กระปุกออมสิน Money Literacy

“ความสุข” มันอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ที่ “เงิน”


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

มันเป็นเรื่องที่สำคัญเอามากๆนะครับ ที่เราต้องกลับมาถามตัวเองบ่อยๆว่า เราทำงานไปเพื่ออะไร เราหาเงินไปเพื่ออะไร?

ความสุขในทางโลกที่ทุกคนวาดฝันไว้ ก็คือ การมีงานดีๆทำ มีเงินใช้อย่างไม่ขัดสน มีเวลาให้ครอบครัว และมีแรงไปเที่ยว ทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ แต่เอาเข้าจริง คนที่มีพร้อมได้อย่างนั้น จะมีซักกี่คน?

หากถามคนส่วนใหญ่ว่าคุณทำงานไปเพื่ออะไร คำตอบก็คือ เพื่อเงิน โดยเชื่อว่า เมื่อได้เงินมาแล้ว จะสามารถนำไปซื้อความสุขต่างๆที่ตัวเองต้องการ และเผื่อแผ่ความสุขนั้นให้กับคนรอบข้างได้ ถ้าถามผม ผมก็เชื่อว่า เงินซื้อความสุขได้ส่วนหนึ่งครับ แต่ไม่ทั้งหมด สิ่งหนึ่งแน่ๆที่ เงินสามารถให้ความสุขกับเราได้ ก็คือ การให้ทาน และการทำบุญ นั้นหมายถึง เราได้เงินมา เพื่อที่จะสละมันไป นอกเหนือจากนั้น ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่าเงิน ให้ความสุขกับเราได้จริงหรือเปล่า ถ้ามีร้อยล้าน พันล้าน แล้วเราจะสุขขึ้นไหม ผมก็คงตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เคยมีขนาดนั้นเหมือนกัน grin

ผมเริ่มทำงานปีแรกกับธนาคารพาณิชย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เงินเดือนเดือนแรกที่ได้มา สร้างความภูมิใจให้กับตัวเองมาก รู้สึกว่า หลังจากนี้ เราไม่ต้องพึ่งพาบุพการีแล้ว เราจะสามารถตอบแทนบุญคุณของท่านได้อย่างที่เคยตั้งใจไว้ แต่พอเวลาผ่านไป ก็รู้สึกขึ้นมาว่า เงินเดือนแค่นี้ มันไม่พอจะสร้างความสุขให้เราได้ ไหนจะค่ารถ ไหนจะค่าใช้จ่ายจิปาถะ แถม เพิ่งเป็นช่วงที่เราสามารถใช้จ่ายทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เพราะเป็นน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ก็ซื้อโน้นซื้อนี่ ปรากฏว่า เงินเดือนหมดเกลี้ยงทุกเดือน แต่สิ่งที่ไม่เคยหมดไปก็คือ กิเลสที่ยังอยากได้โน้น อยากได้นี่

ทางที่พอจะคิดออก ณ ตอนนั้นก็คือ ทำต่อไปเรื่อยๆ ชีวิตเราก็มีความสุขไม่ได้เต็มที่สิ อย่างนี้ต้องหาทางเพิ่มรายได้ ว่าแล้วก็เปลี่ยนงานซะเลย เงินเดือนเพิ่มขึ้นมาสามสิบเปอร์เซ็นต์ มีเงินใช้มากขึ้น ใช้จ่ายได้มากขึ้น แต่ความสุขที่รู้สึก ณ ตอนนั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ก็ไม่ได้เฉลียวใจครับ ว่าความสุขมันอยู่ที่อื่นหรือเปล่า ยังคงคิดอยู่ว่า สงสัยเพราะเงินมันน้อยเกินไป ถ้าอย่างนั้นต้องหางานที่ให้เงินเดือนสูงมากขึ้นไปอีก ขืนอยู่ที่เดิมต่อไป เงินเดือนขึ้นไม่ทันใจ กลัวจะแก่ไวกว่าเงินเดือน ว่างั้นเถอะ

จนถึงวันหนึ่ง ตัวเองได้เข้ามาในวงการการลงทุน และกองทุน เป็นครั้งแรกที่รู้สึกสนุกกับการทำงานอย่างจริงจัง ดึกดื่นทำได้ หนักมาก็สู้ เบามาก็เพิ่มให้มันหนักขึ้นแล้วสู้ไปอีก มาถึงวันนี้ผมผ่านชีวิตการทำงานมาแล้ว ๗ ปี นับจากวันแรกที่เริ่มทำงาน รายได้ปัจจุบันมากกว่าเดิมเกิน ๑๐ เท่า ไม่ได้ใช้เงินเพิ่มขึ้น ได้มาก็เก็บ และให้ตามสมควร แต่ความสุขที่มี กลับมากกว่าเดิม เพราะอะไร?

คำตอบ น่าจะเป็นเพราะ ผมพอใจกับปัจจุบัน ผมรักในสิ่งที่ผมทำ หน้าที่ที่ได้รับ ไม่เห็นว่ามันเป็นภาระ แต่เห็นว่าทำให้เราได้รับโอกาสในการพัฒนาอยู่ตลอด จะบอกว่า ผมโชคดีก็ได้ที่เจอสิ่งที่ตัวเองรัก หลายๆคนก็คิดว่า แล้วถ้าหามาทั้งชีวิต ยังไม่เจอสิ่งที่ตัวเองรัก จะทำอย่างไรดี? ถ้าให้ สตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs) ผู้จากโลกนี้ไปแล้ว เป็นผู้ตอบ เขาก็จะตอบคุณว่าอย่าหยุดหา จงหาต่อไปเรื่อยๆ เมื่อคุณเจอสิ่งที่ตัวคุณเองรักที่จะทำ คุณจะรู้มันได้ด้วยใจของคุณเองแต่ถ้าท่าน ว.วชิรเมธี คำตอบคือเราเลือกทำในสิ่งที่เรารักไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าเราจะรักในสิ่งที่เราทำไม่ใช่ว่าจะมีใครซักคนที่พูดผิดนะครับ มันขึ้นอยู่กับมุมมอง และทางเดินชีวิตของแต่ละคน บางคนเลือกอย่างสตีฟ ก็เจอ บางคนเลือกอย่างท่าน ว.วชิรเมธี ก็เจอ เราคงต้องไปเลือกเอาว่า จะเลือกคำตอบไหน

ที่บอกมาทั้งหมด สรุปจากชีวิตของผมเองก็คือ

ความสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ มันแทบไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินที่เราหาได้เลยว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ หากใจของเราเจอคำว่า พอ” (ผมรู้ครับว่าพูดง่ายแต่ทำยาก)

เมื่อรู้ว่า เงินไม่ใช่ทั้งหมดของความสุข อย่าตั้งเป้าหมายของการทำงานที่จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่ควรตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะอยู่เพื่อคนอื่นอย่างไร งานของเราจะดีขึ้นได้ต้องทำอย่างไร น่าจะดีกว่า

เมื่อเราได้ทำงานที่เรารัก หรือรักในสิ่งที่เราทำ เมื่อนั้นผลตอบแทนมันจะมาหาเราเอง เพราะเมื่อเรารักในสิ่งใด เรามักทำได้ดีในสิ่งนั้นเป็นปรกติ

พอคิดอย่างนี้ ก็มีคนบ่นขึ้นมาอีกว่า ถ้าเป็นลูกจ้าง แล้วเจอเจ้านายแย่ๆ เรารักงานของเรา ก็เท่ากับทำดีให้เขา จะดีเหรอ? คำตอบสำหรับผมก็คือ กรรมที่ทำให้เราเจอเจ้านาย เป็นเรื่องของอดีต เราแก้ไขไม่ได้ แต่การที่เราปฏิบัติต่องานของเราอย่างดี ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ และรักในสิ่งที่เราทำ มันเป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคต

เจอเจ้านายแย่ๆ อาจเรียกได้ว่า ซวยแต่การก่นด่า ไม่ปรับความคิดให้กลับมาที่ขั้วบวก อาจต้องยอมรับกันเลยว่า ใครก็ช่วยไม่ได้

กลับมาที่เรื่องความสุข หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง
ตอนวัยรุ่น .... ฉันมีเวลา มีแรง แต่ไม่มีงาน ไม่มีเงิน
ตอนวัยทำงาน .... ฉันมีแรง มีงาน แต่ไม่มีเวลา ไม่มีเงิน(อยู่ดี)
ตอนเกษียณ .... ฉันมีเวลา มีเงิน ไม่ต้องทำงาน แต่ไม่มีแรง


พออ่านจบ บางคนอาจอมยิ้ม ขำกับมุขอันเจ็บจี๊ด แต่บางคนอาจจิตตกมากไปกว่าเดิม เพราะดูเหมือนว่า ไม่ว่าช่วงชีวิตตอนไหน เราก็ไม่สามารถหาความสุขได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะขาดอะไรอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นเป็นเพราะว่า คุณวาดภาพความสุขว่าเกิดจาก ๔ ปัจจัยมาประกอบกัน นั้นคือ มีเวลา มีแรง มีเงิน และไม่ต้องทำงาน

แต่คุณอาจจะลืมไปว่า ถ้าเรารักในงานที่เราทำ เราจะทำงานนั้นได้ดี เราก็มีความสุขขึ้นได้ และผลตอบแทนจากการทำงานที่เรารักก็มักจะสูงขึ้นตามกันไป แต่ถึงเงินมันจะไม่เพิ่มขึ้น มันก็ไม่เป็นอะไรมากมาย เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เรารักอยู่แล้ว ความสุขมันอยู่ตรงหน้าแล้ว แล้วจะไปหาสิ่งอื่นเพื่ออะไร และถ้าเรายังไม่ได้รักในสิ่งที่เราทำ หรือ ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารักล่ะ ต้องทำอย่างไร? ครูบาอาจารย์ ได้สอนเราไว้แล้วว่า เพียงแค่เรามีสติรู้กาย รู้ใจ ไปตลอดในชีวิตประจำวัน แค่นั้น จะให้เจอปัญหาอะไร ความสุขก็โชยมาหาเราได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องรอด้วยซ้ำไป เห็นไหมครับ จริงๆ ความสุข มันเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเงินเลยด้วยซ้ำ

แต่ถ้าถามว่า เมื่อทำงานแล้ว ได้เงินมา เราจะใช้เงินนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร? พระพุทธเจ้า ท่านทรงตรัสไว้ว่า
ทรัพย์สินที่พึงได้จากการประกอบ กิจการงานต่าง ๆ นั้น
ควรแบ่งออกเป็น ๔ กองเท่าๆ กัน

กองแรก เก็บสะสมไว้ใช้ยามขัดสน
กองสอง ใช้จ่ายเพื่อทดแทนผู้มีพระคุณ
กองสาม ใช้เพื่อความสุขส่วนตัว
กองสี่ ใช้เพื่อสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่สังคม


เงิน ใช้เพื่อความสุขส่วนตัว เป็นเพียงแค่ ๑ ใน ๔ วัตถุประสงค์หลักของเงินเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่า คนส่วนใหญ่ มองว่า ความสำคัญที่สุดของเงินก็คือ เพื่อความสุขส่วนตัว ... ลองเปลี่ยนความคิดกันดูไหมครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP