จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เรือกำลังจะล่ม ทำอะไรดี


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

071_destination

ท่านผู้อ่านรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วบ้างไหมครับ
เผลอแวบเดียวเดือนมกราคมผ่านไปแล้วนะครับ รู้สึกไหมว่าวันปีใหม่เพิ่งจะผ่านไปเอง
จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันสิ้นปีและวันปีใหม่ก่อนหรอกนะครับ
ถึงจะมาพิจารณาว่า เราได้ทำอะไรไปบ้างในปีที่ผ่านมา
แต่เราสามารถจะพิจารณาได้ทุกวันเลยว่าในแต่ละวัน ๆ ที่ผ่านไปนั้น
เราได้ใช้เวลาชีวิตเราอย่างไร ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตแค่ไหนเพียงไร
(จริง ๆ แล้วหากจะเรียกว่าไม่ประมาทนั้น ก็ควรต้องพิจารณากันทุกลมหายใจเข้าออกเลย)

หากเห็นว่าพิจารณาเป็นวันแล้วรู้สึกว่าถี่เกินไป เราอาจจะเริ่มต้นพิจารณาเป็นเดือนก่อนก็ได้
อย่างเช่นขณะนี้ได้เข้าเดือนกุมภาพันธ์แล้ว เราอาจจะมองย้อนไปก็ได้ว่า
เดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น เราได้ใช้เวลาชีวิตเราอย่างไร เป็นประโยชน์แค่ไหน
หากพิจารณาเป็นเดือนได้แล้ว ก็พยายามลด ๆ ลงมาเป็นสัปดาห์
จากสัปดาห์ลดลงมาเป็นวัน จากวันลดลงมาเป็นช่วงเช้า ช่วงบ่าย ช่วงเย็น และช่วงดึก
จากนั้นอาจจะลดลงมาเป็นชั่วโมง แล้วก็ค่อย ๆ ลดลง ๆ ให้ถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ

เวลาในแต่ละวินาทีที่ผ่านไปนั้นมีคุณค่ามากนะครับ
ในหลายครั้ง เราอาจจะมองเผิน ๆ ว่าเวลาเพียงเล็กน้อยนั้นไม่ได้สำคัญอะไร
แต่ลองพิจารณานะครับว่าเวลาที่ผ่านไปนั้น เวลาได้นำอะไรไปจากเราบ้าง
เช่น เวลาที่ผ่านไปหนึ่งวินาที ก็ทำให้เวลาชีวิตเราเหลือน้อยลง ทำให้ร่างกายเราแก่ขึ้น
ทำให้คนรอบข้างเราแก่ขึ้น เราเหลือเวลาที่จะอยู่กับพวกเขาน้อยลง
เราเหลือเวลาในชีวิตที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยลง แก่มากขึ้นก็มีโอกาสเจ็บป่วยมากขึ้น
เวลายังทำให้สิ่งของต่าง ๆ รอบตัวเราทุกอย่างเสื่อมสภาพลงไปพร้อมกันทุกอย่าง
(อย่างเวลาเราจะทำลายสิ่งของนั้น เราสามารถทำลายพร้อมกันได้ทีละไม่กี่ชิ้นนะครับ
แต่เวลาเดินผ่านไปนั้น สามารถทำให้สิ่งของทุกสิ่งเสื่อมสภาพลงไปพร้อมกันได้)

ผมเคยฟังธรรมเทศนาจากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง
ท่านตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ถ้วยแตกบุบสลาย
โดยบางท่านก็ตอบว่า “นำไปเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่นำออกมาใช้” บ้าง
หรือ “เก็บไว้ในตู้เซฟ” บ้าง เป็นต้น
แล้วพระอาจารย์ท่านก็เฉลยนะครับว่า
เมื่อมีถ้วยแล้ว ยังไงถ้วยก็ต้องแตกบุบสลาย
ถึงแม้จะเป็นถ้วยเหล็ก หรือถ้วยอลูมิเนียม ก็ยังสามารถผุพังได้ตามกาลเวลา
อันเป็นไปตามหลักที่ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิด ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
ฉะนั้นแล้ว หากจะไม่ให้ถ้วยแตกบุบสลาย วิธีการก็คือต้องไม่มีถ้วย

แม้ว่าเวลาจะโหดร้าย เพราะกินทุกอย่างไม่เลือกหน้า รวมทั้งกระทั่งตัวเวลาเอง
แต่เวลาก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิต และเป็นองค์ประกอบของการกระทำทุกอย่าง
หากปราศจากเวลาเสียแล้ว ก็คือจบชีวิต และก็ไม่สามารถไปทำประโยชน์ใด ๆ ได้
เราทุกคนโดนบังคับให้ต้องใช้เวลา เราไม่มีทางเลือก
ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม เราจะยืน เดิน นั่ง นอน เราก็ใช้เวลา
เราจะหลบหลีกไปอยู่ที่ไหนก็ตาม หนีไปอยู่ใต้ทะเล หนีขึ้นบนภูเขา หนีออกไปนอกโลก
เราก็ต้องใช้เวลาอย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งในเมื่อยังไงเราก็ต้องใช้เวลาแล้ว
เราจึงควรพิจารณาว่า จะใช้เวลาอย่างไรเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต
หากเรายังรู้สึกเฉย ๆ ไม่เห็นความสำคัญของเวลาในชีวิตที่ผ่านไป
วิธีการหนึ่งก็คือ ให้หมั่นระลึกถึงความตายบ่อย ๆ หรือที่เรียกว่ามรณานุสตินะครับ

ในเรื่องนี้ ผมขอนำข้อเขียนของท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แสง จันทร์งามมาฝากอีกนะครับ
โดยนำมาจากหนังสือ
ลีลาวดี ในตอนที่ชื่อว่า ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
เรื่องราวโดยย่อก็คือว่า พระเอกของเรื่องชื่อ
เรวัตตะ ได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ
ในพระพุทธศาสนา จากนั้น ก็ได้จาริกเดินทางไปทั่วจนได้ไปถึงริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
และได้สนทนากับชายแก่คนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความไม่ประมาทในชีวิต

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่า ผมคุยมาได้พอสมควรแล้ว
แต่ก็ยังไม่เห็นเลยว่าจะเกี่ยวกับเรือกำลังจะล่มตรงไหนเลย
ก็ต้องรบกวนให้ท่านอ่านต่อไปนะครับ เดี๋ยวจะได้ทราบต่อไปว่าเกี่ยวกับเรือกำลังจะล่มอย่างไร


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


... สองวันหลังจากนั้น ผมก็นำตัวเองไปถึงฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขณะที่ผมไปถึงเป็นเวลาบ่าย แดดกำลังร้อนจัด จึงแวะเข้ามานั่งพักใต้ต้นมะม่วงใหญ่ริมฝั่งน้ำ รู้สึกประหลาดใจมากที่ได้พบว่า ไม่มีน้ำอยู่เลยในแม่น้ำ มีแต่ทรายสีขาวที่กำลังร้อนระอุด้วยเปลวแดด จนแทบมองดูไม่ได้ เนรัญชราควรจะได้ชื่อว่า แม่ทรายมากกว่าแม่น้ำ แม้เป็นเวลาอากาศร้อนจัด แต่ภายใต้ต้นมะม่วงใหญ่ก็ร่มเย็นสบายดีมาก ผมทอดกายลงนอนบนพื้นทรายอันอ่อนนุ่ม และเย็นสบายแล้ว ก็ส่งจิตระลึกถึงองค์พระบรมศาสดา พระองค์ได้ประทับนั่งใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานี้แล้ว ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเมื่อนานมาแล้ว ขณะที่ผมกำลังนอนพักผ่อนอยู่อย่างสบายนั่นเอง ชายแก่ผู้หนึ่งก็ไล่ต้อนฝูงแพะผ่านมา เขาปล่อยให้แพะเข้านอนพักผ่อนหลบร้อนในร่มไม้ข้างๆ แล้วเขาเองตรงเข้ามาหาผม

ดูก่อนสมณะ! ท่านมาจากไหนและจะไปไหนเขาถามพลางยกชายผ้าขึ้นเช็ดเหงื่อที่หน้าผาก อันดำคล้ำและเป็นรอยย่นเพราะความชรา

อาตมามาจากกรุงสาวัตถี ตั้งใจจะไปกรุงราชคฤห์

จากสาวัตถี!เขาอุทานด้วยเสียงค่อนข้างดังแสดงความประหลาดใจ ถ้าอย่างนั้นท่านก็เดินทางมาไกลมาก ข้าพเจ้าเองยังไม่เคยไปสาวัตถีเลย แต่ได้ทราบว่าอยู่ไกลมาก ท่านมาคนเดียวหรือมีเพื่อนมาด้วย

อาตมาเดินทางมาคนเดียวผมตอบ ชายแก่มองดูผมตั้งแต่ศีรษะจดเท้าคล้ายกับจะบอกว่า ไม่เชื่อในคำตอบของผม แต่แล้วก็ถามว่า เดินทางมาคนเดียวเช่นนี้ไม่กลัวหรือ

จะต้องกลัวอะไรเล่าผมย้อนถาม

ก็กลัวอันตรายต่าง ๆ น่ะซิ เช่นโจรผู้ร้ายสัตว์ร้ายเป็นต้น

อาตมาไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ไม่กลัวโจรผู้ร้าย เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรจะให้เขาปล้นสะดม มีแต่บาตรและจีวรเท่านั้น ถ้าเขาต้องการอาตมายินดีที่จะให้ อาตมาไม่กลัวสัตว์ร้าย เพราะไม่มีอะไรจะให้สัตว์ร้ายเหล่านั้นแย่งชิง มีแต่ศีรษะร่างกายนี้เท่านั้น แม้ร่างกายนี้ถ้าสัตว์ร้ายเหล่านั้นต้องการ อาตมาก็ยินดีที่จะสละให้เหมือนกัน

คำตอบของผม ทำให้ชายแก่นั่งนิ่งไปทีเดียว เขาเพ่งมองดูผมอย่างถี่ถ้วนยิ่งขึ้นแล้วกล่าว ดูก่อนสมณะ ถ้าท่านไม่กลัวสิ่งเหล่านี้ ท่านก็เป็นคนกล้าหาญที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าได้พบมา

ดูก่อนท่านอุบาสก! คนเราทุกคนกลัวต่ออันตรายภัยพิบัติต่าง ๆ ยอดของอันตรายก็คือความตาย ถ้าไม่กลัวความตายเสียแล้ว อันตรายอย่างอื่นก็ไม่มีความหมาย

ถ้าอย่างนั้นท่านก็ไม่กลัวความตายละซิ

อาตมาไม่กลัวตาย

เพราะเหตุไร ท่านสมณะ!ชายแก่ถามพลางขยับใกล้ผมเข้ามาอีก

เพราะอาตมา คุ้นเคยกับความตายเสียแล้ว

หมายความว่า ท่านเคยตายมาแล้วหลายครั้งจนคุ้นเคยเสียแล้วอย่างนั้นหรือ

หามิได้ ในชีวิตนี้อาตมายังไม่เคยตาย แต่ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับความตายได้ โดยการหมั่นระลึกถึงมันเสมอว่า ชีวิตของเรากำลังไหลไปสู่ความตาย เช่นเดียวกับกระแสน้ำในแม่น้ำไหลไปสู่ทะเล เราห้ามน้ำมิให้ไหลไม่ได้ฉันใด เราก็ห้ามชีวิตมิให้ตายไม่ได้ฉันนั้น เราต้องตายแน่ เพราะชีวิตคือการเดินทางไปสู่ความตาย วันคืนที่ผ่านไปคือก้าวหนึ่ง ๆ ที่นำเราใกล้ความตายเข้าไปทุกที ความตายคือความจริงแห่งชีวิต เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว อาตมาจึงไม่กลัวต่อความตาย

อือ น่าฟังชายเจ้าของแพะอุทาน พลางผงกศีรษะขึ้นลงแสดงว่าเห็นด้วย แต่ยังถามต่อไปอีกว่า เพียงแต่ระลึกถึงความตายบ่อย ๆ เช่นนี้ทำให้หายความหวาดกลัวได้หรือ ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นเลยว่า จะทำให้หายกลัวได้อย่างไร

ถ้าทำบ่อย ๆ เข้า จนคุ้นเคยกับความตาย เห็นความตายเป็นของธรรมดาสามัญเสียแล้ว ก็หายกลัวได้อย่างแน่นอนทีเดียว อาตมาถามหน่อยเถอะว่า เมื่อท่านยังอยู่ในวัยเด็กนั้น ท่านเคยกลัวใครบ้างไหม

ชายแก่นั่งคิดทบทวนความจำอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบ เคยเหมือนกัน ข้าพเจ้าเคยกลัวชายแก่คนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าตาท่าทางน่ากลัวมาก เขาชอบพูดจาหลอกให้เด็กกลัวเสียด้วย ข้าพเจ้าเรียกว่าลุง เพราะเป็นญาติทางฝ่ายบิดา บ้านของเราอยู่ใกล้กัน เวลาข้าพเจ้าร้องไห้มารดามักจะขู่ว่า ลุงมาแล้ว ลุงมาแล้วข้าพเจ้าจะหยุดร้องไห้ทันทีเพราะกลัวลุงมาจริง ๆ

ในระหว่างเวลานั้น ท่านกล้าไปมาหาสู่ลุงของท่านไหม

ไม่กล้าดอก ท่านสมณะ เพียงแต่ได้ยินเสียงเขา ข้าพเจ้าก็วิ่งหนีเสียแล้ว จะกล้าเผชิญหน้าเขาได้อย่างไร

แล้วท่านหวาดกลัวลุงของท่านตลอดมา หรือภายหลังหายกลัว

ภายหลังความกลัวหายไป แต่กว่าจะหายกลัวก็กินเวลาหลายปีทีเดียว

ท่านพอจะระลึกได้ไหมว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงหายกลัวเขา

เอ! ท่านสมณะนี้ จะมาสืบสวนเรื่องราวในอดีตของข้าพเจ้าทำไมนะชายแก่ถามพลางทำคิ้วขมวดอย่างไม่พอใจ

ผมปลอบเขาด้วยการยิ้ม แล้วกล่าวด้วยเสียงอ่อนโยน อาตมาไม่มีเจตนาจะไล่เลียงชีวิตชีวประวัติท่านเล่น ๆ ดอก อุบาสก! อาตมาต้องการจะชี้ให้ท่านเห็นอย่างแจ่มแจ้งเท่านั้นเอง ว่าการระลึกถึงความตายบ่อย ๆ ทำให้ไม่กลัวตายได้อย่างไร ถ้าท่านบอกอาตมาได้ว่า ทำไมจึงหายหวาดกลัวลุง อาตมาจะบอกท่านได้เหมือนกันว่า ทำไมจึงหายหวาดกลัวต่อความตาย ฉะนั้น ถ้าท่านพอจะระลึกได้ ก็โปรดบอกอาตมาด้วยว่า เพราะเหตุไรภายหลังท่านจึงไม่รู้สึกหวาดกลัวลุงของท่าน

เท่าที่จำได้ ดูเหมือนเพราะเหตุนี้ คือคราวหนึ่งลุงของข้าพเจ้าล้มป่วยลง มารดาจึงพาข้าพเจ้าไปเยี่ยมท่าน ทีแรก ๆ ยังกลัวอยู่ แต่หลังจากไปบ่อย ๆ เข้า ความกลัวก็ค่อย ๆ หายไป จนในที่สุดก็ไม่นึกกลัวเลย

ดูก่อนอุบาสก! ความตายเปรียบเหมือนลุงของท่าน เมื่อยังเด็กท่านกลัวลุงเช่นใด คนทั้งปวงก็กลัวต่อความตายเช่นนั้น ท่านไม่กล้าไปมาหาสู่กับลุง เพียงแต่ได้ยินเสียงก็วิ่งหนี คนทั้งปวงก็ฉันนั้น เขาไม่กล้าระลึกถึงความตาย เพียงแต่ได้ยินคำว่า ตายหรือเห็นคนอื่นตายก็หวาดสะดุ้งเสียแล้ว ต่อภายหลังท่านหายหวาดกลัวลุง เพราะไปมาหาสู่บ่อยๆ จนเกิดความคุ้นเคยฉันใด คนเราถ้าหมั่นระลึกถึงความตายบ่อยๆ จนคุ้นเคยกับความตายแล้ว จะไม่หวาดกลัวต่อความตาย ฉันนั้น

ชายแก่มองดูผมอย่างยิ้ม ๆ แล้วกล่าวชมเชย ท่านฉลาดพูดเปรียบเทียบน่าฟังมาก ข้าพเจ้าเชื่อท่าน และจะพยายามลองดูเขาหันไปมองดูฝูงแพะ ที่กำลังนอนสงบอยู่ใต้ต้นไม้ครู่หนึ่ง แล้วก็หันกลับมาสนทนากับผมต่อไป แต่ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นเลยว่า การระลึกถึงความตาย จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ข้าพเจ้าเองเคยระลึกถึงบ้างเป็นครั้งคราวเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่ระลึกถึงความตาย มันทำให้ใจเศร้า เกิดความท้อถอยหมดอาลัยตายอยากในสิ่งทั้งปวง อยากจะนอนคอยวันตายอย่างเดียวเลย ไม่อยากคิดถึงมัน สู้ลืมมันเสีย ปล่อยให้ชีวิตสนุกสนานเพลิดเพลินไปวันหนึ่ง ๆ ไม่ได้ จะตายเมื่อไหร่ก็ช่างมัน คิดอย่างนี้ค่อยสบายใจขึ้นบ้าง

ดูก่อนอุบาสก! สมมติว่าชายคนหนึ่ง กำลังพายเรือที่พรุนไปด้วยรูข้ามแม่น้ำใหญ่ ขณะที่พายเรือไปเขาก็มองเห็นว่าน้ำกำลังไหลพุ่งเข้าเรือตามรอยรั่ว เขารู้ดีว่าเรือจะต้องจมลงกลางแม่น้ำแน่ เมื่อคิดว่าเรือจะจมเขาก็เกิดความเศร้าใจหมดอาลัยในชีวิต เพราะไม่มีทางจะอาศัยเรือไปอยู่ฝั่งโน้นได้ จึงไม่คิดถึงการจมของเรือ ยืนร้องรำทำเพลงสนุกสนานไปในเรือจนกระทั่งเรือจมลงไปแล้วเขาก็จมน้ำตาย ท่านเห็นว่าชายคนนี้ฉลาดหรือโง่

โง่อย่างไม่มีปัญหาทีเดียวชายแก่ตอบยืนยันอย่างหนักแน่น

เพราะเหตุไรผมถาม

เพราะรู้อยู่ว่าตนพายเรือรั่ว จะต้องจมกลางแม่น้ำ แล้วยังมัวประมาทร้องรำทำเพลงอยู่ได้ จมน้ำตายเสียก็สมน้ำหน้าแล้วเมื่อเห็นชายแก่เปิดช่องให้เช่นนั้น ผมก็อธิบายต่อไป ถ้าอย่างนั้นท่านก็โง่ด้วย

ข้าพเจ้าโง่อย่างไรเขาถามขึ้น เสียงแสดงว่าไม่พอใจ

อาตมาจะชี้แจงให้ฟังว่า ท่านโง่อย่างไร ร่างกายของเราเปรียบเหมือนเรือรั่ว โอฆะสงสารที่ท่านจะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ ฝั่งข้างโน้นเปรียบเหมือนพระนิพพาน ท่านกำลังพายเรือรั่ว คือร่างกายข้ามโอฆะสงสารไปสู่ฝั่งคือพระนิพพาน แต่เรือคือสังขารร่างกายของท่านกำลังจะจมก่อนที่ท่านจะถึงฝั่ง ซึ่งอยู่ไกลออกไปจนมองไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่เรือจวนจะล่ม ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าจะต้องจมน้ำตาย ยังมัวประมาทฟ้อนรำทำเพลงอยู่ จะไม่โง่อย่างไรเล่า

ผมหยุดสังเกตท่าทีของชายแก่ครู่หนึ่ง เมื่อเห็นเขายังนิ่งจึงกล่าวต่อไป ดูก่อนอุบาสก! ถ้าเป็นอาตมาจะไม่ทำอย่างนั้น เมื่อรู้ว่าตนจะต้องพายเรือรั่วข้ามแม่น้ำใหญ่ไม่ถึงฝั่งแน่ อาตมาจะไม่เกิดความท้อแท้ใจแต่อย่างใด ทั้งจะไม่ฟ้อนรำทำเพลงเพื่อหลอกบำรุงขวัญตัวเองให้ลืมว่าเรือจะล่ม แต่จะรีบตรงเตรียมหาเครื่องชูชีพใส่ในเรือไว้ให้มาก ๆ ขณะที่พายเรือไปก็ต้องคิดเสมอว่าเรือจะล่ม เมื่อเรือล่มจริง ๆ อาตมาจะรีบคว้าเครื่องชูชีพมาแนบไว้กับตัวแล้วอาศัยว่ายต่อไปจนกว่าจะถึงฝั่ง ทำอย่างนี้ท่านเห็นว่าเป็นการกระทำที่ฉลาดหรือโง่

ฉลาดมาก ๆชายแก่ตอบพลางยิ้มอย่างพอใจ แล้วก็กล่าวทบทวนเรื่องราวเปรียบเทียบของผมเบา ๆ สรีระร่างกายเปรียบเหมือนเรือรั่ว วัฏสงสารเปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ ฝั่งโน้นเปรียบเหมือนแดนเกษม คือนิพพาน แล้วเครื่องชูชีพเล่า ท่านสมณะ! จะเปรียบกับอะไร

เครื่องชูชีพเปรียบเสมือนกุศล เพราะเมื่อตายแล้ว ท่านจะนำสมบัติใด ๆ ติดตัวไปไม่ได้ แม้แต่สรีระร่างกายก็ต้องถูกฝังหรือทิ้ง ทรัพย์สมบัติก็ดี สรีระร่างกายก็ดี เป็นวัตถุอันหยาบ เราได้มาจากโลกนี้ไป เราก็ทิ้งไว้ที่แผ่นดินนี้ สิ่งที่ท่านจะนำไปในปรโลกได้ คือบุญกุศล ท่านจะได้กุศลนี้แหละเป็นเครื่องชูชีพว่ายข้ามภพข้ามชาติไปสู่ฝั่งโน้น คือพระนิพพาน ดูก่อนอุบาสก ท่านเล่าได้ทำบุญกุศลอะไรไว้บ้างหรือไม่

ไม่ค่อยได้ทำเลยท่านสมณะชายแก่ตอบอย่างเศร้า ๆ ข้าพเจ้ามัวเป็นกังวลอยู่กับบุตรภรรยาบ้าง ไร่นาบ้าง แพะบ้าง การงานในบ้านบ้าง จนไม่มีเวลาว่างพอทำบุญ

ถ้าอย่างนั้นก็น่าสงสารมาก ท่านยอมเป็นคนใช้ผู้ซื่อสัตย์ของแพะบ้าง ของไร่นาบ้าง ของการงานบ้าง แต่เมื่อมรณภัยมาถึง เมื่อเรือคือศีรษะของท่านจมลงสู่วังวน สิ่งเหล่านี้จะช่วยอะไรท่านไม่ได้เลย ท่านจะต้องไปเผชิญกับความมืดมิดภายหลังความตายแต่เดียวดาย เมื่อนั้นแหละ ท่านจะเห็นคุณค่าของการช่วยตัวเอง ถ้าท่านไม่ทำบุญกุศลไว้ ท่านจะไปอย่างยากจนขัดสน ไม่มีเสบียงอาหารหรือาวุธใด ๆ ติดตัวไปด้วย ท่านจะต้องเผชิญกับความอดอยากหิวโหย และความลำบากแสนสาหัส ดุจบุคคลที่ไม่มีชูชีพ เมื่อเรือล่มแล้วก็ต้องลอยคออยู่ในท้องทะเลหลวง อันเกลื่อนกล่นไปด้วยฉลามร้าย และปั่นป่วนด้วยพายุฉะนั้น

สังเกตดูชายชราหน้าสร้อยเศร้าลงไปกว่าเดิม เขาคงคิดเสียใจในความประมาทมัวเมาที่แล้ว ๆ มาของตน ผมจึงปลอบว่า "อย่าเสียใจเลยอุบาสก! เวลานี้ยังไม่สายเกินไปที่จะแสวงหาเสบียง คือบุญกุศลไว้ ตั้งแต่วันนี้ไป ขอให้ทำบุญกุศล โดยการให้ทานแก่สมณพราหมณ์และคนจนบ้าง รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ พยายามอดกลั้นกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงที่ฟุ้งขึ้นมาในจิตใจเป็นครั้งคราวนั้นบ้าง สรุปโดยย่อก็คือ จงคิดดี พูดดี ทำดี ทุกเมื่อและทุกสถานที่ ความดีนี่แหละคือบุญกุศลที่จะส่งท่านไปสู่สุคติภพภายหลังเรือจม ฉะนั้น อย่าประมาท

ผมเทศนาสั่งสอนชายแก่ จนพระอาทิตย์จวนจะลับแนวไม้ จึงอำลาเขาออกเดินทางข้ามแม่น้ำเนรัญชราต่อไป

_/\_ _/\_ _/\_



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP