จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ผักที่เราเก็บไว้


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


076_destination


ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมานี้ หลาย ๆ ท่านคงจะได้ทำกิจกรรมกันหลากหลาย
หลายท่านได้มีเวลาไปร่วมงานบุญกุศล หลายท่านก็ได้ไปอยู่วัดเพื่อปฏิบัติธรรม
หลายท่านได้มีเวลาหยุดอยู่กับครอบครัว หลายท่านได้ไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่
หลายท่านได้เดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ได้ไปซื้อของโน่นนี่
ซึ่งก็เป็นธรรมดาสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยนะครับที่ชอบซื้อของ (หรือช็อปปิ้ง)
ไม่ว่าจะซื้อให้กับตัวเอง หรือจะซื้อฝากคนอื่น ๆ ที่รู้จักก็ตาม

สำหรับผมเองนั้น ในระยะหลัง ๆ ที่เดินทางไปโน่นมานี่
ส่วนใหญ่ก็จะซื้อของฝากคนอื่น ๆ เป็นส่วนมาก โดยไม่ค่อยได้ซื้อของให้ตัวเองเท่าไร
แฟนผมก็เคยถามผมว่า ทำไมไม่ซื้อของให้ตัวเองบ้าง เอาแต่ซื้อของฝากคนอื่น
ผมตอบว่า ผมเองไม่ได้อยากได้ของอะไร เพราะของที่มีอยู่ก็พอแล้ว และมีความสุขดีอยู่แล้ว
หากจะลองเปรียบเทียบระหว่างคนที่รู้สึกว่ายังขาดอยู่ และอยากจะได้ของอื่น ๆ เพิ่มเติม
กับคนที่รู้สึกว่าเพียงพอ และไม่ได้ต้องการของอื่น ๆ มาเพิ่มเติมนั้น
เราเห็นว่าสองคนนี้ ใครจะมีความสุขมากกว่ากันล่ะครับ
นอกจากนี้ การที่เราซื้อของฝากคนอื่นนั้น ก็คือการที่เราได้ทำทานนะครับ
ซึ่งก็เท่ากับว่า เราได้ให้สิ่งของแก่ตนเองแล้วล่ะ เพียงแต่ว่าไม่ได้ให้ของหยาบ ๆ แก่ตนเอง
แต่เราได้ให้ของที่ละเอียดแก่ตนเอง ซึ่งก็คือบุญกุศลนั้นแหละ

ส่วนใหญ่ที่เห็นช็อปปิ้งกันนั้น ก็มักจะซื้อเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า และของกิน
หากเราลองย้อนมาพิจารณากันแล้ว ถามว่าในวันหนึ่ง ๆ เราจะต้องใส่เสื้อผ้ากี่ชุด
เราจะต้องใส่รองเท้ากี่คู่ เราจะต้องใช้กระเป๋ากี่ใบ เราจะกินอาหารกี่มื้อ
เราจะต้องสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากมายขนาดไหน
และเราจะเก็บสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ได้นานแค่ไหนกัน

ลองสมมุติว่าเราเป็นชาวสวนผักซึ่งมีอาชีพปลูกผักนะครับ
หากเรานำผักที่ปลูกได้มาเก็บไว้ เราจะเก็บผักเหล่านั้นไว้ได้นานแค่ไหนล่ะ
ต่อให้เราจะนำผักเหล่านั้นไปแช่ตู้เย็น หรือแช่ช่องแข็ง ก็คงจะเก็บไว้ได้ไม่นานเท่าไร
แม้เราจะนำผักเหล่านั้นมาทำผักดอง หรือทำผักอบกรอบใส่ถุงสุญญากาศ
หรือนำมาฆ่าเชื้อแล้วเก็บเป็นอาหารกระป๋องไว้
เราก็คงจะเก็บผักเหล่านั้นไว้ได้ไม่กี่ปี เพราะอาหารเหล่านั้นก็มีอายุของมัน
ซึ่งหลังจากที่อาหารเหล่านั้นหมดอายุแล้ว เราก็กินไม่ได้ล่ะ

แต่ถ้าเราเก็บผักจากสวนแล้วแบ่งส่วนหนึ่งไว้ทำกับข้าวกิน
เก็บไว้ส่วนหนึ่งโดยแช่ตู้เย็น นำมาทำผักดองหรือทำเป็นอาหารกระป๋องไว้อีกส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งนั้นนำไปขาย และเก็บเป็นเงินทองไว้
เมื่อกินผักหมดแล้ว เรายังสามารถนำเงินทองที่เก็บไว้นั้นไปซื้ออาหารอื่นมากินได้

บางท่านอาจจะบอกว่า ในปัจจุบันนี้ เราก็ตั้งใจเก็บสะสมทรัพย์สินอยู่แล้ว
ก็แสดงว่าเป็นการเก็บสะสมที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้วใช่ไหม
ตอบว่า “ไม่ใช่” หรอกนะครับ
เงินทองในตัวอย่างข้างต้นนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินและสิ่งของหยาบ ๆ ที่พวกเราเก็บ ๆ กันอยู่
เพราะว่าทรัพย์สินและสิ่งของหยาบ ๆ ที่พวกเราเก็บ ๆ กันอยู่ในที่นี้
ก็คือ “ผัก” ตามตัวอย่างข้างต้นนั่นแหละ
โดยเราก็เก็บไว้ได้ไม่นานหรอก เราเก็บไว้ใช้ได้แค่ชีวิตนี้ชีวิตเดียว
แล้วพอตายแล้ว เราก็นำทรัพย์สินและสิ่งของหยาบ ๆ เหล่านี้ติดตัวไปไม่ได้สักอย่าง
หากเราจะต้องการเก็บสิ่งของที่ยาวนานกว่า “ผัก” ในตัวอย่างข้างต้นแล้ว
เราต้องเลือกเก็บสะสม “อริยทรัพย์” (คือทาน ศีล และภาวนา) นะครับ

บางท่านอาจจะมีคำถามว่า แล้วการเก็บสะสมพระเครื่องและพระพุทธรูปล่ะ
จะถือว่าเป็นการสะสมอริยทรัพย์หรือไม่
ตอบว่า ก็แล้วแต่การเก็บสะสมนั้นเก็บไว้อย่างไร
หากเก็บไว้ โดยใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม ใช้เพื่อทาน ศีล ภาวนาแล้ว
ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในเชิงอำนวยแก่การสะสมอริยทรัพย์
แต่หากเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร ค้ากำไร หรือเก็บในเชิงวัตถุโบราณ
หรือเก็บเพื่อต้องการอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แล้ว เป็นต้น
ก็เท่ากับว่าเป็นการเก็บทรัพย์สินและสิ่งของหยาบ ๆ เช่นกัน
ซึ่งเป็นการกระทำหรือการสะสมที่ได้ประโยชน์น้อย
เรียกได้ว่าเราได้มีโอกาสมาอยู่ใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาแล้ว
แต่ว่าไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร อันถือว่าพลาดจากคุณอันใหญ่แล้ว
เปรียบเสมือนกับว่า นิ้วด้วนได้แหวน หัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น
ไก่ได้พลอย ยื่นแก้วให้วานร ทำนองนั้น

อย่างเมื่อต้นสัปดาห์นี้ หลายท่านก็คงได้ทราบข่าวเกี่ยวกับ
โจรคนหนึ่งไปปล้นฆ่าหญิงชราวัย ๗๐ ปี เพราะต้องการปล้นพระเครื่อง
โดยโจรรายนี้ทราบมาว่าหญิงชราดังกล่าวมีพระเครื่องอยู่เป็นจำนวนมาก
ตำรวจสามารถจับโจรรายนี้ได้พร้อมกับของกลางคือ
เหรียญหลวงปู่ทวด และพระเครื่องชนิดโลหะ ๑๒๐ องค์
พระเครื่องชนิดผง ๓๘ องค์ เหรียญกษาปณ์อีก ๒ ถุง และสร้อยอีก ๗ เส้น
เมื่อเราได้ทราบข่าวนี้แล้ว เรารู้สึกอย่างไรบ้างครับที่ว่า
พระเครื่องและเหรียญรวมแล้ว ๑๕๘ องค์นั้นคุ้มครองเจ้าของไม่ได้
นอกจากจะคุ้มครองไม่ได้แล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการล่อโจรให้มาปล้นฆ่าเจ้าของเสียอีก
ซึ่งหากเจ้าของนั้นไม่ได้สะสมพระเครื่องอะไรไว้มากมายขนาดนี้
และเลือกสะสมเป็นอริยทรัพย์แทน ถามว่าโจรที่ไหนจะมาปล้นอริยทรัพย์ไปจากเจ้าของได้

ท้ายสุดแล้ว เราทุกคนก็พึงย้อนกลับมาดูที่ตนเองนะครับว่า
เราจะต้องเก็บผักไว้แค่ไหน เราจัดสรรปันส่วนการเก็บเพื่ออนาคตไว้ยาวไกลเพียงไหน
หากเก็บไว้แค่เพียงชีวิตเดียวนี้ ถือว่าประมาทมากนะครับ
เพราะชีวิตนี้มันสั้นเหลือเกิน เผลอ ๆ เดี๋ยวเดียวเดี๋ยวก็ตายกันแล้ว
แล้วหลังจากนั้นจะยังไงกันต่อล่ะ จะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมกระนั้นหรือ
ฉะนั้นก็พึงพิจารณาครับว่า เราเก็บสะสมอริยทรัพย์ไว้เพียงพอแล้วหรือยัง
เราเก็บสะสมไว้จนถึงขั้นที่เรียกว่าปลอดภัยแล้วหรือเปล่า
หากยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าปลอดภัยแล้ว ก็พึงเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ ครับ
อย่าไปเก็บสะสมเป็นผักเลยครับ เก็บไว้ได้ไม่นานก็เน่าแล้ว และก็กินไม่ได้แล้วล่ะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP