สารส่องใจ Enlightenment

การต่อสู้กิเลสไม่ใช่ของทำเล่น


พระธรรมเทศนาโดย พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
วัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี

สิ่งที่มารบกวนเป็นข้าศึกศัตรู ที่เราต้องรู้และตระหนักถึงมันอยู่
มันเกิดเวทนาขันธ์ขึ้นมา เจ็บปวดขึ้นมา
นั่นแหละมันเป็นข้าศึกหรือเป็นศัตรูแก่เรา ไม่ให้เราบรรลุคุณงามความดี
ให้เรารำลึกขึ้นมา ให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ปล่อยวาง
หรือเจ็บขึ้นมาก็แยกออกจากกัน ท่านว่าความเจ็บไม่มีอยู่ที่ใจของเรา
ใจของเราไม่ใช่ความเจ็บ ความเจ็บไม่ใช่ใจของเรานะ
ใจของเราต่างหาก ใจของเรามีหน้าที่รู้เท่านั้น
เจ็บรู้ปวดรู้ ไม่เจ็บไม่ปวดก็รู้
นั่นใจของเรา
น้อมเข้ามาอยู่ในความสงบจิตนั้น เวทนาจะเข้าไม่ถึงใจของเรานั้น
ให้แยกออกจากกันแบบนี้ ไม่ว่ามันจะเจ็บจะปวด
เราก็พยายามแยกออก ให้รู้จักวิธีการแยกใจของเรา

ธาตุขันธ์เหล่านี้มันเจ็บ ให้เราพิจารณาแยกออก
ใจของเราไม่เจ็บ เป็นแต่เพียงรู้ว่ามันเป็นอยู่เท่านั้น
รู้อาการของธาตุขันธ์เท่านั้น ใจของเรารู้อยู่ตลอด
สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครที่จะให้ว่างได้ มันรู้อยู่ตลอดเวลา ตื่นก็รู้หลับก็รู้อยู่อย่างนั้น
ให้เราน้อมเข้ามาอย่างนั้น อย่าส่งไปตามสัญญาอารมณ์
สัญญาเกิดที่ไหนก็ไปตาม อารมณ์มันเกิดที่ไหนก็ไปตาม
อย่าไปตามมัน ให้เรารู้อยู่ที่จุดนั้น
มันเกิดก็รู้ มันดับก็รู้อยู่อย่างนั้น ให้ทำอย่างนั้น
เราต้องพยายามฝ่าฟันเวทนานั้นให้มาก
มันจะเจ็บจะปวดขึ้นมาขนาดไหนก็ช่างมัน อดทนเอา...
คราวหน้าเวลาขันติความอดทนอันนี้มันมีความกล้าหาญขึ้นมา
มันก็กระเด็นออกจากกัน พอเมื่อเวลามันกระเด็นออกจากกัน
ความยึดความถืออันนั้นกระเด็นออกได้ มันไม่ยึดไม่ถือ มันก็ไม่มีอะไร
มีแต่ใจดวงเดียวดวงนี้ มันจะมีอะไรเกิดขึ้น
เวทนามันก็ไม่มีแล้ว สัญญาความจำได้หมายรู้มันก็ไม่มี มีแต่รู้อยู่เฉยๆ

รู้แล้วก็วิตกวิจาร พิจารณาสิ่งที่มันรู้นั่นแหละ ให้รู้จักความเป็นจริงของเขา
ว่าเราจะไม่ยึดไม่ถือ เพื่อเราจะได้ปล่อยวาง
ถ้าเราไม่รื้อถอน มันจะยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นแหละ
ถ้าเรารื้อถอนมัน ก็จะปล่อยวางอย่างนั้นแหละ
ข้อสำคัญให้ฝ่าฟันเวทนานั้น มอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
"ร่างกายอันนี้ ข้าพเจ้าขอมอบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ข้าพเจ้าไม่ยึดไม่ถือ ขอแต่ว่าข้าพเจ้ารู้ธรรมเห็นธรรมเท่านั้น"
เอาอย่างนี้ อธิษฐานในใจนะ ขอให้ข้าพเจ้ารู้ธรรมเห็นธรรม
เมื่อเวลารู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว มันไม่มีอะไรเลิก มีแต่สร้างบาปสร้างกรรมเท่านั้นเลิก

เดี๋ยวนี้ก็ยิ่งสร้างบาปสร้างกรรมมาก
อ้าว ติดต่อกัน กำลังลงมือประชุมกัน เดี๋ยวก็ด่าคนโน้น เดี๋ยวก็ด่าคนนี้
สร้างกรรมด้วยวาจา สร้างกรรมด้วยใจนึก
สร้างกรรมอยู่อย่างนั้น มันไม่หยุดไม่หย่อนสักที
โลกเรานี้ เดี๋ยวก็ว่าคนนั้น เดี๋ยวก็ว่าคนนี้อยู่นั่นแหละ
สำคัญมั่นหมายว่าตนเป็นคนวิเศษ เป็นคนประเสริฐยิ่ง
หาเรื่องแดกดันคนนั้นคนนี้อยู่นั่นแหละ
นั่นเรื่องของโลกมันเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะสร้างกรรม
ฟังให้ดี ดูซิ...เป็นใหญ่เป็นโตเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างกรรมมากเข้า สร้างกรรมไม่หยุดไม่หย่อน
มันก็ไม่หลุดไม่พ้นสักทีละ เหมือนกับกรรมนั้นก็พยาบาทติดต่อกันเรื่อยๆ ไป
นี่กรรมเวรมันก็ไม่สิ้นสุดสักที เอาอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น

การที่เราอุตส่าห์พยายามมา ประพฤติปฏิบัติมา ฝึกหัดตนของตน
ก็เพราะอยากรู้สิ่งเหล่านี้ อยากละอยากถอนสิ่งเหล่านี้
ให้เห็นความจริงว่า จิตใจของเราจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น มันปล่อยวาง
กมฺมุนา วตฺติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม
มันทำกรรมไม่หยุดไม่หย่อน มันก็เป็นกรรมนั่นแหละที่ต่อเนื่องกันมา เห็นไหม
ทางที่ดีท่านให้ปล่อยวางซะ...อย่าไปเกี่ยวข้อง หรือยุ่งอยู่กับเรื่องของกรรม
มันผูกพยาบาทอาฆาตกันอยู่ตลอดเวลา
มนุษย์โลกอยู่ทุกวันนี้ กำลังจะเริ่มก่อกรรมก่อเวรกรรมแล้ว
มาถึงการหาคะแนนเสียงอยากเป็นใหญ่เป็นโตโน่น...

ให้ตั้งใจภาวนา ภาวนาหรือเปล่า...
หมั่นพิจารณาให้มาก มาทรมานใจของเราให้มาก
ถ้าเราไม่ทรมานมันไม่ได้ มันเคยตัว
มันเคยตัวมาหลายชาติหลายภพแล้ว เป็นอยู่อย่างนั้น
เราไม่ทรมานมัน มันก็ให้เราได้เสวยผลกรรมอยู่อย่างนั้น
เดี๋ยวก็ปวดขาเดี๋ยวก็ปวดแข้งอยู่อย่างนั้น มันก็แสดงแต่เรื่องของทุกข์ทั้งนั้น
แต่เราไม่เบื่อ ไม่เห็นโทษของมันสักที มีแต่อาการยินดี

มันเจ็บขนาดนี้เราจะอดทนให้พ้นจากนี้ไป
เอ้า! มันจะขาดก็ให้มันขาด มันจะหลุดออกก็ให้มันหลุด
กระดูกเนื้อหนังมันจะเปื่อยเน่าลงไป ก็ให้มันเปื่อยเน่า
เอาอย่างนั้น สู้มัน เอาเป็นเอาตาย ต่อสู้มัน นั่นแหละจึงจะรู้จึงจะเห็นธรรม
ถ้าไม่ทำอย่างนั้นแล้วเอาชนะมันไม่ได้
เพราะว่าเขาสร้างมาหนาแน่นพอ เราจะมาทำเล่นไปไม่ได้ ไปสู้เขาไม่ได้
ด้วยอำนาจของความเพียรของเรานี่
เปลี่ยนอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนให้สม่ำเสมอกัน
มันจะเป็นอะไรก็ช่าง มันไม่ต้องไปกำหนดไม่ต้องไปกังวล
ข้าพเจ้าจะปฏิบัติธรรมอย่างเดียวเท่านั้น เอาอย่างนี้ แล้วแต่พระธรรมจะรักษา

พุทธสฺสาหสฺมิ ทาสี ว ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของเรา
ธมฺมสฺสาหสฺมิ ทาสี ว ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระธรรมด้วย พระธรรมเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของข้าพเจ้า
สงฺฆสฺสาหสฺมิ ทาสี ว ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระอริยสงฆ์ พระอริยสงฆ์เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิต เอาอย่างนี้ ขอข้าพเจ้ารู้ธรรมเห็นธรรม เท่านี้ก็พอ
ไม่ต้องเอาอย่างอื่น ขอให้พวกเรารู้ธรรมเห็นธรรมก็พอ เอาอย่างนี้
ถ้ารู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว ไม่ต้องกังวลอะไรอีก...โลก
บางทีบางสิ่งบางอย่างมันก็หายไปเลย ด้วยอำนาจของธรรม ขอแต่ว่าเราทำจริงเท่านั้น

อย่าไปท้อถอย ไปท้อถอยไม่ได้
มีโรคมีภัยเบียดเบียนร่างกายของเรา ทำอะไรก็ไม่ได้
อย่าไปงดมัน มีอะไรข้าพเจ้าก็จะทำ ทำคนเดียวอย่างนั้น
เหมือนกับพระยากระแต พระยากระแตบุตรตกน้ำในมหาสมุทรทะเล
พอตกลงไปก็คิดถึงบุตรของตนมาก ดูว่าจะทำอย่างไรนั่น
เวลาจะตักน้ำขึ้นมาก็ไม่มีอะไรตัก ก็เลยตั้งความเพียรขึ้นมา
"ถึงอย่างไรก็ตามเถอะ ข้าพเจ้าจะตั้งความเพียรของเรา ขันติความอดทนของเรา"
ก็เอาหางไปชุบน้ำแล้วไปปล่อย เอาอยู่อย่างนี้
จนมีท้าวสักกเทวราชลงมา "อ้าว! พระยากระแตตักน้ำมหาสมุทรทะเล เมื่อไหร่มันจะหมดจะแห้ง"
เลยไปทดลองความเพียร ทดลองขันติของพระยากระแต
จึงมาถามบอกว่า "ท่านทำอะไร พระยากระแต"
"บุตรของข้าพเจ้าตกน้ำ ข้าพเจ้าคิดถึงบุตรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตักน้ำให้หมดให้แห้ง"
"อ้าว! น้ำมหาสมุทรทะเลเมื่อไหร่มันจะหมด
ขนาดหางของพระยากระแต จะไปชุบเอาน้ำไปสลัดบนบกนั้น เมื่อไหร่มันจะหมด"
"ถึงอย่างไร ธรรมดานักปราชญ์ยังต้องมีความเพียร ข้าพเจ้าจะทำอยู่อย่างนี้ตลอด"
ผลสุดท้าย สักกเทวราชจึงนำเอาบุตรขึ้นมาให้ ด้วยความดี นี่เป็นบุคลาธิษฐาน

หากเป็นธรรมาธิษฐาน ก็ไม่ต้องกลัวอะไร ทำเหมือนอย่างพระยากระแต
ด้วยอำนาจของคุณความดีที่เราทำนั้น มันจะเกิดจะมีขึ้นมาเอง มันจะเห็นเองได้เอง
เราได้มอบกายถวายชีวิต
อ้าว! ทำๆ ไปสงบบ้างไม่สงบบ้างก็ยังดี
ไม่เห็นจริง ไม่เห็นความเบื่อหน่ายในโลกสักที
เมื่อเวลาเราเห็นจริงรู้จริงแล้ว อย่างนี้มันเบื่อ มันปล่อยวางทั้งนั้น
นอกจากเรา มีแต่อุปสรรคทั้งนั้น เครื่องขัดข้องต่อทางมรรคผล เครื่องขัดข้องต่อความพ้นทุกข์
เอาอย่างนั้น ไม่กลัวแล้ว อย่าไปกลัว
เอาให้มันพ้นในชาตินี้ เรามีจิตมีใจอยู่แล้ว ตั้งความเพียรลงไป

sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

(สกุลรัตน์ เตียววานิช - ถอดเทป)
คัดจาก กมโล ผู้งามดั่งดอกบัว (๒๕๔๐) กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP