จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

รักษาศีลห้าให้แข็งแรง (ตอนที่ ๒)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

080_destination


เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับญาติธรรมในเว็บบอร์ด
เกี่ยวกับเรื่องการรักษาศีล ซึ่งก็มีประเด็นที่น่าสนใจนะครับ
ในตอนแรกนั้น คำถามมีอยู่ว่า การจะรักษาศีล ๕ ให้สมบูรณ์นั้น
จะต้องมีการสมาทานศีลในแต่ละวันหรือเปล่า
?
หากไม่ได้สมาทานศีล แต่เราก็ไม่ได้ปฏิบัติตนผิดศีล จะถือว่าเราเป็นผู้มีศีลหรือไม่
?
และการสมาทานศีลที่ถูกต้องควรทำเวลาไหน
?

ในเรื่องข้อแตกต่างระหว่างการตั้งใจรักษาศีล กับการไม่ผิดศีลโดยไม่ได้ตั้งใจรักษาศีลนั้น
ผมได้เคยอธิบายไว้แล้วในฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔
ในตอนที่ชื่อว่า
รักษาศีลห้าให้แข็งแรง
http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=589:2011-05-04-08-33-02&catid=66:-desitinationdhamma&Itemid=59
ก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้โปรดย้อนไปอ่านในตอนเก่าได้นะครับ

ในคำถามเหล่านี้มีประเด็นน่าสนใจที่เห็นควรจะอธิบายเพิ่มเติม
คือการระลึกใจรักษาศีลกับการสวดบทสมาทานรักษาศีลนั้นแตกต่างกันนะครับ
โดยการระลึกใจว่าจะตั้งใจรักษาศีลนั้นใช้เวลาเพียงชั่วแวบเดียวเท่านั้น
ส่วนการสวดบทสมาทานรักษาศีลนั้นจะใช้เวลานานกว่า
บางท่านอาจจะสวดทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยด้วยก็มี ก็ใช้เวลามากขึ้นไปอีก

คำว่า สมาทาน แปลว่า รับเอา ถือเอา หรือถือปฏิบัติ
ฉะนั้น เพียงแค่ระลึกใจแวบเดียวว่าจะตั้งใจรักษาศีลเท่านั้น ก็ถือว่ารับเอาหรือถือเอาได้แล้ว
ส่วนที่สำคัญจริง ๆ ก็คือว่า รับเอาหรือถือเอาไว้แล้ว รักษาได้เพียงไรและแค่ไหน
ซึ่งการระลึกใจหรือสมาทานด้วยใจเพียงชั่วแวบเดียว แต่ได้พยายามรักษาจริงจังไปตลอด
ย่อมจะดีกว่าและเป็นประโยชน์กว่าสวดบทสมาทานศีลทั้งเช้ากลางวันเย็น แต่ไม่ได้ตั้งใจรักษา
อย่างบางท่านเข้าวัดไปทำบุญพร้อมทั้งสมาทานศีล แต่พอออกจากวัดปุ๊บ ก็ทำผิดศีลทันทีก็มี

หากถามต่อไปว่า แล้วการสวดบทสมาทานศีลมีประโยชน์อย่างไรบ้างไหม
ในเมื่อเพียงแค่ระลึกใจหรือสมาทานด้วยใจก็ถือว่าเป็นการตั้งใจรักษาศีลแล้ว
ตอบว่าการสวดบทสมาทานศีลนั้นก็มีประโยชน์ครับ
เพราะเป็นการระลึกใจที่นานกว่า เป็นอนุสติอย่างหนึ่งที่ระลึกถึงศีล
เป็นการช่วยฝึกสมาธิคล้าย ๆ กับการสวดมนต์ (และจะฝึกเจริญสติไปด้วยก็ได้)
และก็เป็นประโยชน์ในการสร้างกำลังใจที่จะรักษาศีล
แต่ทั้งนี้จะได้ประโยชน์เพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านไม่เหมือนกันนะครับ
เพราะคุณภาพของจิตใจและสมาธิของแต่ละท่านในระหว่างที่สวดนั้นไม่เหมือนกัน

บางท่านอาจจะบอกว่า ตนเองไม่มีเวลาสวดบทสมาทานรักษาศีลหรอก
ขอเพียงแค่ระลึกใจก็เพียงพอแล้ว เช่นนั้นก็ใช้ได้ และเป็นการรักษาศีลได้ด้วยเช่นกันครับ
แต่ก็ควรจะพิจารณาทบทวนด้วยว่าที่เราบอกว่าไม่มีเวลาจะสวดเพียงไม่กี่นาทีนี้
แล้วเรานำเวลาของเราไปใช้เพื่อทำอะไรบ้าง มีนำเวลาไปใช้ทำสิ่งไร้สาระบ้างไหม
เรามีเวลาไหว้พระ สวดมนต์ และปฏิบัติธรรมในรูปแบบในแต่ละวันบ้างไหม
หากเราบอกว่า เราไม่ได้สวดบทสมาทานรักษาศีลเพียงไม่กี่นาที
แต่ว่าเรายังแบ่งเวลาไหว้พระ สวดมนต์ และปฏิบัติธรรมในรูปแบบอยู่ทุกวัน อย่างนี้ก็ใช้ได้
หากเราบอกว่า เราไม่มีเวลาสวดบทสมาทานรักษาศีลเพียงไม่กี่นาที
และก็ไม่มีเวลาไหว้พระ สวดมนต์ และปฏิบัติธรรมในรูปแบบอีกด้วย
แต่กลับมีเวลาไปทำสิ่งไร้สาระอื่น ๆ อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้วครับ

ยังมีคำถามเพิ่มเติมอีกว่ากรณีที่ศีลขาดไปแล้ว ทำอย่างไรจึงจะเป็นการต่อศีลได้?
ในประเด็นนี้ ตอบว่ากรณีที่ศีลข้อไหนขาดไป หรือด่างพร้อยไป
ก็ถือว่าขาดและด่างพร้อยไปเฉพาะในข้อนั้น ๆ และเฉพาะในเวลานั้น ๆ เท่านั้น
โดยก็ถือว่าในเวลานั้น ๆ เรายังถือศีลในข้ออื่น ๆ ที่ไม่ขาด และไม่ด่างพร้อยอยู่
กรณีไม่ใช่ว่าเราผิดศีลข้อเดียวแล้วจะเท่ากับว่าศีลขาดทั้งหมด ๕ ข้อนะครับ
และเวลาที่ศีลข้อไหนขาดในเวลาใด ก็ถือว่าศีลข้อนั้นขาดในเวลานั้น แต่ไม่กระเทือนข้ออื่น
ให้เราเองมีสติรู้ทัน และมาระลึกใจหรือสมาทานที่จะรักษาศีลข้อที่ขาดนั้นอย่างเข้มแข็งต่อไป
เราไม่จำเป็นต้องไปพยายามต่อศีลนะครับ ศีลนั้นไม่ใช่รถไฟ ไม่ใช่เชือก ไม่ใช่เลโก้
ไม่มีความจำเป็นต้องไปพยายามต่อแต่อย่างใด
หากพลาดพลั้งหรือเผลอใจทำให้ศีลขาดลง ก็ให้ตั้งใจรักษาใหม่ให้ดีและให้สมบูรณ์ครับ

ประเด็นต่อมาคือว่า อาจจะมีบางท่านได้พิจารณาเรื่องรักษาศีล
แล้วเห็นว่าเป็นการยากเหลือเกินที่ตนเองจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ได้
จึงบอกว่าเช่นนี้ ตนเองขอเพียงแค่รักษาไม่ให้ศีลด่างพร้อยมากนักก็พอแล้ว
ส่วนว่าการรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้นก็รอเอาไว้ให้เป็นเรื่องของในอนาคตก็แล้วกัน
ในประเด็นนี้ขอแนะนำว่า แม้ว่าจะเป็นช่วงเริ่มต้นของเราก็ตาม
หรือแม้ว่าเราเองจะมีข้อจำกัดหรือความไม่สะดวกบางอย่างในชีวิตก็ตาม
แต่เราก็ควรตั้งใจและระลึกใจว่าจะรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อให้สมบูรณ์ไว้แต่แรก

โดยเราก็พยายามอย่างเต็มที่อย่างสุดความสามารถที่จะรักษาศีลไว้
ซึ่งหากในบางคราว เราเกิดศีลขาดไปบ้าง หรือศีลด่างพร้อยไปบ้าง
ก็ให้เรารู้ทันว่าศีลขาดหรือศีลด่างพร้อย
จากนั้น ก็ให้เราตั้งใจว่าจะทำให้ดีขึ้น พยายามให้มากขึ้น รักษาให้แข็งแรงขึ้น

การตั้งใจไว้ว่าจะรักษาศีลให้สมบูรณ์ตั้งแต่แรก แล้วอาจจะพลาดบกพร่องไปบ้าง
ยังจะดีและเป็นประโยชน์กว่าเริ่มต้นโดยตั้งใจว่าจะรักษาแบบกะพร่องกะแพร่ง
เพราะว่าเราจะได้อานิสงส์มากกว่า และมีโอกาสพัฒนาตนเองได้ดีกว่า
สมมุติว่าเราเปรียบเวลาที่เรารักษาศีลได้สมบูรณ์เป็นเวลาสีขาว
เปรียบเวลาที่เราทำศีลขาดเป็นเวลาสีดำ
และเปรียบเวลาที่เราทำศีลด่างพร้อยหรือศีลกะพร่องกะแพร่งเป็นเวลาสีเทา
หากเราเริ่มต้นโดยการฝึกตั้งใจว่าจะรักษาศีลอย่างสมบูรณ์แล้ว
ในแต่ละวันจะมีเวลาส่วนใหญ่ที่เรารักษาศีลได้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเวลาสีขาวอยู่มาก
อย่างเช่น เราตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว เดินทางไปทำงาน หรือไปเรียน
ตั้งแต่ตื่นนอนมาจนเดินทางไปถึงที่ทำงาน หรือไปเรียนนี้ จนกระทั่งระหว่างทำงานหรือเรียน
ถามว่าจะมีเหตุปัจจัยอะไรมาบังคับให้เราต้องทำผิดศีล ๕ หรือ
หากบอกว่าไม่มี และเราไม่เห็นความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องประพฤติผิดศีล ๕
ก็เท่ากับว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเราสามารถรักษาศีลสมบูรณ์ได้ เรามีเวลาสีขาวได้เยอะเลย

หากเราลองเทียบชีวิตเราในแต่ละวันนะครับ
จะพบว่าเวลาที่ทำผิดศีลนั้นน้อยกว่าเวลาที่ไม่ได้ทำผิดศีล
เว้นแต่จะทำอาชีพที่ผิดศีลด้วย ก็อาจจะมีเวลาที่ทำผิดศีลเยอะมาก
เช่น ทำงานโรงงานฆ่าสัตว์ เป็นบาร์เทนเดอร์ในร้านเหล้า หรือเป็นเจ้ามือในบ่อน เป็นต้น
แต่หากไม่ได้ทำอาชีพอะไรที่ extreme ขนาดนั้นแล้ว
ช่วงเวลาที่ผิดศีลในแต่ละวันนั้น ย่อมจะน้อยกว่าช่วงเวลาที่ไม่ผิดศีลแน่นอน
ยกตัวอย่างว่าคนเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งไปขาย เป็นต้น
ช่วงเวลาที่จับปลาหรือจับกุ้งจากบ่อนั้นย่อมจะมีไม่เยอะ
แต่เวลาส่วนมากจะเป็นเวลาที่ดูแลและให้อาหารปลาและกุ้งมากกว่า
คือไม่ใช่เวลาที่ได้ทำผิดศีลอะไร ซึ่งในเมื่อเรามีเวลาที่ไม่ผิดศีลเยอะกว่าเวลาที่ผิดศีลแล้ว
ในแต่ละวันของเรานั้น เราก็จะมีเวลาสีขาวมากกว่าเวลาสีดำและเวลาสีเทา

แต่หากเราเริ่มต้นด้วยการตั้งใจว่าจะรักษาศีลแบบกะพร่องกะแพร่งแล้ว
ในช่วงเวลาที่เราไม่ได้ผิดศีล ก็คือเรามีแค่เวลาสีเทา
และในช่วงเวลาที่เราผิดศีล ก็คือเรามีเวลาสีดำ
ก็จะกลายเป็นว่าทั้งวัน เรามีแต่เวลาสีดำและเวลาสีเทา โดยไม่ได้มีเวลาสีขาวบ้างเลย
จะเห็นได้ว่าเราพยายามเต็มที่เหมือนกัน แต่ตั้งใจและระลึกใจต่างกัน
จะได้สีเวลาออกมาไม่เท่ากันนะครับ เนื่องจากเจตนาในการทำกรรมที่แตกต่างกันนั่นเอง

นอกจากนี้ การตั้งใจที่จะรักษาศีลให้สมบูรณ์ตั้งแต่แรกนี้
จะช่วยให้เราสร้างสมอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นได้เร็วกว่าตั้งใจรักษาแบบกะพร่องกะแพร่ง
จริงอยู่ว่าในช่วงแรก ๆ ก็อาจจะมีศีลบางข้อที่ขาดหลุดลุ่ยกระจุยกระจายไปบ้าง
แต่ว่าเราจะปรับตัวได้เร็วกว่าครับ เพราะเราได้เห็นว่าศีลบางข้อบกพร่องไปจากที่ตั้งใจไว้
ได้เห็นว่าเรายังรักษาไม่ดีพอ ซึ่งเราก็จะได้พยายามพัฒนาตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
แต่หากเราเริ่มต้นด้วยการตั้งใจรักษาแบบกะพร่องกะแพร่งแล้ว
เราอาจจะเห็นว่าเราเองก็พอใช้ได้นี่นา เราทำได้ตามที่ตั้งใจไว้เลย
ผิดศีลไปบ้าง ศีลกระจุยกระจายไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร ก็เราคาดหวังไว้แค่นี้เองแหละ
การปล่อยให้รู้สึกเช่นนี้เท่ากับปล่อยให้ตนเองพอใจและคุ้นเคยกับอกุศลนะครับ
แทนที่ว่าศีลจะแข็งแรงมากขึ้นในอนาคต
อาจจะทำให้คุ้นเคยมากขึ้นกับการที่ศีลด่างพร้อยและการผิดศีล
แล้วกลับจะทำให้เรายอมให้ศีลด่างพร้อยบ่อยขึ้น และผิดศีลมากขึ้นครับ
เสมือนกับว่าเราทำสิ่งไหนบ่อย ๆ ก็จะคุ้นเคย และชินชาในสิ่งนั้น ๆ

ประเด็นสุดท้ายนะครับ คือบางท่านอาจจะมองว่าการรักษาศีลนั้นยากเหลือเกิน
เพราะศีลมีหลายข้อ โดยเราสามารถเผลอพลาดพลั้งได้บ่อยมากในแต่ละวัน
จริง ๆ แล้วการรักษาศีลนั้นไม่ยากขนาดนั้นหรอกครับ
โดยวิธีการที่สำคัญก็คือว่า ขอให้เราฝึกหัดมี สติ
ยกตัวอย่างว่า สมมุติเรามีวัวอยู่ ๕ ตัวที่ต้องดูแลในสวนของเรา
หากเราคอยระวังว่าวัวเราจะแอบหนีออกไปนอกสวนไปกินพืชผลของสวนคนอื่นข้างเคียง
โดยเราก็คอยเฝ้าระวังวัวโดยใช้วิธีเดินตามดูวัวทั้ง ๕ ตัวนี้
การที่เราเดินตามดูวัว ๕ ตัวตลอดเวลาทั้งวัน มันก็เหนื่อยและยากเป็นธรรมดาครับ
มีอีกวิธีการหนึ่งคือ เราไม่ต้องไปเดินตามดูวัวทั้ง ๕ ครับ
แต่เราจับวัว ๕ ตัวนี้มาผูกไว้กับเสาต้นหนึ่ง
แล้วเราก็ยืนเฝ้าอยู่ตรงเสา หากวัวตัวไหนทำเชือกขาดและจะหนีไปจากสวน
เราก็จะเห็นได้ง่าย และจับวัวตัวนั้นไว้ได้ เพราะวัวทั้ง ๕ ตัวอยู่ในสายตาเราตลอด

อธิบายว่า วัว ๕ ตัวนี้ก็คือ ศีล ๕ ข้อ
เสาก็คือ ใจและ คนเฝ้าก็คือ สติครับ
ก่อนที่จะทำผิดศีลใด ๆ ก็ตาม ก็เริ่มต้นจากที่ใจเราทั้งหมด
หากใจเราไม่คิดจะพูดหรือทำผิดศีลแล้ว วาจาและกายมันก็ไม่มีทางพูดหรือทำผิดไปได้
เพราะว่ามันไม่ได้มีเจตนาอยู่แต่แรก (หากไม่ได้เจตนากระทำกรรม ก็ไม่เรียกว่าผิดศีล)
สิ่งที่จะทำให้เราสามารถรักษาศีลได้ง่าย ๆ คือ การฝึกมี สติที่จะรู้ ใจเราเอง
โดยวิธีการฝึกหัดนั้นก็ไม่ยาก คือหัดรู้ใจตนเองในปัจจุบันขณะว่ารู้สึกอย่างไร
ใจเป็นสุขให้รู้ ใจเป็นทุกข์ให้รู้ ใจเฉย ๆ ให้รู้
ใจโกรธให้รู้ ใจโลภให้รู้ ใจหลงไปคิดให้รู้ ดีใจให้รู้ เสียใจให้รู้ ฯลฯ
อะไรเกิดขึ้นภายในใจให้หัดรู้ไปตามจริง รู้ไปอย่างเป็นกลาง โดยไม่เข้าไปดัดแปลงมัน
ก็จะเป็นการที่เราฝึกนำวัวมาผูกไว้ที่เสา และมีคนเฝ้าดูอยู่
ซึ่งก็จะช่วยให้รักษาศีลได้ง่ายขึ้นครับ
แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่า หากเรายังอินทรีย์อ่อนอยู่แล้ว
บางทีก็เห็น ๆ ล่ะครับว่าวัวกำลังกัดเชือกขาด และจะหลุดหนีไปแล้ว
แต่วัวมันแรงเยอะ เราดึงเชือกไว้ไม่ไหว
หรือบางทีคนเฝ้าเองก็เผลอ คือว่าเราเผลอขาดสตินั่นเอง
วัวก็อาจจะหลุดออกไปบ้างในบางคราว
ก็ต้องทำใจครับ ไปตามวัวกลับมา และพยายามตั้งใจใหม่ให้ดีขึ้น
แล้ววัวก็จะหลุดยากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยก็ขึ้นอยู่กับเราฝึกหัดนั่นแหละ
การที่เรารักษาศีลโดยวิธีนี้จะง่ายกว่าวิธีเราเดินไล่ตามวัว
หากเรารักษาศีลด้วยวิธีเดินไล่ตามวัวนะครับ
บางที ตัวโน้นหลุดออกไป เราไปวิ่งตามกลับมา
อ้าว สองตัวนี้หลุดหายไปไหนแล้ว เราก็ไปตามอีกสองตัวกลับมา
พอตามกลับมาได้แล้ว โอ้ อีกสามตัวที่เหลือหายไปหมดแล้ว
อย่างนี้ก็ลำบากแน่นอนครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP