กระปุกออมสิน Money Literacy

ทำงบประมาณค่าใช้จ่าย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เงินเหลือเพียบ!


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

สำหรับคนที่ตั้งใจจะออมเงินอย่างจริงๆจังๆ แต่ไม่เคยสนใจเรื่องเงินๆทองๆมาก่อน คงจะคิดไม่ออกว่า เราสามารถทำให้รายจ่ายในครอบครัวดูมีระบบมากขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อตัวเราเองก็ไม่ได้มีแผนการที่ชัดเจน อีกทั้งยังวัดผลในระยะสั้นไม่ค่อยได้ ถ้าเอาแต่นึก เอาแต่นั่งจำว่า อันไหนควรตัด อันไหนไม่ควรตัด

ดังนั้น การวัดผล และประเมินสถานการณ์ ไม่ว่าจะในระดับองค์กร หรือระดับครัวเรือน ถือเป็นสิ่งจำเป็นครับ ใครทำได้ ก็เห็นว่าเงินของเราเคลื่อนไหวไปอยู่ตรงไหนบ้าง พอเห็นภาพชัด ก็วางแผนอนาคตได้ง่ายขึ้น พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ให้สำรวจกายใจตัวเองอยู่เนื่องๆ ไม่ปล่อยกายปล่อยใจไปตามกิเลส สิ่งที่ท่านสอนเรา ก็คือ การวัดผลการเจริญสติไปตลอดทาง เห็นไหม แม้แต่ในระดับจิต การวัดผล ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

จริงๆ แล้ว หากตัวเราเอง มีเงินสดพร้อมจ่ายในมือตลอดเวลา หรือรวยล้นฟ้า แค่เฉพาะดอกเบี้ยก็กินไม่หมด การวางแผนทำงบประมาณค่าใช้จ่าย หรือ ใครที่มีความทรงจำเป็นเลิศ จำได้ทุกอย่าง และสามารถวิเคราะห์ในหัวได้ว่า เราเสียเงินไปกับอะไร เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของรายจ่ายทั้งหมด และหมั่นนึกถึง มีสติกำกับการใช้จ่ายตลอดเวลา ก็คงไม่ต้องพยายามทำให้ตัวเองลำบากขึ้นด้วยการทำงบประมาณค่าใช้จ่าย แต่ทั้ง ๒ อย่างที่ยกมา น้อยคนนักที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าว ดังนั้นเชื่อผมเถอะครับ มาทำงบประมาณค่าใช้จ่ายให้มันเป็นเรื่องเป็นราวกันดีกว่า

คำว่างบประมาณค่าใช้จ่ายในที่นี้ ก็คือ การที่เราวางแผนไว้ว่า ต้องการจะมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนเท่าไหร่ โดยการตรวจสอบรายได้ของเราเอง และวางแผนรายจ่ายในแต่ละเดือน ให้อยู่ในวงเงินที่เตรียมการไว้ก่อนแล้วล่วงหน้านั้นเอง

แนวทางในการจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่าย ในหลักปฏิบัติแล้ว นักออมและนักลงทุนทั้งหลายต้องนึกถึงแนวทางตามนี้ก่อนจัดทำงบประมาณ


. งบประมาณค่าใช้จ่าย คุณไม่จำเป็นต้องจดจำทุกบาททุกสตางค์เอาแค่ตัวเลขประมาณการณ์คร่าวๆก็พอครับ

. แผนรายจ่าย ควรทำให้อยู่ในรูปแบบของงบประมาณให้หมด ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยก็ตาม เพราะความสำคัญอยู่ที่บริหารวงเงินรายรับของเราให้เหลือมากกว่ารายจ่าย

. ถ้าระดับราคาสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้น หรือรายได้ของคนในครอบครัวเราเพิ่มขึ้นหรือลดลง เราก็ควรปรับงบประมาณค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่า รายได้ลดลง แต่เรายังตั้งเป้าและใช้แผนเดิมจนทำให้ชีวิตครอบครัวลำบาก แบบนี้ไม่เอานะครับ

ปัญหาการเงินของครอบครัวส่วนใหญ่ ก็คือ การใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินไป และไม่มีการวางแผน (หย่อนเกินไป) แต่ที่ควรระวังไว้ด้วยก็คือ แผนงบประมาณค่าใช้จ่ายที่รัดเข็มขัดจนแน่นมากเกินไป (ตึงเกินไป) ก็อาจกระทบกับการดำรงชีวิตแบบปกติของครอบครัว ไม่ใช่หันไปกินมาม่ากันทุกมื้อ หรือต้องเดินทางไปทำงานวันละ ๔-๕ กิโลเมตรเพื่อประหยัดค่ารถ มันเกินไปนะครับ สุดท้ายแล้ว เงินอาจจะเหลือ แต่ไม่เหลือชีวิตครอบครัวแทน เพราะทนอยู่ร่วมกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านทรงเลือกและแนะนำให้ชาวพุทธเดินทางสายกลางเช่นกัน นั้นคือ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ชีวิตก็จะเป็นปกติ อยู่กับสังคม อยู่กับโลกได้โดยมีความสุขโชยมาตลอด


ไปดูขั้นตอนในการจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายแบบง่ายๆกัน

. ตรวจสอบรายได้และรายจ่ายโดยรวมในอดีต เพื่อดูว่า ที่ผ่านมา เหลือเก็บ พอดีเก็บ หรือ ไม่เหลือเก็บเลย

. ทำประมาณการรายได้ของครอบครัวในอนาคต คาดว่าภายใน ๑ ปีข้างหน้า จะมีรายได้ประมาณเดือนละเท่าไหร่

. ทำการประมาณการค่าใช้จ่ายของครอบครัวในอนาคต โดยใช้ตัวเลขที่เราใช้ในอดีตที่เราใช้ เพื่อมาคำนวณคร่าวๆ แต่เพิ่มความละเอียดด้วยการจัดเรียงค่าใช้จ่ายต่างๆเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามผลในอนาคตครับ

. กำหนด และตกลงกันในครอบครัวว่า เราจะเหลือเงินออมไว้เดือนละเท่าไหร่ ผมแนะนำว่า ควรได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว อย่าให้ขัดแย้งกันทีหลัง

เมื่อทำตามครบทุกขั้นตอน ก็เอาตัวเลขมาใส่เป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หรือใครมองว่ามันสั้นไป ก็ทำเป็นปีก็ได้ครับ อันนี้แล้วแต่ตกลงกันในครอบครัว เราจะได้งบประมาณค่าใช้จ่ายหน้าตาแบบนี้

 

66_money



การคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ) ดีตรงที่ ทำให้เราเห็นว่า ค่าใช้จ่ายของเรา หลักๆแล้วหมดไปกับอะไรเป็นส่วนใหญ่ หากร่วมกันตกลงได้ว่า นั้นคือสิ่งที่เกินความจำเป็น เราก็ทำการลดงบประมาณลงซะ เท่านี้ เงินออมในบรรทัดสุดท้าย ก็เพิ่มขึ้นทันตาเห็น ตื่นเต้นกันไหมครับ

พุทธศาสนิกชนหลายท่าน แปลคำสอนของพระศาสดาผิดไป พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ให้พวกเราชาวพุทธอยู่กับปัจจุบัน แต่หลายคนกลับไปตีความว่า ไม่ต้องวางแผนอนาคต ทำมันเฉพาะตอนนี้ให้ดีที่สุด ซึ่งนั้นถือเป็นเรื่องที่เราเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ลองพิจารณาให้ดี การวางแผนอนาคตอย่างรอบคอบ ก็คือการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะการวางแผนในอนาคต ก็จำเป็นต้องวางแผนในปัจจุบันขณะนั้น จริงไหมครับ เป็นปัจจุบันที่ไม่ประมาท และไม่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ถ้าเราทำงบประมาณค่าใช้จ่ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว สงสัยกันไหมครับ ว่าประโยชน์ของมัน นอกจากจะทำให้เห็นค่าใช้จ่ายและรายละเอียดต่างๆแล้ว มีอะไรอีก? เยอะเลยครับ งบประมาณค่าใช้จ่าย ช่วยให้มีการจัดระเบียบตัวเอง ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลส ทำให้รู้จักใช้เงินอย่างมีเหตุมีผล อย่างประหยัด แถมยังทำให้เราตระหนักในคุณค่าของเงิน ที่สำคัญคือ ทำให้สมาชิกในบ้าน คุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น เห็นไหมครับ แค่ตารางเดียว ง่ายๆใช้เวลาไม่เกินครึ่งชม. ประโยชน์ของมันมากมายขนาดนี้ ทำไมคุณไม่ลองดูบ้างละ

ป.ล. เขียนมาจนจบ ใช้คำว่า ครอบครัวมาตลอด คนโสดอยู่ตัวคนเดียว อ่านบทความนี้อาจจะงงว่า ใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายกับเขาได้บ้างไหม? ได้ครับ อยู่คนเดียวก็คุยกับตัวเอง วางแผนกับตัวเอง ซ้อมไว้ก่อน ถึงเวลาตอนอยู่หลายคนก็ง่ายแน่นอน เชื่อผม!



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP