สารส่องใจ Enlightenment

ส่งท้ายปีเก่า-รับพรปีใหม่


พระธรรมเทศนาโดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
แสดงเมื่อ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ณ วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต

สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ สุปภาตํ สุหุฏฺฐิตํ
สุขโณ สุมุหุตฺโต จ สุยิฏฺฐํ พรหฺมจาริสุ
ปทกฺขิณํ กายกมฺมํ วาจากมฺมํ ปทกฺขิณํ
ปทกฺขิณํ มโนกมฺมํ ปณิธี ต ปทกฺขิณา
ปทกฺขิณา นิ กตฺวาน ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ


บัดนี้จะได้แสดงธรรมเทศนาอันให้ฉายาว่าส่งท้ายปีเก่ารับเอาพรปีใหม่
เพื่อให้สมกับกาลนิยมดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ปีเก่าได้ล่วงเลยไปแล้ว ๗ วัน และได้รับปีใหม่เข้ามาแทนแล้วก็ตาม
แต่ยังไม่ทันพ้นกาลซึ่งควรจะกล่าวถึงอยู่
เพราะคำว่าเก่านี้หมายถึงของที่ล่วงเลยมาแล้ว
เช่นดังปีหนึ่งมี ๑๒ เดือนที่ล่วงไปแล้วนี้ เป็นต้น นี้ก็ล่วงมาแล้วเพียง ๗ วันเท่านั้น
ไม่นานอะไรจึงสมควรจะกล่าวถึงอยู่โดยแท้


ความจริงเดือน ปี เป็นเรื่องของพระอาทิตย์ พระจันทร์และนักขัตฤกษ์เดือนดาว
หากหมุนเวียนไปตามจักราศีของมันต่างหาก ไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับมนุษย์ของเราเลย
คนเราจะนับหรือไม่นับ มันก็หมุนเวียนไปตามธรรมดาของมันอยู่เช่นนั้น
ตลอดกาลแต่ไหนแต่ไรมา โน้นมันเป็นมาตั้งแต่โลกเกิดโน้นก่อนเราเกิดเป็นไหนๆ
ปีใหม่คนเราจะทำการสนุกหรือไม่ เดือนปีเขาก็ไม่เห็นมีการเดือดร้อนอะไร
คนเราเสียอีกบางคนสนุกงานปีใหม่ เที่ยวหลายๆ วันกระเป๋าแห้ง
กลับบ้านไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ หน้าเศร้า
หนักเข้าผัวเมียทะเลาะกัน ลูกเต้าพลอยเป็นทุกข์ไปด้วย
บางคนเที่ยวสนุกจนเลยขอบเขตกลับบ้านไม่ถูก
โน่นกว่าจะกลับได้ไปปรากฏตัวอยู่ที่เรือนจำโน้นก็มี


ที่เกี่ยวข้องกับคนเรานั้นก็คือความเสื่อมสูญอายุของคนเรา ซึ่งขึ้นอยู่กับวันคืน เดือน ปี
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องวัดแล้ว
ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าอายุชีวิตของคนเราหมดไปแล้วเท่าไร ได้กี่ปีกี่เดือนแล้ว
มิใช่วัน คืน เดือน ปี จะมาสร้างฐานะร่ำรวยเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่เรา
นอกจากจะมาส่องแสงสว่างหรือทำความมืดให้แก่เรา
เพื่อเราจะได้ประกอบกิจกรรมกระทำความดี เพื่อความผาสุกพลานามัยให้เจริญก้าวหน้า
เมื่อประกอบกิจกรรมเหน็ดเหนื่อยพอควร
มืดแล้วจะได้พักผ่อนหลับนอนเอากำลังไว้ทำงานต่อไป


ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ มีความต้องการความสุข ความร่ำรวย
มีเกียรติยศชื่อเสียง มีบริษัทบริวารคนนิยมชมชอบมาก
พยายามทุกๆ วิถีทางเพื่อให้สำเร็จผลอันนั้น
แม้เกิดก็จะให้ได้วัน คืน เดือน ปี ที่ดีๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ
พอครรภ์แก่ถ้วนกำหนดแล้ว ไม่ว่าวันคืนเดือนปีอะไร มันไม่รอทั้งนั้น
แม้แต่เวลาหรือสถานที่ไม่ว่าบ้านหรือป่า มันคลอดออกมาทั้งนั้น
ผู้แม่ของเด็กเล่าก็มิได้คำนึงถึงเรื่องนั้นเลย อยากจะคลอดๆ ให้หมดทุกข์ร้อนไปเสียที
การแต่งงานก็ไม่เป็นไปตามปรารถนาอีก
บางคู่หมั้นกันไว้แล้ว หาฤกษ์งามยามดีกี่หมอๆ ก็ไม่ได้สักที จนถึงกับเลิกร้างกันไปก็มี
คู่ที่หาฤกษ์ได้ดีๆ เล่า บางทีอยู่กินด้วยกันไปไม่กี่วัน ต้องเลิกร้างกันก็มี
หรือมิฉะนั้นอยู่ด้วยกันไปด้วยการเดือดร้อนระทมทุกข์
ทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดวันยังค่ำก็มี
บางทีสามีเป็นนักสุรา ภรรยาเป็นนักไพ่ ไม่มีเวลาประกอบสัมมาอาชีพ
ความจนบีบบังคับหัวใจ เพราะรายได้ไม่พอแก่การประกอบอบายมุข
ลูกเต้าตาดำๆ เกิดขึ้นมาไม่เดียงสาอะไรกับพ่อแม่ ก็พลอยได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

ฉะนั้นวัน คืน เดือน ปี จึงมิได้ทำอะไรให้คนดีขึ้นมาเลย
นอกจากตัวของเราเท่านั้นที่จะทำตัวของเราให้ดีขึ้น


งานปีใหม่ซึ่งคนไทยเราถือมีการทำบุญตักบาตร
เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับเอาพรปีใหม่นั้นเป็นการกระทำที่ดีแล้ว น่าสรรเสริญ
ถึงแม้วัน คืน เดือน ปี เป็นเรื่องของการหมุนเวียนตามจักราศีของเดือนดาวดังกล่าวแล้วก็ตาม
แต่คนเรามาถือเอาพอเป็นฤกษ์ทำความดีเท่านั้น
หากไม่ยึดถือเอาเรื่องเหล่านั้นมาเป็นเครื่องหมายเสียแล้ว
คนเราก็จะไม่รู้จักกาลเวลาซึ่งกันและกัน
ดังวันงานปีใหม่ที่แล้วไปนี้ ต่างก็ทราบกันดีทุกๆ คน
แต่จุดประสงค์ที่พวกเราจะทำความดีมิได้อยู่ที่วันขึ้นปีใหม่
อยู่ที่นิมนต์พระท่านมารับบิณฑบาตไทยทานของที่พวกเราพากันมาเตรียมไว้
เมื่อมารวมพร้อมกันในที่แห่งเดียวแล้ว นอกจากจะเป็นการแสดงความพร้อมเพรียงกัน
และเพื่อเป็นการรักษาประเพณีประจำปีของชาวพุทธแล้ว
ยังเป็นเครื่องเพิ่มพูนประสาทศรัทธาของกันและกันอีกด้วย


ความจริงแล้วการทำความดี ย่อมทำได้ทุกๆ เมื่อ ไม่เลือกกาลเวลาและสถานที่
การทำความชั่วก็เช่นเดียวกัน
แต่การทำความชั่วให้เกิดอัปมงคล การทำความดีให้เกิดสิริมงคล
สมกับพุทธนิพนธ์คาถาในสุปุพพัณหะสูตร ที่ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า

สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณฯ

ซึ่งแปลใจความว่าเวลาที่สัตว์ประพฤติชอบ
ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี และขณะดี ครู่ดี บูชาดีแล้ว ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเป็นประทักษิณ (ทำให้หนักแน่นเป็นเหมือนแขนส่วนเบื้องขวา)
ความปรารถนาของท่าน (จึงจะ) เป็นทักษิณส่วนเบื้องขวา
สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นประทักษิณ ส่วนเบื้องขวาแล้ว
ย่อมได้ประโยชน์ทั้งหลาย อันเป็นประทักษิณเบื้องขวา ดังนี้
รวมความแล้วการที่จะต้องกระทำทั้งหมดด้วยกาย วาจา และใจ
ถ้ากระทำให้เป็นประทักษิณ พร้อมด้วยองค์ ๓ นี้ คือ
มีความเพียรหนักแน่นเปรียบเหมือนความแข็งแกร่งของข้างขวา ๑
มีสติปัญญารอบคอบในการงานนั้นๆ ๑
ทำให้ถูกต้องกับกาลเวลานั้น ๑
แล้วการงานนั้นๆ ย่อมสำเร็จได้ผลเป็นที่พึงพอใจ
ไม่ว่าการงานทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม ทั้งดีและชั่ว
แต่ในคาถานี้หมายเอาเฉพาะการงานที่ดีเป็นผลให้เกิดความสุข


งานปีใหม่นี้ก็เพื่อรับเอาพรความสุขปีใหม่ ส่งท้ายปีเก่าเหมือนกัน
ฉะนั้นจึงควรพูดถึงพรอันเราทั้งหลายจะพึงได้รับในปีใหม่นี้ คืออะไร
และอะไร ในปีเก่าที่เราทั้งหลายควรส่งเสียให้พ้นๆ ไป
มิใช่อะไรก็รับเอาทั้งหมดและส่งเสียทั้งสิ้น
สิริมงคลอันเป็นผลให้เกิดความสุขความเจริญจะเกิดขึ้นแก่คนเรา
ก็ต้องอาศัยการกระทำความดีด้วยกาย วาจาและใจ
ให้เป็นประทักษิณดังแสดงมาแล้ว
มิใช่อยู่เฉยๆ เมื่อขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ มกราคมแล้ว พรปีใหม่ก็จะเข้ามาสวมเอาเลย


พุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างก็มีจิตศรัทธา มีหน้าตาอันยิ้มแย้มแจ่มใส
ซึ่งแสดงถึงความสุขกายสบายใจยิ่งกว่าวันอื่นๆ แล้วในวันนี้
การรอคอยตักบาตรอยู่นั้นนับว่าพากันได้รับพรปีใหม่ทั่วหน้ากันทุกคนแล้ว
เมื่อพากันได้รับพรปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคมฉันใด
วันเดือนต่อไปของปีใหม่ที่ย่างเข้ามาถึงนี้
ก็ขอจงพากันทำอย่างนั้นให้ได้รับพรอย่างนั้นตลอดปีนี้เถิด
จึงสมกับว่าเรารับพรปีใหม่แท้ มิใช่รับเอาวันเดียวจะคุ้มค่าตลอดปี
เพราะโลกอันนี้มันมีความทุกข์มากกว่าความสุข
ฉะนั้นรับเอาความสุขทีเดียว เอาไปใช้ตลอดจึงไม่คุ้มค่า
เหมือนกับความหิวอาหารของคนเรา หิวมากกว่าความอิ่ม
อิ่มไม่กี่ชั่วโมงหิวอีกแล้ว จำเป็นจึงต้องรับประทานอยู่บ่อยๆ
จึงจะคุ้มความหิว แล้วมีกำลังทำงานได้ ฉันนั้น
พรสำหรับพวกเราจะพึงได้รับเพื่อความสุขตลอดปีนั้น มิใช่มีอย่างเดียว
แต่ทำบุญตักบาตรเท่านั้น ความจริงมีอยู่มากมายหลายอย่าง
เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นมาได้ ๑ ปี เรายังไม่ตาย
มีชีวิตเหลือไว้ให้เราได้ทำความดีอีกก็ควรที่จะพากันยินดีกับการได้ของเรา
แล้วสร้างความดีอันจะให้เป็นผลเกิดความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป
อย่าพากันประมาทปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปเสียเปล่า
โดยมิได้ทำความดีอะไรทดแทนไว้เสียเลย


นอกจากการทำทานอันจะเป็นสิริมงคลให้เกิดผลความสุขแล้ว ยังมีอีกมาก
ในที่นี้จะนำมาแสดงเพียง ๔ ข้อ พอเป็นอุทาหรณ์
ที่จะนำมาให้เกิดพรความสุข ทั้งแก่ตนและคนอื่นด้วย

๑. ให้มีทาน การสละแบ่งปันของๆตนให้แก่คนที่ควรให้
๒. พูดไพเราะ ไม่เป็นเครื่องแสลงหูแก่คนอื่น
๓. จงทำแต่สิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์แก่กันและกัน
๔. ทำตนให้สม่ำเสมอ ไม่เย่อหยิ่งจองหอง

พรสี่ประการนี้ หากทุกคนนำไปเก็บไว้ใช้จนตลอดปีแล้ว อาจเหลือไว้ใช้ในปีต่อไปก็ได้
เพราะยิ่งใช้ก็ยิ่งงอกงาม ไม่หมดเหมือนอย่างสตางค์


ทาน การสละวัตถุสิ่งของแก่คนอื่น ถึงจะให้ไปของเราก็ยังไม่หมด
นอกจากไม่หมดแล้ว เรายังได้ความอิ่มใจ ความเลื่อมใส
ความสุขใจในการกระทำความดีของตน แล้วยังเป็นเครื่องสมานมิตรไมตรี
เกิดความนิยมยินดีแก่ผู้ได้รับและผู้รู้ทั้งหลายอีกด้วย
ความได้ทั้งหลายดังกล่าวมานี้ จะประทับแน่นแฟ้นอยู่ในดวงใจของเรา
ไม่มีวันเสื่อมหายเลยตลอดวันตาย


วาจาที่พูดไพเราะ ก็ยิ่งดีเลิศ โดยที่เรามิได้ลงทุนแม้แต่สตางค์เดียว
ขอแต่ให้พูดไพเราะ พูดจริง พูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์
เว้นการพูดเท็จโกหก มารยาหลอกลวง เพ้อเจ้อ เหลวไหล
หรือเสียดสีสับส่อให้เกิดความวิวาทกันแล้ว
เราก็จะมีแต่ความสุขใจ ได้เพื่อนมิตรที่ดี มีศีลธรรมนำให้เกิดสันติสุขทุกเมื่อ


การงานไม่ว่าจะทำด้วยกาย ด้วยวาจา และใจก็ตาม
ถ้ามุ่งแต่จะให้เกิดประโยชน์แก่กันและกันแล้ว
เว้นสิ่งอันจะให้เกิดโทษเสื่อมเสียและเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่นเสีย
โลกอันนี้ก็จะเป็นโลกสันติสุข เป็นโลกที่น่าอยู่อาศัยไม่ดิ้นรนต่อไปอีกแล้ว
มนุษย์ทั้งหลายที่เดือดร้อนดิ้นรนเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมนุษย์เราเห็นแก่ตัว
แล้วกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นส่วนมาก
ปราศจากความเห็นอกเขาอกเรา มันจึงได้เป็นอยู่เช่นนี้


ทำตนให้สม่ำเสมอในบุคคลนั้นๆ ในสิ่งนั้นๆ
ไม่เย่อหยิ่งจองหอง ยกตนข่มเพื่อน เห็นคนอื่นสู้ตนไม่ได้
ใครจะคบค้าสมาคมเขาก็ทำเป็นทีว่าคบเพื่อเป็นสมบัติความรู้ไว้เท่านั้น
แต่ในใจแล้ว เขาเกลียดขี้หน้าไม่อยากเห็นเลย
การทำตนให้สม่ำเสมอ ย่อมได้รับความนิยมชมชอบในสังคมทั่วไป
เป็นผู้ใหญ่คนก็รัก เป็นผู้น้อยเขาก็เอ็นดู ประชาชนย่อมช่วยบริหารรักษาเขาตลอดเวลา


พรทั้งสี่นี้ยังไม่ได้รับ หรือรับเอาไว้แล้วแต่ยังไม่ครบสี่
ก็ขอได้พากันรับเอานั้นเสีย ในปีใหม่นี้จึงจะมีความสุขอันแน่นอนถาวร
ความสุขที่ได้รับหรือส่งเป็นของขวัญก็ดี
สุขกินเลี้ยงปีใหม่ส่งท้ายปีเก่าก็ดี หรือสุขที่เที่ยวชมงานก็ดี
เป็นความสุขไม่คุ้มค่าและไม่ถาวรอะไรนัก
บางทีบางรายอาจสุขฝ่ายหนึ่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งอาจดิบหรือไหม้ไปก็ได้ ใครจะตามไปรู้เห็น
นี่เป็นการรับพรความสุขปีใหม่อย่างไม่ผิดหวัง
หากเราไม่ประพฤติตนตามหลักให้เกิดความสุขสี่ข้อดังกล่าวมานั้นแล้ว
จะไปขอพรจากคนเฒ่าคนแก่ หรือผู้ที่เราเคารพนับถือ
เข้าวัดหาพระอาจารย์กี่อาจารย์ ก็เอาเถิด คงไม่สำเร็จผล
นอกจากจะรักษาประเพณีอันดีงามไว้เท่านั้น


ส่วนปีเก่าที่เราส่งท้ายนั้นเล่า ก็โดยทำนองเดียวกัน
คือว่าให้ตรวจดูความประพฤติของเรา ตามข้อปฏิบัติทั้งสี่ข้อที่ได้แสดงมาแล้วนั้น
หากข้อใดเราได้ปฏิบัติมาถูกต้องดีแล้ว ก็จงรักษาไว้เพื่อเป็นพรปีใหม่ต่อไป
และได้ชื่อว่าเราได้พรเหลือมาจากปีเก่าไม่ขาดทุน
คำว่าส่งท้ายปีเก่านั้น มิใช่เราจะส่งทั้งหมดทุกๆ อย่าง
สิ่งที่ดีมีประโยชน์เราก็เก็บไว้ใช้บ้าง
ภาษาเมืองเหนือเขาเรียกว่า
สังขารล่วง-ล่องเป็นสำนวนที่ลึกซึ้งมาก
แต่คนสมัยนี้ไม่ค่อยคิดและสนใจในคำพูดนั้นเท่าไรนัก
สังขารหมายถึงสิ่งปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าเป็นรูปก็ได้แก่มนุษย์-สัตว์ เป็นต้น
ถ้าเป็นนามก็ได้แก่ความคิดนึกปรุงแต่งภายในจิตใจของคนเราเป็นต้น
คำว่า ล่วง หมายถึง อาการกิริยาที่ล่วงเลยหรือพ้นไป เก่าแก่
ล่อง หมายถึงอาการไปตาม เช่น ล่องตามกระแสน้ำไป ไหลไปสู่ที่ต่ำ
ความหมายก็พ้นล่วงเลยไปอย่างเดียวกัน ปีเก่าพ้นไป
รูปร่างสังขารชีวิตคนเราก็สิ้นไปหมดไป


ฉะนั้น ความชั่วเหลวไหลทั้งหลายที่มีอยู่ในใจของเรา
ที่ประพฤติไม่ตรงต่อหัวข้อความสี่ประการดังแสดงมาแล้วนั้น
จงปล่อยให้มันล่วง-ล่องเลยพ้นไปกับอายุสังขารชีวิตปีเก่าเสีย
อนึ่งความผิดพลาดประการใด ที่ได้ล่วงเกินด้วยทวารทั้งสาม
จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ในบุคคลหรือในการงานใดๆ ก็ตาม
ทั้งสองฝ่ายจงได้ส่งไปพร้อมกับความสิ้นไปแห่งปีเก่านี้ ให้หมดสิ้นเสีย
แล้วตั้งต้น ระวังสังวร ปฏิบัติตามพรปีใหม่ต่อไป
แม้ในจิตใจของท่านทั้งหลายหากยังมีนึกคิดเกลียดโกรธเพ่งโทษปองร้ายใครอยู่
หรือได้พูดส่อเสียดกล่าวเท็จ ยุยงให้เขาแตกความสามัคคีซึ่งกันและกันก็ดี
ความเลวร้ายทั้งหมดดังกล่าวมาแล้วนี้ก็ดี
หรือความเลวร้ายนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็ดี
ทุกๆ คนจงพากันส่งไปพร้อมกับความสิ้นไปแห่งปีเก่านี้เสีย
นี่ปีเก่าก็เพิ่งจะพ้นไปไม่นานนัก หากทุกคนจะตามไปส่งก็ยังทัน


การส่งท้ายปีเก่ารับพรปีใหม่ ดังแสดงมานี้ จึงจะถูกต้องเป็นของแน่นอน
ผลของความสุขก็ถาวรดีกว่า
เมื่อทำได้ดังว่ามานี้ โลกจึงจะเป็นสันติสุข
ไม่เพียงแต่ส่งเสียงไชโยๆ ขอให้ได้รับความสุขปีใหม่เท่านั้น
แต่กายยังไม่ละบาป ปากก็ยังเหม็นกลิ่นน้ำเมาฟุ้งอยู่
ในใจก็ยังผูกพยาบาทอาฆาตแค้นเจ็บใจใครต่อใครอยู่ หาสำเร็จอันแท้จริงไม่

ดังแสดงมาในธรรมมิกถาอำนวยอวยพรความสุขปีใหม่
ส่งท้ายปีเก่าเท่าที่แสดงมาแล้วนี้
หวังว่าพอจะเข้าใจนำไปปฏิบัติได้ เพื่อสำเร็จประโยชน์ดังความหวัง
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ


sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ส่งปีเก่า-รับพรปีใหม่"
ที่มา
http://www.thewayofdhamma.org/page3_2/patum1.html



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP