เข้าครัว Lite Cuisine

กาละ กาลิก


Cuisine

โดย พิมพการัง

ตะวันสายจนบ่ายคล้อย เป็นเวลาที่ญาติโยมพากันมากราบพระอาจารย์มากที่สุด
หลายรายเตรียมของมาถวาย บางรายมีกระป๋องสังฆทานติดมือมาด้วย
หลายรายดูงงๆ ว่าควรจัดอะไรอย่างไร ปรกติแล้วจะแนะนำอย่างนี้นะคะ

ดอกไม้ พวงมาลัย ธูปเทียน แนะนำให้จัดใส่พานหรือปักแจกันก็ได้ ที่วัดมีให้ใช้เหลือเฟือ
ถ้าเป็นของใช้ เช่น กระดาษม้วน น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก ไม้กวาด ประเคนได้เลยนะคะ
ซองปัจจัยให้แยกออก หยิบเอาเงินใส่ตู้รับบริจาคแล้วเขียนใบปวารณาถวายแทน

กระป๋องสังฆทานที่ห่อพลาสติกมา แนะนำให้เจ้าภาพแกะแยกเอาอาหารออก
เพราะของอะไรก็ตามที่ขบฉันได้ ดื่มได้ หรือใช้ประกอบอาหารได้ ต้องใช้หลักของกาลิกนะคะ

กาละ คือ กาลเวลา
กาลิก แปลว่า ประกอบด้วยกาลเวลา หรือขึ้นอยู่กับกาลเวลาค่ะ

ทางพระวินัย กาลิก หมายถึงสิ่งที่พึงกลืนกินให้ล่วงลำคอลงไปได้
ซึ่งมีกำหนดไว้ว่าพระท่านจะเก็บไว้ฉันได้เฉพาะในเวลาที่กำหนดไว้
ตามพระวินัยแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท จึงมักเรียกติดกันว่า กาลิก ๔ คือ

๑. ยาวกาลิก คือของที่พระสงฆ์เก็บไว้ได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน
ได้แก่ โภชนะ ๕  คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ เป็นต้น

๒. ยามกาลิก คือของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วระยะเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
ได้แก่ น้ำปานะหรือน้ำผลไม้ชนิดต่างๆ ที่ทรงอนุญาตไว้

๓. สัตตาหกาลิก คือ ของที่เก็บไว้ฉันได้ภายใน ๗ วัน
ได้แก่ เภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

๔. ยาวชิวิก คือ ของที่เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต ได้แก่ของที่ประกอบเป็นยาได้
เช่น ขิง ใบกะเพรา ใบบัวบก ลูกสมอ มะขามป้อม เกลือ

ถ้าพระสงฆ์รับของแล้วไม่สละเมื่อล่วงเวลาตามกาลิกแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์
แปลว่าเป็นความผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ต้องปลงอาบัติอยู่ดีค่ะ

การสละนี่ ไม่ได้แปลว่าทิ้งนะคะ แต่พระท่านจะยกให้ฆราวาสแทน
อาจจะเป็นลูกศิษย์ ผู้ที่มาถือศีลภาวนาที่วัด หรือแจกเด็กๆ ค่ะ

กาลิกถ้ามีการปะปนกัน เช่น น้ำปานะมีกลิ่นกับข้าวติดมา พระท่านก็จะสละเช่นกัน
พระวินัยใช้คำว่า กาลิกระคนกัน ให้ใช้อายุของกาลิกที่สั้นที่สุดเป็นหลักค่ะ
เช่น ยาสมุนไพรที่ใช้น้ำผึ้งเป็นตัวประสานจะเก็บได้ไม่เกิน ๗ วันนะคะ


อ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่ายุ่งยาก จำไม่ไหว
ขอแนะนำว่าไม่ต้องท่องจำค่ะ สำหรับฆราวาสที่เข้าวัดไปทำบุญแค่ใช้หลักการง่ายๆ ว่า

อาหารสด ขนม ผลไม้ ที่นำมาถวายนอกเวลารับบาตร แนะนำว่าให้ฝากใส่บาตรวันถัดไป
ของแห้ง เครื่องกระป๋อง น้ำมัน น้ำหวาน หรือน้ำเปล่าบรรจุขวดก็ตาม เอาไปฝากโรงครัว
น้ำปานะ ถ้าประเคนแล้วพระท่านเก็บไว้ฉันได้แค่หนึ่งคืน
ส่วนยา ลูกอมแก้เจ็บคอ สมุนไพรที่ไม่มีน้ำผึ้งผสม ประเคนได้เลยไม่มีกำหนดค่ะ


ของที่ฝากโรงครัว อาจจะเป็นแม่ชี หรือลูกศิษย์วัดที่รับหน้าที่ดูแลจัดการ
ผู้ที่อยู่โรงครัวจะจัดลำดับเองว่าวันไหนควรยกอะไรไปประเคนบ้าง
เจ้าภาพช่วยระบุไว้ด้วยก็ดีนะคะ ว่าของนี้หมดอายุเมื่อไร จัดทำอย่างไร
บางรายจะเขียนฉลากแปะไว้ที่โรงครัวว่าฝากจัดการอะไรบ้าง เช่น ฝากอุ่นให้ด้วย

สมัยที่เป็นเด็กวัดฝ่ายหญิงเพียงคนเดียว
เคยมีพี่สาวที่สนิทกัน เอาปลาทอดตัวโตมาฝากใส่บาตรตั้งแต่เช้า
สั่งไว้ให้ทอดปลาอีกรอบจะได้ร้อนๆ กรอบๆ แล้วรีบไปทำงาน
ฉันไม่ได้ตอบรับหรือปฎิเสธ เพียงแต่ยิ้มน้อยๆ แล้วอนุโมทนาเธอไป
รอจนพี่สาวออกไปพ้นสายตา ค่อยเอาปลาเข้าเตาไมโครเวฟ!

เจอกันอีกครั้ง ค่อยสารภาพว่าหนูเปิดเตาแก๊สไม่เป็น และทอดปลาไม่เป็นด้วยจ้า
เธอหัวเราะร่วน แล้วไม่เคยฝากฉันทำอะไรที่ยากไปกว่าการจัดใส่จานอีกเลย
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม่ครัวของวัดมีความสามารถไม่เท่ากันนะคะ


ถ้าเป็นของพิเศษที่ไม่เคยคุ้นกัน เช่น ของจากป่า ลูกไม้แปลกๆ หรือของจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะที่ไม่มีป้ายภาษาอังกฤษกำกับ ช่วยแนะนำวิธีจัดทำที่ถูกต้องด้วยนะคะ
เคยเจอห่อลูกไม้เชื่อมสีคล้ำ ที่ช่วยกันดูแล้วก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ใช้เป็นปรมัตถ์ได้หรือเปล่า
เวลาลูกศิษย์ไม่แน่ใจก็จะเก็บไว้ก่อน รอจนมีผู้รู้ หรือเจ้าภาพกลับมาจัดแจงต่อเอง

ครั้งหนึ่งเคยค้นตู้พบ กล่องของญี่ปุ่นห่อสวย แต่ไม่มีรูปประกอบ ว่าคืออะไร ชงอย่างไร
ถือไปถามพี่อีกคน พี่ตอบทันทีอย่างมั่นใจว่า "อ๋อ ของญี่ปุ่นน่ะ"
แหม! อันนั้นรู้แล้วล่ะค่ะ แล้วจัดถวายยังไงดีล่ะคะ
พี่ตอบทันทีอย่างมั่นใจอีกเช่นเคย "อ๋อ เก็บไว้ก่อนสิ"

น้ำปานะที่เก็บได้แค่เจ็ดวัน ลูกศิษย์ฝ่ายชายที่เข้าไปดูแลในเขตสังฆาวาสได้
จะประเมินเองว่ามีพอฉันไหม ใกล้จะหมดแล้วค่อยเบิกในครัวไปประเคนพระทีละน้อยๆ

ปัญหาที่มีคำถามมากที่สุด คือ สิ่งใดจัดเป็นปรมัตถ์ สิ่งใดเป็นน้ำปานะ
ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องขอแยกไปกล่าวโดยเฉพาะนะคะ

ในตำรามีรายชื่อพืชส่วนต่างๆ ที่ถือเป็นยา หรือ ยาวชีวิกได้ ยาวเหยียด
ทำให้นึกถึงสมัยก่อนที่นักเรียนแพทย์(สายสมุนไพร) จะได้รับการอนุมัติว่าเรียนจบ
ก็ต่อเมื่อไม่สามารถหาพืชที่ไร้คุณสมบัติทางสมุนไพรได้

หลักในพระวินัยปิฎกสอนให้เทียบเคียงว่าสิ่งใดถือเป็นยา หรือ ยาวชีวิกได้ คือ
ส่วนของพืชที่มีคุณสมบัติทางยา และไม่ใช่อาหารปรกติที่มนุษย์บริโภคในชุมชนนั้นค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ขิง ใบกะเพรา ใบบัวบก ลูกสมอ มะขามป้อม เกลือ พริก กระเทียม เป็นต้น

สิ่งที่เป็นยาวชีวิกนี้ ถ้าแบ่งไปฉันเช้า เช่นหยิบพริก หรือเกลือไปใส่อาหารเช้าเสียแล้ว
ส่วนที่เหลือในภาชนะเดียวกันจะถูกจัดเป็นยาวกาลิกทันที คือหลังเที่ยงของวันนั้นจะต้องสละไป

ลูกศิษย์บางกลุ่มมีความรักและห่วงใยครูบาอาจารย์มากพอๆ กับความริเริ่มสร้างสรรค์
พี่คนหนึ่งดูรายชื่อของที่จัดเป็นยาวชีวิกแล้วก็เกิดความคิดว่าถ้าแปลงสูตรหน่อย
เอารวมๆ กันก็เป็นเมนูยำ เมี่ยงคำ ต้มจืดใบแมงลัก หรือกระทั่งผัดกะเพราก็ได้แล้วนี่นา

ในความเป็นจริงไม่ได้นะคะ บรรดาแม่ครัวนี่ถูกดุมาเยอะแล้วค่ะ
จริงอยู่ ที่ว่าส่วนประกอบแต่ละอย่าง พระวินัยอนุญาตไว้แล้ว
แต่ไม่ได้อนุญาตให้เอามาประกอบกันจนเป็นอาหารปรกติที่ชาวบ้านบริโภคค่ะ

อีกอย่างคือ พระวินัยไม่อนุญาตให้ใช้ไฟในการทำปรมัตถ์หรือปานะ ยกเว้นมะตูม
ดังนั้นผัดกะเพรา หรือต้มจืดรวมมิตรผักสมุนไพรนี่ไม่ได้แน่ๆ ค่ะ

เคยเห็นพี่ๆ ทำยำชีส หรือเมี่ยงชีสถวายมาบ้าง
แต่ก็ไม่เหมือนยำ หรือเมี่ยงที่บริโภคเป็นอาหารกันทั่วไปหรอกนะคะ

พวกเราเป็นฆราวาส อย่าทำให้ศีลของพระสงฆ์ต้องหมองเลย
ท่านออกบวชเพื่อดำเนินรอยตามพระบรมศาสดา แสวงหาโมกขธรรม
ความสันโดษ เรียบง่าย ไร้การบำรุงบำเรอกิเลสเป็นเสมือนรัตนะอาภรณ์ของท่าน

พระวินัย มีเหตุผล และที่มาที่ไปทุกข้อ
อย่างเช่น อาหารที่ให้สละหลังเที่ยงวันก็เพื่อความเบา เพื่อให้ภาวนาได้เต็มที่
ใครที่เคยรักษาศีล ๘ จะรู้สึกได้เองว่าการงดวิกาลโภชนาทำให้ภาวนาดีขึ้น ง่วงน้อยลง
และตัดภาระ ความวุ่นวายของการจัดเตรียมอาหารลงได้

น้ำปานะสมัยก่อนอนุญาตให้เก็บได้แค่หนึ่งวันหนึ่งคืน
เหตุผลเพราะน้ำผลไม้เก็บไว้นานกว่านั้นจะกลายเป็นเมรัย
สมัยนั้นยังไม่มีตู้เย็น และน้ำผลไม้กล่องพาสเจอร์ไรซ์นี่คะ

ส่วนกลุ่มที่เก็บไว้ได้ไม่เกินเจ็ดวัน
เพราะในอดีตเคยมีคดีที่ชาวบ้านทำร้ายพระสงฆ์เพื่อแย่งชิงน้ำผึ้งค่ะ

สมัยก่อนเนยใส เนยข้น น้ำอ้อย และโดยเฉพาะน้ำผึ้งถือเป็นของดีมีราคา
ใช้ได้ทั้งเป็นอาหาร เป็นยากินและยาทา ใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ยังได้
ชาวบ้านร้องว่ากุฏิพระมีไหบรรจุเนย และน้ำผึ้งจำนวนมากดูไม่งาม
แถมยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นพาหะของโรคได้อีกด้วย

กาลเวลาผ่านมาเนิ่นนาน เหตุการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนจากเดิมไปไกล
กาลิกจึงดูเหมือนถูกตั้งเป็นกฎขึ้นมาลอยๆ ทำให้ศิษย์ยุคหลังไม่เข้าใจ พลอยทำให้ปฏิบัติไม่ถูก
โปรดอย่าเกรงและเกร็งมากจนเกินไป จนจะถวายอะไรสักนิดก็ถึงกับกังวลเลยนะคะ

เราเรียนรู้พระวินัย เพื่อจัดการได้ถูกต้องเป็นระเบียบ
แต่ไม่ได้เรียนเพื่อเพิ่มความทุกข์ ไม่ได้เรียนเพื่อให้รู้สึกว่ายุ่งยาก

ยิ่งพอรู้ที่มา เหตุผลของการกำหนดพระวินัยแต่ละข้อก็ยิ่งเห็นเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์
ท่านทรงสร้างพระวินัยเพื่อความงดงามแห่งสงฆ์ สร้างระเบียบบนความเรียบง่าย
ต้องการลดความวุ่นวาย ลดความกังขาคาใจโดยเฉพาะในสายตาของชาวบ้าน
ทำเพื่อการสละละวาง ทำเพื่อความเบา เพื่อความบริสุทธิ์แห่งจิตใจเป็นหลัก

ดังนั้นอย่ารู้สึกว่ากาลิกเป็นเรื่องวุ่นวายเลยนะคะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP