จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อยากเป็นทาสหรืออยากเป็นอิสระ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


072_destination


คำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า เงินเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตมากน้อยแค่ไหน
ชีวิตคนเราจะต้องหาเงินให้ได้เยอะ ๆ หรือไม่ แค่ไหน และเพราะเหตุไร
เหล่านี้น่าจะเป็นคำถามที่หลาย ๆ ท่านได้เคยพบหรือสนทนากันนะครับ
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเองก็ได้สนทนากับเพื่อนคนหนึ่งในคำถามเรื่องเหล่านี้
ซึ่งเพื่อนคนนี้มีความสามารถเก่งหลายอย่าง
แม้ว่าเขาจะมีงานประจำทำอยู่ก็ตาม
แต่เขาก็สามารถแบ่งเวลาและหาเวลาไปลงทุนทำธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง
โดยสามารถหารายได้ไม่น้อยเลยในแต่ละเดือน
(แต่เขาก็ต้องลงทุนลงแรง และเวลาส่วนตัวไปไม่น้อยเช่นกัน)

ในระหว่างที่คุยกันเรื่องอื่นอยู่นั้น ก็ได้คุยมาถึงเรื่องเงินและเวลาในชีวิตคนเรา
โดยเพื่อนคนนี้ก็บอกผมว่า “เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็จริง แต่ก็จำเป็นต้องหาไว้ก่อน
เผื่อเอาไว้ยามฉุกเฉิน หรือเอาไว้ใช้จ่ายในยามที่จำเป็นหรือต้องการใช้จ่าย
โดยสภาพแล้ว เงินก็สามารถเปลี่ยนเป็นสิ่งต่าง ๆ ได้ นำไปทำบุญก็ได้ หรือให้คนอื่นก็ได้
ฉะนั้น การหาเงินไว้ก่อนเยอะ ๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย”
ผมถามเพื่อนว่า “สมมุติว่าเราไปซื้อกระเป๋าเอกสารทำงานมา ๑๐๐ ใบ
โดยไม่รู้เลยว่าจะซื้อมาทำไม เราไม่ได้จะนำไปขายและไม่ได้จะนำมาใช้ใด ๆ ด้วย
เพียงแต่เราเอาเงินไปซื้อกระเป๋าเอกสารทำงานมาเก็บไว้ก่อน ๑๐๐ ใบ
เผื่อว่าในอนาคต เราอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างกับกระเป๋า ๑๐๐ ใบนั้น
นายเห็นว่าทำอย่างนี้มันเสียประโยชน์หรือเป็นประโยชน์ มันเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่าไหม”

เพื่อนผมก็คงคาดได้ว่า เมื่อตอบมาแล้วผมจะพูดอะไรต่อ เขาจึงนั่งนึกอยู่ว่าจะตอบอย่างไรดี
แต่ด้วยความที่ผมไม่ได้เจตนาจะมานั่งถกเถียง แต่เจตนาที่จะอธิบายให้เข้าใจ
ผมจึงไม่รอว่าเขาจะตอบอะไร แต่ผมก็ได้อธิบายต่อไปว่า
ในการซื้อกระเป๋านั้น เราจะต้องใช้เงินไปซื้อใช่ไหม
ในการที่เราหาเงินมาสะสมไว้นั้น เราก็มี “ต้นทุน” เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราไม่เสียอะไรเลย
คนบางคนหมกมุ่นแต่หาเงิน มองเห็นแต่ยอดจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นในบัญชีเรื่อย ๆ
คิดทีไรก็เห็นแต่ว่ามีเงินเพิ่ม ได้เงินเพิ่ม มองไม่เห็นว่าตนเองเสียอะไร เห็นแต่ได้เงินเพิ่ม
นั่นก็เพราะว่าเขามองเฉพาะแต่เงิน แต่ไม่เคยเห็นต้นทุนที่แท้จริงของการหาเงินนั้นเลย
ต้นทุนที่สำคัญที่สุดของคนเราในการหาเงินก็คือ “เวลาชีวิต” และ “โอกาสในชีวิต”

ในขณะที่เรากำลังหมกมุ่นกับการหาเงินอย่างหน้ามืดนั้น
เราไม่เห็นเลยว
่าสิ่งที่เราต้องสูญเสียไปเพื่อหาเงิน ก็คือเวลาชีวิต และโอกาสในชีวิต
จริงอยู่ว่า บางคนที่
หมกมุ่นกับการหาเงินอาจจะบ่นเรื่องเสียเวลา หรือเสียโอกาสบ้าง
แต่ก็มักจะเป็นเรื่องการเสียเวลาในการหาเงิน หรือการเสียโอกาสในการทำกำไร
โดยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมองไปถึงต้นทุนที่สำคัญที่สุดจริง ๆ ของชีวิตเรานั้น
(ผมคุยอธิบายให้เพื่อนฟังได้ถึงแค่ตรงนี้นะครับ เพราะว่าเวลาจำกัด
โดยพวกเราต้องคุยเรื่องงานกันต่อ แต่ว่าในบทความนี้ ผมจะขออธิบายต่อนะครับ)

ในยามที่เราทำงานหาเงินนั้น เราจำต้องใช้ “เวลาชีวิต” เพื่อเป็นต้นทุนในการหาเงิน
แต่หากเราลองเปรียบเทียบระหว่างความสำคัญของเงินและเวลาชีวิตแล้ว จะเห็นได้ว่า
หากเราไม่มีเวลาชีวิตเหลือแล้ว แม้ว่าเราจะมีเงินมากมายแค่ไหนก็ตาม
เงินนั้นก็หมดความหมาย และไม่มีประโยชน์แก่เราอีกต่อไป
เพราะเราไม่สามารถที่จะใช้จ่ายเงินนั้นได้แล้ว และก็ไม่สามารถนำเงินนั้นติดตัวไปได้
ในทางกลับกัน หากเราไม่มีเงินเหลือ เรายังสามารถใช้เวลาชีวิตไปหาเงินใหม่ได้
หรือเรายังสามารถใช้เวลาชีวิตไปสร้างประโยชน์อื่น ๆ ได้

เมื่อเงินหมด เรายังหาเงินใหม่ได้ แต่เมื่อเวลาชีวิตหมด เราหาเพิ่มไม่ได้
เมื่อเงินหมด เราใช้เวลาชีวิตไปหาเงินได้ แต่เมื่อเวลาชีวิตหมด เราใช้เงินไปหาเวลาชีวิตเพิ่มไม่ได้
เราสามารถใช้เงินไปซื้อหาสิ่งของหรือบริการต่าง ๆ ได้มากมาย รวมทั้งใช้เงินเพื่อไปหาเงินเพิ่ม
แต่เงินนั้นไม่สามารถไปซื้อหาความสุขได้เสมอไป และเราไม่สามารถใช้เงินไปหาเวลาชีวิตได้
ในส่วนเวลาชีวิตนั้น เราสามารถใช้เวลาชีวิตเพื่อไปหาสิ่งต่าง ๆ ได้ รวมทั้งเงิน
แต่เราไม่สามารถใช้เวลาชีวิตเพื่อไปหาเวลาชีวิตเพิ่มได้
และหากเราจะหาความสุขในชีวิต เราจำเป็นต้องมีเวลาชีวิตเสมอ
โดยความสุขหลาย ๆ อย่างในชีวิตไม่ได้เกี่ยวว่าจะต้องมีเงินเสมอไป
ซึ่งเราก็คงจะลองเปรียบเทียบได้อีกหลายมุมนะครับ
แต่โดยสรุปแล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่า “เวลาชีวิต” เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า “เงิน” อย่างแน่นอน

หากเราไม่ได้ทุ่มเทใช้ “เวลาชีวิต” ไปเพื่อการหาเงินเพียงอย่างเดียวแล้ว
เราย่อมมีเวลาชีวิตไว้สำหรับไปทำประโยชน์อย่างอื่น ๆ อีก
ดังนั้น สิ่งที่ปกติเราจะได้มาพร้อมกับ “เวลาชีวิต” ด้วยก็คือ “โอกาสในชีวิต”
“โอกาสในชีวิต” เพื่อทำอะไร
?
ก็คือ โอกาสในชีวิตเพื่อทำสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง
ไม่ใช่เพื่อทำสิ่งไร้สาระ หรือสิ่งใด ๆ ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราเป็นพนักงานประจำในบริษัทแห่งหนึ่ง
เราใช้เวลาหลังเลิกงาน หรือเวลาในวันหยุดของเราเพื่อทำงานที่คั่งค้าง
เราอาจจะได้ค่าตอบแทนเป็นค่าทำงานล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุด
หรือได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผลงานดี ไม่มีงานคั่งค้าง และงานเสร็จมาก
หรือสมมุติว่าเราเป็นเจ้าของกิจการเองก็ตาม เราทำงานหนักมาก ๆ ในทำนองเดียวกัน
เราทำงานหนักเช่นนี้เป็นเดือน ๆ เป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี
ทำให้เราได้เงินมากขึ้นเยอะ หรือมีรายได้ค่าตอบแทนที่ดีมากขึ้น
แต่หากเราลองคำนวณย้อนหลังถึงเวลาที่ได้ทำงานเพิ่มเหล่านี้เป็นชั่วโมง ๆ แล้ว
ก็จะพบว่าเราต้องใช้เวลาในชีวิตเราหลายร้อยชั่วโมงหรืออาจจะเป็นพัน ๆ ชั่วโมง
เพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
ซึ่งหากสมมุติว่า เราจะนำเวลาหลายร้อยชั่วโมงหรือเป็นพันชั่วโมงดังกล่าว
ไปทำประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ชีวิตที่ไม่ใช่เพื่อการหาเงินล่ะ จะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง
เช่น หากนำเวลาไปใช้อ่านหนังสือที่ต้องการอ่าน ก็จะอ่านจนจบได้หลายเล่ม
หากนำเวลาไปใช้ศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ก็ย่อมจะได้ความรู้ในศาสตร์นั้น ๆ ไม่น้อยเลย
หากนำเวลาไปใช้ท่องเที่ยว ก็จะสามารถไปท่องเที่ยวได้หลายแห่ง
หากนำเวลาไปใช้สวดมนต์ ก็สามารถสวดมนต์ได้หลายบทหลายรอบ
หากนำไปฝึกฝนทักษะในด้านต่าง ๆ เช่น เล่นกีฬาประเภทใด ก็ย่อมจะเล่นได้ดีในระดับหนึ่ง
หากนำเวลาไปดูแลอบรมสั่งสอนลูกหลาน ก็ย่อมจะช่วยเหลือสั่งสอนลูกหลานได้ดีขึ้น เป็นต้น

ดังนี้ หากเรานำ “เวลาชีวิต” ไปทุ่มเทเพียงทำงานหาเงิน เราก็ย่อมเสียเวลาชีวิตไปเพื่อการนั้น
และก็จะเท่ากับว่าเราเสีย “โอกาสชีวิต” ของเราที่จะไปทำสิ่งอื่น ๆ ในเวลานั้น ๆ ด้วยเช่นกัน
ทั้งที่โอกาสในการทำสิ่งอื่น ๆ ในเวลานั้น อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายเสียแล้วก็ได้
อย่างบางคนอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ และได้ตั้งใจว่าเมื่อมีเวลาว่าง ก็จะไปเยี่ยมกราบพ่อแม่
แต่พอเลื่อนเวลาไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าต่อมา พ่อแม่จากไปเสียก่อน หรือตัวเองจากไปเสียก่อน
ก็เป็นอันว่าหมดโอกาสเสียแล้ว ซึ่งเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา และเกิดขึ้นบ่อย ๆ
เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะ “ประมาท” โดยไม่คิดว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับตนเอง

หากเราได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของ “เวลาชีวิต” เราแล้ว
เราก็พึงที่จะใช้เวลาชีวิตของเราอย่างมีคุณค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยระลึกว่าเวลาในชีวิตนี้ของเรานั้นมีจำกัด และเมื่อหมดแล้ว ก็หาใหม่ไม่ได้
ลองเปรียบเทียบว่า ในยามที่เราจะนำเงินของเราไปลงทุนอะไรสักอย่างหนึ่ง
เราก็มักจะคิดอย่างละเอียดรอบคอบนะครับว่า ผลตอบแทนเป็นอย่างไร
ความเสี่ยงเป็นอย่างไร คุ้มค่าที่จะลองทุนไหม เป็นประโยชน์จริงไหม
ในยามที่เราจะใช้เวลาชีวิตของเราไปเพื่อการใด ๆ ก็ควรเป็นทำนองเดียวกันครับ
โดยพิจารณาว่า จำเป็นไหม สมควรไหม เป็นประโยชน์คุ้มค่าแก่เวลาชีวิตไหม
แต่สำหรับบางท่านแล้ว กลับไม่ได้พิจารณาเลยว่าตนเองกำลังใช้ต้นทุน “เวลาชีวิต” อยู่ตลอด
โดยได้ทุ่มเทเวลาชีวิตไปอย่างมากมายกับบางสิ่ง บางอย่าง หรือกับบางคน
อย่างไม่ได้พิจารณาเลยว่า จำเป็นไหม สมควรไหม เป็นประโยชน์คุ้มค่าแก่เวลาชีวิตไหม

อนึ่ง ผมไม่ได้แนะนำว่า เราไม่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพนะครับ
ในทางกลับกัน เราจำเป็นต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพครับ (เว้นแต่น้อยคนจริง ๆ ที่ไม่จำเป็น)
แต่การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นแตกต่างจากการทุ่มเวลาชีวิตอย่างมากมายเพียงเพื่อหาเงินมาสะสม
ทั้งที่ไม่รู้และไม่มีเป้าหมายว่าจะสะสมไปเพื่ออะไร
กรณีที่สะสมไปเยอะ ๆ มากมาย โดยไม่รู้ว่าจะสะสมไปทำไม โดยขอเพียงแค่สะสมเผื่อไว้ก่อน
กรณีก็ไม่ต่างกับว่าเราเอาเงินไปซื้อกระเป๋าเอกสารทำงานมา ๑๐๐ ใบที่ยกตัวอย่างในช่วงแรก
เพียงแต่กรณีสะสมเงินนั้น เรานำ “เวลาชีวิต” ของเราไปลงทุนเพื่อสะสมเงิน
ซึ่งมุ่งสะสมไว้มากมาย เผื่อไว้ก่อน โดยที่ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ทำอะไรกันแน่

ถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะใช้เวลาชีวิตเราได้อย่างคุ้มค่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง?
หลายท่านก็คงบอกว่า “ทุกวันนี้ ก็ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์แก่ตนเองที่สุดอยู่แล้ว”
ผมจะขอถามกลับว่า “แน่ใจหรือครับว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทำแล้วตนเองได้ประโยชน์จริง ๆ
?
โดยผมขอเปรียบเทียบกับกรณีของทาสนะครับ
ทาสต้องทำงานตามที่นายสั่ง งานที่ทาสทำไปนั้นก็เพื่อประโยชน์ของนาย
ทีนี้ หากทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามุ่งมั่นจะทำมากมายในชีวิตของเรานั้น
เราได้ทำไปทุกอย่าง เพราะว่ามี “นาย” แอบบงการตัวเราอยู่เบื้องหลังล่ะ
“นาย” บงการให้เราทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ทำงานอย่างหนักมากมาย
โดยเราก็ทำงานตามคำสั่งของ “นาย” และทำงานสนองคำสั่งของ “นาย” มาตลอด
เช่นนี้แล้วจะถือได้หรือไม่ว่า “ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทำแล้วตนเองได้ประโยชน์จริง ๆ”

โดยส่วนใหญ่แล้ว คนทั่วไปจะไม่รู้สึกหรอกนะครับว่าเรามี “นาย” อยู่
เพราะว่า “นาย” ของเราเก่งมาก ๆ สามารถบัญชาให้ทาสขยันทำงานอย่างหนักไปเรื่อย ๆ
โดยทำให้ทาสหลงเข้าใจว่าสิ่งที่ทำไปนั้น เพื่อประโยชน์ของทาสเอง ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย
แต่สิ่งที่ทาสได้ทุ่มเททำไปทั้งหลายนั้น เป็นการทำตามบัญชาของ “นาย” ทั้งสิ้น
“นาย” ของเราก็คือ “กิเลสตัณหา” ในใจเรา
กิเลสตัณหาในใจเราผลักดันให้เราไปทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่กิเลสตัณหาบัญชา
โดยเวลาที่เราทำตามกิเลสตัณหานั้น เรากลับรู้สึกว่า เราทำเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
เราไม่สามารถรู้ทันได้ว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ สิ่งที่เราทำมาโดยตลอดนี้ สิ่งที่เราทำมาชั่วชีวิตนี้
แท้จริงแล้ว เราไม่ได้ทำเพื่อตนเองเลย แต่เราทำตามกิเลสตัณหามาโดยตลอด
เราไม่สามารถรู้ทันดังกล่าวได้ แต่เรากลับเข้าใจไปว่าเราทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
เราไม่เคยรู้เลยว่า เราเป็นทาสของ “นาย” และ “นาย” หลอกเรามาตลอดชีวิต
หลอกเราว่า ต้องทำสิ่งนั้น ต้องมีสิ่งนี้ ต้องได้สิ่งโน้น เมื่อทำ มี ได้แล้วตัวเราจะดี จะมีความสุข
ทุกสิ่งที่ทำไปก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา แต่หารู้ไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ก็ทำเพื่อสนองกิเลสตัณหา

ยกตัวอย่างว่า สมมุติเราต้องการจะไปกินอาหารบางอย่างแพง ๆ
โดยเราคิดว่ากินแล้วเราจะดี จะมีความสุข แต่หากลองพิจารณามองย้อนไปแล้วนะ
กว่าจะได้ทานอาหารแพง ๆ นั้น ต้องเสียแรงและเสียเวลาหาข้อมูลร้าน หาข้อมูลอาหาร
อาจจะต้องจองโต๊ะอีกด้วย ที่แน่ ๆ คือต้องเสียเงินเยอะ ต้องเสียเวลาและเสียแรงเดินทางไปทาน
แถมอาหารบางอย่างก็อาจจะไม่ได้ดีต่อสุขภาพเท่าไรนัก ฯลฯ
หากเทียบกับว่าเราทานข้าวแกงง่าย ๆ ใกล้บ้าน เลือกกับข้าวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
เราเสียเงินน้อย เหลือเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
ทำให้มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องเหนื่อยเดินทาง แถมอิ่มเท่ากันอีก เป็นต้น
หากพิจารณาเปรียบเทียบอย่างนี้แล้ว ทำไมเราจึงบอกว่าไปทานอาหารแพง ๆ แล้วดีกว่าล่ะ
?
ตอบว่า “ก็ต้องดีกว่าสิ” เพราะว่า “นาย” บัญชามาอย่างนี้ และเราก็ต้องทำตามใช่ไหมล่ะ
เราจะต้องเสียเงิน เสียเวลาชีวิต เสียแรงเพื่อสนองคำบัญชาของ “นาย”

ตัวอย่างอื่น ๆ เช่นบางคนกินเหล้า เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน คบชู้ ฉ้อโกง ลักขโมย โกงกิน
หรือประพฤตอื่น ๆ ผิดศีล หรือกระทำเรื่องอบายมุขใด ๆ ก็ตาม ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันครับ
คือทำไปเพราะเข้าใจว่าทำเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยไม่รู้เท่าทันความจริงว่า
ที่ทำไปนั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามที่ “นาย” บัญชาการเท่านั้นเอง
ทำไปแล้วตัวเราเองไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่กลับจะเสียประโยชน์และต้องรับโทษในภายหลัง
ซึ่งในขณะที่กำลังประพฤติผิดกันอยู่นั้น ก็กลับหลงเข้าใจไปว่า กำลังทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
และทำไปแล้วตนเองนั้นจะได้ประโยชน์ จะดี จะมีความสุข
ฉะนั้น “กิเลสตัณหา” จึงเป็น “นาย” ที่เก่งมาก ๆ และฉลาดมาก ๆ

กรณีของบางท่านที่มุ่งมั่นหาเงินอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็ทำนองเดียวกันครับ
คือตกเป็นทาสของ “นาย” โดยไม่รู้ตัวเสียด้วยว่าตนเองกำลังเป็นทาส
และที่ทำไปอย่างเหนื่อยยากอยู่ทุกวันก็เพราะกำลังทำตามบัญชาของ “นาย”
ผมมีเพื่อนที่รู้จักอยู่ครอบครัวหนึ่งนะครับ โดยมีอาชีพเปิดอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า
ครอบครัวเขาก็มีฐานะดี เพราะกิจการอพาร์ทเม้นท์นี้ทำรายได้ให้มาก
พอครอบครัวมีรายได้มาก ก็นำเงินไปซื้อที่ดินและสร้างอพาร์ทเม้นท์เพิ่มเติมอีก
พอมีอพาร์ทเม้นท์เพิ่ม แต่ละคนก็ต้องแยกย้ายกันไปดูแล
เวลาที่คนในครอบครัวจะอยู่ด้วยกันก็น้อยลง ทุกคนก็ต่างต้องไปดูแลอพาร์ทเม้นท์
ด้วยความที่มีอพาร์ทเม้นท์เยอะ ก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้นไปอีก
พอมีรายได้มากขึ้นเยอะ จะเก็บไว้ในธนาคาร ก็รู้สึกว่าดอกเบี้ยน้อย รู้สึกเสียดาย
ก็นำเงินไปซื้อที่ดินและสร้างอพาร์ทเม้นท์เพิ่มอีก เรื่องจึงกลายเป็นวัวพันหลักไปเรื่อย ๆ
เงินยิ่งเยอะ ยิ่งไปสร้างอพาร์ทเม้นท์ พออพาร์ทเม้นท์เยอะ ก็ทำงานเยอะ เวลาน้อย
แล้วก็วนมาที่เงินยิ่งเยอะใหม่ สรุปแล้ว ทั้งชีวิตส่วนใหญ่ก็ทุ่มเทให้กับอพาร์ทเม้นท์
เรื่องวัวพันหลักนี้เริ่มผ่อนคลายลงเมื่อมาถึงวันหนึ่งที่คนในครอบครัวเริ่มคิดได้ว่า
จะมีอพาร์ทเม้นท์ไปเยอะเช่นนี้ แล้วไม่มีเวลาชีวิตไปทำอะไร แล้วจะมีประโยชน์อะไร
ตกลงแล้ว พวกเราเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ หรือเป็นพนักงานของอพาร์ทเม้นท์กันแน่
โดยครอบครัวนี้ก็หยุดขยายอพาร์ทเม้นท์ และแบ่งขายอพาร์ทเม้นท์ออกไปบางส่วน
เพื่อจะได้มีเวลาชีวิตไปทำประโยชน์อื่น ๆ มากขึ้น ไม่ต้องมาเป็นทาสเฝ้าอพาร์ทเม้นท์

ตัวอย่างที่ยกมานี้ก็อาจจะทำให้บางท่านได้มองเห็นนะครับว่า
“กิเลสตัณหา” เป็น “นาย” ที่โหดร้ายที่สุด หลอกลวงเราได้เก่งที่สุด
เขาใช้งานเราอย่างหนักมาตลอดชีวิต โดยให้เราหลงเข้าใจว่า เราทำเพื่อตัวเราเอง

ถามต่อไปว่า “แล้วเราจะพ้นจากการบัญชาการของกิเลสตัณหาได้อย่างไร?
ก็ต้องอาศัยการฝึก “มีสติ” หรือ “เจริญสติ” ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอน
และครูบาอาจารย์ท่านก็ได้สอนตาม ๆ กันมา สืบเนื่องกันมาครับ
โดยเมื่อใดที่เรา “มีสติรู้ทัน” แล้ว กิเลสตัณหาจะครอบงำใจเราไม่ได้
แล้วเราก็สามารถใช้เหตุผล และปัญญาพิจารณาไปตามจริงครับว่า
เราควรจะทำอะไรเพื่อชีวิตกันแน่ อะไรกันแน่ที่ทำแล้วเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง

หลาย ๆ คนมักจะมีข้ออ้างว่าตนเองไม่มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมเลย
ในช่วงสมัยเรียน ก็อ้างว่าต้องเรียนต้องสอบ เพราะเรื่องเรียนและสอบเป็นเรื่องสำคัญ
ในช่วงทำงาน ก็อ้างว่าต้องทำงาน ติดงาน มีภารกิจเยอะ มีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบมาก
พอมีครอบครัว ก็อ้างว่าต้องดูแลครอบครัว ต้องเลี้ยงลูก ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว
พอเริ่มเข้าวัยชรา ก็อ้างว่าต้องช่วยดูแลหลาน ร่างกายอ่อนแอปฏิบัติไม่ไหว สายตาไม่ดี อ่านไม่ได้
หูไม่ดี ฟังไม่ค่อยได้ยิน หรือไม่ได้ศึกษามาก่อนก็ไม่เข้าใจ หรืออ้างว่าสายเกินไปที่จะศึกษาและปฏิบัติ
พอแก่หนัก ๆ ใกล้ตายแล้ว ก็บอกว่าเจ็บมากไม่ไหวแล้ว หรือว่าไม่ทันเสียแล้ว เวลาไม่มีแล้ว
ซึ่งแม้หากจะต้องการศึกษาและปฏิบัติจริง ๆ โดยสภาพแล้ว ก็ไม่ไหวจริง ๆ และไม่ทันจริง ๆ
ตอนจบของเรื่องก็คือ ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงไม่ได้ประโยชน์แท้จริงจากธรรมะเลย
ตลอดชีวิตก็เป็นเพียงการทุ่มเทเวลาชีวิตอย่างมากมายไปเพื่อสิ่งไร้สาระ เพื่อสิ่งชั่วคราวระยะสั้น
สะสมแต่วัตถุหยาบ ๆ ที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้
ในส่วนบุญบาปนั้น ก็สะสมไปแต่บาปอกุศลทั้งกาย วาจา ใจ
ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้คุณประโยชน์อย่างแท้จริงจากธรรมะของพระพุทธเจ้า
เพราะว่ามัวหลงไปทำแต่สิ่งไร้สาระและไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับชีวิตของตนเอง

หากลองเทียบกับว่าเราเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนะครับ
งานหลักของเราก็คือการตั้งใจศึกษาและสอบเพื่อจบการเรียน
แต่เรามัวแต่หลงไปนั่งคุยเล่นตามโต๊ะต่าง ๆ มัวแต่ไปเที่ยวเฮฮากับเพื่อน ๆ
โดยหลงว่าเป็นงานหลัก ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งไร้สาระ และไม่ได้ช่วยให้เรียนจบได้เลย
พอครบกำหนดเวลาเรียนตามหลักสูตร เพื่อน ๆ บางคนก็เรียนจบการศึกษา
และออกไปหางานทำ มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองไปแล้ว
ส่วนตัวเราเองนั้น ไม่ได้ทำประโยชน์แก่ตนเองให้ดี ก็เรียนไม่จบ และไม่มีความรู้อะไร
แถมเสียเงินและเสียเวลาไปอย่างไม่เป็นประโยชน์เลย

สำหรับชีวิตเราก็ทำนองเดียวกันนะครับว่า เราหลงไปทำสิ่งไร้สาระจนตลอดชั่วชีวิต
โดยหลงเข้าใจว่าเป็นงานหลักของชีวิต หลงเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่สำคัญ
แถมเรายังยืนยัน นั่งยัน นอนยันกับทุกคนว่าสิ่งที่ทำนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ชีวิตตนเอง
ซึ่งที่เราหลงไปเข้าใจเช่นนั้น เพราะว่าเราโดน “กิเลสตัณหา” บัญชาและหลอกเราอยู่
เราไม่ได้รู้ทันว่า เรากำลังตกเป็น “ทาส” ของ “กิเลสตัณหา”
“กิเลสตัณหา” หลอกให้เราหลงเข้าใจว่าเราไม่ได้เป็นทาส เรามีอิสระ
หลอกให้หลงเชื่อว่าที่เราเหนื่อยยากลำบากทำอยู่นั้น เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องทำ
แต่แท้จริงแล้ว สิ่งทั้งหลายที่เราหลงทำอย่างเหนื่อยยาก ทำอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น
ไม่ใช่งานหลัก ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สิ่งสำคัญ และไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เราอย่างแท้จริง
ที่สำคัญคือยิ่งทำมากเท่าไร เรายิ่งตกเป็นทาสภายใต้บัญชาของ “กิเลสตัณหา”
อย่างไม่มีทางที่จะหลุดพ้นไปได้ โดยก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
คุยมาถึงตรงนี้แล้ว เราก็ควรพิจารณาในคำถามสุดท้ายแล้วล่ะครับว่า
“เราอยากเป็นทาส หรืออยากเป็นอิสระ”



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP