สารส่องใจ Enlightenment

พากเพียรพิจารณาธรรม



พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร
วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


พวกเราทั้งหลายอยากสุขอยากสบาย ก็พากันประพฤติปฏิบัติ
กำหนดอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าแนะสอน
พระธรรมนั้นไม่ได้หนีไปจากกายจากจิต มีอยู่ในกายในจิตเท่านั้น
ผู้ลุ่มหลงจริงจัง ตัวเหตุใหญ่คือจิต จิตไปติดข้อง ไปมั่นหมาย
ว่าหญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าสาวต่างๆ
ไม่ได้พิจารณาไปในทางที่จะแก้จิตให้รู้เห็นตามความเป็นจริง
คือว่ากายนี้ประกอบขึ้นจากธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างกัน
จะเป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เรื่องสมมุติ
ส่วนนั้นเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราก็สมมุติเอา
เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง
เราจะเรียกชื่อใหม่ เขาก็ไม่ได้มีอาการเสียใจ ดีใจ
เรื่องของจิตถ้าหากพินิจพิจารณาตามเรื่องของธรรมะ เป็นเรื่องแก้ปัญหาของใจ
ใจจะมีวันเบา มีวันสบาย ไม่ติดข้องในสิ่งต่างๆ
อยู่ในโลกแบบสุขแบบสบาย ไม่วุ่นวายด้วยความรักความชังต่างๆ

พระพุทธเจ้าเห็นอานิสงส์ด้วยพระองค์เอง จึงมาแนะนำสอนสรรพสัตว์
สัตว์ที่มีนิสัย มีความใคร่อยากจะพ้นทุกข์
พินิจพิจารณาติดตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ก็เข้าใจว่าท่านสอนจริง ไม่มีสิ่งใดที่จะแย้ง
เพราะจิตเห็นจริงตามคำสอนของท่าน
ก็ของจริงมันมีอยู่อย่างไร พิจารณาลงไปมันก็เห็น เพราะมันมีอยู่
ถ้ามันไม่มี มันก็ไม่เห็น
ของที่ควรละได้ ปล่อยได้ วางได้ มันก็ปล่อยวาง
ถ้าหากมันเห็นอันตรายแก่ตัวของตัวแล้ว
มันไม่ยึด ไม่ถือ ไม่แบก ไม่หามเอาไว้

นี่ใจของพวกเราท่านห่างธรรมะ ไม่ได้พินิจพิจารณาอย่างนั้น
จึงยึดถือธาตุขันธ์ว่าเรา ว่าเขา
โกรธเกลียดต่างๆ เกิดขึ้นจากความยึดถือ
หากพินิจพิจารณาตามสภาวธรรมจริงจัง
มันจะรู้เห็นแล้วปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ข้อง ไม่ติด
เรื่องของจิตเป็นเรื่องชำระได้
ถ้าชำระไม่ได้ ก็ไม่มีใครจะเป็นคนดี คนวิเศษได้

ทำดีทางศาสนาท่านถือเอาจิต ไม่ได้ถือเอาเป็นเรื่องของกาย
ความรู้ของศาสนาถือเอาจิตที่รู้ที่เห็น ไม่ได้ถือเอาสัญญาความจำเหมือนโลกๆ
เมื่อเราฝึกจิตจนรู้จนเห็นเด่นชัด ปฏิบัติด้วยใจจริงเห็นจริงแล้ว
เราจะทราบได้เองว่าเดี๋ยวนี้เราเป็นอย่างไร
จิตใจที่เคยขุ่นมัวเศร้าหมอง จิตใจที่เคยติดข้องต่างๆ มันละมันถอนได้ไหม
มันทราบภายในตัวทุกระยะ เพราะการปฏิบัติบ่งบอกอยู่
จิตเจริญ จิตเสื่อม ทราบได้ทั้งนั้น
แต่คนที่ไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ว่ามันเสื่อมเพราะเหตุใด มันเจริญเพราะเหตุใด
ลุ่มหลงเรื่อยไป มืดกระทั่งวันตาย นี่คือคนไม่ปฏิบัติธรรมะ
คนปฏิบัติธรรมะย่อมมีมืดมีสว่าง มีเสื่อม มีเจริญ มีได้มีเสีย
ระยะปฏิบัติจะต้องเป็นอย่างนั้น
ต่อมาเมื่อปฏิบัติ เคยเห็น เคยเป็น ประจักษ์ชัดเจนในใจ จิตหยาบจิตละเอียด

ความเป็นของใจก็เหมือนกับผลไม้ เมื่อมันยังอ่อนยังดิบอยู่ก็รสหนึ่ง
เมื่อมันสุกแล้ว ไม่ต้องไปหาน้ำอ้อยน้ำตาลจากที่ไหนมาใส่ มันก็หวานขึ้นเอง
ความหวานของมันเกิดขึ้นจากที่ฝาดๆ เปรี้ยวๆ นั่นแหละ
จิตใจของเราท่านก็ทำนองเดียวกัน
ความบริสุทธิ์เป็นอย่างไร ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เอง
ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าทอดธุระ อย่าท้อถอย
อย่าไปตะครุบเรื่องเสื่อม เรื่องเจริญต่างๆ
มีหน้าที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติเรื่อยไป
เมื่อถึงที่สุดแห่งความหลุดพ้นเป็นอย่างไร ก็ไม่มีทางสงสัยในตนเอง
ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้รู้ ให้เห็น ให้เป็นในตัว
เพราะธรรมะเท่านั้นที่จะให้ความสุขอย่างประเสริฐ
ไม่มีสุขใดจะสุขเลิศเท่ากับจิตหลุดพ้นจากกิเลสถึงธรรมะ
ธรรมทำคนให้บริสุทธิ์ได้อย่างนั้น

ขอทุกท่านจงหมั่นพินิจพิจารณาศึกษา
การประพฤติปฏิบัติอย่าไปคิดที่อื่น อย่าไปดูที่อื่น ให้ดูตัวของตัว
เพราะก้อนของกายนี้เป็นธรรมะ เรียกว่ารูปธรรม
ความคิดปรุงต่างๆ ก็เป็นธรรม คือเป็นนามธรรม
ถ้ามีสติ มีปัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ในโลก อยู่ในตัวของเรา
เป็นผลเป็นประโยชน์มีคุณค่าราคา

ถ้าหากเราไม่มีสติปัญญา ถึงจะเฝ้าขุมเงินขุมทองอยู่
ก็ไม่ทราบว่าจะเอาประโยชน์จากเงินจากทองได้อย่างไร
เพราะไม่มีปัญญาที่จะนำสิ่งนั้นไปใช้สอยให้เป็นประโยชน์

พระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้า ท่านก็มีกายมีใจเหมือนพวกเรา
แต่ท่านฉลาดแหลมคมพินิจพิจารณาใจที่เคยโง่เง่าเต่าตุ่นด้วยธรรมะ
สอบสืบด้วยสติ คลี่คลายด้วยปัญญา
ให้เห็นเรื่องของกายตามเป็นจริง เรื่องของใจตามเป็นจริง
แล้วปล่อยวางละถอนความติดข้องต่างๆ
ที่ใจเคยแส่ส่ายไปตามเรื่อง อารมณ์สัญญาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ธรรมะสอนให้คนเข้าสู่ความสงบ จะพินิจพิจารณากำหนดอะไร
เมื่อใจสงบมันเหมือนกันหมด เมื่อใจหลุดพ้น มันเหมือนกันหมด ไม่เป็นอื่น
ธรรมะถึงจะมีมากมายหลายหลวง ตั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ก็สอนกายสอนใจพวกเราท่านให้ได้รับความสงบ ความพ้นทุกข์
ไม่ได้สอนไปที่อื่น เมื่อเราฝึกอบรมตัวของเรา
เราจะเห็นดีชั่วต่างๆ เสื่อมเจริญต่างๆ ให้จิตสลดสังเวช
ให้จิตเพลิดเพลินในความเป็นไป เพราะความเห็นความเป็นของตัวมันเพลินได้
สนุกสบายในการพิจารณาธรรมะ
แล้วไม่เลือกกาลเวลา ไม่หาสถานที่ เพราะธรรมะมีอยู่ในกาย ในใจ
เราไปสถานที่ใดก็ไปกับธรรมะ พิจารณาอยู่ตลอดเวลา

นี่คือใจที่เข้าถึงเรื่องของธรรมะ ไม่เผลอ
มีแต่พินิจพิจารณาแก้ไขตัวของตัวอยู่สม่ำเสมอไป
อะไรที่เห็น อะไรที่ได้ยิน นึกน้อมเข้ามาพินิจพิจารณา
เพื่อให้เกิดสติ ให้เกิดปัญญา ให้เกิดวิชชาวิมุตติ ไม่ได้เผลอ ไม่ได้ผ่านไป
นี่ปกติคนมีธรรมะ ไปสถานที่ใดจึงไม่ขาดทุนสูญกำไร ไปสถานที่ใดสะดวกสบาย
แต่พวกเราท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น
โดยส่วนใหญ่ก็เอาแต่เวลานั่งฟังเทศน์ เอาแต่เวลานั่งภาวนา และเดินจงกรมเท่านั้น
นอกจากนี้ก็ส่งกระแสจิตคิดปรุงไปต่างๆ ว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะพินิจพิจารณาธรรมะ
ถ้าใจเป็นอย่างนั้น มันยังห่างไกลจากธรรมะ ยังไกลมาก
ใจที่เข้าถึงธรรมะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าอยู่อิริยาบถใด
พินิจพิจารณากายใจของตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยปละละเลย

นี่คือผู้ที่มีธรรมะ ผู้ที่ถึงธรรมะ
สัมผัสอยู่กับธรรม พิจารณาแต่เรื่องธรรมะ

เมื่อพิจารณาธรรมะ เรื่องกิเลสตัณหา เรื่องความลุ่มหลงต่างๆ มันก็ตกออกไป
เหมือนกันกับแสงไฟ เราตามขึ้นเมื่อใด ความมืดมันก็หายไป ตกไป
ถ้าเราไม่ตาม ไฟดับเมื่อใด ความมืดมันก็มืดทึบเข้า
ไฟจึงเป็นข้าศึกของความมืด แสงสว่างเป็นข้าศึกของความมืด
ในทำนองเดียวกัน การพิจารณาธรรมะก็เป็นข้าศึกของกิเลสตัณหา
กิเลสจึงไม่มีวันเวลาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในจิตใจ
ที่มีอยู่ตอนใด ท่านก็พิจารณาเรื่องของกิเลสตัณหานั้นๆ
เพื่อจะขับไล่ให้หมดไป ตกไป ด้วยอุบายวิธีต่างๆ

เมื่อเกิดปัญญาเห็นแจ้งขึ้น สิ่งที่เคยติดข้องมันก็ตกไป หายไป
ไม่มีการสงสัย ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็คือมันไม่รู้ไม่เห็น
เพียงแต่รู้ยังไม่เห็น มันก็สงสัย เพียงแต่เห็นยังไม่รู้ มันก็สงสัย
นี่การปฏิบัติใจทั้งรู้ทั้งเห็น เรื่องความสงสัยต่างๆ มันจึงตกออกไป
เมื่อมันตกออกไป ใครเล่าเป็นคนพิจารณา
ก็คนนั้นแหละจะรู้ว่ามันตกออกไป ไม่ใช่คนอื่นมาบอกให้
ว่าเจ้าเป็นอันนั้น เจ้าเป็นอันนี้ ดีวิเศษแล้วนะ นั่นมันลมปากของคนอื่น
ถ้ามันดีด้วยลมปากคนอื่นเขาว่า ก็จะไม่มีใครที่จะเป็นปุถุชนคนหนา
หรือทางโลกก็ไม่มีใครที่จะอดอยากยากจน เช่นเขาบอกว่า
“ท่านเป็นเศรษฐีแล้วนะ มั่งมีแล้วนะ บ่อเงินบ่อทองอยู่ที่นั่นที่นี่เป็นของเจ้า”
เราก็เป็นจริง มีจริง
หรือบอกว่า “ภูเขาลูกนั้นเป็นทองแล้วนะ” ภูเขาก็กลายเป็นทองขึ้น
หากมันเป็นไปได้อย่างนั้น มันดีด้วยลมปาก
มันก็ไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องทำงานทำการกัน

ลมปากก็เป็นพิษเป็นภัย มีอิทธิพลมากเหมือนกัน เพราะใจไม่รู้เห็นตามเป็นจริง
เลยตะครุบเงาว่า “เขากล่าวตู่ดูหมิ่น” ว่า “เขาว่าอย่างนั้น อย่างนี้”
เพลิดเพลินลุ่มหลงไปตามลมปากของคน จนถึงกับเป็นบ้าเป็นบอไปก็มี
นี่คือตัวของตัวไม่ดูตัวของตัว มองไปแต่ข้างหน้า
ไม่ได้ดูว่าทางภายในของตัวมันเป็นอย่างไร
เขาว่าดีชั่วก็ต้องดูเรื่องของตัว
ถ้าเขาว่าชั่วก็ควรจะปรับปรุงแก้ไข
เพราะเขาว่าถูกแล้ว “ดี สาธุ เขาบอกขุมทรัพย์ให้”
เพื่อเราจะได้ละ จะได้ถอน ได้แก้ไขความชั่วเสียต่างๆ ในกายในใจของเรา
เขาว่าดี แต่เรายังไม่ดี ก็ไม่ควรเพลิดเพลินลุ่มหลง
นั่นเขาเห็นเขามองเราในแง่ดีต่างหาก
ตัวของเรายังชั่วยังเสียอยู่ก็ควรจะละอายใจ
ควรปฏิบัติแก้ไขให้ตัวของเราดีอย่างเขาว่า
มันไม่มีอะไรที่จะเสียหาย ได้ยินการตำหนิก็ดูตัวของตัว
ได้ยินการชมเชยสรรเสริญก็ดูตัวให้เป็นธรรมอยู่สม่ำเสมอ
คนนั้นไม่หวั่นไหว จิตใจตั้งมั่น ไม่มีการเสียหาย

นี่เป็นอย่างนั้นไม่ได้ก็เพราะขาดธรรมะ เพราะไม่ได้พินิจพิจารณาตัวเอง
เขาว่า “ชั่ว” ก็เสียใจ เขาว่า “ดี” ก็ดีใจ
ทั้งๆ ที่ตัวไม่ชั่ว ไม่ดีอย่างที่เขาว่า
นี่คือจิตไม่มีรากฐานมั่นคงในทางธรรมะ

ท่านจึงให้ฝึกอบรมให้จิตรู้เห็นเหตุผลต่างๆ ให้จิตตั้งมั่นเข้าใจตามเป็นจริง
เมื่อรู้เมื่อเห็นเรื่องของตัวอยู่ทุกระยะเวลา มันก็ไม่ตะครุบเงา
คือไม่ติดตามลมปากของเขา เขาว่าดี เราไม่ดี
หน้าที่ของเราจะปฏิบัติอย่างไร เราก็ปฏิบัติไป
เขาว่าชั่ว ว่าเสีย แต่เราไม่ชั่ว ไม่มีเสียอะไร
นั่นเป็นลมปากของเขา เราก็เฉย สะดวกสบาย
ธรรมะเป็นเรื่องกำจัดความลุ่มหลงของใจอย่างนี้
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจึงมีความสุขความสบายอยู่ทุกระยะเวลา

ฉะนั้นเมื่อพวกเราท่านได้สดับรับฟังธรรมะ
ก็จงนำไปพินิจพิจารณา ฝึกกาย วาจา ใจของตน
ต่อแต่นั้นก็จะมีความสุขความเจริญ
การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควรแก่เวลา เอวังฯ


sathu2 sathu2 sathu2


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนา ในหนังสือรวมธรรมเทศนา ๑๐๘ กัณฑ์ เล่ม ๒
ที่ระลึกในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสตร์ เอสโซ่




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP