ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

สุมนาสูตร ว่าด้วยสุมนาราชกุมารีทูลถามปัญหา


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๓๑] ครั้งนั้นแล สุมนาราชกุมารีแวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และราชกุมารี ๕๐๐ นาง
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นประทับนั่งแล้วได้ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้ สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ๒ คน
มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่า ๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งไม่ให้
คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่คนทั้งสองนั้น
ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษมีความแตกต่างกันหรือ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุมนา คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษมีความแตกต่างกัน
คือ บุคคลผู้ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยฐานะ ๕ ประการ
คือ อายุที่เป็นทิพย์ วรรณะที่เป็นทิพย์ สุขที่เป็นทิพย์ ยศที่เป็นทิพย์ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์
สุมนา บุคคลผู้ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้
.

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์
แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษมีความแตกต่างกันหรือ
.

. สุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษมีความแตกต่างกัน คือ
บุคคลผู้ให้เป็นมนุษย์ ย่อมข่มบุคคลผู้ไม่ให้ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุที่เป็นของมนุษย์
วรรณะที่เป็นของมนุษย์ สุขที่เป็นของมนุษย์ ยศที่เป็นของมนุษย์ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์
สุมนา บุคคลผู้ให้เป็นมนุษย์ย่อมข่มบุคคลผู้ไม่ให้ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
.

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่บุคคลทั้งสองนั้น
ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษมีความแตกต่างกันหรือ
.

. สุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษมีความแตกต่างกัน คือ
บุคคลผู้ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบุคคลผู้ไม่ให้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ
เมื่อถูกขอร้องย่อมใช้สอยจีวรมาก เมื่อไม่ถูกขอร้องย่อมใช้สอยน้อย
เมื่อถูกขอร้องย่อมฉันบิณฑบาตมาก เมื่อไม่ถูกขอร้องย่อมฉันน้อย
เมื่อถูกขอร้องย่อมใช้สอยเสนาสนะมาก เมื่อไม่ถูกขอร้องย่อมใช้สอยน้อย
เมื่อถูกขอร้องย่อมบริโภคบริขารคือยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก
เมื่อไม่ถูกขอร้องย่อมบริโภคน้อย และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด
เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย
ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย
สุมนา บุคคลผู้ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบุคคลผู้ไม่ให้ด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
.

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าบุคคลทั้งสองนั้นบรรลุอรหัต
แต่บุคคลทั้งสองนั้นทั้งที่ได้บรรลุอรหัตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษมีความแตกต่างกันหรือ
.

. สุมนา เราไม่กล่าวว่ามีเหตุแตกต่างกันใด ๆ แห่งวิมุตติกับวิมุตติในข้อนี้เลย.

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมี
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ
เพราะชื่อว่าบุญไรเล่าเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต
.

. อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ
เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต
.

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ
ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น
ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ
เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย
ตกรดแผ่นดิน เต็มที่ดอนและที่ลุ่ม ฉันใด
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น
ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ ยศ วรรณะ สุข
และเปี่ยมด้วยโภคะ ละไปแล้วย่อมบันเทิงใจในสวรรค์
.

สุมนาสูตร จบ


(สุมนาสูตร ปฐมปัณณาสก์ สุมนาวรรค
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๖)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP