จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ไม่มีสิ้นสุด



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


082_destination


ฟุตบอลยูโร 2012 จบไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน
หลังจากฟุตบอลยูโรนี้แล้ว ในปี
2012 นี้ก็จะมีโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 อีกด้วย
ต่อมาในปี
2013 คือปีหน้าก็จะมีซีเกมส์
จากนั้นในปี
2014 ก็จะมีฟุตบอลโลก เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกฤดูหนาว
ก็จะหมุนเวียนผลัดกันมาให้มนุษย์เราชมอย่างตื่นตาตื่นใจไปเรื่อย ๆ
เหล่านี้ยังไม่รวมบรรดาฟุตบอลลีกต่าง ๆ ที่จัดกันทุกปี
และกีฬาประเภทต่าง ๆ เช่น เทนนิส กอล์ฟ สนุกเกอร์ ฯลฯ ซึ่งมีหลายรายการในแต่ละปี
ซึ่งหากเราติดตามกีฬาต่าง ๆ เหล่านี้อยู่เป็นประจำแล้ว
ก็จะทราบได้ครับว่ากีฬาเหล่านี้สามารถติดตามได้อย่างไม่มีจบสิ้น

หมดรายการนี้แล้วก็ไปต่อรายการโน้น
หมดฤดูกาลนี้แล้ว ฤดูกาลหน้ามาแข่งกันใหม่
แข่งกันไปเรื่อยทุกปี ๆ ติดตามชมกันไปเรื่อยทุกปี ๆ ไม่มีสิ้นสุด
อย่างหลาย ๆ คนบอกว่าโอลิมปิก หรือฟุตบอลโลกนี้
ถือเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของมนุษยชาติ
เราลองตั้งข้อสังเกตไหมครับว่าหากเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญสำหรับมนุษย์ชาติแล้ว
ทำไมเราไม่จัดทุกเดือนเสียเลยล่ะ ทำไมเราต้องมารอว่า ๔ ปีค่อยจัด ๑ หน
ก็เพราะว่าหากเรามาจัดกันทุกเดือนแล้ว เราก็จะไม่รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่และสำคัญแล้ว

สิ่งที่นาน ๆ โผล่มาทีนึงก็มักจะหลอกจิตใจเราได้ง่ายกว่าสิ่งที่โผล่มาหลอกจิตใจเราบ่อย ๆ
อะไรก็ตามที่เราได้พบบ่อย ๆ และเจอบ่อย ๆ แล้ว จิตใจเราก็เบื่อหน่ายได้
ยกตัวอย่างว่า สมมุติให้คุณผู้หญิงลองเลือกภาพของผู้ชายที่หล่อและชื่นชอบที่สุดมาภาพหนึ่ง
ส่วนคุณผู้ชายก็เลือกภาพของผู้หญิงที่สวยและชื่นชอบที่สุดมาภาพหนึ่ง
จากนั้นก็ดูแต่ภาพนั้นไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวันนะครับ
โดยวันหนึ่งก็นั่งดูในเวลาเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ดูไปเลยครั้งละ ๒ ชั่วโมง
เท่ากับว่าดูวันละ ๘ ชั่วโมง หากดูไปสัก ๓๐ วัน รวมเป็น ๒๔๐ ชั่วโมง
(ไม่ต้องไปดูจริง ๆ นะครับ ผมแค่ให้ลองพิจารณาแบบสมมุติเท่านั้น)
ถามว่าจิตใจเราจะเบื่อไหม จะรู้สึกชื่นชอบที่สุดไหม
หรือจะบอกว่าไม่อยากมองภาพนี้เลย รู้สึกเอียนภาพนี้มาก ๆ

สิ่งอื่น ๆ ในโลก ก็ทำนองเดียวกันครับ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรามีเพลงที่ชอบที่สุด รู้สึกว่าเพลงนี้เพราะที่สุด
เราลองฟังไปเลยเปิดรวดเดียว ๕๐ รอบ ฟังต่อเนื่องไปทุกวันเป็นเวลา ๓ เดือน
ถามว่าเพลงนี้ยังจะเพราะที่สุดหรือว่าเราจะรู้สึกเอียนเพลงนี้กันแน่
หรือเราชอบอาหารชนิดนี้ที่สุด ก็ทานแต่อาหารชนิดนี้แหละ
ทานไปเลยทุกมื้อทุกวันต่อเนื่องหลาย ๆ เดือน โดยไม่ต้องทานอาหารชนิดอื่นเลยนะ
จากอาหารสุดโปรดก็จะกลายเป็นอาหารที่น่าเบื่อแล้ว

ถามว่าหากเป็นเช่นนี้ทำไมมนุษย์เราไม่เบื่อการชมการแข่งขันกีฬา
ไม่เบื่อการฟังเพลง ไม่เบื่อการทานอาหาร ไม่เบื่อการชมละคร ไม่เบื่อการชมภาพยนตร์ ฯลฯ
ก็เพราะว่ามนุษย์เราเปลี่ยนเนื้อหาของสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ให้มันซ้ำอยู่นาน
อย่างเช่นละครเรื่องนี้จบ ก็เปลี่ยนเรื่องใหม่มาให้ชม
สร้างละครเรื่องใหม่ให้ชมจนชักจะเบื่อแล้ว ก็หันไปหยิบเรื่องเก่ามาทำให้ชมใหม่อีก
โดยสภาพของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า
การที่มนุษย์เราพยายามดิ้นรนสร้างโน่นสร้างนี่เพื่อมาสร้างความสุขให้แก่ตนเอง

ส่วนตัวผมเองนั้นในสมัยเด็ก ๆ ก็เคยติดตามกีฬาฟุตบอลเหมือนกัน
แต่มาถึงจุดพลิกผันที่เลิกติดตามก็เมื่อคราวฟุตบอลโลกปี
1986
ในคราวที่ทีมอังกฤษพบกับทีมอาร์เจนติน่า
ซึ่งดีเอโก มาราโดนาใช้มือทำแฮนด์บอลเข้าประตูทำให้ทีมอาร์เจนติน่าชนะไป
2-1
หลังจากการแข่งขันคราวนั้นคนจำนวนมากตั้งชื่อมือที่ทำบอลเข้าประตูคราวนั้นว่า
Hand of God” หรือเรียกคะแนนสำหรับประตูนั้นว่า “Hand of God Goal
ผมเห็นดังนี้แล้วก็รู้สึกค้านในใจว่า นี่มันลูกฟาวล์และผิดกติกาไม่ใช่เหรอ
?
ทำไมคนจำนวนมากในโลกถึงมาชื่นชมล่ะ
? แทนที่จะตำหนิว่ามันผิดกติกานะ
หลังจากนั้นแล้ว ผมดูฟุตบอลอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็พบว่ามีทำฟาวล์กันเยอะ
กรรมการเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง หรือประเภทกองหน้าแกล้งล้มเพื่อให้ได้ลูกจุดโทษก็มี
กลายเป็นว่ากีฬาแข่งกันเพื่อชัยชนะ โดยไม่พบเห็นน้ำใจนักกีฬาแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่ง พี่ชายและผมเคยแบ่งทีมเล่นฟุตบอลกับหลานนะครับ
โดยพี่ชายและผมอยู่ทีมนึง และให้หลาน ๔ คนอยู่อีกทีมหนึ่ง
ทีมผมจำนวนคนน้อยกว่า แต่เป็นผู้ใหญ่กว่าก็ยังได้เปรียบครับ
แต่เราก็เล่นแบบอ่อย ๆ ให้แต้มสูสีกันนะครับ ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม
เมื่อเล่นไปได้ช่วงหนึ่งแล้ว ปรากฏว่าทีมเด็กทะเลาะกันเองเสียแล้ว
คนหนึ่งไปหาว่าอีกคนหนึ่งเล่นไม่ดี ทำให้เสียประตู และจะทำให้แพ้
ผมจึงถามเด็ก ๆ ว่าเราเล่นฟุตบอลนี้เพื่ออะไร เล่นเพื่อชนะเท่านั้นหรือ?
หากเราไม่ชนะแล้ว เราจะไม่สนุกหรือ?
หากไม่ชนะแล้วไม่สนุกล่ะก็ ก็จะต้องมีทีมแพ้ที่ไม่สนุก
มีทางไหมว่าเราเล่นกันแล้ว เราสนุกกันทั้ง ๒ ทีม
?

จากนั้น ก็สอนเด็ก ๆ ว่า เราเล่นกีฬานั้นก็เพื่อที่จะพัฒนา “น้ำใจนักกีฬา” ของเรา
ซึ่งก็คือ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย”
เราแพ้ ยอมรับว่าแพ้ เขาแพ้ อย่าไปดูถูกหรือซ้ำเติมเขา
เราชนะ รู้ว่าชนะ เขาชนะ อย่าไปโกรธหรืออิจฉาเขา แต่ให้ยินดีกับเขา
เขาทำเราโกรธ หรือทำเราเจ็บ รู้จักให้อภัยเขา
เราไปทำเขาโกรธ ไปทำเขาเจ็บ รู้จักขออภัยเขา ผมก็สอนหลานอย่างนี้นะครับ

แต่สิ่งที่ผมสอนหลานไปนั้น ไม่ได้มีปรากฏอยู่ในโลกของการกีฬาในปัจจุบันแล้ว
การแข่งขันทุกอย่างมุ่งแต่จะเอาชนะเท่านั้น แถมบวกด้วยการค้าและธุรกิจเข้ามาอีก
ก็ทำให้ยิ่งห่างไกลจากคำว่าน้ำใจนักกีฬามากขึ้นทุกที
อย่างกีฬาโอลิมปิก เอเชี่ยนเกมส์ หรือซีเกมส์เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าพอประเทศไหนเป็นเจ้าภาพแล้ว ก็จะได้เหรียญเยอะเป็นพิเศษ
ถามว่าทำไมถึงได้เหรียญเยอะ ก็ตอบว่าเขาก็มีวิธีการของเขานะครับ
นอกจากนี้ บางทีเรื่องทำนองว่ากีฬาแพ้ คนไม่แพ้ หรือกองเชียร์ไม่แพ้ก็มี
กีฬาจบแล้ว แต่กองเชียร์ก็ไปทะเลาะกันต่อในอินเตอร์เน็ตบ้าง นอกอินเตอร์เน็ตบ้าง
ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรนะครับ แข่งไปแล้วก็จบไปแล้ว ไม่ได้ถาวร
เดี๋ยวสักพักก็ต้องมาแข่งกันใหม่อีก ทีมเคยชนะ ก็แพ้ได้
ทีมเคยแพ้ ก็ชนะได้ ทุกอย่างก็ชั่วคราวทั้งนั้น ก็ไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องยึดถือถาวรอะไร
หากถามผมว่าเนื้อหาจริง ๆ ของกีฬาเหล่านี้คืออะไร
ผมเห็นว่าก็ไม่มีอะไรครับ ก็เป็นเรื่องที่มนุษย์มาพิสูจน์ว่าใครจะเก่งกว่าใคร ก็แค่นั้นแหละ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามไปไม่สิ้นสุด สร้างความสุขให้ได้เพียงชั่วคราว
ความสุขที่สั้นเพียงนี้ และเราต้องดิ้นรนขวนขวายหาไม่มีที่สิ้นสุดเช่นนี้
ควรจะมีคุณค่าเพียงไรสำหรับชีวิตเรา
หากเราได้พบสิ่งเหล่านี้มามากพอแล้ว เข้าใจถึงแก่นของสิ่งเหล่านี้แล้ว
เราควรพิจารณาว่า เราสนใจจะหาสิ่งที่มีแก่นสารมากกว่านี้ มีสาระมากกว่านี้
และมีการสิ้นสุดแห่งการดิ้นรนไขว่คว้าไหม
หรือเราพอใจที่จะดิ้นรนไขว่คว้าเดิม ๆ อย่างนี้ไปอย่างไม่มีสิ้นสุด



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP