สารส่องใจ Enlightenment

สังคหวัตถุธรรมนำชาติรุ่งเรือง


พระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส (๓ จบ)
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโขติ.

บัดนี้จะได้แสดงพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อประดับความรู้ความฉลาดของพุทธบริษัททั้งหลาย โดยสมควรแก่เวลา
คือวันนี้จะได้แสดงถึงเรื่องความสามัคคี ดังพุทธศาสนียที่ยกขึ้นเบื้องต้นนั้นว่า
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข
ความพร้อมเพรียงของคนหมู่มากนำมาซึ่งความสุข

คนหมู่มากนั้นเมื่อพร้อมเพรียงกันละความชั่ว ประพฤติความดี
จึงจะนำมาซึ่งความสุข ดังนี้ พระพุทธภาษิตนี้จะได้อธิบายเป็น ๒ ตอน

ตอนแรกนั้นพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้คนเรานั้นมีความสมัครสมานสามัคคีกัน
ทำกิจธุระที่ควรทำ เพราะเกิดมาแล้วก็ต้องแสวงหาความสุขความเจริญ
จึงจะสมกับนามว่าเป็นมนุษย์
ธรรมดามนุษย์นี้จะเกิดอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องเกิดมาหลายคนอยู่ร่วมกัน
ทีนี้เมื่อเกิดมาร่วมกัน มีความคิดความเห็นตรงกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนๆ กัน
รวมอยู่กันเป็นหมู่เป็นพวก เราก็เลยเรียกกันว่า “ชาติ”
ชาตินี้แหละ มีความประสงค์ให้ปรองดองสามัคคีกัน
เพราะความปรองดองสามัคคีกันนี้ทำให้มีกำลังมาก
ในอันที่จะประกอบกิจเพื่อให้คนหมู่มากได้อยู่เย็นเป็นสุข

คราวนี้ความสามัคคีจะเกิดมีขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยมีการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน
เช่นการสละสิ่งของที่แสวงหามาได้โดยทางชอบ
ให้แก่คนทุกข์ คนจน คนอนาถาหาที่พึ่งไม่ได้
คนมีอวัยวะร่างกายไม่สมประกอบ ไม่สามารถจะหาเลี้ยงตนเองได้

อันนี้เรียกว่าให้ด้วยการสงเคราะห์
คือด้วยเมตตาจิตในฐานะที่มองเห็นเป็นมนุษย์ เพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน
ให้อีกประเภทหนึ่งนั้น ได้แก่ ให้โดยบูชาพระคุณของท่านผู้มีอุปการคุณแก่ตน
มีมารดา บิดา ครู อุปัชฌายอาจารย์ พระราชามหากษัตริย์
หรือตลอดถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข
เหล่านี้ก็ได้ชื่อว่ามีคุณทั้งนั้น
ควรที่จะบริจาคทรัพย์สมบัติข้าวของให้แก่ท่านเหล่านี้ในโอกาสที่ควรจะให้
คำว่าในโอกาสที่ควรจะให้ ในที่นี้ก็หมายความว่า
เช่น มารดาบิดา เมื่อท่านแก่ชราภาพมากแล้วอย่างนี้ ก็ไม่ควรจะให้ทำงานหนักหนา
ผู้เป็นลูกก็ควรที่จะมีความขยันหมั่นเพียร ศึกษาเล่าเรียนมีวิชาความรู้
แล้วก็ประกอบกิจการงานที่ตนชำนิชำนาญนั้น นำมาซึ่งเงินทองข้าวของ
แล้วก็มอบให้บิดามารดาใช้จ่าย บำรุงความสุขเท่าที่จะพึงเป็นไปได้
และให้มารดาบิดาได้ทำบุญทำทาน
ให้อย่างนี้ ได้ชื่อว่าให้โดยบูชาคุณท่านผู้มีอุปการคุณแก่ตน

การให้บริจาคทานอย่างนี้ย่อมจะเห็นผลในปัจจุบัน
คือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกันไว้ได้ ไม่ให้แตกร้าว สามัคคีกัน
ในระหว่างลูกกับพ่อแม่ ในระหว่างผัวกับเมีย
ในระหว่างญาติพี่น้องด้วยกัน ในระหว่างคนที่เกิดร่วมชาติเดียวกัน
เมื่อมีการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันด้วยวัตถุสิ่งของอย่างนี้
ก็ย่อมมองเห็นคุณของกันและกัน แล้วไม่คิดเบียดเบียนกัน

นอกจากการสงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของแล้ว
ก็ต้องสงเคราะห์ด้วยการกล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
ทำให้ผู้ฟังนั้นได้ความรู้ความฉลาด
ด้วยวาจาอันประกอบไปด้วยศิลปวิทยาต่างๆ
หรือเป็นวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ฟังแล้วรู้สึกว่าเย็นอกเย็นใจ
การกล่าววาจาอันเป็นสุภาษิตพร้อมทั้งคำไพเราะเพราะพริ้งนี้
นับว่าเป็นสิ่งที่ปรารถนาของคนเราในโลก
อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน
มันยังชอบให้มนุษย์กล่าววาจาที่อ่อนหวานต่อมันเช่นเดียวกัน

นอกจากการกล่าววาจาที่อ่อนหวานต่อกันและกันนี้
ก็ยังจะต้องวางตนประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ส่วนรวมอีกด้วย
ข้อนี้หมายความว่าเราต้องคิดทำอะไร จะต้องคิดให้
ทำเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ส่วนรวม
อย่าไปคิดเห็นแต่แก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียว
เมื่อทำได้อย่างนี้ทุกคนไป
ประโยชน์ที่จะพึงได้ก็สามารถสมัครสมานสามัคคีกันได้ในหมู่คนที่อยู่ร่วมกัน
ซึ่งเรียกว่า “ชาติ” หรือ “ประเทศ” นี้
เราก็จะมีความสมัครสมานสามัคคีกันได้อย่างเหนียวแน่น

นอกจากการคิดทำประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดังกล่าวมานั้นแล้ว
ก็ยังจะต้องวางตนให้เสมอไม่ถือตัว
คนเรานี้มันก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เกิดมาในโลกนี้
มันก็มีบุญมีกุศลมากน้อยต่างกันตกแต่งมา
บางคนก็มีบุญมากทำให้มีเกียรติมียศมาก
บางคนก็มีบุญน้อยมาตกแต่งให้มีเกียรติ มียศ มีชื่อเสียงแต่น้อย มีทรัพย์สมบัติแต่น้อย
ดังนั้นความเป็นอยู่ของคนเราจึงไม่สม่ำเสมอกัน
แต่เมื่อประสงค์ที่จะให้สมัครสมานสามัคคีกันได้ดี
ผู้มียศมากก็ต้องลดหย่อนผ่อนลงมาหาผู้ที่มียศน้อย
วางตนให้เข้ากับผู้มีเกียรติมียศน้อยให้ได้
ไม่ให้ผู้มีเกียรติมียศมีชื่อเสียงน้อยนั้นสะดุ้งหวาดกลัวเกินไป
อย่างนี้แล้วผู้น้อยก็จะจงรักภักดีต่อผู้ใหญ่ ไม่ทิฐิมานะ กระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่

เรียกว่าสังคหวัตถุธรรม ธรรม ๔ อย่างนี้
พระศาสดาตรัสว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของคนหมู่มากไว้ได้
นี่การที่เราจะมาสร้างชาติกันให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้
เราก็ต้องอาศัยปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้แหละ
เราจึงจะสามารถสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองไปได้


sathu2 sathu2 sathu2

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก "พลังความสามัคคี" ในหนังสือรวมธรรมเทศนา ๑๐๘ กัณฑ์ เล่ม ๒
ที่ระลึกในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสตร์ เอสโซ่



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP