สารส่องใจ Enlightenment

ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ

ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนที่ ๑) (คลิก)


ย่างเข้าสู่มัชฌิมยามคือยามกลาง พระองค์ก็มีสติควบคุมจิต
น้อมเข้ามาพิจารณาลมหายใจเหมือนเดิม ไม่ทิ้งหลักเดิม

ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขารทั้งหลาย
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
รู้ใจของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
รู้ใจของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
รู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท มีสติปัญญาหมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณา
ให้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค


เมื่อสติทันจิต ควบคุมจิตให้อยู่ มีกำลังกว่าจิต
จิตของท่านก็ค่อยสงบไปตามลำดับๆ
ความสุขก็ปรากฏขึ้นตามลำดับๆ แห่งความสงบ
ผลที่สุดจิตของท่านลงถึงฐีติจิตเหมือนเดิม ที่เคยรวมรู้รวมมา
เข้าไปพักอยู่เฉพาะจิตล้วนๆ ไม่มีอารมณ์อะไรเจือปน
และไม่มีเวทนา ความเจ็บปวด เสียดแทงเข้าไปรบกวนจิตประเภทนั้น
เพราะจิตประเภทนั้นเป็นจิตที่ว่าละเอียด สุขุม วางธาตุวางขันธ์ได้

ความสุขในฐีติจิตนั้นประมาณมิได้
เป็นความสุขที่หาประมาณไม่ได้ เป็นความสุขที่ว่าละเอียดยิ่งนัก
ผู้เข้าถึงฐีติจิตแล้ว จึงจะรู้รสความสุขแห่งฐีติจิตนั้นว่าเป็นอย่างไร
แต่ผู้ไม่เข้าถึงแล้วหารู้ได้ไม่

เมื่อจิตของท่านรวมลงถึงฐีติจิต จิตดั้งเดิมแล้ว
ซึ่งเข้าไปพักอยู่เฉพาะจิตล้วนๆ ท่านก็มีสติปัญญารอบรู้จิตของท่านอยู่
ว่าจิตของเรามารวมพักเอากำลังเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้พ้นทุกข์
พระองค์ไม่รบกวนจิต เป็นแต่มีสติปัญญารอบรู้จิตที่รวมอยู่และไม่ถอนจิต
ปล่อยให้จิตถอนเอง ตามที่เป็นมา

เมื่อจิตของท่านรวมพอประมาณแล้ว
ต่อแต่นั้นในมัชฌิมยามคือยามกลางนี้ จิตของท่านก็พลิกขณะ
คือถอนจากการรวม แต่สติปัญญาของท่านบริบูรณ์ไม่บกพร่อง
เมื่อจิตของท่านถอนจากการรวมขึ้นมาบ้างเล็กน้อย
ตอนนี้พระองค์ได้ญาณที่สอง เรียกว่า จุตูปปาตญาณ
คือรู้จักการจุติแปรผันของสัตว์อื่นได้ไม่มีประมาณ
ว่าสัตว์นี้ตายจากที่นี้ไปเกิดที่นั้น และไปเกิดเป็นอย่างนั้น มีสุขมีทุกข์อย่างนั้น
จะไปตกนรก หรือเป็นเปรตเป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์
เป็นพวกเทวบุตรเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นยมยักษ์ เป็นครุฑเป็นนาค
พระองค์ก็รู้ได้ มีฐานะอย่างนั้น ดีชั่วอย่างนั้น
มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนั้น อาการอย่างนั้น อายุอย่างนั้น

นี่จุตูปปาตญาณ พระองค์รู้จักการจุติแปรผันของสัตว์
ว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็ต้องเกิดอีก
และการจุติแปรผันตายๆ เกิดๆ ของสัตว์ก็ไม่มีที่สิ้นสุด
หาที่หยุดที่ยั้งไม่ได้ หาต้นหาปลายไม่ได้
และพระองค์ก็มาพิจารณาว่า อะไรเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
ให้สัตว์ทั้งหลายเทียวจุติ แปรผัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่แล้วไม่เล่า
การที่สัตว์ทั้งหลายจะท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยทีเดียว จะเกิดโดยลำพังหรือลอยๆ โดยลำพังด้วยตนเองย่อมเป็นไม่ได้
ต้องมีเหตุมีปัจจัย ให้เกิด ให้แก่ ให้เจ็บ ให้ตาย
คือให้ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องอนาคตข้างหน้าต่อไป
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติจิต ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่แล้วไม่รอด ต้องมีเหตุมีปัจจัย
พระองค์ก็มาพิจารณาค้นหาตัวเหตุตัวปัจจัยอีกเหมือนเดิม รู้ตัวเหตุตัวปัจจัย

เช่นปฐมยาม พระองค์ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขาร
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดรู้ดูเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
คือให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
มี วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดให้รู้ดูเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย สาวหาเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
ให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท หมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
หมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้ในสัจธรรมทั้ง ๔ คือให้รู้ว่านี่ทุกข์ คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ เป็นต้น
ให้รู้ว่านี่เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัวเหตุตัวปัจจัย ได้แก่ตัวสมุทัย
คือตัณหาซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย ให้เกิดทุกข์ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด
ค้นหาพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา ว่าอันนี้คือธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ค้นคว้าพินิจพิจารณาให้รู้ให้เห็นว่า นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ดังนี้

ตกลงว่าในคืนวันนั้นตั้งแต่ปฐมยามคือยามต้น
จนตลอดถึงมัชฌิมยามคือยามกลาง
พระองค์ได้ค้นดูให้รู้อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์
ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์
อย่างเต็มภูมิอย่างเต็มที่ และพระองค์พิจารณากำหนดรู้ว่า
อันสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ไม่รู้ไม่แล้ว ไม่สิ้นไม่สุด ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น
ก็เพราะเหตุและปัจจัย คือตัวกัมมวัฏฏ กิเลสวัฏฏ
ได้แก่ตัวสมุทัย คือตัณหา ความอยากนี้นี่เอง เป็นตัวเหตุตัวปัจจัย

เป็นตัวกระแสพัดสัตว์ทั้งหลาย ให้เที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ตัวสมุทัยคือตัณหานี้ เป็นกระแสของภวังค์คือภพ
พัดสัตว์ทั้งหลายให้เกิดอยู่ใน กามภพ รูปภพ อรูปภพ
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด

นี่ถ้าหากไม่ตัดเสียซึ่งกระแสของภวังค์คือภพ
ถ้าไม่ทำกระแสของภวังค์คือภพตัณหานี้ ให้สิ้นไป
ถ้าไม่ดับตัณหานี้โดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
ถ้าไม่ละไม่วางไม่ปล่อย ไม่สละสลัดตัดขาดจากตัณหานี้
แล้วเมื่อไหร่ทุกข์ทั้งหลาย คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติจิต ๗ ในสัตตาวาส ๙
ก็ไม่หยุดไม่ยั้ง เพราะเหตุแห่งกระแสตัวนี้
ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย ให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ได้แก่ตัณหาคือความอยากนี้ เป็นกระแสพัดสัตว์ทั้งหลาย
ให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในโลก ไม่มีที่สิ้นสุด ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป

นี่พระองค์รู้ในยามกลาง ถ้าหากยังมีเหตุมีปัจจัยอยู่ตราบใด
การที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ของสัตว์ทั้งหลาย ก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็น ปัจจยาการ เป็นอาการสืบเนื่องแห่งภพแห่งชาติไม่มีที่สิ้นสุด
หมุนกันอยู่อย่างนี้อยู่ในรอบเก่า
จึงเรียกว่าโลกกลม เป็นวัฏวน เป็นวัฏจักร หรือเป็นสังสารจักร
สังสารจักรก็คือตัวเหตุตัวปัจจัย ตัวสมุทัยคือตัณหานี้แล
ความไม่รู้ ตัวนี้ว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านก็เรียกว่า อวิชชา
เป็นผู้หลงจึงเป็นปัจจยาการ เป็นอาการสืบเนื่องต่อๆ ไป

ดังท่านแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
คือปฏิสนธิวิญญาณที่จะต้องถือเอากำเนิด ๔ ในคติ ๕
ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙ นั้นเอง
วิญญาณเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป คือ ขันธ์ ๕
นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะภายในและภายนอก
ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส คือสิ่งที่มาถูกต้อง
อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ คือ สิ่งที่มาถูกต้อง
ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา คือ ความเสวย ได้แก่ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ ความอยาก ความดิ้นรน
ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น
ว่านั่นเป็นเรา ว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ ว่านั้นเป็นตนของเรา
อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือ ความหยั่งลงถือเอา
คือ ถือเอาในคติต่างๆ ในกำเนิดต่างๆ ในภพต่างๆ นั้นนั่นเอง
ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือ ความปรากฏขึ้นซึ่งรูปและนาม คือ ขันธ์ ๕
ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บ มรณะ ความตาย
ความโศกความเศร้า ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความเสียใจ ความคับแค้นใจ

ทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้
ซึ่งมีอวิชชาเป็นต้นเหตุที่ไม่รู้จริง จึงเป็นปัจจยาการ
ประมวลมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย กำเนิดและภพทั้งหลาย
เป็นอาการที่สืบเนื่องกันไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนลูกโซ่นี้ ถ้าไม่รู้
แต่ถ้ารู้ตัวเหตุตัวปัจจัย คือตัวสมุทัย ตัณหา
คือความอยากนี้ว่าเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยแล้ว
ก็เป็น วิชชา ความรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว
ก็ตัดอวิชชาความมืดออกได้เท่านั้น
แสงสว่าง คือ ปัญญา ก็เกิดขึ้นเท่านั้นเอง
นั่น ดับเสียได้ซึ่งตัวเหตุตัวปัจจัย
เพราะวิชชาเกิดขึ้นแล้ว อวิชชาก็ดับไป ดังนี้
นี้เป็นมัชฌิมยามคือยามกลาง ค้นคว้าใน ปฏิจจสมุปบาท คือ ปัจจยาการ
มิฉะนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากจะดับ จะละ จะวางเท่านั้น
ซึ่งตัวเหตุตัวปัจจัย อันเป็นธรรมให้หมุนติ้วอยู่ในวัฏสงสาร นี้เป็นยามกลาง


sathu2 sathu2 sathu2

 

-โปรดติดตาม “ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนจบ)” ในฉบับหน้า-


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ชีวประวัติ ปฏิปทา และธรรมเทศนา
วัดเจติยาคีรีวิหาร จัดพิมพ์ถวายเป็นอนุสรณ์ในวโรกาสเสด็จพระราชทานเพลิง
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ. หนองคาย
วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๔



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP