จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ยกวัดมาไว้ที่บ้าน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


075_destination


เคยมีญาติธรรมท่านหนึ่งอีเมล์มาสอบถามผมว่า
ตนเองเป็นแม่ต้องการจะพาบุตรสาวไปภาวนาที่วัด
จึงสอบถามว่า เธอควรจะพาบุตรสาวไปภาวนาที่วัดแห่งไหนดี
ผมเองนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ข้อมูลสถานที่ปฏิบัติธรรมหรอกครับ
แต่ก็พยายามช่วยเหลือด้วยการหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และสอบถามญาติธรรมที่รู้จัก
หลังจากนั้นก็ให้คำตอบเท่าที่ทราบแนะนำแก่ญาติธรรมที่ส่งอีเมล์มาถามนั้น
โดยก็เน้นสถานที่ปลอดภัยเป็นหลัก เพราะเห็นว่าแม่ลูกเป็นผู้หญิงด้วยกันทั้งสองคน

นอกจากจะได้แนะนำวัดไปบางแห่งแล้ว ผมก็ได้แนะนำเพิ่มเติมไปด้วยว่า
จริง ๆ แล้ว สถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมที่สุดก็คือ “ที่บ้านของเราเอง” นี่แหละ
หากเราสามารถปฏิบัติธรรมที่บ้านของเราได้แล้ว การปฏิบัติธรรมจะเป็นเรื่องที่สะดวกมาก
นอกจากนี้ เราก็ย่อมจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะเจริญในทางธรรม
และเด็กก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะได้ปฏิบัติธรรมอยู่เนือง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
แต่หากเราวางหลักเกณฑ์กับตัวเองว่าเราปฏิบัติธรรมที่บ้านไม่ได้
และเราจะต้องไปปฏิบัติธรรมที่วัดเท่านั้นแล้ว
ย่อมจะทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องไม่สะดวกแล้วล่ะ

สมมุติว่าในเดือนหนึ่ง ๆ มี ๓๐ วัน ถามว่าเราจะไปวัดได้กี่วัน และไม่ได้ไปวัดกี่วัน
ในจำนวนที่ไปวัดนั้น เราจะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมจริง ๆ กี่ชั่วโมง
อย่าลืมว่าเราใช้หมดเวลาไปกับการเดินทาง และต้องใช้เวลาเพื่อการอื่น ๆ อีก
เวลาที่ปฏิบัติธรรมจริง ๆ ที่เหลือในวัดในวันนั้น ก็คงมีไม่มากเท่าไร
สมมุติว่าเราไปวัดได้เดือนละ ๔ วัน โดยได้ใช้เวลาปฏิบัติธรรมวันละ ๖ ชั่วโมง
เท่ากับว่าเราใช้เวลาปฏิบัติธรรมเดือนละ ๒๔ ชั่วโมง
แต่เวลาที่เหลืออีกเดือนละ ๖๙๖ ชั่วโมงนั้น เราไม่ได้ปฏิบัติธรรม
เวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นเวลาที่มากมายนั้น
เราอาจจะโดนกิเลสลากพาไปทำสิ่งอกุศลมากมาย
แต่เวลาที่เราใช้ปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญก้าวหน้าในทางธรรมกลับมีน้อยกว่ามาก
เช่นนี้ย่อมไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร
และมีโอกาสสูงที่เราจะถอยหลังหรือไม่ได้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม

เสมือนกับว่าเรากำลังพายเรือเพื่อเดินทางไปยังเป้าหมายสักแห่งหนึ่ง
ในเดือนหนึ่ง ๆ เราตั้งใจพายเรือไปข้างหน้าอย่างเต็มที่เป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง
แต่พอหยุดพาย เวลาที่เหลืออีก ๖๙๖ ชั่วโมง เราโดนกระแสน้ำลากพาถอยหลังไป
ดีไม่ดีเราจะโดนน้ำลากพาถอยหลังไปไกลกว่าที่เราได้พายมาข้างหน้าเสียอีก
และหากเราพายหน่อยนึง แล้วก็หยุดพักยาวเช่นนี้
โอกาสที่เราจะไปถึงสถานที่เป้าหมายย่อมจะมีน้อยมาก หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้
ฉะนั้นแล้ว เราจึงควรต้องปฏิบัติธรรมที่บ้านให้ได้
โดยไม่จำเป็นต้องรอวันหยุดหรือวันที่เราว่างเพื่อไปปฏิบัติธรรมที่วัด

หากเราสามารถปฏิบัติธรรมที่บ้านได้
ก็เปรียบเสมือนกับว่าเรายกวัดมาไว้ที่บ้านนั่นแหละครับ
แทนที่เราจะต้องเสียเวลาเดินทางไปที่วัดเพื่อปฏิบัติธรรม
เราก็ปฏิบัติธรรมเสียที่บ้านนี้แหละ ซึ่งจะสะดวกกว่าและสามารถทำได้ทุกวันด้วย
การที่เราจะกราบพระ สวดมนต์ทำวัตร นั่งสมาธิ เดินจงกรม
ล้วนแล้วแต่สามารถทำที่บ้านได้ทั้งสิ้น
หากพ่อแม่จะสามารถปฏิบัติธรรมที่บ้านกับลูกได้แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์มาก
เช่น พ่อแม่สอนลูกปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติธรรมด้วยกัน
โดยเริ่มต้นสอนด้วยการกราบพระด้วยกัน สวดมนต์ด้วยกัน นั่งสมาธิด้วยกัน
หรือเดินจงกรมด้วยกัน โดยก็ทำด้วยกันที่บ้านตนเองนี่แหละ
นอกจากเป็นการสอนลูกให้ปฏิบัติธรรมแล้ว พ่อแม่ก็ได้ปฏิบัติธรรมด้วย
และเป็นการสร้างบรรยากาศความร่มเย็นให้กับบ้านตนเองอีกด้วย

หากเราสามารถยกวัดมาไว้ที่บ้าน และสามารถปฏิบัติธรรมที่บ้านได้แล้ว
เราสามารถพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือยกวัดมาไว้ที่ใจเรา
ไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เรามีวัดอยู่ที่ใจเรา
และเราสามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกแห่ง โดยไม่เกี่ยงสถานที่เลย

สำหรับกรณีบางท่านที่ไม่ชอบเรื่องการปฏิบัติธรรม
แต่ชอบเรื่องการกราบไหว้พระ หรือทำบุญถวายสังฆทาน แต่ไม่ค่อยมีเวลาไปวัด
ก็มีวิธีการง่าย ๆ ครับว่า เราก็กราบพระพุทธรูปที่บ้านหรือที่ทำงานนั่นแหละ
กรณีของที่ทำงานนั้น เราอาจจะหาที่วางพระพุทธรูปไว้บนตู้วางเอกสารก็ได้
ทุกครั้งที่มาถึงที่ทำงาน หรือก่อนเดินทางกลับบ้าน หรือช่วงเวลาที่เหนื่อยล้ามาก ๆ
เราสามารถยกมือไหว้พระพุทธรูป โดยระลึกเสมือนว่าได้กราบพระพุทธเจ้า
หรือระลึกเสมือนว่าเราได้ไปกราบพระประธานอยู่ที่วัดแล้ว
วันไหนที่เราสะดวก ก็สามารถซื้อพวงมาลัยใกล้ที่ทำงานมาถวาย
โดยก็ระลึกเสมือนว่าได้ถวายพระพุทธเจ้า หรือระลึกเสมือนว่าไปถวายพระประธานที่วัด
ก็ถือว่าได้พักผ่อนจิตใจ และช่วยทำให้จิตใจเราสงบร่มเย็น
ส่วนกรณีของกราบไหว้พระพุทธรูปที่บ้านก็ทำนองเดียวกันนะครับ

บางท่านอาจจะแย้งว่าพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้านะ จะไปกราบไหว้ทำไม
ผมก็เข้าใจเช่นนั้นครับว่า พระพุทธรูปนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้าแน่นอน
แต่ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า
การที่เรากราบไหว้พระพุทธรูปนั้น จึงอยู่ที่คนกราบไหว้ครับว่าจะกราบไหว้อะไร
(จะกราบไหว้พระพุทธเจ้า หรือจะกราบไหว้พระพุทธรูป)
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า คุณพ่อผมได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อประมาณสามปีก่อน
แต่สมัยก่อนที่คุณพ่อผมยังอาศัยอยู่ในบ้านด้วยกันนั้น
ก่อนออกจากบ้านไปทำงาน ผมก็ยกมือไหว้สวัสดีคุณพ่อผม
หลังกลับมาจากที่ทำงานถึงบ้าน ผมก็ยกมือไหว้สวัสดีคุณพ่อผม
แม้ทุกวันนี้ ผมก็ยังมีรูปคุณพ่อผมวางอยู่ในบ้าน
โดยก่อนออกจากบ้านไปทำงาน หรือหลังจากกลับจากที่ทำงานถึงบ้าน
ผมก็ยังยกมือไหว้ไปที่รูปคุณพ่อผม โดยระลึกถึงคุณพ่อของผมเช่นเดิม
บางท่านอาจจะมองว่าผมไหว้รูป กรอบรูป หรือไหว้กระดาษธรรมดา
แต่ใจผมระลึกถึงคุณพ่อ และกำลังกราบไหว้คุณพ่อผมอยู่
ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่กราบไหว้ และคนที่มองนั้น จะมองเห็นอะไร

อย่างหลาย ๆ ท่านคงจะได้เคยกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ
หรือกราบไหว้ต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ก็เป็นไปทำนองเดียวกันครับว่า
ท่านคงจะไม่ได้กราบไหว้ โดยระลึกใจว่ากราบไหว้กระดูกธรรมดา หรือต้นไม้ธรรมดา
แต่ย่อมจะกราบไหว้ โดยระลึกใจถึงพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ

ส่วนเรื่องทำบุญถวายสังฆทานนั้น หากเราไม่มีเวลาไปทำบุญที่วัดได้บ่อย ๆ
ก็แนะนำให้หากระปุกออกสินมาหนึ่งกระปุก หรือจะเป็นถุงพลาสติกหนึ่งถุงก็ได้
โดยเราก็ถือว่ากระปุกนั้น หรือถุงนั้น เทียบได้กับเป็นกล่องรับปัจจัยทำบุญสังฆทานของวัด
วันไหนเราอยากจะทำบุญ หรือเราอยากจะทำบุญทุกวัน
เราก็สามารถทำบุญได้สะดวกโดยการนำเงินใส่กระปุกหรือใส่ถุงนั้นไว้ก่อน
แล้วหากวันไหนที่เราไปวัด จึงนำเงินในกระปุกหรือถุงนั้นไปใส่กล่องรับปัจจัยทำบุญสังฆทานที่วัด
ก็เปรียบได้ว่าเรามีกล่องรับปัจจัยทำบุญสังฆทานของวัดไว้ที่บ้านหรือที่ทำงานของเราเอง
ซึ่งทำให้เราสะดวกและสามารถทำบุญถวายสังฆทานได้ทุกวันและเวลาเลย
มีจิตกุศลอยากทำบุญเมื่อไร ก็สามารถทำได้ทันที ทำสังฆทานวันละสามเวลาสี่เวลาก็ยังได้
และหากเราต้องการจะกล่าวคำถวายด้วย ก็ไม่มีอะไรห้ามนะครับ
ก็สามารถกล่าวคำถวายเองก่อนจะใส่เงินลงในกระปุกหรือในถุงก็ได้

หากเราใส่เงินจนเต็มกระปุกหรือเต็มถุงแล้ว
แต่เราก็ยังไม่มีเวลาไปที่วัดเลย เราก็สามารถฝากญาติธรรมที่ไว้ใจได้
(ย้ำว่าต้องเป็นญาติธรรมที่เราสามารถไว้ใจได้นะครับ)
ให้นำเงินเหล่านั้นไปใส่กล่องรับปัจจัยทำบุญสังฆทานที่วัดใด ๆ แทนเราก็ได้เช่นกัน

แต่ทั้งนี้ มีเงื่อนไขที่สำคัญว่า หากเราตั้งจิตอธิษฐานไว้เช่นนี้แล้ว
เราพึงถือว่าเงินทั้งหลายที่ใส่กระปุกหรือถุงนั้นเป็นเงินของวัดไปแล้ว
เราจึงไม่สามารถนำเงินนั้นกลับไปใช้อย่างอื่นได้อีกนะครับ
(นอกจากจะนำไปถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น)
ไม่ใช่ว่าเราอธิษฐานจิตแล้วถวายเงินใส่กระปุกและถุงไปแล้ว
แต่เรากลับนำเงินนั้นไปใช้อีก หรือนำเงินนั้นไปหมุนทำอย่างอื่นก่อน
เช่นนี้ก็จะเป็นอกุศล โดยถือว่าเรานำเงินที่เราถวายสังฆทานเสร็จแล้วไปใช้อย่างอื่น

สำหรับท่านที่ไม่ค่อยจะมีเวลาไปวัด
แล้วก็สร้างหลักเกณฑ์กับตนเองว่าไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรม
ไม่มีโอกาสกราบไหว้พระ ไม่มีโอกาสทำบุญถวายสังฆทาน
ก็แนะนำว่าให้ลองยกวัดมาไว้ที่บ้าน ยกวัดมาไว้ที่ทำงาน ยกวัดมาไว้ที่ใจเรานะครับ
ย่อมจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับชีวิตของเราครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP