สารส่องใจ Enlightenment

ความตายเป็นธรรมดา


พระธรรมเทศนา โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
แสดง ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

คำว่า เที่ยงหรือ แน่นหนามั่นคงหรือ จีรังถาวร
เป็นสิ่งที่โลกต้องการในส่วนที่พึงปรารถนา เช่น ความสุข เป็นต้น
แต่สิ่งดังกล่าวจะหาได้ที่ไหน
?
เพราะในโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ขัดต่อความต้องการของโลกทั้งนั้น
คือ เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปเสียสิ้น
มีแต่เรื่อง อนิจฺจํ ความไม่เที่ยงถาวรรอบตัวทั้งภายในและภายนอก
ถ้าว่าสุขก็มีทุกข์แทรกเข้ามาเสีย อนตฺตา แทรกเข้ามาเสีย
ทุกสิ่งจึงเต็มไปด้วย
ไตรลักษณ์คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
ซึ่งหาสิ่งใดมาทำลายเพื่อความจีรังถาวรไม่ได้ นอกจาก
ธรรมปฏิบัติอย่างเดียว
ดังปราชญ์ดำเนินมาแล้ว และผ่านพ้นแหล่งอันแสนทุกข์กันดารนี้ไปได้แล้ว

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้โดยถูกต้องหาที่คัดค้านไม่ได้เลย ในเรื่องสภาวธรรมเหล่านี้
เพราะเป็นของตายตัว ธรรมก็แสดงความจริงที่มีอยู่อย่างตายตัวนั้น ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์
อย่าเข้าใจว่าท่านหาอะไรมาส่งเสริมเพิ่มเติมสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ให้มากขึ้นหรือให้ลดน้อยลงไป หรือไม่มีก็หาเรื่องว่ามี
อย่างนี้ไม่มี! ท่านแสดงตามหลักความจริงล้วนๆ ทั้งนั้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด
จุดของศาสนาอันแท้จริงที่สอนเพื่อดำเนินและหลีกเลี่ยง
ไตรลักษณ์เหล่านี้ได้พอควร
ท่านก็สอนไว้แล้วว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ” – การไม่ทำชั่วทั้งปวง หนึ่ง
กุสลสฺสูปสมฺปทา” – การยังกุศลหรือความฉลาดในสิ่งที่ชอบธรรมให้ถึงพร้อม หนึ่ง
สจิตฺตปริโยทปนํ” – การทำจิตของตนให้ผ่องใสจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์ หนึ่ง
เอตํ พุทฺธานสาสนํ” – เหล่านี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
คือว่านี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์
ไม่มีองค์ใดแสดงให้แตกต่างจากนี้ไป
เพราะความจริงทั้งหลายไม่มีของแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นสมัยใดก็ตาม
มีเรื่องของ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ประจำโลกมานมนาน
แม้พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ขึ้นมา คือเป็นเวลาระหว่าง
สุญญกัป
ไม่มีคำสั่งสอนแสดงเรื่องความจริงเหล่านี้ก็ตาม
ความจริงเหล่านี้เคยมีมาดั้งเดิม มีมาตั้งกัปตั้งกัลป์โน่นอยู่แล้ว

สิ่งที่เราต้องการจะหาได้จากที่ไหน โลกอันแสนกว้างก็เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น
เมื่อคิดอย่างนี้ก็เหมือนจะหาที่เหยียบย่าง หาที่ปลงจิตปลงใจลงไม่ได้
เพราะหมดสถานที่จะวางใจพึ่งเป็นพึ่งตายได้
แต่สถานที่ว่าปลงจิตปลงใจลงไม่ได้นั้นแล คือสถานที่ที่ปลงจิตปลงใจลงได้
เพราะเป็นหลักธรรมที่พึงปลงลงได้ ด้วยการพิจารณาให้เห็นตามความจริง
พระพุทธเจ้าทรงสำเร็จความมุ่งหวังจากสถานที่นั้น
พระสงฆ์สาวกที่เป็นสรณะของพวกเราทั้งหลายก็สำเร็จความมุ่งหวังในจุดนั้น
ธรรมที่ได้นำมาประกาศสอนโลกให้สัตว์ทั้งหลายได้ยึดถือตลอดมาก็ออกมาจากจุดนั้น
คือใจ ซึ่งห้อมล้อมอยู่ด้วยกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั้นแล

แม้เป็นที่ยอมรับกันเกี่ยวกับเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่มีอยู่เต็มโลกก็ตาม
แต่ก็ไม่มีผู้เฉลียวใจต่อไตรลักษณ์ พอจะนำมาพิจารณาเพื่อถือเอาประโยชน์ได้บ้าง
นอกจากตำหนิโดยไม่คิดหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้
ด้วยการพิจารณา
ไตรลักษณ์นี้เป็นทางเดินเพื่อก้าวล่วงไปได้
ดังปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ด้วยเหตุนี้เราชาวพุทธจึงควรพิจารณา เพื่อแก้ไขส่งเสริมสิ่งที่บกพร่องให้สมบูรณ์
ด้วยคุณธรรมขั้นต่างๆ ที่จะพึงได้รับจากการพิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
ซึ่งเป็นสัจธรรมอันประเสริฐ
การที่เราบำเพ็ญอยู่เวลานี้ และบำเพ็ญเรื่อยมานี้แล
คือการดำเนินเพื่อหลบหลีกปลีกภัยทั้งหลายโดยลำดับ จนบรรลุถึง
มหาสมบัติอันพึงหวัง
จากนั้นจะเรียกว่า
นิจฺจํเป็นของเที่ยงก็ได้ เพราะไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง
ไม่มีอะไรเข้ามาทำลายจิตใจให้เดือดร้อนวุ่นวาย จะเรียกว่า
บรมสุขก็ไม่ผิด
จะเรียกว่า
อตฺตาก็ไม่น่าจะผิด เพราะเป็นตนแท้ คือตนในหลักธรรมชาติ
ไม่มี
สมมติน้อยใหญ่ แม้ปรมาณูเข้ามาเกี่ยวข้องใจ
แต่ไม่ได้หมายถึงว่า
อตฺตาที่เป็นคู่กับ อนตฺตานั้นเป็นความสมมุติอีกขั้นหนึ่ง
ซึ่งเป็นทางดำเนินเพื่อพระนิพพาน

แนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ
เพื่อความแคล้วคลาดปลอดภัยไปโดยลำดับทั้งภายนอกภายใน
ไม่มีสิ่งใดจะนอกเหนือไปจากพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้เลย
เพราะฉะนั้นศาสนาจึงไม่มีทางล้าสมัย
เป็น
มัชฌิมาอยู่ในท่ามกลางแห่งความประพฤติ เพื่อแก้กิเลสทุกประเภทเสมอไป
ไม่มีคำว่า
ล้าสมัยเป็นธรรมเหมาะสมกับโลกทุกกาลทุกสมัย
จึงเรียกว่า
มัชฌิมาคือถูกต้องดีงาม เหมาะสมกับความประพฤติ
จะประพฤติตัวให้เป็นเช่นไรในทางที่ดี ด้วยหลักธรรมที่ท่านสอนไว้แล้วนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความราบรื่นดีงามด้วยกันทั้งนั้น เฉพาะอย่างยิ่งการประพฤติต่อจิตใจ
การอบรมจิตใจยิ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในตัวเรา
เวลานี้เรามีความแน่ใจหรือยังว่า เราได้หลักเป็นที่พึงพอใจ
หรือเริ่มจะได้หลักเป็นที่พึงพอใจบ้างแล้ว ไม่เดือดร้อนวุ่นวายเมื่อคิดถึงเรื่องอนาคต
?
นับตั้งแต่ขณะต่อไปนี้จนกระทั่งอวสานแห่งชีวิต
และตลอดไปถึงภพหน้า ชาติหน้า เราเป็นที่แน่ใจได้แล้วหรือยัง
?

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้คนโง่และนอนใจ อยู่ไปอย่างไม่คิด
นักปฏิบัติธรรมต้องคิดต้องพิจารณาเสมอเรื่องความเป็นมาว่า
อายุเราเป็นมาผ่านมาแล้วเท่าไร เมื่อลบแล้วมีอะไรบ้างที่เหลืออยู่
ต่อไปจะหาอะไรมาบวกมาเพิ่มขึ้นในสิ่งที่เราต้องการ
หรือจะมีแต่เครื่องหมายลบไปเรื่อยๆ ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่า
ขาดทุน”!
เราทุกคนเกิดมาไม่ต้องการ
ความขาดทุนการค้าขายขาดทุนย่อมไม่ดี โลกไม่ปรารถนากัน
อะไรๆ ก็ตามขึ้นชื่อว่า
ขาดทุนขาดแล้วขาดเล่า ขาดไม่หยุดไม่ถอยก็ล่มจมไปได้
เราถ้าขาดทุนภายในใจ ขาดทุนจากคุณธรรมที่พึงได้พึงถึง
มีแต่สิ่งที่ไม่ดีคือกิเลส เหยียบย่ำทำลายอยู่ตลอดมา หาเวลาเอาชนะมันไม่ได้สักที
ก็ย่อมล่มจมได้เช่นเดียวกับสมบัติภายนอก
เพราะฉะนั้นจึงควรสังเกตสอดรู้เรื่องของตัวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ด้วยการใคร่ครวญโดยทางสติปัญญา
เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนาเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะนำมาทดสอบตนให้เห็นประจักษ์
ไม่มีความรู้ใดที่จะแหลมคมยิ่งกว่าความรู้ที่เกิดขึ้นจากด้านจิตตภาวนา
จะสอดแทรกไปหมดบรรดาความจริงที่มีอยู่ทั่วสรรพางค์กายและจิตใจ
ตลอดสิ่งเกี่ยวข้องทั่วไป ไม่ว่าดี ชั่ว หยาบ ละเอียด จะนอกเหนือปัญญาไปไม่ได้

การคิดค้นดูสิ่งที่ไม่เป็นสาระในการนี้ เพื่อให้ยึดเอาสิ่งที่เป็นสาระขึ้นมา
จากการค้นคิดพินิจพิจารณานี้เป็นสิ่งที่ทำได้ ดังพระพุทธเจ้าเคยดำเนินมาแล้ว
การพิจารณา อนิจฺจํ คือความไม่เที่ยง
ความแปรสภาพแห่งสังขารร่างกายและสิ่งทั่วๆ ไปนั้นแล
เป็นอารมณ์ให้จิตมีหลักยึดอันเป็นหลักเกณฑ์ เป็นสาระแก่นสารทางภายใน
นักปราชญ์ท่านพิจารณาร่างกายซึ่งเป็นของไม่เที่ยงนี้แล
ที่ได้คุณธรรมซึ่งเป็นที่แน่ใจขึ้นมาเป็นพักๆ ตอนๆ จนตลอดทั่วถึง

หนังสือเราอ่านมาจนติดปากชินใจ อ่านที่ไหนก็เจอแต่เรื่อง อนิจฺจํ เรื่อง ทุกฺขํ เรื่อง อนตฺตา
ซึ่งมีอยู่กับตัวเราที่นั่งเฝ้านอนเฝ้ากันอยู่ตลอดเวลา
แต่ไม่สะดุดจิตสะดุดใจอย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา
พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ได้สอนอย่างลอย ๆ นี่
ผู้ที่ท่านจดจารึกในคัมภีร์ต่างๆ ก็ไม่ได้จารึกแบบลอยๆ
ผู้อ่านอ่านแบบลอยๆ ไม่ได้คิด ก็เลยกลายเป็นว่า
ศาสนาเป็นของไม่จำเป็น เป็นของลอยๆไปเสีย
เหลือแต่ตำราคือตัวหนังสือในกระดาษ ทั้งๆ ที่ตัวเราเป็นคน
ลอยๆ
เราก็ไม่รู้ ไพล่ไปเห็นศาสนธรรมอันเป็นธรรมประเสริฐเลิศโลกว่าเป็นเรื่อง
ลอยๆไปเสีย
ความจริงก็คือตัวเรานั้นแล
ลอยลมหาหลักยึดไม่ได้ และก็มาเสียตัวเราที่ตรงนี้!
เพราะมองข้ามตัวและมองข้ามธรรม ซึ่งเป็นสารคุณอันยิ่งใหญ่ไปเสีย
ฉะนั้นจึงต้องใช้ความพยายามพิจารณาให้ถึงใจ
เรื่อง
ทุกฺขํก็ให้ชัดในตัวเรา เพราะมีอยู่ในตัวเราทำไมไม่รู้
พระพุทธเจ้าทำไมท่านรู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ และเป็นอะไร
อันความทุกข์นั้นนอกจากขันธ์และจิตใจแล้ว ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ในโลกนี้
เพราะเราเป็นผู้รับผิดชอบในธาตุในขันธ์นี้ ตั้งแต่วันอุบัติขึ้นมาจนกระทั่งวันอวสานแห่งชีวิต
จะต้องรับผิดชอบกันเรื่อยไปเช่นนี้ หนักเบาอย่างไรเราต้องรับภาระทั้งมวลตลอดไป
จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่พ้นภัย

เรื่อง อนิจฺจํมีอะไรแปรบ้าง หรือไม่แปร
ดูภายในตัวเรานี้ซิ ดูที่อื่นมันห่างไกลไป จะกลายเป็น
งมปลานอกสุ่ม
งมเอาในสุ่มคือในตัวเราเองนี้แหละ ค้นที่ตรงนี้
มีอะไรแปรบ้างเราเห็นอยู่ทุกระยะ ถ้าใช้ปัญญาพิจารณา

ท่านว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ
เราสวดเสียจนชินปากแต่ใจไม่อยู่กับ
ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํเผ่นไปไหนก็ไม่รู้
เลยสักแต่ว่าสวด สักแต่ว่ากันไป เป็นทำนองธรรมเนียมกันไป
แต่กิเลสที่อยู่บนหัวใจเรามันไม่ได้
ทำนองธรรมเนียม
มันเป็นกิเลสจริงๆ มันก่อกวนจริงๆ ทำความทุกข์ให้เราจริงๆ
ไม่สนใจคิดกัน จะตามทันกิเลสตัววางเพลิง คือความทุกข์ร้อนแก่ตัวเราได้อย่างไร
การแก้กิเลส การแก้ความไม่ดีภายในตัวภายในใจ จึงต้องทำด้วยความจดจ่อ
ทำด้วยความอุตส่าห์พยายาม ทำด้วยความปักจิตปักใจจงใจจริงๆ
ทำด้วยความพากเพียรจริงๆ หนักก็สู้เบาก็สู้
เช่นเดียวกับเราตกน้ำ แล้วพยายามแหวกว่ายขึ้นบนบก กำลังมีเท่าไรต้องทุ่มเทกันลงไป
จนกระทั่งชีวิตหาไม่แล้วจึงจะยอมจมน้ำตาย
หากมีกำลังพอตะเกียกตะกายอยู่แล้วจะไม่ยอมจมน้ำตาย อันนี้ก็เช่นเดียวกัน
ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทแก่สัตว์โลกด้วยพระเมตตาอย่างเต็มพระทัย
จะเข้ากันได้กับหลักพระเมตตา ที่ทรงสั่งสอนโลกด้วยอรรถด้วยธรรมทุกส่วน
เราสนองพระเมตตาท่าน ด้วยการประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญแก่ตัว
ทำไมจะทำไม่ได้ ควรสนองพระเมตตาท่านด้วยการปฏิบัติธรรม
ก็ทำเพื่อเราอย่างเดียวเท่านั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้มาแบ่งสันปันส่วนอะไรจากพวกเราเลย!

วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป ผ่านไปอยู่เรื่อย ๆ ถ้าจะสะดุดใจเราก็ควรจะสะดุด
ผ่านไปเท่าไรก็หมดไปเท่านั้น ไม่มีการย้อนกลับมาอีกในความผ่านไปแห่งร่างกายเราทุกส่วน
วัน คืน ปี เดือน มีมืดกับแจ้ง จะผ่านไปหรือผ่านมา ก็มีแต่
มืด กับ แจ้ง เท่านั้น
ตื่น
มืดตื่น แจ้งหาประโยชน์อะไรกัน?
สังขารร่างกายนับวันเวลา
ผ่านไปๆโดยลำดับ ไม่มีการย้อนกลับสำหรับร่างกายอันนี้
จะต้องผ่านไปถึงที่สุดจุดหมายปลายทางของเขาในวันหนึ่ง!
ที่ว่า
ปลายทาง นั้นก็คือที่สุดแห่งชีวิตนั้นแล
ไม่ใช่ปลายทางที่เราต้องการ ความตายไม่มีใครต้องการ! ต้องกลัวด้วยกันทุกคน
เพราะความเกิดกับความตายเป็นของคู่กันอยู่แล้ว เมื่อเกิดแล้วต้องตาย
แต่สัตว์โลกกลัวกันแต่ความตาย ส่วนความเกิดไม่กลัว
จึงโดนความตายอันเป็นผลของความเกิดอยู่ไม่หยุด

เรียนตรงนี้ให้เห็นชัดเจนจะได้หายสงสัย
เรียนอะไรก็ไม่หายสงสัยถ้าไม่เรียนตัวเอง
เพราะตัวเองเป็นผู้หลง ตัวเองเป็นผู้ยึด
ตัวเองเป็นผู้รับผลแห่งความยึดถือของตน

หรือเรียกว่า
ตัวเองเป็นผู้รับผลแห่งความทุกข์ของตัว”
ต้องเรียนที่ตรงนี้ ปฏิบัติให้เข้าใจที่ตรงนี้ จะได้หายสงสัย

ชาติปิ ทุกฺขาเรียนให้ถึงใจ ขณะที่เริ่มเกิดนั้นมันเป็นทุกข์แสนสาหัส
แต่เราจำไม่ได้ รอดตายมาแล้วถึงมาเป็นมนุษย์!
ท่านบอกว่า
ชาติปิ ทุกฺขาท่านพูดด้วยความจริง
แต่เราจับไม่ได้เสีย จึงเหมือนไม่ใช่ของจริง

ชราปิ ทุกฺขาความงกๆ งันๆ สี่ขาห้าขา สี่เท้าห้าเท้า
ไม้ยันนู้นยันนี้ดีที่ไหน
? เป็นสุขที่ไหน? มันกองทุกข์ทั้งมวล!
มรณมฺปิ ทุกฺขํก่อนที่จะตายก็เป็นทุกข์กระวนกระวายแสนสาหัส
ทั้งผู้มีชีวิตทั้งผู้ที่จะผ่านไป ต่างคนต่างมีความทุกข์เดือดร้อนด้วยกัน
ไม่มีกองทุกข์อันใดที่จะมากยิ่งกว่ากองทุกข์ในเวลานั้น
ผู้เป็นญาติเป็นมิตร ผู้เกี่ยวข้อง ลูกเต้าหลานเหลน สามีภรรยา ต้องเดือดร้อนเต็มหัวใจ
ในขณะนั้นผู้ที่จะผ่านไปก็เดือดร้อนเต็มตัว กลัวจะตายเพราะไม่อยากตาย
เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไม่เรียกว่า
ทุกข์อย่างไรเล่า

ถ้าเรียนให้เห็นตามความจริงแล้ว ทำไมจะไม่ได้สติปัญญาจากการพิจารณานี้
สิ่งทั้งปวงทำไมจึงเป็น
ไตรลักษณ์เล่า ก็เพราะเป็น กฎธรรมชาติมาดั้งเดิม
ใครๆ บังคับไม่ได้ทั้งนั้นมันถึงเป็นไปเช่นนั้น หากเป็นสิ่งที่บังคับได้โลกนี้ไม่มีป่าช้า
เพราะสัตว์หรือบุคคลบังคับมันได้ด้วยกันว่าไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย
แต่นี่เป็นสิ่งที่สุดวิสัย ทั่วโลกดินแดนจึงต้องยอมรับกัน ทั้งที่ขัดใจฝืนใจ
นี่คือเรื่องของ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ
สิ่งเหล่านี้อยู่ที่ไหนที่อธิบายอยู่เวลานี้ ก็อยู่กับเราทุกคนไม่บกพร่อง จำต้องเจอด้วยกัน
แม้ผู้เทศน์ก็พ้นไปไม่ได้เพราะเป็นความจริงเสมอกัน ท่านจึงเรียกว่า
สัจธรรม
พวกเราจงเรียน
สัจธรรมให้เข้าใจสัจธรรม
และพยายามตักตวงสติปัญญาความฉลาดแหลมคมให้พอ
ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่สลายตัว ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นเครื่องมือทำงานอยู่ด้วยดี
ให้ได้รับผลประโยชน์ตามกำลัง ไม่เสียเวลาไปเปล่า
การภาวนานั่นแหละทำให้เราทราบเรื่องเหล่านี้ได้ดี
พระพุทธเจ้าก็ภาวนาจึงทรงทราบเรื่องเหล่านี้ และนำธรรมเหล่านี้มาสอนสัตว์โลก
เราก็ดำเนินตามท่าน ให้ทราบเรื่องธรรมเหล่านี้ประจักษ์ใจ
และพ้นทุกข์ไปอย่างหายห่วง ในปัจจุบันชาติได้เป็นดีที่สุด
สมภูมิผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ไม่ต้องมาเกิดและตายอีกต่อไป

เราเคยไปเมืองนอกเมืองนา ทวีปไหนเราก็เคยไป ไปดูโลกนั้นโลกนี้
ดูโลกไหนก็ไม่หายสงสัย ดูโลกไหนก็แบกกองทุกข์ ไม่มีอะไรบกพร่อง
มี
ทุกข์ติดตามไปทุกแห่งทุกหน ตัวเราไปที่ไหนเป็นทุกข์ในที่นั่น
ถ้าเป็นสุขรื่นเริงบ้างก็เป็นความสำคัญของตนต่างหาก
แต่พอได้เห็นทุกข์ภายในนี้ เพราะการดูโลกภายในตัวนี้ ด้วยการปฏิบัติภาวนา
ก็จะปรากฏเป็น
โลกวิทูผู้รู้แจ้งโลกขึ้นมา หายสงสัยเรื่องโลก
โลกนอกโลกใน โลกใกล้หรือไกลก็ตาม
เมื่อได้พิจารณารู้เห็นเบญจขันธ์นี้ตลอดทั่วถึงแล้ว จะมีความสุขขึ้นมาในจุดนี้
จนถึงขั้นสุดท้ายอันสมบูรณ์อย่างไม่มีปัญหา
พิจารณาอย่างไร การพิจารณาขันธ์? เริ่มต้นก็พิจารณารูปกายอย่างที่ว่านี้แหละ
ดูความแปรปรวน ซึ่งเราก็ทราบอยู่ชัดๆ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นในขันธ์อันนี้
พิจารณาให้เห็นใจนั้นตามหลักธรรมชาติแล้วไม่ใช่เป็นผู้สุข ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้รู้เฉยๆ
ถ้าพิจารณาให้เข้าถึงความจริงจริงๆ แล้วต้องเป็นอย่างนั้น

ทุกข์เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพราะมันเป็นไตรลักษณ์
สุขก็เป็นไตรลักษณ์ที่อยู่ใน
วงสมมุติและเป็นไตรลักษณ์ด้วยกันทั้งนั้น
ปัญญาพิจารณาให้ชัดเจน โดยอาศัยธาตุขันธ์เป็น
หินลับปัญญาให้คมกล้าขึ้นโดยลำดับ
เพราะแยกส่วนแบ่งส่วนแห่งร่างกายให้เห็นตั้งแต่ยังไม่ตาย
เริ่มดูป่าช้าภายในนี้แหละก่อนตาย ดูตั้งแต่ขณะยังเป็นๆ นี้แหละ
อย่าด่วนให้เขานำไปสู่ป่าช้าไปสู่เมรุ
เราดูป่าช้าของเราก่อน ดูตั้งแต่ข้างนอกข้างใน ดูเข้าไปโดยละเอียดทั่วถึง
จิตจะมีความเพลิดเพลินใน
ธรรมวิจารณ์เมื่อเห็นของจริงของสกลกายนี้มากน้อย
แทนที่จะมีความอิดหนาระอาใจ มีความท้อถอยอ่อนแอ เศร้าหมองภายในจิตใจ
หรืออับเฉาเศร้าใจเหมือนโลกที่สัมผัสและเป็นกัน
แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งเป็นความรื่นเริงบันเทิงไปตามกระแสแห่งการพิจารณา
เพราะเป็นสายที่จะนำใจออกจากทุกข์โดยลำดับ
เนื่องจากใจถูกกดถ่วงจากอุปาทานเครื่องจองจำของกิเลสมานาน
พอมีทางออกได้จึงกระหายว่ายแหวกเพื่อพ้นไป
ขณะพิจารณาร่างกาย จิตใจสงบเบาโดยลำดับ เพราะการพิจารณาก็ดี การรู้เห็นก็ดี
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดี
และปล่อยวางภาระหนักคือ
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” “พร้อมอุปาทานในจิต
ที่เคยคิดว่าเป็นเราเป็นของเรา ทั้งๆ ที่กองทุกข์เต็มอยู่กับความยึดความถือนั้น
เมื่อได้หยั่งทราบด้วยปัญญาแล้ว ความยึดความถือจะทนอยู่ไม่ได้
ย่อมถอยและสลัดตัวออกตามกำลังสติปัญญา จนสลัดออกได้โดยสิ้นเชิง

การพิจารณา ขันธ์ห้ามีรูปเป็นต้น
อันได้แก่ร่างกาย และเวทนา คือความสุข ความทุกข์ และเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
โดยยึดเอาทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมาพิจารณาให้เห็นทั้งทางที่อาศัยกายเกิดขึ้น
ระหว่างกายกับทุกขเวทนากระทบกันหรือรบกัน
ที่พูดว่า
รบกันต่อสู้กันก็ได้ เพราะความชอกช้ำย่อมเข้ามาสู่จิต
ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง
ชัยสมรภูมิของกายกับทุกขเวทนา และสติปัญญาสู้รบกัน
ส่วนกายกับทุกขเวทนาเขาไม่ทราบความหมายใดๆ มีจิตเท่านั้นเป็นผู้รับความหมาย
ถ้าปัญญาไม่สามารถต้านทานหรือปิดกั้นไว้ได้ จิตใจจะมีความชอกช้ำมากทีเดียว
แต่เมื่อพิจารณากายและพิจารณาทุกขเวทนา
ให้เห็นชัดเจนตามความจริงของกาย ของเวทนาแล้ว
แทนที่จิตจะบอบช้ำ เลยกลายเป็นจิตที่ผ่องใสและอาจหาญขึ้นมา
ไม่สะทกสะท้านต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมากน้อยในเวลานั้น
ทั้งสามารถกำหนดดูทุกขเวทนาได้อย่างอาจหาญ นั่น!
การพิจารณาเพียงสองอย่างนี้ คือกายกับทุกขเวทนา ก็พอแก่การพิจารณาอยู่แล้ว
เพราะเป็นสิ่งเกี่ยวโยงกันในระหว่างขันธ์ทั้งห้ากับจิตผู้รับผิดชอบในขันธ์
แต่เมื่อจิตสัมผัสในขันธ์ใดมาก จะพิจารณาขันธ์นั้นเพื่อเชื่อมโยงกันก็ชอบธรรม


สัญญาเป็น ความจดจำ สำคัญมั่นหมาย
มีความละเอียด หลอกให้คนลุ่มหลงตามได้อย่างงายดาย ไม่ต้องท่องคาถากล่อมก็หลับได้

สังขารคือ ความคิด ความปรุงชั่วขณะๆ
แต่สิ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดก็คือ รูป ได้แก่สกลกายของเรา
กับเวทนาทั้งสามที่แสดงตัวอยู่เสมอๆ ภายในกายในใจ
อธิบายเพียงเท่านี้ก็พอจะเข้าใจได้
เมื่อเข้าใจสองอย่างนี้แล้ว เรื่องสัญญา คือความสำคัญมั่นหมาย
เรื่องกาย เรื่องเวทนา ก็ทราบกันชัดเจนด้วยปัญญาเหมือนกัน และเข้าใจในระยะเดียวกัน
ยิ่งเป็นวาระสำคัญ คือถึงขณะจะเป็นจะตายจริงๆ แล้ว
นักปฏิบัติจะถอยไปไม่ได้ ถอยก็แพ้นี่ เราไม่ต้องการความแพ้
ทุกขเวทนาจะมีมากมายเพียงไร
จะต้องต่อสู้ให้เข้าใจเรื่องทุกขเวทนาด้วยปัญญา ไม่มีคำว่า
ท้อถอย

จงพิจารณาให้เข้าใจเรื่องกายเรื่องเวทนา ที่กำลังพัวพันกันอยู่ในขณะนั้น
เรียกว่า
พัวพันกันบ้าง กำลังชุลมุนวุ่นวายกันอยู่ในขณะนั้นบ้าง
ถ้าสติปัญญาไม่มีเพียงพอในการต่อสู้ก็จะเหมาเอาว่า
เราทั้งคนนี้แหละเป็นทุกข์
เราทั้งคนนี้แหละจะตาย แต่เราก็ไม่อยากตายไม่อยากทุกข์
อันนี้แลคือการสั่งสมทุกข์ขึ้นทับถมตนเองโดยเราไม่รู้ตัว จึงควรระวังให้มาก
เดี๋ยวจะเป็นการยื่นด้ามดาบให้กิเลสความสำคัญนั้นๆ ฟันเอา ฟันเอา ล้มทั้งหงายไม่เป็นท่า
น่าสังเวชและเสียดายนักปฏิบัติ เสียเล่ห์กลให้กิเลสบนเวที ตายไปทั้งคน
แต่ถ้าพิจารณาตามหลักธรรม คือความจริงแล้ว
เอ้า! ทุกข์ก็ทุกข์ซิ มีเท่าไรจงแสดงขึ้นมา!
เราเป็นผู้ฟัง
สัจธรรมคือ ทุกขสัจจะว่า เกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นที่ไหน
ค้นดูตามเนื้อ ตามหนัง ตามเอ็น ตามกระดูก ที่ว่า
เป็นทุกข์ๆ
ดูแล้วมันก็ไม่เห็นมีอะไร ส่วนไหนก็ส่วนนั้นอยู่ ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากหนังจากเอ็นจากกระดูก ไปเป็นอย่างอื่น
มันเป็นความจริงของมัน! อยู่เช่นนั้น ทุกข์แสดงขึ้นมาก็เป็นความจริงของเขาอยู่อย่างนั้น
ทุกข์ไม่แสดงขึ้นมาก็เป็นอยู่อย่างนั้น นี่แลคือการพิจารณาด้วยปัญญา

เอ้า! จิตไม่ตาย ทุกขเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดได้ดับได้ จิตดับไม่ได้
จิตจึงทนต่อการพิสูจน์ ทนต่อความรู้ที่จะรู้สิ่งต่างๆ เพราะจิตไม่ฉิบหาย
นั้นแลเราจึงมีทางพิจารณาด้วยปัญญาอย่างเต็มที่ ไม่อัดไม่อั้น ไม่มีอะไรมาบังคับกีดขวางได้
ใช้ปัญญาย้ำลงไปว่า เอ้า ตายก็ตาย แตกก็แตก
ผู้ไม่แตกมีอยู่ เราจะทราบถึงความแตกดับของเวทนาว่าดับไปเมื่อไร ให้ทราบ
กายจะแตกให้ทราบ ไม่มีการท้อถอย จะแตกก็แตกไป
อย่าปรารถนา อย่าอยากให้ทุกข์และสิ่งไม่ต้องการดับไป
ด้วยความปรารถนา ด้วยความอยาก
นั่นเป็นตัณหา นั่นคือคมดาบของกิเลสเงือดเงื้อไว้
อย่าถลำเข้าไป จงสู้ความจริงด้วยปัญญา
จงพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน
จะแตกก็แตกไป จะสลายก็สลายไป นี่ชื่อว่าพิจารณาตามความเป็นจริงแท้
จะสนุกเพลินในธรรมทั้งหลายที่พิจารณาเห็นความจริงอย่างเต็มสัดเต็มส่วน
แม้ที่สุดร่างกายจะสลายลงไป เราก็เป็น
สุคโต
หรือยังอยู่ ก็เป็นสุขใจ องอาจกล้าหาญ ไม่มีความอับเฉาเศร้าหมองภายในใจเลย
นี่เรียกว่า
สุคโตด้วยการพิจารณา เป็นประการหนึ่ง

ประการสำคัญก็คือพิจารณาอย่างนี้แล จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ในเรื่องขันธ์ทั้งห้า
คือรูปขันธ์ก็ให้เป็นรูปขันธ์ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เวทนาขันธ์ก็เป็นเวทนา กองเวทนา หมวดของเวทนา จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
สัญญาก็เป็นสัญญา สังขารก็เป็นสังขาร วิญญาณก็เป็นวิญญาณ
แต่ละอย่างๆ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ จิตต้องเป็นจิต เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ต่างอันต่างจริงอย่านำมาคละเคล้ากัน
พิจารณาแยกออกตามความจริงของสิ่งนั้นๆ ด้วยสติปัญญาอันทันสมัย
ต่างอันก็ต่างจริงตามหลักธรรมชาติ จิตก็จริง
ด้วยอำนาจของปัญญา พิจารณาแยกแยะให้เห็นตามความเป็นจริง
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จริง
จริงทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ จริงทั้งเวลาสลายลงไป ก็สลายลงไปตามความจริงของเขา
จิตก็จริงเต็มภูมิของจิต พอถึงขั้นนี้แล้วจิตก็หมดความหวั่นไหว
ไม่กระทบกระเทือนระหว่างขันธ์กับจิต เพราะต่างอันต่างจริง

เรื่องความเป็นความตายไม่เห็นมีความหมายอะไรเลย!
เป็นความจริงแต่ละอย่างๆ เช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายที่แปรสภาพลงไปนั้นแล
ผู้นี้คือผู้กำชัยชนะไว้ได้อย่างสมบูรณ์ จะไม่เดือดร้อนเวลาตาย
จิตเป็นธรรมด๊า
ธรรมดา เพราะได้พิจารณาถูกตามหลักธรรมชาติธรรมดาไม่ปีนเกลียว
ไม่ฝืนกับหลักธรรมชาติหลักธรรมดา สติปัญญาเดินตามหลักธรรมชาติ
เพราะธรรมท่านสอนตามหลักธรรมชาติ ท่านไม่ให้ฝืนความจริง
เมื่อพิจารณาตามความจริง รู้ตามความจริงแล้ว จะไม่มีอะไรฝืนกันเลย
ปล่อยตามความจริง ย่อมจะหมดภาระการแบกหามไปเป็นทอดๆ
เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็รับผิดชอบกันไป
หากชีวิตหาไม่แล้วก็ปล่อยไปเสีย เพราะเป็นบ่อความกังวลวุ่นวาย
ไฟทั้งกองได้แก่ธาตุขันธ์นี้เอง และได้เรียนรู้แล้ว

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล
ขันธ์ทั้งห้านี้แลเป็นภาระอันหนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก
เมื่อปล่อยวางขันธ์ทั้งห้านี้ได้ด้วยปัญญาอันชอบแล้ว
ตัวเป็นผู้ดับสนิทซึ่งทุกข์ทั้งปวง หาอะไรเกิดขึ้นไม่ได้ภายในใจ
ตั้งแต่บัดนั้นไปนั่นแลท่านเรียกว่า
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
คือ สุขล้วนๆ ไม่ได้สุขด้วยเวทนา แต่เป็นสุขในหลักธรรมชาติ
เป็นสุขของจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่สุขในสมมุติ เป็นสุขในวิมุตติ จึง
ปรมํ สุขํ
นี่คือสารคุณอันสูงสุดยอด จะเรียกว่า นิจฺจํหรือ นิจธรรมธรรมเป็นของเที่ยงก็ไม่ผิด
เมื่อไม่มีอะไรจะแย้งภายในตัวแล้ว คนอื่นไม่สำคัญ
ขอให้เจ้าของรู้ตามความเป็นจริงเถิด หมดทางขัดแย้งเจ้าของซึ่งเป็นตัวสำคัญ
เมื่อรู้รอบเจ้าของนี้แล้วก็หมดปัญหาไปในทันที

นี่แหละ ที่กล่าวเบื้องต้นว่า สิ่งที่จีรังถาวรโลกต้องการ
แล้วสิ่งนี้ก็มีอยู่ในสิ่งที่ไม่ถาวรดังกล่าวแล้วตะกี้นี้
คือ อมตํ ได้แก่จิตที่ไม่ตายนี้ตอนหนึ่ง ไม่ตายแต่หมุนเวียน
เพราะอำนาจของกิเลสมันผลักไสให้ไปสู่ภพต่างๆ
เมื่อชำระกิเลสจนหมดโดยสิ้นเชิงแล้วก็เป็น
อมตํไม่ตายแต่ไม่หมุนเวียน
เราจะเรียกว่าธรรมชาตินี้เที่ยงหรือนิพพานเที่ยง กับอันนี้เที่ยงก็อันเดียวกัน!
จีรังถาวรก็ได้แก่อันนี้ เป็นที่พึงใจก็ได้แก่สิ่งนี้
หมดความหวาดความระแวงอะไรทั้งสิ้นก็คือธรรมชาติอันนี้
เพราะถอดถอนยาพิษอันเป็นข้าศึกออกจากตนแล้วโดยสิ้นเชิง!
คำว่า
ตัวในสมมุติที่ถูกปล่อยวางโดยสิ้นเชิงนั้น
เป็นตัวของพิษของภัย ตัวของกิเลสตัณหาอาสวะ
ตัวกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เมื่อปล่อยธรรมชาตินี้ได้โดยสิ้นเชิงแล้ว จึงไม่มีอะไรจะพูดต่อไปอีก
ถึงเวลาก็ไปอย่างสบายหายห่วง เมื่อชีวิตยังอยู่ก็อยู่ไป กินไป หลับนอนไป เหมือนโลกทั่วๆ ไป
เมื่อถึงกาลจริงแล้วก็ไป ไม่มีปัญหาอะไรในความเป็นอยู่หรือความตายไป
สำหรับผู้ที่สิ้นปัญหาภายในจิตใจโดยสิ้นเชิงแล้วเป็นอย่างนั้น


นี่แลคือสารคุณของมนุษย์ซึ่งได้จากศาสนธรรม
สมกับนามที่ว่า
มนุษย์เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด
นำศาสนธรรมซึ่งเป็นของประเสริฐเลิศโลก
มาเป็นเครื่องยึดและเป็นแนวทางดำเนิน หลบหลีกเลี่ยงทุกข์ทั้งหลายไปได้
จนทะลุปรุโปร่งพ้นจากภัยโดยประการทั้งปวง ชื่อว่า
มนุษย์ผู้ฉลาดแหลมคม
ตรงกับที่ว่า
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
ทำจิตให้ผ่องใสจนกระทั่งบริสุทธิ์แล้วนั้นแลชื่อว่า
เป็นผู้ทรงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้
การทรงธรรมของพระพุทธเจ้าได้ต้องทรงไว้ที่จิตนี่แล ทั้งเป็นมหาสมบัติตลอดอนันตกาล
การแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควร

sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คัดจาก ธรรมชุดเตรียมพร้อม รวมพระธรรมเทศนาโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP