จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อยู่กับประเพณีอย่างมีความสุข


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

070_destination


เมื่อวันเสาร์ถึงวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงเวลาของเทศกาลตรุษจีนนะครับ
สมัยก่อนที่ผมยังเป็นเด็ก ๆ นั้น เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่ผมชอบมากที่สุดเลย
เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะได้รับซองอั่งเปา และได้ทานเป็ด ไก่ และอาหารอื่น ๆ เยอะแยะ
ซึ่งเชื่อว่าเด็กหลาย ๆ คนที่อยู่ในบ้านที่เป็นชาวจีนแล้ว ก็ย่อมจะรู้สึกชื่นชอบเช่นเดียวกัน

หลายปีผ่านไป พอผมเริ่มเข้าวัยทำงานมาได้ไม่นาน ผมก็เริ่มไม่ค่อยจะชอบเทศกาลนี้เสียแล้ว
เพราะจากที่เคยเป็นฝ่ายได้รับซองอั่งเปานั้น กลับต้องมาเป็นฝ่ายให้ซองอั่งเปาเสียเอง
จากที่เคยเป็นคนได้นั่งทานเป็ด ไก่ และอาหารอื่นอย่างสบาย ๆ นั้น
กลับต้องเป็นคนไปหาซื้อผลไม้และของไหว้ตั้งแต่ก่อนวันงาน
และต้องไปเข้าคิวซื้อเป็ด ไก่ ที่ร้านตั้งแต่แต่เช้า ต้องจัดเตรียมสถานที่ และจัดเตรียมของไหว้
พอไหว้เสร็จ และทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ต้องมาเคลียร์สถานที่ และเก็บกวาดสิ่งของต่าง ๆ
เผากระดาษเงินกระดาษทองเสร็จแล้ว ก็ต้องเก็บกวาดลงถุงขยะไปทิ้ง
บางทีก็ต้องเป็นคนจุดประทัด จุดแล้วก็ต้องวิ่งเร็ว ๆ ให้พ้นจากระยะของประทัด
แต่ที่จะเหนื่อยที่สุดเลยก็คือ ถ้ามีงานที่ทำงานเข้ามาเยอะ ๆ ในช่วงเวลาตรุษจีนพอดี
จะขอลาหยุดทั้งวันก็ลำบาก บางทีก็ขอลาได้แค่ครึ่งเช้าหรือบ่าย เพราะคนอื่น ๆ ก็จะหยุดด้วย
บางปีนั้น ก็มีเหมือนกันที่ระหว่างไหว้ไปนั้น ที่ทำงานก็โทรศัพท์มาคุยเรื่องงานไปด้วย
ผมจึงไม่ได้รู้สึกว่าเทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงเวลาที่น่าสนุกอีกต่อไปแล้ว

สิ่งต่าง ๆ ในเทศกาลตรุษจีนนั้นก็มีพัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้หยุดนิ่ง
ในสมัยก่อนตอนที่ผมเด็ก ๆ นั้น ก็มีแค่เผากระดาษเงินกระดาษทองกันแบบธรรมดา ๆ
โตขึ้นมาอีกหน่อย กระดาษเงินกระดาษทองก็ทำเป็นรูปแบบธนบัตรและเหรียญเงินเหรียญทอง
โตขึ้นมาอีก ก็เริ่มมีทำเป็นแบบเสื้อผ้า บ้าน รถยนต์ หรือรูปแคตตาล็อคของใช้หลายอย่าง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมก็ได้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า
ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ มีกระดาษเงินกระดาษทองในรูปแบบใหม่ ๆ มาให้ซื้อกันอีกแล้ว
โดยทำเป็นรูปไอแพด
2 ไอโฟน 4 เอส กาแลคซี่แท็บ และกระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น

ข่าวนี้ ก็ทำให้มีเรื่องคุยเล่นกันว่า สมมุติว่าเราเผากระดาษไอแพด 2 ไอโฟน 4 เอส ส่งไป
และสมมุติว่าทางฝ่ายผู้รับเขาได้รับตามที่ได้เผาส่งไปจริง ๆ นะ
ทางฝ่ายที่ได้รับนั้นจะดาวน์โหลดแอ็พ (หรือ
Application) ได้อย่างไร
อีกคนหนึ่งก็ตอบว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้หรอก เพราะสตีฟ จ๊อบส์ได้ไปรออยู่ทางโน้นแล้ว
สตีฟ จ๊อบส์ก็คงจะไปดำเนินการต่อเกี่ยวกับแอ็พทั้งหลายด้วยล่ะ
เรื่องคุยเล่นจบลงแค่นี้ ไม่ได้คุยต่อไปถึงว่าต้องเผาส่งสายชาร์จไฟไปด้วยไหม
แล้วทางโน้นจะมีไฟฟ้าจากที่ไหนมาชาร์จเครื่อง มีอินเตอร์เน็ต และเฟสบุ๊คไหม ฯลฯ
(อนึ่ง ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าที่คุยกันอยู่นี้ ผมคุยเรื่องเผากระดาษเงินกระดาษทองนะครับ
ไม่ใช่เผาเครื่องจริง ๆ ถ้ามีน้อง ๆ หนู ๆ อ่านอยู่ ก็อย่าไปหยิบเครื่องจริง ๆ มาเผาเล่นนะจ๊ะ)

ส่วนซองอั่งเปาแต่ก่อนนั้น ก็เป็นแค่ซองสีชมพูหรือสีแดงแบบเรียบ ๆ
ต่อมาก็เริ่มมีรูปดอกไม้ ผลท้อ รูปเด็กยิ้ม เด็กวิ่งเล่น รูปมังกร และอื่น ๆ
มาถึงปีนี้ผมก็ได้เห็นซองอั่งเปาสีแดงเป็นรูป
Angry Birds โดยมีน้องที่ทำงานถือมาโชว์ด้วย

นอกเหนือจากประเพณีการกราบไหว้บรรพบุรุษ การเผากระดาษเงินกระดาษทอง
และการแจกซองอั่งเปาแล้ว ในช่วงเวลาเทศกาลตรุษจีนนี้ก็ยังมีประเพณีอีกหลายอย่าง
เช่น การใส่เสื้อหรือชุดสีแดง การจุดประทัด หรือการกราบไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ เป็นต้น
ประเพณีแต่ละเรื่องนี้ก็ทำไปด้วยหลากหลายวัตถุประสงค์แตกต่างกัน
เช่น เพื่อให้มีโชคลาภ (หรือบางทีก็เรียกว่าให้ เฮง ๆ) หรือเพื่อให้เกิดความสบายใจ
หรือเพื่อป้องกันหรือปัดเป่าสิ่งไม่ดีหรือสิ่งชั่วร้ายที่อาจจะมารังควาญชีวิตเรา เป็นต้น
ซึ่งอันนี้ก็ย่อมขึ้นกับแต่ละคนที่ปฏิบัติตามประเพณีนั้น ๆ ด้วย
แต่ละท่านก็อาจจะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

ในช่วงเวลาเทศกาลที่มีประเพณีหลายอย่างให้ประพฤติปฏิบัตินั้น
ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าเราอาจจะแบ่งกลุ่มคนได้ออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เชื่อถือและปฏิบัติตามประเพณีทั้งหมดอย่างเคร่งครัด
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ต่อต้านประเพณีปฏิบัตินั้น (โดยอาจจะมองว่างมงาย)
กลุ่มที่สามคือ กลุ่มที่มองและปฏิบัติตามประเพณีในส่วนที่ทำให้เกิดประโยชน์
กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ช่วงเวลาเทศกาล
ซึ่งในการนี้ ผมไม่ได้จะบอกว่าประเพณีแต่ละอย่างนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไรนะครับ
แต่ผมจะอธิบายถึงผลกระทบของประเพณีนั้นต่อคนแต่ละกลุ่ม โดยอธิบายได้ดังนี้

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เชื่อถือและปฏิบัติตามประเพณีทั้งหมดอย่างเคร่งครัด
ซึ่งผมเห็นว่ากลุ่มแรกนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่เหนื่อยและมีค่าใช้จ่ายเยอะที่สุด
เพราะประเพณีที่ต้องปฏิบัตินั้นมีหลายอย่างเหลือเกิน
หากบอกว่าจะต้องทำให้ครบ จึงจะมีความสุข จะมีโชคลาภ จะเฮง ๆ ก็คงต้องเหนื่อยไม่น้อย
เช่น ต้องเตรียมของไหว้หลายอย่างให้ครบ ต้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ ต้องแต่งชุดสีแดง
ต้องเผากระดาษเงินกระดาษทอง ต้องจุดประทัด ต้องเตรียมอั่งเปาไว้แจก
ต้องไปกราบไหว้เทพเจ้าในวันและเวลาที่กำหนดไว้ หรือต้องไปไหว้ ณ สถานที่ที่กำหนดไว้
บางแห่งก็มีฝูงชนไปกราบไหว้กันมากมาย ต้องฝ่าการจราจรและฝูงชนเข้าไปให้ได้ ฯลฯ
แถมด้วยว่าทำปีนี้แล้วก็ไม่จบหน้าที่ ปีหน้าก็ต้องทำใหม่ ต้องทำทุกปี ทำไปเรื่อย ๆ ไม่มีเสร็จกิจ
พอถึงเทศกาลอื่น ๆ ซึ่งมีประเพณีอื่น ๆ อีก ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตามประเพณีนั้น ๆ อีก
เช่น ถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็ต้องจัดเตรียมขนม และมาตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์กันกลางดึก
ถึงเทศกาลกินเจ ก็ต้องเปลี่ยนชุดหม้อ จานชาม ช้อนส้อม ให้เป็นชุดเจ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มแรกนี้ หากได้ประพฤติตามประเพณีแล้วจิตใจมีความสุข จิตใจเป็นปีติ
สิ่งที่ได้ประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นไปในแนวทางบุญกุศล และมีศีลธรรม
ก็ย่อมจะถือว่าดีและเป็นประโยชน์ครับ
แต่ก็อาจมีบางท่านที่ไปเน้นที่พิธีกรรมพิธีการบางอย่างมากเกินไป
เน้นที่ความสำคัญของประเพณีจนลืมนึกถึงบุญกุศล และศีลธรรม
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติบางคนจะไปซื้อไก่ต้ม เพื่อมาไหว้บรรพบุรุษ พอไปถึงที่ตลาด
ปรากฏว่าไก่ต้มขายหมดแล้ว จึงไปที่ร้านขายไก่ แล้วก็สั่งเชือดไก่เป็น ๆ เพื่อมาทำไก่ต้ม
อย่างนี้ก็แสดงว่าประพฤติผิดศีลธรรมแล้ว
บางท่านชอบใส่ชุดสีแดง แต่พอคนในครอบครัวไม่ใส่ชุดสีแดงเหมือนกัน
ก็โมโหและไปดุด่าว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วยความโกรธ อันนี้ก็ไม่ใช่กุศลแล้ว
บางท่านต้องการจะไปกราบไหว้เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ แต่ระหว่างที่เดินทางไปนั้น
ก็พบการจราจรติดขัด ก็โมโหไม่พอใจ เจอรถคันอื่นเบียด เจอคันอื่นแซงก็โกรธ
แล้วก็พกแต่ความไม่พอใจและความโมโหนั้นไปกราบไหว้เทพเจ้า ก็ไม่ใช่กุศลเช่นกัน เป็นต้น

หากเราคนใดคนหนึ่งเป็นเช่นนั้น เราอาจจะลองพิจารณาว่า
เราประพฤติปฏิบัติตามประเพณีเหล่านี้ก็เพื่อให้ชีวิตเราดีและมีความสุข
ฉะนั้นแล้ว ในระหว่างการประพฤติปฏิบัติตามประเพณีเหล่านี้
เราก็ควรจะมีสติคอยรู้ใจเราด้วยว่า เรากำลังคิด ทำ พูดสิ่งที่เป็นกุศล และมีความสุขหรือไม่
หากเราพยายามจะทำไปเพื่อให้ชีวิตเราดีและมีความสุข
แต่ว่าในการประพฤติปฏิบัติและตลอดเส้นทางเรามีแต่อกุศล และมีแต่โกรธโมโห หรือโลภ
แล้วสิ่งที่ทำไปเหล่านั้นจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีและมีความสุขได้อย่างไร
เพราะขณะที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็เป็นอกุศล และโมโหหรือโลภ ให้ทุกข์ใจเสียแล้ว

พิจารณาต่อไปว่า เราควรจะใช้ประเพณีทั้งหลายนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเรา
มิใช่ว่ามนุษย์เราสร้างประเพณีขึ้นมา เพื่อมาเป็นคุกขังชีวิตเราเองเอาไว้
เราไม่มีอิสระที่จะสามารถมีความสุขนอกกรงขังแห่งประเพณีไปได้
หรือหากใครที่ไม่ปฏิบัติตามประเพณีเหมือนกับเรา ก็จะกลายเป็นศัตรูของเรา
หรือว่าประเพณีมีหลายอย่างที่ต้องทำมากมาย เราเองก็ดิ้นรนสร้างความอยากในใจว่า
จะต้องทำให้ครบได้ทั้งหมด หากไม่ครบแล้วก็เป็นทุกข์ใจว่าขาดโน่นขาดนี่
ทำให้ได้แต่ความไม่พอใจ ได้แต่ความอยาก ได้แค่ความโลภ
แทนที่จะรู้สึกหรือเบิกบานร่าเริงใจในสิ่งที่เราได้ประพฤติปฏิบัติไปแล้ว
เช่นนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ใช้ประเพณี เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราแล้ว

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ต่อต้านประเพณีปฏิบัตินั้น (โดยอาจจะมองว่างมงาย)
ซึ่งผมเห็นว่ากลุ่มที่สองนี้ก็เหนื่อยเหมือนกันนะครับ และก็ต้องทุกข์ใจเหมือนกัน
โดยอาจจะทุกข์ใจด้วย
ความไม่พอใจ ที่คนอื่นประพฤติตามประเพณี
หรือด้วย
ความอยาก จะให้คนอื่นที่ประพฤติตามประเพณีนั้นลดละเลิกเสีย
หรืออาจจะไม่พอใจกระแสของประเพณีแล้วตนเองพยายามจะต้านสิ่งเหล่านั้น
ความไม่พอใจ หรือความอยากเหล่านี้ก็จะทำให้เราทุกข์ใจได้
หรือในบางที ก็อาจจะทำให้ไปพูดจาอะไรที่ทำให้เกิดอกุศลขึ้นด้วยก็ได้
เช่น เห็นคนอื่นใส่ชุดสีแดงเพื่อเป็นสิริมงคล ก็ไม่เห็นด้วยแล้วก็ไปตำหนิด่าเขา
หรือเห็นคนอื่น ๆ ไหว้บรรพบุรุษด้วยเป็ดไก่และอาหาร ก็ไม่เห็นด้วยแล้วก็ไปตำหนิด่าเขา
หรือเห็นคนอื่น ๆ จุดประทัดขับไล่สิ่งชั่วร้าย ก็ไม่เห็นด้วยแล้วก็ไปตำหนิด่าเขา
หรือเห็นคนอื่น ๆ ไปกราบไหว้เทพเจ้ากลางดึก ก็ไม่เห็นด้วยแล้วก็ไปตำหนิด่าเขา เป็นต้น
สรุปสั้น ๆ ก็คือว่าเห็นว่าคนอื่น ๆ งมงาย และประพฤติไม่ได้ดังใจเรา
แต่เรากลับไม่เห็นความไม่พอใจและความอยากในใจเรา ไม่เห็นอกุศลที่เราไปตำหนิด่าเขา
(อนึ่ง การตำหนิด่าเขา ซึ่งทำด้วยความไม่พอใจ ย่อมจะแตกต่างกับ
การแนะนำหรือสั่งสอน ซึ่งทำด้วยความเมตตานะครับ)

บางท่านในกลุ่มนี้ก็พยายามจะยกเหตุผลต่าง ๆ นานานะครับ
เช่นบอกว่า พอเทศกาลกินเจ ประเพณีก็บอกว่าต้องกินเจถึงจะดี
พอถึงเทศกาลตรุษจีน ประเพณีก็บอกว่าต้องไหว้เป็ด ไก่ หมูสามชั้น ไข่ และอื่น ๆ
อย่างนี้ประเพณีแย้งกันน่ะสิ อะไรทำนองนี้ โดยก็มุ่งที่จะไปเปลี่ยนประเพณี หรือคนอื่น ๆ
แต่ไม่ได้กลับมาพิจารณาว่าเราเองจะเปลี่ยนประเพณี หรือคนอื่น ๆ ได้จริงไหม
มีประเพณีปฏิบัติมากมายหลายอย่างในสังคม แล้วเราจะไปเปลี่ยนให้หมดได้หรือ
หากเราไม่สามารถเปลี่ยนประเพณีปฏิบัติใด ๆ ได้แล้ว ชีวิตเราจะมีความสุขไม่ได้หรือ
การที่เรามัวแต่โมโหและไปต่อต้านประเพณีนั้นเป็นประโยชน์ และเป็นกุศลหรือเปล่า
หากสิ่งที่ตนเองทำอยู่นี้ก็ยังเป็นอกุศล แต่กลับบอกให้คนอื่นทำกุศล แล้วจะใช้ได้จริงหรือ

กลุ่มที่สามคือ กลุ่มที่มองและปฏิบัติตามประเพณีในส่วนที่ทำให้เกิดประโยชน์
ผมเห็นว่ากลุ่มนี้จะสบายและมีความสุขกว่ากลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สองนะครับ
เพราะว่าไม่ได้บังคับตัวเองให้ต้องปฏิบัติครบทุกอย่างตามประเพณี
ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้จะไปต่อต้านประเพณีหรือคนอื่น ๆ ที่เขาปฏิบัติตามประเพณี
โดยกลุ่มนี้ก็จะมองและหยิบส่วนดี ๆ ของประเพณีนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์
อย่างเช่นการทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ ก็มองได้ว่าเป็นการกตัญญูกตเวที เป็นสิ่งควรทำ
เป็นการที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานและญาติพี่น้องได้มาพบปะกันหรือรวมตัวกัน
หรือการแจกอั่งเปาให้แก่พ่อแม่ หรือบุตรหลาน ก็ถือว่าเป็นการให้ทาน เป็นต้น
ตรงไหนที่ตนเองเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ได้ไปทำตาม แต่ก็ไม่ได้ไปต่อต้าน
ก็ใช้เวลาชีวิตโดยเลือกทำในสิ่งที่ดี เป็นคุณประโยชน์ และเป็นกุศล
โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปกดดันตัวเองให้เครียดว่าจะต้องทำตามประเพณีให้ครบทุกอย่าง
และก็ไม่ได้จะต้องไปเครียดต่อต้านว่าทุกอย่างตามประเพณีนั้นไม่ควรทำทั้งหมด

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ช่วงเวลาเทศกาล
ในกลุ่มที่สี่นี้ถือว่าช่วงเวลาเทศกาลนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรจากช่วงเวลาปกติ
โดยก็ทำตัวตามปกติเหมือนกับช่วงเวลาที่ไม่ได้เป็นช่วงเทศกาล
เหตุที่กลุ่มนี้ไม่ให้ความสำคัญนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวกับความเข้าใจในธรรมะเสมอไปนะครับ
แต่อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ให้ความสำคัญแก่เทศกาลเพราะเหตุอื่น ๆ ก็ได้
เช่น บางคนเป็นพวกบ้างาน
(Workaholic) ชอบทำแต่งานโดยไม่สนใจวันหยุดใด ๆ
หรือบางท่านมีหน้าที่ภารกิจหลายเรื่อง ต้องรับผิดชอบมากมาย
จะเทศกาลหรือไม่เทศกาล ก็ต้องทำหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ โดยไม่แตกต่างกัน
หรือบางท่านไม่ให้ความสำคัญเพราะไม่รู้เรื่องเทศกาลอะไรกับเขาเลย
หรือบางท่านไม่ให้ความสำคัญเพราะเห็นว่าตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไร
หรืออาจจะไม่ให้ความสำคัญเพราะเข้าใจในธรรมะก็ได้ เช่น พิจารณาว่าทุกวันนั้นไม่ได้ต่างกัน
โดยมีกลางวันกลางคืนเหมือนกัน มียี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน เรามีโอกาสที่จะตายได้เช่นกัน
เราจึงต้องทำแต่ละวันให้ดีที่สุด ต้องทำดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์เช่นกัน

ในส่วนตัวผมนั้น เริ่มต้นจากอยู่ในกลุ่มแรก พอเริ่มเข้าวัยทำงานก็ย้ายมากลุ่มที่สอง
หลังจากเริ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมก็ย้ายมาอยู่กลุ่มที่สาม และก็แว่บมาอยู่กลุ่มที่สี่ในบางคราว
พวกเราแต่ละท่านก็อาจจะลองพิจารณานะครับว่าตัวเราเองอยู่ในกลุ่มไหน
และควรจะต้องปรับแนวคิดหรือการประพฤติปฏิบัติตรงไหนบ้างหรือไม่อย่างไร
เพื่อที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมากยิ่งขึ้น และช่วยทำให้เราใช้เวลาชีวิตของเรา
ในช่วงเวลาเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งมีประเพณีมากมายนี้ ได้อย่างมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
อันย่อมจะอำนวยให้ชีวิตของเรามีความสุขและคุณค่ามากขึ้น และเป็นบุญกุศลมากขึ้นนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP