จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

การทำบุญอุทิศบุญกุศล (ตอนที่ ๑)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


066_destination


เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผมได้เห็นคำถามญาติธรรมท่านหนึ่งในเว็บบอร์ด
ซึ่งตั้งคำถามว่าเวลาที่เราอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้อื่นนั้น จะทำให้บุญกุศลของเราลดลงหรือไม่
ในคำถามนี้ การที่จะพิสูจน์คำตอบให้เห็นกันชัด ๆ ว่าบุญกุศลลดลงหรือไม่นั้น
ย่อมจะพิสูจน์กันได้ยาก เพราะบุญกุศลเป็นของละเอียด ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา
ไม่เหมือนกับเวลาที่เราให้สิ่งของที่จับต้องได้ หรือโอนเงินในบัญชีให้แก่บุคคลอื่น
ซึ่งเราจะสามารถเห็นได้ว่าสิ่งของเหล่านั้นลดลง หรือว่าตัวเลขในบัญชีนั้นลดลง
แต่สำหรับบุญกุศลแล้ว เราไม่สามารถจะตรวจวัดได้ว่าแต่เดิมเรามีบุญกุศลอยู่เท่าไร
เราอุทิศไปแล้วเหลือเท่าไร ได้เพิ่มมาอีกเท่าไร รวมแล้วเท่ากับว่าได้มาหรือเสียไปเท่าไร
เราจึงไม่สามารถจะทราบได้ว่าเมื่ออุทิศไปแล้ว บุญกุศลจะลดลงหรือหมดไปหรือไม่

ในเมื่อพิสูจน์ให้เห็นได้ยาก เราลองมาพิจารณากันทั้งสองแนวทางนะครับ
ทั้งในแนวทางที่ว่าบุญกุศลนั้นไม่สามารถลดลงได้ และสามารถลดลงได้
ในแนวทางแรก สมมุตินะครับว่า บุญกุศลนั้นเป็นสิ่งที่อุทิศแล้วก็ไม่ลดลง
เพราะว่าบุญกุศลเป็นสิ่งที่ใครทำก็ย่อมจะได้กับคนทำ ใครไม่ทำก็ย่อมจะไม่ได้กับคนที่ไม่ทำ
ยกตัวอย่างว่า มีชายสามคนนั่งอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง ชายคนที่หนึ่งได้ถวายสังฆทาน
ชายคนที่สองได้ยกมือไหว้อนุโมทนาในบุญกุศลของชายคนที่หนึ่ง
ชายคนที่สามนั่งคุยโทรศัพท์มือถือกับแฟน และไม่สนใจชายสองคนแรก
ดังนี้ บุญกุศลย่อมเกิดกับชายคนที่หนึ่ง และชายคนที่สอง
แต่ไม่เกิดกับชายคนที่สาม เพราะว่าชายคนที่สามไม่ได้ทำอะไรเลย

แต่หากต่อมาชายคนที่หนึ่งบอกกับชายคนที่สามว่า
ตนเองมีจิตใจปรารถนาดีต่อชายคนที่สาม
และตั้งใจถวายสังฆทานเพื่ออุทิศบุญกุศลนั้นให้กับชายคนที่สาม
(ผมสมมุติเพิ่มว่าชายคนที่สามเป็นบิดาของชายคนที่หนึ่งก็แล้วกันครับ เดี๋ยวจะคิดไปถึงไหน)
ชายคนที่สามก็ย่อมจะมีความรู้สึกที่ดีบางอย่าง และรู้สึกว่าได้อะไรบ้างใช่ไหมครับ
ความรู้สึกดี สบายใจ หรือสุขใจของชายคนที่สามนั้นก็เปรียบกับบุญกุศลที่เขาได้รับ
แต่หากชายคนที่สามไม่ยินดีอะไรด้วย เขาไม่สนใจและไม่ใส่ใจ ก็คือไม่รับบุญที่อุทิศให้นั่นเอง

ถามว่าความรู้สึกดี สบายใจ หรือสุขใจของชายคนที่หนึ่ง
จากการที่เขาได้ถวายสังฆทานนั้น จะต้องลดลงหรือสูญหายไปเพราะว่า
ชายคนที่สามนั้นได้มีความรู้สึกดี สบายใจ หรือสุขใจมากขึ้นหรือเปล่า
ก็คงจะตอบว่าไม่เกี่ยวกันเลย ความสุขของแต่ละคนจะเพิ่มหรือลดก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง
ชายคนที่สามก็มีความสุขของเขาไป และชายคนที่หนึ่งก็มีความสุขของเขาไปเช่นกัน
หากชายคนที่หนึ่งมีความรู้สึกดี สบายใจ สุขใจจากการที่เขาได้ถวายสังฆทานแล้ว
ไม่ว่าชายคนที่สามจะยินดีพอใจ หรือไม่พอใจในการที่ชายคนที่หนึ่งอุทิศบุญกุศลให้ตนก็ตาม
ก็ย่อมจะไม่ไปกระทบความรู้สึกดี สบายใจ สุขใจของชายคนที่หนึ่งที่ได้เกิดขึ้น
จากการถวายสังฆทานนั้น เพราะว่าทั้งสองส่วนนี้ไม่เกี่ยวกัน
กล่าวคือ ทั้งสองคนอาจจะยินดีพอใจทั้งสองคน ไม่ยินดีทั้งสองคน
เฉย ๆ ทั้งสองคน หรือคนหนึ่งคนใดยินดีพอใจก็ได้

ดังนั้นในแนวทางแรกนี้ ก็เห็นว่าแม้เราจะอุทิศบุญกุศลใดไปก็ตาม บุญกุศลนั้นไม่ลดลง
แต่เมื่อได้แสดงเจตนาอุทิศแล้วก็เท่ากับว่าเจตนาสละบุญกุศล หรือให้บุญกุศลแก่ผู้อื่น
อันย่อมถือเป็นทานเช่นกัน ก็ย่อมจะได้บุญกุศลเพิ่มขึ้นอีกจากการอุทิศนั้น
และในส่วนของผู้รับบุญกุศลที่อุทิศนั้น หากสามารถทราบได้แล้ว ก็ย่อมมีความยินดีปีติ
และอนุโมทนาในบุญกุศลที่ผู้อื่นได้อุทิศให้ ก็ย่อมจะได้บุญกุศลเช่นกัน
(แต่หากไม่สามารถทราบได้ เช่น ไปอยู่ภพภูมิที่ไม่สามารถรับบุญกุศลที่อุทิศได้
ก็ย่อมจะไม่สามารถยินดีปีติ และไม่สามารถร่วมอนุโมทนาบุญได้ด้วย)

ทั้งนี้ ในแนวทางแรกนี้มีข้อพิจารณาสนับสนุนว่ามีเหตุผลที่สอดคล้องกับหลักกรรม
กล่าวคือ ไม่ว่าเราทำสิ่งใดก็ตาม กรรมที่เราทำนั้นก็จะคอยตามให้ผลแก่เรา
(เว้นแต่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์แล้ว กรรมจึงไม่สามารถตามไปให้ผลได้)
ในเมื่อเราทำบุญกุศลไว้ บุญกุศลนั้นก็จะคอยตามให้ผลเช่นกัน
โดยไม่สามารถจะอุทิศบุญกุศลนั้นเพื่อให้บุญกุศลลดลงหรือสูญหายไปได้
ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับบาปอกุศลที่เราไม่สามารถยกไปให้คนอื่น เพื่อทำให้ลดลงหรือหมดไป
แต่เราต้องรับกรรมในบาปอกุศลที่เราได้ทำไว้นั้นเอง

ในแนวทางที่สอง สมมุตินะครับว่าบุญกุศลนั้นเป็นสิ่งที่อุทิศแล้วลดลงได้
เช่น เรามีบุญกุศลอยู่ส่วนหนึ่ง หากเราอุทิศบุญกุศลส่วนนั้นแล้ว
บุญกุศลส่วนนั้นก็จะสามารถลดลงหรือหมดไปได้ (สมมุตินะครับว่าเป็นเช่นนี้)
แต่แม้กระนั้นก็ตาม พึงทราบว่าเรื่องบุญกุศลนั้นมีความซับซ้อนยิ่งกว่าสิ่งของอื่น ๆ
เพราะว่าบุญกุศลนั้นเกิดขึ้นได้หลายทาง และหนึ่งในหลายทางนั้นก็คือ “ทาน”
บุญกุศลที่เกิดจาก “ทาน” นั้นเกิดจากการให้ การสละ
ยิ่งเราให้สิ่งที่มีคุณค่ามาก ยิ่งเราให้สิ่งที่สละได้ยากมาก บุญกุศลนั้นก็ยิ่งเกิดขึ้นมาก
เช่นเวลาที่เราให้ของที่มีคุณค่ามาก สละได้ยาก และเราสุขใจจากทานนั้นมาก
เหมือนอย่างที่มีคำกล่าวว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้”
บางท่านอาจจะมองว่าคำกล่าวนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเราให้สิ่งใด ๆ ออกไปแล้ว
สละสิ่งใด ๆ ออกไปแล้ว ไม่ว่าสิ่งที่เราให้นั้นจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งนั้นควรจะต้องลดลง
แต่ตัวบุญกุศลนั้นไม่เหมือนกันนะครับ เพราะบุญกุศลในทานนั้น เกิดจากการให้ การสละ

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรานำสิ่งของไปถวายพระหรือไปให้แก่บุคคลอื่น
สิ่งของที่เราให้ไปนั้นย่อมจะลดลงหรือหมดไป แต่ว่าเราได้บุญกุศลจากทานนั้น
กล่าวคือ เมื่อเราให้หรือสละสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ด้วยเจตนาที่จะให้หรือถวายเป็นวัตถุทาน
เราย่อมจะได้บุญกุศลที่เกิดจากทานที่เราได้ทำนั้น
(การให้ธรรมทาน และอภัยทานก็ทำนองเดียวกันนะครับ)
ฉะนั้น เวลาที่เราสละสิ่งใด ๆ ไปก็ตาม เราก็จะได้บุญกุศลที่เกิดจากทานขึ้นมา

ถามว่าทำไมการทำทานหรือการสละออก จึงช่วยให้เกิดบุญกุศลได้?
เหตุผลหนึ่งที่ช่วยอธิบายก็คือ เมื่อเรายินดีในการสละออก
จิตใจเราก็ยึดถือในสิ่งเหล่านั้นลดลง จิตใจเราก็จะมีความสบายใจ โล่งเบา
แต่หากจิตใจเรายึดถือ และแบกสิ่งใด ๆ ไว้หนัก จิตใจก็จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น
ในลักษณะของการอุทิศบุญกุศลก็เช่นกัน
เมื่อเราสร้างบุญกุศลขึ้นมา และเรายึดถือหวงบุญกุศลนั้น
เราก็ย่อมจะยึดติด ยึดถือและห่วงกังวลกับบุญกุศลเหล่านั้น
หากบุญกุศลนั้นหายไป หมดไป ก็ทำให้เราทุกข์ใจ ใจเราไม่ได้เป็นอิสระแท้จริง
ใจเรายังถูกล่ามโซ่ ถูกพันธนาการไว้โดยบุญกุศลที่เราได้ทำไว้นั้น

แต่หากเราใจถึง เราใจกล้า เรายอมสละ เราไม่ยึดถือ ไม่ยึดติด
เรายอมอุทิศบุญกุศลที่เราได้ทำนั้น ๆ ออกไป ไม่ว่าจะอุทิศให้ใครก็ตาม
จิตใจเราย่อมเป็นอิสระหลุดพ้นจากตัวบุญกุศลที่ได้อุทิศไปนั้น
ย่อมทำให้จิตใจเราสบาย และไม่ยึดถือ ไม่ยึดติดในตัวบุญกุศลที่ได้อุทิศไป
จึงย่อมเกิดบุญกุศลอีกตัวหนึ่งขึ้นมา คือบุญกุศลที่ได้จากการอุทิศบุญกุศลนั้น
คำกล่าวที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้” นั้นจึงถูกต้อง เพราะไม่ได้มุ่งหมายถึงสิ่งของหยาบ
เช่น วัตถุ เงินทอง สิ่งของที่จับต้องได้ใด ๆ แต่หมายมุ่งถึงบุญกุศลที่เป็นของละเอียด

ยกตัวอย่างว่า เราให้หรือถวายสิ่งของไปชิ้นหนึ่ง เราย่อมได้บุญกุศลจากทาน
(โดยเราไม่ได้ยึดถือ ยึดติด หรือถูกพันธนาการไว้โดยสิ่งของที่ให้หรือถวายไปนั้น)
หากเราอุทิศบุญกุศลจากทานนั้น เราย่อมได้บุญกุศลจากการอุทิศบุญกุศลจากทาน
(โดยเราไม่ได้ยึดถือ ยึดติด หรือถูกพันธนาการไว้โดยบุญกุศลจากทานนั้น)
หากเราอุทิศบุญกุศลที่ได้จากการอุทิศบุญกุศลนั้น
เราย่อมได้บุญกุศลตัวใหม่จากการอุทิศบุญกุศลนั้นอีกทอดหนึ่ง
(โดยเราไม่ได้ยึดถือ ยึดติด หรือถูกพันธนาการไว้โดยบุญกุศลจากการอุทิศบุญกุศลคราวแรก)
หากเราอุทิศต่อไปอีกเรื่อย ๆ เราก็จะได้บุญกุศลไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบ
แต่ต้องทำด้วยจิตใจเมตตาและต้องการสละนะครับ ไม่ใช่ว่าทำด้วยความโลภอยากจะได้บุญ
หากทำไปเพื่อความโลภอยากได้บุญเยอะ ๆ ก็เท่ากับว่าฝึกใจให้ไปยึดให้โลภในบุญกุศล
ใจที่โลภนั้นย่อมจะไม่ปลอดโปร่ง โล่งเบาหรอกนะครับ จะมีแต่หนัก ๆ แน่น ๆ เท่านั้น

ในลักษณะเช่นนี้ เมื่อเราทำบุญกุศลด้วยวัตถุทาน ธรรมทาน หรืออภัยทาน
หรือจะถือศีล หรือจะทำสมาธิ เจริญวิปัสสนาก็ตาม แม้ว่าเราทำเพียงครั้งเดียว
แต่เมื่อเรานำบุญกุศลที่เกิดขึ้นไปอุทิศแล้ว ก็จะได้รับบุญกุศลจากการอุทิศมา
ซึ่งสามารถอุทิศบุญกุศลนั้นไปได้เรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบ
และไม่มีทางที่เราจะอุทิศบุญกุศลที่เกี่ยวเนื่องในลักษณะนี้ออกไปให้หมดจากเราได้
เพราะหากเราไม่อุทิศบุญกุศล เราก็ย่อมจะมีบุญกุศลอยู่
แต่หากเราอุทิศบุญกุศลออกไป ก็จะมีบุญกุศลจากการอุทิศเกิดขึ้นแก่เรา
ฉะนั้น ไม่ว่าจะอุทิศบุญกุศลหรือไม่ก็ตาม บุญกุศลย่อมไม่มีทางหมดแน่นอน

ฉะนั้นโดยสรุปแล้ว ในทั้งสองแนวทาง ไม่ว่าบุญกุศลที่อุทิศไปนั้นจะลดลงได้หรือไม่ก็ตาม
แต่สรุปแล้วก็คือบุญกุศลไม่มีทางหมดไปเพราะการอุทิศบุญกุศลนะครับ
ทีนี้ หากท่านผู้อ่านถามผมว่า แล้วเราควรจะพึงยึดถือเชื่อตามแนวทางไหนดีล่ะ
ผมขอตอบว่า เราไม่ต้องไปสนใจทั้งสองแนวทางครับ โดยให้วางไปทั้งสองแนวทางเลย
โดยเหตุผลก็เพราะว่า เวลาที่เราให้ทานหรือถวายทานนั้น
เราพึงทำไป เพื่อว่าเราฝึกจิตใจเราให้คุ้นเคยและยินดีกับการสละและการให้
ฝึกฝนจิตใจให้พ้นจากการยึดถือ ยึดติด และพ้นจากพันธนาการจากสิ่งที่เราได้สละไปนั้น
ฉะนั้นแล้ว โดยสภาพของการสละนั้น สิ่งที่สละนั้นควรจะลดลงหรือหมดไป
แต่หากในความเป็นจริงแล้ว มันกลับไม่ลดลง ไม่หมดไป ก็เป็นเรื่องของสิ่งเหล่านั้น
ไม่เกี่ยวกับเรา เพราะว่าเราได้ตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะสละสิ่งนั้น ๆ แล้ว
ใจเราจึงย่อมได้อานิสงส์แห่งทานที่สมบูรณ์ ด้วยเจตนาที่จะสละนั้น
ในทางกลับกัน หากปากเราพูดว่าสละให้ แต่ใจเราบอกว่าของเราต้องอยู่ครบ
ของเราจะต้องไม่ลดลง เช่นนั้นแล้ว อานิสงส์แห่งทานย่อมด่างพร้อยหรือไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ ใจไม่สละจริง ก็มีปัญหาอีกว่าเราตั้งใจจะอุทิศบุญกุศลไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ
เพื่อต้องการให้เขามีความสุข แต่หากเรายังงก ยังหวง ยังไม่ให้
คิดแต่ว่าเราจะต้องมี จะต้องได้ จะต้องไม่เสียอะไร ของเราจะต้องไม่ลดลง
ถามว่าผู้ที่ล่วงลับนั้นจะพึงได้รับบุญกุศลเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือเปล่า
เราอุตส่าห์ตั้งใจสร้างบุญกุศลเพื่อจะอุทิศบุญกุศลไปให้แก่ผู้ล่วงลับทั้งทีแล้ว
แต่ท้ายสุดเรากลับกั๊กไว้ แล้วจะสมประโยชน์กับสิ่งที่ได้ลงไปหรือไม่
เสมือนกับว่าเราซื้อขนมใส่กล่องของฝากอย่างดีเพื่อจะส่งไปให้พ่อแม่ทางไปรษณีย์
แต่พอเราไปถึงไปรษณีย์แล้ว เราเกิดงก เกิดหวง ก็ไม่ส่งกล่องขนมนั้น เราถือกลับบ้าน
ถามว่าพ่อแม่จะได้กินขนมอร่อยกล่องนั้นไหม และที่เราทำไปนั้นสมประโยชน์ไหม

ฉะนั้นแล้ว เวลาเราสร้างบุญกุศลใด ๆ และตั้งใจจะอุทิศบุญกุศลนั้น ๆ
ขอแนะนำให้ทำใจสละไปอย่างเต็มที่ครับ บุญจะถึงหรือไม่ถึง บุญจะหมดหรือไม่หมด
บุญจะลดลงหรือไม่ลดลง จะเกิดบุญจากการอุทิศไหม เราอาจไม่ทราบได้แน่ชัด
แต่ที่แน่ ๆ คือเราได้ทำอย่างเต็มที่และสมประโยชน์ในส่วนเราแล้ว
เราได้รู้สึกดี สบายใจ สุขใจจากการที่เราได้ทำดีและอุทิศบุญกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับแล้ว
เราได้สละปล่อยวางความยึดถือในใจในบุญกุศลที่ได้อุทิศนั้นแล้ว
ฝึกใจให้ปล่อยวางความยึดถือไปทีละอย่าง ทีละน้อย ละความยึดถือในสิ่งที่ละได้ยากขึ้น ๆ
เมื่อถึงวันหนึ่ง เราก็จะสามารถปล่อยวางความยึดถือในสิ่งที่ละได้ยากที่สุดนะครับ

ส่วนในประเด็นว่าบุญกุศลที่เราอุทิศไปนั้น จะสามารถไปถึงผู้รับได้อย่างไร
ผมขออนุญาตยกไปคุยต่อในตอนหน้านะครับ (ซึ่งจะเป็นตอบจบของเรื่องนี้)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP