ ชมละครแล้ว
เราก็ยังติดอกติดใจและชอบที่จะวนเวียนอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
เราก็ยังเพลิดเพลินกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ
(เห็นผมเขียนอย่างนี้ก็ตาม ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจว่า
ผมบรรลุธรรมแล้ว หรือว่าผมสามารถพ้นจากกามแล้ว
หรือไม่ได้ยึดติดในสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย แล้วนะครับ
ผมเองก็ยังมีแวะไปชมภาพยนตร์อยู่เหมือนกันนะครับ
เพียงแต่ว่ารู้ทันมากขึ้น และยึดติดในสิ่งเหล่านี้น้อยลง)

บางท่านอาจบอกว่า หากเราไม่เชียร์กีฬา ไม่ชมภาพยนตร์ ไม่ชมละคร
ไม่ชมการแข่งขันใด ๆ แต่เรามุ่งปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ก็คือเราไม่ได้เป็นกองเชียร์ใช่ไหม?
จริง ๆ แล้ว แม้ว่าเราจะไม่ได้ชมกีฬา ภาพยนตร์ หรือละคร และเรามุ่งปฏิบัติธรรมก็ตาม
แต่เราเองก็เป็นกองเชียร์ได้เหมือนกัน โดยเราก็ยังเชียร์ว่าชอบกุศล ไม่ชอบอกุศล
เวลาที่มีสภาวะเป็นกุศลเกิดขึ้นในใจ เราก็ชอบใจ พอใจ อยากรักษาไว้
เวลาที่มีสภาวะเป็นอกุศลเกิดขึ้นในใจ เราก็ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ อยากพ้นจากสภาวะนั้น ๆ
เมื่อเราก็ยังกระเพื่อมไปตามกุศลและอกุศลเหล่านั้น
แล้วเราก็ยังจะต้องวนเวียนอยู่กับกุศลและอกุศลนี้เรื่อยไป
ลงท้ายก็คือว่า ใจเราก็ยังจะต้องกระเพื่อมและก็ทุกข์ต่อไปเรื่อย ๆ

แล้วทำอย่างไรเราจึงจะพ้นจากการเชียร์ในกุศลและอกุศลเหล่านั้น?
เรา
ก็พึงต้องปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยศึกษาและปฏิบัติไตรสิกขา คือศีล สมาธิ และปัญญา
ซึ่งในส่วนของการเจริญสมาธินั้น เราไม่ได้เลือกฝึกว่าใจจะต้องสงบ
หากเรายังชอบใจสงบ และไม่ชอบใจฟุ้งซ่าน ก็คือยังเชียร์อยู่
แต่เราพึงเน้นสมาธิให้ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอย่างเป็นกลาง ไม่กระโจนลงไปเชียร์
กุศลเกิดขึ้น ก็รู้ทันอย่างเป็นกลาง อกุศลเกิดขึ้น ก็รู้ทันอย่างเป็นกลาง
รู้สึกเฉย ๆ ก็รู้ทันอย่างเป็นกลางเช่นกัน
ทั้งกุศล อกุศล และเฉย ๆ ต่างก็เป็นสภาวะที่ผ่านมาแล้วผ่านไป
ให้จิตใจได้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (คงทนอยู่ไม่ได้)
และไม่ใช่ตัวตนของสภาวะกุศล อกุศล และเฉย ๆ นั้น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน

ทีนี้บางท่านอาจจะบอกว่า หากกุศลและอกุศลต่างเป็นสภาวะเท่าเทียมกัน
อย่างนี้เราก็ทำกุศลหรืออกุศลก็ได้ แล้วก็คือเหมือนกันใช่ไหม?
เช่นนี้ก็ไม่ตรงกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะครับ
โดยคำสอนของพระพุทธองค์ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น
ได้ทรงสอนว่าให้ละอกุศลทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นหากถามว่าสิ่งที่ควรทำในชีวิตเรานั้น ก็คือ ๓ อย่างนี้
โดยละอกุศล และมุ่งทำกุศล ซึ่งเราก็ทำไปตามเหตุและปัจจัยที่สมควร
เมื่อละอกุศล และมุ่งทำกุศลดังกล่าวแล้ว หากสภาวะกุศล อกุศล หรือเฉย ๆ เกิดขึ้น
เราก็รู้ทันสภาวะอย่างเป็นกลาง โดยไม่ไปเชียร์สภาวะใดสภาวะหนึ่ง
แต่หากเราไม่ยอมที่จะรู้อย่างเป็นกลาง
พออกุศลเกิดขึ้น (เช่น โลภ โกรธ ฟุ้งซ่าน เครียด กลุ้ม เสียใจ ขาดสติ ฯลฯ)
เราก็ไม่พอใจ เราไม่ชอบอกุศล เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
พอกุศลเกิดขึ้น (เช่น ปีติ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สงบ มีสติ ฯลฯ)
เราก็พอใจ เราชอบใจในกุศล เราอยากให้กุศลคงอยู่นาน ๆ
เช่นนี้ก็เท่ากับว่าเรายังเชียร์อยู่ และก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในกุศลและอกุศลอย่างไม่จบสิ้น



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP