กระปุกออมสิน Money Literacy

เกษียณสบาย พบขั้นตอนอย่างง่าย ๕ ข้อ



Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

มันต้องมีซักวันในชีวิตเราแน่นอนครับที่เราไม่มีรายได้จากการทำงานอีกต่อไป คำถามคือ วันนั้นจะมาถึงก่อนเราตาย หรือมาพร้อมๆกับความตาย?

ถ้าวันนั้นมาถึงก่อนความตาย ไม่นับกรณีตกงาน ก็หมายความว่า คุณเกษียณ และใช้ชีวิตในบั้นปลายกับการทบทวนและค้นหาความสุขอย่างแท้จริงของชีวิตต่อไป

อ้าว! แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจับจ่ายใช้สอย?

และถึงใครจะบอกว่า วันนั้นมันมาพร้อมกับความตาย ผมก็จะถามคุณว่า ถ้าคุณมีภาระอยู่ข้างหลัง ทั้งบุพการีที่ต้องเลี้ยงดู หรือสามี ภรรยา ลูก หลาน คุณคิดว่าคุณจะทำอย่างไร?

จากทั้งสองกรณี การแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ทำได้ด้วยวิธีเดียวก็คือ วางแผนชีวิตหลังหมดรายได้ ไม่ว่าจะเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไป หรือเพื่อให้คนข้างหลังได้อยู่อย่างไม่ลำบากในวันที่เขาขาดเรา

พุทธศาสนา สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน มีหลายคนกลับเข้าใจเป็นว่า ไม่ต้องไปสนใจอนาคต หรืออีกพวกก็สุดโต่งไปเลย คิดว่า ต้องอยู่ไปวันๆไม่ต้องคิดถึงอนาคตใดๆทั้งสิ้น ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้มีการวางแผนและการเตรียมความพร้อม เพราะในพุทธกาล แม้แต่พระพุทธองค์เอง ก็ทรงวางแผนเลือกดูความเหมาะสม จังหวะและเวลาในการโปรดสัตว์เช่นกัน

จริงๆแล้ว โดยหลักการ การวางแผนเกษียณนั้นไม่ได้ยากเกินความสามารถของใครเลย เรามาดูกันครับว่า มีอะไรบ้าง

๑. กำหนดอายุที่คุณต้องการเกษียณ
๒. ประมาณช่วงระยะเวลาที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
๓. ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องการหลังเกษียณ
๔. ประมาณรายได้หลังเกษียณ (ที่ไม่ใช่รายได้จากการทำงาน)
๕. วางแผนการออมในปัจจุบัน


กำหนดอายุที่คุณต้องการเกษียณ
ในมุมของการปฏิบัติธรรม ควรตั้งเป้าหมายอย่างน้อยๆก็คือ ให้ได้โสดาบันในชาตินี้ ส่วนจะได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องของเหตุและปัจจัยที่เราทำ ในมุมของการใช้ชีวิตทางโลก คุณก็ควรตั้งเป้าหมายไว้ อย่างน้อยๆ คุณจะเกษียณเมื่อไหร่ เพื่อที่จะได้รู้ว่า คุณมีระยะเวลาสร้างรายได้ก่อนเกษียณได้นานแค่ไหน สมมติ ตัวผมเองอายุ ๓๒ ปี ตั้งใจจะเกษียณตัวเองในตอนที่อายุ ๕๕ ปี นั้นเท่ากับว่า ผมมีเวลาสร้างรายได้จากการทำงานอีก ๒๓ ปีหลังจากนี้


ประมาณช่วงระยะเวลาที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
แปลง่ายๆ คือ ให้ตัวคุณเองลองคาดการณ์ไปว่าจะมีชีวิตยืนยาวไปจนถึงอายุเท่าไหร่ ซึ่งโดยปกติ ผู้หญิงจะมีอายุขัยยืนยาวกว่าผู้ชาย การประมาณช่วงระยะเวลาที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณ จะทำให้คุณวางแผนในลำดับต่อไปได้ นั้นก็คือ


ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องการหลังเกษียณ
โดยปกติ ผมจะแนะนำให้ประมาณค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนนะครับ เพื่อที่คุณจะได้รู้ลงไปในรายละเอียดเลยว่า เดือนๆหนึ่ง ณ ปัจจุบัน คุณมีค่าใช้จ่ายเป็นสัดส่วนเท่าไหร่กับรายได้ และในชีวิตหลังเกษียณ คุณจะสามารถใช้ชีวิตได้มีคุณภาพเท่ากับตอนนี้ หรือน้อยกว่าเดิม ตรงนี้ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลนะครับ บางคนอาจใช้ชีวิตในตัวเมือง บางคนอาจใช้ชีวิตบั้นปลายในชนบท ค่าครองชีพย่อมไม่เท่ากัน ดังนั้น ผมก็ไม่มีมาตรฐานชัดเจนด้วยว่า ควรจะใช้จ่ายอยู่เดือนละเท่าไหร่ ต้องคาดการณ์กันเอาเองครับ สมมติ คุณคิดว่าน่าจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ระยะเวลาที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณก็คือ ๑๕ ปี เท่ากับว่า คุณต้องมีเงินก่อนเกษียณเท่ากับ ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท (เป็นการคำนวณคร่าวๆ ไม่รวมปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ราคาข้าวของเครื่องใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีมาคำนวณนะครับ)


ประมาณรายได้หลังเกษียณ (ที่ไม่ใช่รายได้จากการทำงาน)
เงินออมที่คุณสะสมมา คุณคงไม่ฝังตุ่มอย่างเดียวแน่นอน อย่างน้อยๆมันก็ต้องอยู่ในธนาคาร ซึ่งจะให้ดอกเบี้ยคุณออกมาทุกปีๆ และสำหรับใครที่นำเงินไปลงทุนอย่างอื่น ก็ต้องเอามารวมคำนวณดูด้วยนะครับ ว่าสุดท้ายแล้ว รายได้หลังเกษียณของคุณเป็นเท่าไหร่

สำหรับใครที่วางแผนการเงินดีๆ รายได้ตรงนี้ อาจพอกับค่าใช้จ่ายที่คุณใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งผมก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะมันหมายความว่า คุณใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินออม สามารถเหลือไว้ให้ลูกหลานในยามที่เราจากไปได้ด้วย


วางแผนการออมในปัจจุบัน
สำหรับใครที่คำนวณแล้ว รายได้จากเงินออมหลังเกษียณไม่พอกับค่าใช้จ่าย ไม่เป็นไรครับ ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยก้าวแรก สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ วางแผนการออมมันซะตั้งแต่วันนี้เลย


จริงๆแล้วการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่อาจดูไกลเกินตัวสำหรับคนวัยหนุ่มสาว และวัยทำงาน แต่เมื่อถึงวันที่เราขาดรายได้ประจำ วันที่เราเกษียณ จะย้อนกลับมาเหมือนเริ่มเกมใหม่ก็คงทำไม่ได้ ได้แต่นั่งเสียใจอยู่ตอนนั้นว่าเราลืมทำสิ่งที่ควรเมื่อครั้งยังทำได้ เพราะฉะนั้น วิธีรับมือกับเหตุการณ์ที่เรารู้ว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ๆก็คือ วางแผนมันเสียตั้งแต่ตอนนี้ ทำมันตั้งแต่ตอนที่เรายังมีแรงทำ เหมือนเวลาเจริญสตินะครับ จะไปสุคติภูมิ หรือทุคติภูมิ ตัดสินกันที่ลมหายใจสุดท้ายก่อนตายแค่นั้น แต่ถ้าเราเตรียมตัวมาไม่ดีพอ หรือไม่ได้เตรียมตัวมาเลย ก็เหมือนนักวิ่ง ๑๐๐ เมตรนะครับ เหรียญทองตัดสินกันด้วยเวลาไม่กี่วินาที แต่ต้องหมั่นซ้อมกันเป็นปีๆ ก็เพื่อไม่กี่วินาทีนั้น จะประมาท ไม่ยอมทำอะไรเลยในตอนนี้ ผมว่ามันน่ากลัวนะ จำพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ได้ไหมครับ?


ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวง มีความเสื่อมและความสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"


บทความตอนหน้า ผมจะพาไปคำนวณนออกมาเป็นตัวเลข โดยยกตัวอย่างง่ายๆเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ และสามารถวางแผนได้ นำไปปฏิบัติใช้ได้จริงนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP