จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ความสุขหลายระดับที่เราเลือกได้


 

งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


069_destination


ในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา
ผมได้ไปร่วมสวดมนต์ที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีประชาชนไปร่วมงานอย่างล้นหลามครับ
ผมออกจากบ้านค่อนข้างดึก ซึ่งกว่าจะไปถึงวัดก็ใกล้จะห้าทุ่มแล้ว
ทางวัดจัดกิจกรรมไว้หลากหลายสำหรับญาติโยมที่มีจริตและความต้องการที่แตกต่างกัน
เดินไปที่มุมหนึ่งก็เห็นมีให้กราบไหว้พระ ถวายสังฆทาน อีกมุมหนึ่งก็ทำบุญหล่อพระ
อีกมุมหนึ่งให้ร่วมพิธีสวดสะเดาะเคราะห์ (โดยมีสายสิญจน์สีขาวครอบศีรษะผู้ร่วมพิธีด้วย)
เดินไปอีกด้านหนึ่งที่จะสวดมนต์ก็มีพระภิกษุกำลังแสดงธรรมเทศนา
โดยได้นำพระราชดำรัสของในหลวงมาเทศน์สอนญาติโยมเกี่ยวกับ
เรื่องความไม่ประมาท การมีสติรู้ตัว การมีปัญญารู้คิด รวมถึงเรื่องความเพียร
เก้าอี้นั่งนั้นเต็มหมดนานแล้ว หนังสือสวดมนต์ก็แจกหมดไปแล้ว (แต่ผมมีติดตัวไปด้วย)
ผมก็ไปหาบริเวณพื้นที่ว่าง ๆ ที่ไม่ไกลมาก และสามารถได้ยินเสียงจากลำโพง
แล้วก็นั่งตามพื้นแถว ๆ นั้น โดยก็มีญาติธรรมหลายกลุ่มนั่งอยู่ด้วยกัน

พอพระภิกษุเทศน์จบตอนประมาณห้าทุ่มกว่า พระภิกษุอีกรูปหนึ่งก็เริ่มนำสวดมนต์
ญาติโยมก็ร่วมสวดกันไปจนถึงเวลาใกล้ ๆ จะเที่ยงคืนก็สวดจบ
จากนั้น พระภิกษุท่านก็ให้บอกให้แต่ละคนนั่งสมาธิ
ทุกคนก็นั่งสมาธิข้ามมาปีใหม่แล้ว จากนั้นร่วมกันแผ่เมตตา
เสร็จแล้วพระภิกษุท่านก็ให้พร แล้วทุกคนก็เดินทางกลับ
ผมก็ไม่ทราบว่ามีกิจกรรมอื่นอีกไหม แต่เห็นหลาย ๆ ท่านก็เริ่มเดินทางกลับนะครับ

หากเราจะลองมองเพียงสถานที่แห่งเดียวคือวัดที่ผมได้ไปร่วมกิจกรรมนี้
จะเห็นได้ว่าแต่ละท่านนั้นจะมีกิจกรรมที่หลากหลายแตกต่างกัน
บางท่านอาจจะเพียงแค่มากราบไหว้พระ ถวายสังฆทาน ร่วมทำทานอื่น ๆ
บางท่านอาจจะเพียงแค่มาร่วมพิธีสวดสะเดาะเคราะห์
บางท่านอาจจะเพียงแค่มาร่วมฟังเทศนาธรรม
บางท่านอาจจะเพียงแค่มาร่วมสวดมนต์ และนั่งสมาธิ
บางท่านอาจจะมาร่วมกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแค่มาทำสิ่งใดสิ่งเดียว
ซึ่งก็เป็นไปตามแต่จริตและและความต้องการของแต่ละท่านที่แตกต่างกัน
ในการนี้ แต่ละท่านก็ย่อมจะได้ปีติ ความอิ่มอกอิ่มใจ และบุญกุศลที่แตกต่างกันไป
ตามจริต ความศรัทธา ความรู้ความเข้าใจ และการร่วมกิจกรรมที่แตกต่างกันนั้น

หากเราจะมองออกไปนอกวัดดังกล่าว มองไปถึงท่านทั้งหลายอื่น ๆ บ้าง
ในเวลาเดียวกันนั้น ท่านทั้งหลายอื่น ๆ ก็คงจะมีกิจกรรมของแต่ละท่านหลากหลาย
เช่น บางท่านก็อาจจะไปร่วมกิจกรรมทำนองเดียวกันที่วัดแห่งอื่น หรือสถานที่อื่น
บางท่านอาจจะสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้าน
บางท่านอาจจะมัวยุ่งกับการเตรียมของสำหรับตักบาตรทำบุญในวันรุ่งขึ้น
บางท่านอาจจะต้องทำงานในหน้าที่ หรือทำงานกิจการของตน
บางท่านอาจจะร่วมงานฉลองปีใหม่กับครอบครัว
บางท่านอาจจะร่วมงานฉลองปีใหม่กับเพื่อน ๆ หรือคนที่รัก
บางท่านอาจจะนั่งชมรายการโทรทัศน์
บางท่านอาจจะไม่สนใจอะไร และเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ
บางท่านอาจไม่อยากจะนอน ต้องการอยู่ถึงเที่ยงคืน แต่ก็เผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว
โดยก็ย่อมจะมีกิจกรรมอื่น ๆ มากมายหลากหลายนะครับ
ซึ่งสำหรับแต่ละท่านที่ทำกิจกรรมที่แตกต่างกันนี้
ก็ย่อมที่จะมุ่งหวัง และย่อมได้รับความสุขจากแต่ละกิจกรรมแตกต่างกันไปเช่นกัน

หากเรามีจริตอย่างไรและต้องการที่จะทำกิจกรรมอะไรในเวลาดังกล่าว
เราย่อมสามารถจะใช้เวลาชีวิตของเราไปทำสิ่งนั้น ๆ ซึ่งผลที่ได้รับก็จะแตกต่างกัน
ความสุขที่ได้รับก็แตกต่างกัน ฉะนั้นแล้ว เราก็สามารถที่จะเลือกได้นะครับ
ว่าเราเองจะทำกิจกรรมอะไรในเวลาดังกล่าว และจะได้รับความสุขแบบไหน

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงช่วงเวลาในคืนส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่เท่านั้น
หากเราจะพิจารณาเวลาในวันอื่น และช่วงเวลาทั้งหมดในชีวิตของเรา
ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกันว่า
เราเลือกใช้ชีวิตอย่างไร เราก็จะได้รับผลสืบเนื่องจากการใช้เวลาชีวิตดังกล่าว
ฉะนั้นแล้ว ก็เป็นตัวเราที่แหละที่เลือกความสุขในแบบต่าง ๆ ตามจริตของตนเอง

สำหรับบางคนนั้น ดิ้นรนขวนขวายหาความสุขแก่ตนเอง
แต่สิ่งที่ทำลงไปนั้น กลับเป็นการสร้างความทุกข์ให้มากยิ่งขึ้น
เพราะไปสร้างเงื่อนไขแก่ตนเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องมีอย่างนี้
จะต้องได้อย่างโน้น จะต้องอยู่อย่างนี้ ถึงจะมีความสุข
ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขนั้นทำให้ชีวิตของเราทุกข์ไปเรื่อยจนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสำเร็จ
และหากเงื่อนไขนั้น ไม่สำเร็จ ก็ทำให้ชีวิตเราต้องทุกข์ไปเรื่อย ๆ อีก

อย่างเช่นบางท่านนั้นมีชีวิตอยู่ดี ๆ ก็มีความสุขดีอยู่แล้วในปัจจุบัน
แต่อยู่ ๆ จิตใจก็สร้างเงื่อนไขให้ชีวิตเพิ่มเติมว่า ถ้าฉันได้มีกระเป๋าแพง ๆ
ได้มีนาฬิกาแพง ๆ ได้มีบ้าน ได้มีรถ ได้มีแฟนดี ๆ มีลูกดี ๆ แล้วฉันจะมีความสุข
ซึ่งบางทีก็ทำให้เราต้องไปขวนขวายดิ้นรนหาสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาให้ได้
เพื่อที่ว่าตนเองจะได้มีความสุขตามเงื่อนไขที่ตนเองได้สร้างขึ้น
(ในบางที พอเราได้สิ่งเหล่านั้นมาจริง ๆ แล้ว แทนที่จะช่วยให้มีความสุข
แต่กลับกลายเป็นการสร้างภาระหนักที่มากขึ้นแก่ชีวิตตนเอง)
ระหว่างที่ดิ้นรนขวนขวายหานั้น จิตใจสะสมแต่ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น
ตอนแรกตนเองเป็นคนสร้างเงื่อนไข แต่ต่อมา เงื่อนไขนั้นกลับมาบงการคนสร้างเสียเอง

แต่หากเราลองอีกทางหนึ่ง เราไม่ได้สร้างเงื่อนไขสำหรับความสุขของเรา
เราพอใจในสิ่งที่เราได้ เรามี เราเป็นในปัจจุบัน
เราวางแผนชีวิตตามเหตุผลและตามสมควร เราขยันทำไปตามหน้าที่และตามสมควร
เรายอมรับในผลที่จะเกิดขึ้นตามมาเนื่องจากการกระทำของเรานั้น
ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีว่า จิตใจเราไม่ต้องทุกข์เพราะการดิ้นรนขวนขวายอะไรนั้น
(แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องมีอะไร หรือไม่ได้ต้องได้อะไรนะครับ
หากสมควรจะได้ จะมี จะเป็นในสิ่งที่ควรจะได้ จะมี จะเป็นแล้ว เราก็ยอมรับว่าเป็นไปตามนั้น)

เมื่อบอกว่าเรามีสิทธิที่จะเลือกความสุขได้ โดยจะได้รับตามที่เราได้เลือกกระทำ
บางท่านอาจจะสงสัยว่าความสุขนั้นมีหลายระดับแตกต่างกันหรืออย่างไร
คือถ้าหากความสุขทุกอย่างเหมือนกันหมดนั้น เราก็ไม่ต้องเลือกก็ได้นะครับ
อย่างสมมุติว่าเรามีเงินอยู่หนึ่งพันบาท
เรานำเงินนั้นไปเที่ยวและใช้คนเดียว เราก็จะมีความสุขแบบหนึ่ง
เรานำเงินนั้นพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวและใช้ด้วยกัน เราก็จะมีความสุขแบบหนึ่ง
เรานำเงินนั้นพาแฟนไปเที่ยวและใช้ด้วยกัน เราก็จะมีความสุขแบบหนึ่ง
เรานำเงินนั้นพาพ่อแม่ไปเที่ยวและใช้ด้วยกัน เราก็จะมีความสุขแบบหนึ่ง
เรานำเงินนั้นไปให้ทานหรือไปร่วมทำบุญกุศลอื่น ๆ เราก็จะมีความสุขแบบหนึ่ง
เรานำเงินนั้นไปให้ญาติที่กำลังเดือดร้อนยืมชั่วคราว เราก็จะมีความสุขแบบหนึ่ง
ซึ่งจะเห็นได้ความสุขทั้งหลายเหล่านี้ก็จะแตกต่างกัน
ในการประพฤติปฏิบัติอื่น ๆ ก็เช่นกันนะครับที่ว่าความสุขจะแตกต่างกัน
เช่น การให้วัตถุทาน การให้ธรรมทาน การให้อภัยทาน การถือศีล การเจริญเมตตา
การเจริญสมาธิ การเจริญสติ การเจริญปัญญา การเข้าถึงฌาน การเข้าถึงวิมุตติ ฯลฯ

เมื่อช่วงก่อนวันปีใหม่ ผมได้สนทนาในเว็บบอร์ดกับญาติธรรมชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง
ในเรื่องเกี่ยวกับความสุขในการฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่
และเรื่องความสุขในการได้ชมดอกไม้ไฟนั้น ซึ่งอยู่ได้ไม่นาน จึงไม่น่าสนใจเท่าไร
(เรื่องราวก็ทำนองที่ได้เล่าในคอลัมน์
เพื่อนธรรมจารี
ตอนที่ชื่อว่า
มันมาอีกแล้ว ในวารสารธรรมะใกล้ตัวฉบับที่ ๑๓๖ นะครับ)
ญาติธรรมชาวต่างประเทศท่านนั้น (ซึ่งก็เป็นชาวพุทธด้วย) ได้ให้ความเห็นว่า
การที่เราเป็นชาวพุทธนั้น ไม่ได้หมายความว่า
เราจะต้องยอมสละหรือทิ้งความสุขทั่ว ๆ ไปในทางโลกทุกอย่าง
โดยเราก็ย่อมจะสามารถที่จะมีความสุขทั่ว ๆ ไปในทางโลกตามปกติได้
เพียงแต่ว่าเราจะต้องรู้เท่าทันเท่านั้นเองว่าความสุขเหล่านี้มันไม่เที่ยง
แล้วเราก็อย่าไปยึดติดกับมันเท่านั้นเอง


ผมถามกลับไปว่า สมมุติว่าให้เราเลือกระหว่างชายสองคน
ชายคนแรกมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีความสุขเมื่อได้เห็นดอกไม้ไฟ
ชายคนที่สองมีความสุขอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเทศกาลปีใหม่หรือไม่ก็ตาม
และไม่ว่าจะมีการยิง และได้เห็นดอกไม้ไฟหรือไม่ก็ตาม
เราอยากจะเป็นชายคนไหนในสองคนนั้น


ญาติธรรมชาวต่างประเทศตอบกลับมาว่า
แน่นอนอยู่แล้ว เราทุกคนก็ย่อมอยากจะเป็นชายคนที่สอง
แต่ปัญหาที่สำคัญสำหรับเราทุกคนก็คือ เราจะอยู่อย่างชายคนแรกได้อย่างไร


ผมให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่เราน่าจะต้องแบ่งอย่างนี้ว่า
ปัญหาว่าเราจะอยู่อย่างชายคนแรกได้อย่างไรนั้น ย่อมมีความสำคัญสำหรับ
หลาย ๆ ท่านที่ต้องการอยู่อย่างชายคนแรก
ส่วนหลาย ๆ ท่านที่ต้องการอยู่อย่างชายคนสองนั้น น่าจะให้สำคัญว่า
ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีชีวิตได้อย่างชายคนที่สอง
โดยคนสองกลุ่มนี้จะต้องการไม่เหมือนกัน และประพฤติแตกต่างกัน


จากนั้น ผมก็อธิบายต่อไปว่าที่เขาเข้าใจว่าชาวพุทธเราจะต้อง ยอมสละหรือทิ้ง
ความสุขทั่วไปในทางโลกทุกอย่างนั้น อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว
กล่าวคือ เมื่อเราได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมในระดับหนึ่ง
เราจะเห็นได้ว่าความสุขทั่ว ๆ ไปในทางโลกนั้น เป็นความสุขสั้น ๆ ชั่วคราว
เป็นความสุขที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากมาย หรือไม่ได้มีคุณค่ามากมายอะไร
แต่เรามุ่งสนใจหรือให้ความสำคัญกับความสุขจากการเดินในเส้นทางธรรมมากกว่า
ส่วนความสุขทั่ว ๆ ไปในทางโลกนั้นถือว่า เล็กน้อย หรือจิ๊บจ๊อยสำหรับเรา
เราไม่ได้ให้ความสำคัญ และไม่ได้หยิบฉวยความสุขเหล่านั้นขึ้นมายึดถือไว้
ในเมื่อเราไม่ได้หยิบฉวยมาถือไว้ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันแล้ว
จะมาบอกว่าเรา
ยอมสละหรือทิ้งก็คงไม่ใช่ เพราะว่าเราไม่ได้หยิบมาถือแต่แรกแล้ว

ลองเปรียบเทียบกับสมัยที่พวกเราเป็นเด็กเล็ก ๆ นะครับ
หากพวกเราได้ทาน
อมยิ้ม น่ารักและอร่อย ๆ สักอันหนึ่ง
พวกเราก็มีความสุขได้แล้วใช่ไหมครับ แต่เมื่อพวกเรามีอายุมากขึ้น ๆ
ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ๆ ผ่านชีวิตมามากขึ้น ๆ
ความปรารถนาในความสุขของเราย่อมเปลี่ยนไปแล้ว
โน่นล่ะครับ ต้องได้โทรศัพท์มือถือทันสมัย ต้องได้เสื้อผ้าสวย ๆ ต้องได้แท็ปเล็ต
ต้องได้รถยนต์ ต้องมีบ้าน มีงานดี ๆ มีรายได้เยอะ ๆ มีแฟนดี ๆ มีลูกดี ๆ ฯลฯ
ความสุขจากการได้ทานอมยิ้มเป็นสิ่งที่ไม่ได้สำคัญอะไรกับเราแล้ว
ถามว่าเราต้อง
ยอมสละหรือทิ้ง ความสุขจากการทานอมยิ้มหรือเปล่า
ก็คงจะตอบว่า
เปล่า นะครับ เราไม่ได้ยอมสละหรือทิ้งมันหรอกนะ
แต่เมื่อเรามีประสบการณ์มากขึ้น มีความรู้มากขึ้น มีปัญญามากขึ้น
ใจเราก็จะไม่ไปหยิบฉวยความสุขจากการทานอมยิ้มขึ้นมาถือไว้อีก

ฉะนั้นแล้ว เรา ๆ ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมก็ทำนองเดียวกันล่ะนะครับ
ถึงเวลาเราก็จะลดละเลิกสนใจความสุขทั่ว ๆ ไปทางโลกไปเอง เพราะเห็นว่ามันไม่ได้มีค่าอะไร
แต่ไม่ได้เป็นเพราะว่าเรามาศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว จะต้องสูญเสียโน่นสูญเสียนี่นะครับ
จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้สูญเสียหรอกนะ มีแต่ว่าเราจะได้ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ๆ
และก็จะลดละเลิกสิ่งไร้สาระทั้งหลาย ลดละเลิกการให้ความสำคัญกับความสุขทั่ว ๆ ไปในโลก
และเราได้เห็นทางเดินไปสู่ความสุขในระดับที่เหนือกว่านั้นขึ้นไปอีก



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP