สารส่องใจ Enlightenment

ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ


วันนี้จะแสดงพระประวัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เป็นบางตอน
จะขอย้อนแสดงตอนเมื่อวันพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือในวันเพ็ญเดือน ๖
ตอนเช้าพระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา
พระองค์เสวยเสร็จแล้ว ตอนกลางวันได้เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
มุ่งพระพักตร์คือหน้า เข้าสู้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งอยู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
เมื่อถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้ว
เวลากลางวัน พระองค์ก็ปรารภความพากความเพียร ตามสมณวิสัย
วิเวก สงัด อยู่พระองค์เดียว มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งภาวนาบ้าง
ในอิริยาบถทั้งสี่ ตามสมควรแก่สมณวิสัย

พอเวลาใกล้ค่ำ มีโสตถิยะพราหมณ์สองคนพี่น้องได้เกี่ยวหญ้าคา เดินผ่านมาที่นั้น
เห็นพระองค์แล้วเกิดความเชื่อความเลื่อมใส
จึงน้อมเอาหญ้าคานั้นเข้าไปถวายพระองค์
พระองค์รับหญ้าคาของโสตถิยะพราหมณ์ แล้วก็ม้วนเป็นบัลลังก์สำหรับรองประทับที่นั่ง
ครั้นเวลาพลบค่ำ พระองค์เสด็จเข้าสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์
แล้วก็ประทับนั่งที่บัลลังก์หญ้าคา
ผินพระพักตร์คือหน้าสู่บูรพาทิศคือทิศตะวันออก
ผินพระปฤษฎางค์คือหลังเข้าสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์
นั่งขัดบัลลังก์สมาธิ คือเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าคือใจ

ในขณะนั้นพระองค์ได้อธิษฐานจิต น้อมลงไปว่า
การนั่งครั้งนี้ของเรา เป็นการนั่งครั้งสุดท้ายแห่งชีวิตปัจจุบัน
ถ้าหากเราไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
คือเป็นพระพุทธเจ้าแล้วในครั้งนี้
แม้เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก จะหลุดลุ่ยเปื่อยผุพังไปจากกันก็ตามที
เลือดจะเหือดแห้งไปก็ตามเถิด
หากเราไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในการนั่งครั้งนี้แล้ว
จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลยเป็นอันขาด

แพ้แล้วตายดีกว่า เป็นอยู่ไม่ดีเลย ดังนี้
พระองค์ได้ตั้งพระหฤทัยหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ไม่หวั่นไหวต่อทุกขเวทนา
หรือต่อมรณภัยคือความตาย ตั้งจิตให้กล้าหาญ

แล้วพระองค์ได้ย้อนระลึกถึงเรื่องอดีต
ที่ครั้งเมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์คือเป็นเด็กอยู่
สมัยนั้นพระบิดาและพระญาติทั้งหลายพาพระองค์ไปแรกนาขวัญคือแรกนาใหม่
เล่นนักขัตฤกษ์ที่ทุ่งนา แล้ววางพระองค์ไว้ผู้เดียวที่ร่มหว้าสีชมพู*
พระบิดาและพระญาติทั้งหลายได้พากันไปเล่นนักขัตฤกษ์ที่ทุ่งนาอย่างสนุกสนาน
จนลืมพระองค์ ลืมเวลา ปล่อยให้พระองค์อยู่ผู้เดียวที่ร่มหว้าสีชมพู
ในขณะนั้นพระองค์ได้นั่งขัดบังลังก์สมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าคือใจ
แล้วพระองค์มีสติมากำหนดลมหายใจเข้าออก
คือมีสติให้รู้ จิตของท่านอยู่กับลมหายใจเข้าออกทุกประโยค


ข้อนี้ขอเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่าย จิตมนุษย์เหมือนกับสัตว์คือลิง
สติเปรียบเหมือนเชือก ลมเปรียบเหมือนหลักหรือตอไม้
อันลิงเป็นสัตว์ที่คะนอง ไม่อยู่สงบได้
ต้องการอยากจะให้ลิงอยู่กับที่หรือยู่สงบ
ต้องเอาเชือกผูกคอลิง แล้วผูกใส่หลักใส่ตอไว้
แม้ลิงนั้นจะดิ้นรนกระเสือกกระสนไปสักเท่าไรๆ
ถ้าเชือกไม่ขาด หลักไม่ถอน ลิงนั้นก็ไปไม่ได้
อันนี้แหละ ฉันใด ลมหายใจเข้าออกเปรียบเหมือนหลักที่ปักไว้
สติเหมือนเชือกผูกอยู่ จิตที่ซุกซนคึกคะนองก็ไปไหนไม่ได้
เหมือนลิงที่ถูกเชือกผูกอยู่กับหลัก ฉันนั้น


พระองค์เอาสติควบคุมจิตมิให้ฟุ้งซ่านเตร็ดเตร่ไปจากลมหายใจ
เอาสติควบคุมจิต ประคับประคองจิตให้อยู่กับลมหายใจ
ลมหายใจเข้าออก ยาวสั้น หยาบละเอียด ก็มีสติรู้
จิตอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
ในสมัยนั้น จิตของท่านก็ค่อยสงบไปตามลำดับ ลำดับ
เพราะสติมีกำลังกว่าจิต ควบคุมจิต ประคับประคองจิตอยู่ มิได้พลั้งเผลอ
ผลที่สุดจิตของท่านก็ลงถึงอัปปนาจิต หรืออัปปนาสมาธิ หรือฐีติจิต คือจิตดั้งเดิม
ลงไปพักอยู่เฉพาะจิตล้วนๆ ไม่มีอารมณ์อะไรเจือปน
แม้ทุกขเวทนา ความเจ็บปวดรวดร้าว ไม่มีเข้าไปเสียดแทงในจิตประเภทนั้น
เพราะจิตประเภทนั้นเป็นจิตที่ละเอียด สุขุมมาก
เลยเวทนาไปแล้ว ละเอียดกว่าเวทนา ละเอียดกว่าอารมณ์ทั้งหมด
พระองค์เสวยความสุขในฐีติจิตขณะนั้นอย่างสบายๆ เลย
ไม่มีเวทนา ความเจ็บปวด เสียดแทงเข้าไปรบกวนจิตประเภทนั้น


นี้พระองค์ระลึกถึงเรื่องอดีตที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่
ได้เข้าฌานหรือเข้าสมาธิในสมัยนั้น พระองค์ระลึกได้ว่าเป็นสิ่งที่สบายยิ่งนัก
แล้วพระองค์จึงมาพิจารณาเรื่องนั้น ว่าวิธีนั้นชะรอยจะเป็นทางตรัสรู้กระมัง
ดังนี้แล้ว พระองค์จึงเอาวิธีนั้นมาประพฤติปฏิบัติทดสอบดูในคืนวันนั้น
โดยได้อธิษฐานจิตให้มั่น


พระองค์ได้ตั้งอิทธิบาททั้งสี่ไว้เป็นประธานของสังขารทั้งหลาย
คือเป็นใหญ่กว่าสังขารทั้งหลาย ไม่มีจิตหวั่นไหวต่อสังขารธรรม
คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ตั้งอิทธิบาททั้งสี่ไว้เป็นประธานของสังขารทั้งหลาย
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
รู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
แม้ลมจะออกยาวเข้ายาว ออกสั้นเข้าสั้น อย่างไหนๆ ก็ตาม
พระองค์ไม่ได้บังคับลม
เป็นแต่มีสติปัญญารู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยคเท่านั้น
วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติ
รู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้ใจของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท มีสติปัญญารู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค ดังนี้


เมื่อสติมีกำลังกว่าจิต ควบคุมจิตได้แล้ว ควบคุมจิตให้อยู่
จิตนั้นเมื่อมีสติควบคุมอยู่ มีกำลังมากกว่า ไม่สามารถที่จะเล็ดลอดไปจากสติได้
ต่อแต่นั้นจิตของท่านก็ค่อยสงบไปตามลำดับๆ
ความสุขก็ปรากฏเกิดขึ้นตามลำดับๆ แห่งความสงบของจิต
ลมก็ละเอียดเข้าไปตามลำดับๆ แห่งความสงบของจิต
ผลที่สุดจิตของท่านก็รวมใหญ่ ลงถึงฐีติจิต หรืออัปปนาจิต หรืออัปปนาสมาธิ
เข้าไปรวมเฉพาะจิตล้วนๆ ไม่มีนิมิตอารมณ์อะไรเจือปน
เวทนา ความเจ็บปวดรวดร้าว ไม่มีเข้าไปเสียดแทงในจิตประเภทนั้น
เพราะจิตประเภทนั้นเป็นจิตที่ละเอียดสุขุมมาก
เลยเวทนาไปแล้ว ไม่มีเวทนาเข้าไปรบกวนจิตประเภทนั้น
แม้แต่ภายในอารมณ์ของจิตก็ไม่มี จิตเข้าไปรวมเลื่อมประภัสสรอยู่อย่างนั้น


ตอนนี้พระองค์ก็มีสติทุกระยะ ไม่ขาดสติปัญญา
รอบรู้อยู่ว่าจิตของเรามารวมมาพักอยู่อย่างนี้
และพระองค์ก็พิจารณาตรวจตราดูในจิตประเภทนี้
ว่า จิตของเราที่มารวมอยู่นี้ เป็นแต่มาพักอยู่
ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

พระองค์ทำความรอบรู้ในจิตที่รวมอยู่ ไม่รบกวนจิต ไม่ถอนจิต
เป็นแต่มีสติรอบรู้อยู่เท่านั้น เมื่อจิตของท่านรวมพอประมาณ
จิตของท่านก็พลิกขณะจากการรวม พลิกขณะขึ้นมาบ้างนิดหน่อย
จะว่ามาอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิก็ว่า
เมื่อจิตของท่านพลิกจากการรวมขึ้นมานิดหน่อยเท่านั้นก็ตาม
แต่สติปัญญาของท่านบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง
รอบรู้อยู่กับจิต กำกับอยู่กับจิต ควบคุมอยู่กับจิต


ตอนนี้เมื่อจิตของท่านถอนขึ้นมาจากฐีติจิตบ้างเล็กน้อยแล้ว
ท่านก็ได้ญาณที่หนึ่ง เรียกว่าปุพเพนิวาสานุสติญาณ
คือ รู้จักการระลึกถึงชาติหนหลังได้ ตั้งแต่หนึ่งชาติจนถึงเอนกชาติ หาประมาณมิได้
ในการท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายของพระองค์และสัตว์อื่นไม่มีประมาณ
นี้เป็นตอนปฐมยาม ยามต้น ยามแรก
ความรู้ ระลึกชาติได้นี้ หาประมาณมิได้ในชาติของพระองค์และสัตว์อื่น
ที่ท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ
ในวิญญาณฐีติจิต ๗ ในสัตตาวาส ๙ ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
แม้จะเกิดในนรก เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และมนุษย์
พวกเทพเจ้า เหล่าอทิสสมานกายก็ตาม พระองค์ก็รู้ ในญาณชนิดนี้
เรื่องอดีตชาติหนหลังที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด หาประมาณมิได้
นี้แสดงว่าพระองค์รู้หมดทั้งนรกและสวรรค์
ที่พระองค์ได้ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ผ่านมา


และพระองค์ก็ตรวจตราดูญาณประเภทนี้ ที่ระลึกชาติหนหลังได้นี้
ว่าไม่ใช่ความรู้หรือญาณความรู้เป็นเหตุให้ตรัสรู้เพื่อความพ้นทุกข์ไปได้
เป็นแต่รู้ตามอาการของสังขารที่เทียวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องอดีตเท่านั้น หาต้นหาปลายมิได้
ญาณความรู้ประเภทนี้ ไม่ใช่ความรู้เพื่อเป็นเหตุให้ตรัสรู้พ้นไปจากทุกข์ได้


เมื่อพระองค์ได้ญาณระลึกชาติหนหลังได้ ของพระองค์และของสัตว์อื่น
ที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ไม่มีที่สิ้นสุด
เรื่องอดีตชาติหนหลัง เป็นเหตุให้พระองค์ได้เกิดความสลดรันทด ทอดใจใหญ่
เกิดความสังเวชใจ จนเป็นเหตุให้น้ำพระเนตรคือน้ำตาของท่านไหลออกทีเดียว
เพราะเกิดความสลดสังเวช สงสารชาติของตนและของสัตว์อื่น
ที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
ในเรื่องอดีตชาติหลังๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
และเกิดความกลัวสยดสยองขนพองสยองเกล้า ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องอดีต
เท่ากับว่าพระองค์ได้เห็นขุมนรกที่พระองค์ได้ตกหมกไหม้มาแล้ว ผ่านมาแล้ว
เกิดความเกรง ความกลัว เกิดความเบื่อหน่ายในชาติ คือความเกิด
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ในเรื่องอดีตหนหลังชาติหลัง พิจารณาไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด


แล้วพระองค์ก็ตรวจตราดูว่าความรู้คือญาณประเภทนี้ ก็ไม่ใช่ทางตรัสรู้ให้พ้นทุกข์ได้
ต่อจากนั้นพระองค์จึงน้อมเข้ามา
โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณาสาวหาเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย

ว่าสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในเรื่องอดีตก็ดี อนาคตและปัจจุบันนี้ก็ดี ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น
ต้องมีเหตุมีปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
สัตว์ทั้งหลายจะท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้
พระองค์ค้นหาตัวเหตุ ตัวปัจจัยที่ให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
เมื่อพระองค์พิจารณาค้นคว้าดูก็รู้
ตัวเหตุตัวปัจจัยนี้คือกัมมวัฏฏ กิเลสวัฏฏ
ได้แก่ตัวสมุทัย คือตัณหา ความอยากนี้นี่เอง
เป็นตัวเหตุตัวปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด

แท้จริงสัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในกำเนิด๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น ก็ได้แก่ขันธ์ ๕
คือรูปนามนี้นี่เอง ท่องเที่ยว เกิดแล้วเกิดเล่า
แม้จะไปตกนรก เป็นเปรต เป็นผี เป็นอสุรกาย เป็นมนุษย์ เป็นพวกเทวบุตร เทวดา
เป็นพระอินทร์ พระพรหม เป็นพระอิศวร พระนารายณ์ ท้าวมหาพรหมก็ดี
ก็รูปนามนี้เอง มิใช่อื่น คือรูปนามขันธ์ ๕ นี้เองเป็นสัตว์ทั้งหลาย
แต่รูปนามคือขันธ์ ๕ นี้ที่จะท่องเที่ยวเกิดแล้วเกิดเล่า ในคติในภพในกำเนิดต่างๆ นั้น
ก็เพราะอาศัยตัวเหตุตัวปัจจัยนี้คือกัมมวัฏฏ กิเลสวัฏฏ
ได้แก่ตัวสมุทัยคือตัณหานี้


ตัวสมุทัยคือตัณหาความอยากนี้นี่แหละ เป็นตัวเหตุให้เกิดภพอีก
ท่านจึงชี้หน้าตาตัวตัณหา และจี้ตัวตัณหาว่า
ยายงฺตณฺหา ตัณหาคือความอยากนี้ใด
โปโนพฺวิกา เป็นเหตุให้ก่อภพอีก คือให้เกิดในกำเนิด ๔ ในคติ ๕
ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
เพราะเหตุแห่งตัณหา คือความอยากนี้

นนฺทิ คือความยินดี ราค คือความกำหนัด
ตตฺตรตตฺตรา ภินนฺทินี คือความเพลิดเพลิน ลุ่มหลง ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม
ตามความรักความกำหนัด ตามความยินดีที่มีอยู่
กล่าวคือความอยากในกามารมณ์
ความรัก ความใคร่ ความพอใจ ในกามารมณ์
ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ
ความทะเยอทะยาน อยากเป็นโน่นเป็นนี่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สุดแท้แต่ตนมีความอยากอย่างไหน
ก็มีความทะเยอทะยาน ไปตามความอยากของตนที่มีอยู่
วิภวตณฺหา คือความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่พอใจ
เช่น มีลาภ ไม่อยากให้เสื่อมลาภ มียศ ไม่อยากให้เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ ไม่อยากให้มีนินทา มีสุข ไม่อยากให้มีทุกข์
มีความเกิดมาแล้วไม่อยากให้มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เหล่านี้เป็นต้น


ตัณหาคือความอยากนี้แล เป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
ให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด
ความไม่รู้ตัวนี้ คือความไม่รู้ตัวเหตุตัวปัจจัยนี้ ท่านก็เรียกว่าอวิชชา
เมื่อเป็นผู้หลงไม่รู้ตัวเหตุตัวปัจจัย มันจึงเป็นปัจจยาการ
เป็นอาการที่สืบเนื่องแห่งวัฏฏะ
เป็นอาการสืบเนื่องแห่งทุกข์ทั้งหลาย
เป็นอาการที่ประมวลมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย
เป็นอาการที่ประมวลมาสืบเนื่อง ให้เทียวเกิด แก่ เจ็บ ตาย

ในกำเนิด๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด
นี้พระองค์รู้ด้วยพระปรีชาปัญญาอันละเอียดอย่างนี้ ในปฐมยาม

ตกลงว่าในปฐมยามนั้นพระองค์รู้อริยสัจ ๔
คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์
รู้ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์

และพิจารณาเหตุปัจจัยอันเป็นตัวเหตุ เป็นธรรมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นของที่น่าพิลึกพึงกลัวยิ่งนัก นี้ในปฐมยาม


(โปรดติดตาม “ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนที่ ๒)” ในฉบับหน้า)


sathu2 sathu2 sathu2


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ชีวประวัติ ปฏิปทา และธรรมเทศนา
วัดเจติยาคีรีวิหาร จัดพิมพ์ถวายเป็นอนุสรณ์ในวโรกาสเสด็จพระราชทานเพลิง
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ. หนองคาย
วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๔


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

หมายเหตุ ต้นหว้ามีชื่อในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ชมฺพุหรือต้นชมพู
(อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ "หว้า ต้นไม้แห่งปฐมฌานของเจ้าชายสิทธัตถะ"
(คลิก) http://tinyurl.com/7oqu7z6)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP