สารส่องใจ Enlightenment

จะหาความสุขได้จากที่ไหนๆ


พระธรรมเทศนา โดยพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วันนี้ท่านจะได้อ่านบทความเรื่อง “จะหาความสุขได้จากที่ไหนๆ”
ความสุขคือความสบายกายสบายใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการปรารถนา
ไม่ว่าจะทำกิจการงานอะไร จุดหมายปลายทางรวมอยู่ที่ความสุขทั้งนั้น
ความสุขเกิดจากไหน?
ก่อนจะให้คำตอบ จะขอเล่าเรื่องประสบการณ์ที่ได้ประสบมาให้ฟัง
คือเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีผ่านไปแล้ว เวลาประมาณ ๔ ทุ่มเศษ
หลังจากที่ข้าพเจ้าอ่านหนังสือจนรู้สึกเมื่อย ข้าพเจ้าจึงลงไปเดินเล่นรอบๆ วิหาร
พอเดินไปถึงหน้าวิหาร ใกล้กับวิหารอินทขิล
โดยปรกติบริเวณรอบๆ แถวนี้ ไม่ค่อยจะมีใครไปเดินเพราะกลัว
“ทำไมถึงกลัว?”
เพราะสถานที่ตรงนั้นมีโบราณวัตถุเก่าแก่และชำรุดปรักหักพัง
เวลากลางคืนเป็นที่เปลี่ยว ทำให้เป็นสถานที่น่ากลัว
วันนั้น ข้าพเจ้าเดินไปหยุดอยู่สักครู่หนึ่ง ได้ยินเสียงกุกๆ กักๆ
ข้าพเจ้าสะดุ้ง ขนหัวลุก รีบเดินกลับกุฏิทันที นึกในใจว่าโดนผีหลอกเข้าแล้ว
กว่าจะสงบจิตใจได้ตั้งนาน ไม่ได้บอกเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ใคร เก็บเรื่องไว้ในใจ แล้วเข้านอน

รุ่งขึ้น ได้เวลาก็ออกบิณฑบาต เมื่อผ่านวิหารอินทขิล
ข้าพเจ้าจึงแวะไปดูที่ที่ได้ยินเสียงกุกๆ กักๆ เมื่อคืนวานนี้
ปรากฏว่าที่ตรงนั้นมีชายคนหนึ่งเป็นคนพเนจร ได้มานอนหลับอยู่อย่างสบาย
ข้าพเจ้าได้บทเรียนจากประสบการณ์ครั้งนี้ว่า
“ที่ที่ข้าพเจ้าหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวที่สุดนั้น กลับเป็นที่ที่สุขสบายที่สุดของชายคนนั้น”
ข้าพเจ้ามีปัญหาต่อไปว่า “ทำไมสถานที่ที่เดียวกันทำให้เกิดความรู้สึกแก่คนได้ไม่เหมือนกัน
คนหนึ่งเกิดความรู้สึกสะดุ้งกลัว อีกคนหนึ่งได้อาศัยพักผ่อนหลับนอนได้อย่างสบาย?”
ความรู้สึกนี้เกิดกับข้าพเจ้าอยู่นาน ต่อมาภายหลังได้รับความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า
วัตถุสถานที่เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์
การที่เห็นวัตถุสถานที่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วจะเกิดอารมณ์ดี อารมณ์เสีย
อารมณ์กลัว อารมณ์กล้า หรืออารมณ์รัก อารมณ์เกลียด อย่างไรนั้น
แล้วแต่พื้นจิตใจของคนที่เห็น

บ้างเห็นซากศพแล้วเกิดอารมณ์หวาดหวั่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
เป็นภาพติดตาหลอกใจตัวเองให้กลัวอยู่ตลอดเวลา
ตรงกันข้าม คนบางคนเมื่อได้เห็นซากศพแล้วเกิดธรรมสังเวช
ได้คติสอนใจ มีอุตสาหะในการที่จะเว้นชั่ว ประพฤติดี
ข้าพเจ้ารู้จักกับชายคนหนึ่ง เขาเป็นชาวกสิกร
อาชีพของเขาคือทำเตาบ่มใบยาและทำสวนชา
เขาเล่าให้ฟังว่าเวลาที่เขามีความสุขใจที่สุด
คือเวลาที่เขาเข้าไปในโรงงาน ได้เห็นเครื่องจักรกำลังเดินเครื่องทำงานอยู่
เขาให้เหตุผลว่าเครื่องจักรที่กำลังเดินเครื่องอยู่
มันแสดงถึงความเคลื่อนไหว ผลิตผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา
ทำให้ชีวิตมีประโยชน์ เห็นแล้วสบายใจ

จะเห็นได้ว่าทัศนะของคนที่มีต่อสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง มีไม่เหมือนกัน
บางคนอาจจะต้องการร่มไม้ที่ร่มรื่น พร้อมกับกระแสน้ำที่กำลังไหลไปตามลำน้ำ
เขาอาจจะเพ่งมองอยู่กับธรรมชาติเช่นนั้นด้วยความเป็นสุขใจ
บางคนต้องการชมโบราณสถาน บางคนต้องการนมัสการปูชนียวัตถุ
เมื่อได้ชมได้นมัสการแล้วก็มีความสุขใจ
บางคนชอบดูหนังฟังเพลง บางคนชอบสนทนาพบปะเพื่อนฝูงตามร้านกาแฟ
บางคนชอบสนุกเฮฮา ร่วมวงสุรากับญาติมิตร
ใครชอบอะไร เมื่อได้ตามใจในสิ่งนั้นก็ถือว่ามีความสุข
สิ่งที่ให้ความสุขใจแก่คนคนหนึ่ง แต่กลับให้ความทุกข์ใจแก่อีกคนหนึ่งก็มี
จึงกล่าวได้ว่าสุขทุกข์ไม่ได้อยู่ที่สิ่งของหรือสถานที่
แต่สุขทุกข์อยู่ที่ใจ ใจเป็นแดนแห่งความสุขและความทุกข์

เหมือนข้าวอยู่ในนา ปลาอยู่ในน้ำ ฉะนั้น

คนในโลกนี้มีอาชีพไม่เหมือนกัน บางคนทำนา บางคนทำสวน
บางคนค้าขาย บางคนรับราชการ บางคนเป็นตำรวจ บางคนเป็นทหาร
แต่ละอาชีพก็มีทั้งผู้ที่มีความสุขและมีทั้งผู้ที่มีความทุกข์
จะกล่าวว่าอาชีพไหนมีความสุขกว่าอาชีพไหนไม่ได้
เพราะแต่ละอาชีพต่างก็มีความสุขความทุกข์ด้วยกัน
ความสุขจึงไม่ได้อยู่ที่อาชีพ แต่อยู่กับใจคน

ใครมีความพอใจในอาชีพไหน ก็มีความสุขใจในอาชีพนั้น
“ปัญหาจึงมีว่า คนที่เบื่อหน่ายในอาชีพการงานของตน
จะทำความพอใจในอาชีพการงานนั้นได้อย่างไร?”
ในเรื่องนี้มีท่านผู้รู้แนะนำไว้ว่า “เมื่อไม่มีสิ่งทีเราพอใจ ก็จงพอใจในสิ่งที่เรามี”
และอีกประโยคหนึ่งว่า “จงยินดีในสิ่งที่ตนได้ และจงพอใจในสิ่งที่ตนมี”
เนื่องจากโลกนี้ไม่ได้เป็นสมบัติของเราโดยเฉพาะ จึงไม่อาจทำอะไรตามใจชอบ

นับแต่วันเกิดมา มีใครบ้างที่เลือกเกิดได้ตามใจชอบ
บางคนเกิดมาในตระกูลพ่อแม่ที่มั่งคั่งสมบูรณ์
บางคนเกิดมาในตระกูลพ่อแม่ที่ยากจนแสนเข็ญ
บางคนเกิดอยู่ในป่าบนยอดเขา บางคนเกิดในเมือง ยังแถมอยู่ในวังเสียอีก
การเกิดมาในตระกูลต่างๆ กันนี้ หาใช่เพราะเราเลือกเกิดเองไม่
เกิดเองเป็นเองตามบุญตามกรรมของแต่ละคนต่างหาก
ถ้าคนเราสามารถจะเลือกเกิดเอาเองได้แล้ว
ใครเล่าจะไปเลือกเกิดในที่ทุรกันดาร ต้องทนทรมานด้วยภัยธรรมชาตินานาประการ
พอลืมตาเห็นโลกก็บอกตัวเองได้ว่า ในโลกนี้จะเลือกให้ได้อย่างใจทุกสิ่งไม่ได้
บ้านที่ไม่อยากอยู่ก็ต้องอยู่ อาหารที่ไม่อยากกินก็ต้องกิน
งานที่ไม่อยากทำก็ต้องทำ คนที่ไม่อยากเห็นก็ต้องเห็น

วิธีแก้ที่จะให้ถูกใจเรา เราจะแก้ที่อื่นไม่ได้ เราต้องแก้ที่ตัวเอง
ถ้าเราจะพยายามแก้ที่อื่น จะมีสภาพเหมือนเราพยายามจับเงาของเราในกระจก
หรือเหมือนกับคนที่พยายามจะเข้าไปจับพยับแดด
แม้จะพยายามสักเพียงใด ก็ไม่อาจจะจับได้เลย
เมื่อเราแก้ปัญหาที่อื่นไม่ได้ จำเป็นที่เราจะต้องย้อนมาดูที่ตัวของเรา
ประการแรกที่เราจะต้องรู้ไว้ก่อนคือ
โลกนี้ไม่ใช่สมบัติของเรา และมิใช่ของใครทั้งสิ้น
แม้แต่ตัวเราก็หาใช่ตัวเราจริงๆ ไม่ เราต้องรู้เอาไว้เพื่อจะได้กันเอาไว้ก่อน

หากจะมีผู้เข้าใจว่าโลกนี้หาใช่จะมีเพียงความผิดหวังเท่านั้น
หามิได้ ผู้ที่เขามีความสมหวังก็มีอยู่มากมาย
ข้อนี้หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
ในโลกธรรมสูตร พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงได้ว่า
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ เป็นของคู่กัน
คือจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันเกิดดับ เหมือนมืดกับสว่าง หรือเหมือนกลางคืนกับกลางวัน
ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะทำความเข้าใจต่อไป คือเมื่อได้ลาภ ยศ สรรเสริญ แล้ว
ให้ระวังกิเลสตัณหา มันจะมายั่วยุให้เกิดความย่ามใจ

เนื่องจากกิเลสตัณหาเป็นภาคพื้นจิตใจทำให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล
ในเมื่อได้ประสบสิ่งสมปรารถนา
ชาวโลกทั่วไปถือว่าความปรารถนาเป็นยอดของความสุข
แต่หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา
ถือว่านั่นคืออารมณ์ที่เจือด้วยตัณหา ที่จะพาใจให้เป็นทุกข์สืบไป
คำว่าตัณหาพาใจให้เป็นทุกข์นั้น เพราะใจที่ประกอบด้วยตัณหาเป็นใจที่ไม่มีขอบเขต
ถ้าจะเปรียบกับความกว้างโลกทั้งโลกนี้ ยังแคบกว่าใจที่ประกอบด้วยตัณหา
ท่านได้กล่าวเปรียบเทียบลักษณะของคนที่มีตัณหาไว้ว่า

ธรรมดาไฟย่อมไม่พักพอ

ไหม้เชื้อ

ทะเลใหญ่ไม่ปรากฏว่า

เบื่อน้ำ

มฤตยูไม่อิ่มหนำ

ประชาสัตว์

คนละโมบสมบัติ

ก็ไม่รู้สึกจุใจในสิ่งใด


ได้ความว่าไฟ ๑ ทะเล ๑ มฤตยูคือความตาย ๑ คนที่มีตัณหา ๑ ให้อิ่มให้เต็มได้ยาก
ไฟยิ่งให้เชื้อยิ่งลุก ทะเลจะได้น้ำมากมายเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม ฉันใด
ใจที่ประกอบด้วยตัณหา ก็ฉันนั้น
มีพระพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า นตฺถิ ตณฺหา สมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
แสดงให้เห็นว่าไฟก็ดี ทะเลก็ดี มฤตยูก็ดี
แม้จะมีฤทธิ์มีอำนาจ หรือมีความกว้างใหญ่ไพศาลอย่างไรก็ตาม
ก็ยังสู้ฤทธิ์เดชและความยิ่งใหญ่ไพศาลของตัณหาไม่ได้
ด้วยเหตุผลที่แสดงมา บุคคลที่แสวงหาความสุขด้วยการตามใจตัวเอง
พยายามเสนอสนองตามที่ใจต้องการทุกอย่าง อยากกินให้กิน อยากนอนให้นอน
อยากจะเที่ยวให้เที่ยว อยากจะได้ลาภยศ พยายามหาให้ทุกวิถีทาง
ได้แล้วอยากจะได้อีก มีแล้วอยากจะมีอีก รวยแล้วอยากจะให้รวยอีก
บุคคลผู้นั้นจะมีลักษณะอาการเหมือนกับสุมกองไฟไว้ในใจ
ยิ่งพยายามสนองลาภ ยศ สรรเสริญ เท่าไหร่
ไฟคือกิเลสตัณหา มันก็จะลุกโหมเป็นไฟกองใหญ่ขึ้นทุกที

ความพยายามเพื่อหาเหยื่อเชื้อไฟมาเสนอสนองก็เป็นทุกข์พออยู่แล้ว
ถ้าไม่อาจจะหาเหยื่อคือเชื้อไฟมาป้อนให้ ใจจะเป็นทุกข์ร้อนเพียงใด
ความสุขที่เกิดจากเหยื่อคือเชื้อไฟนี้
ทางพระพุทธศาสนาไม่จัดว่าเป็นความสุข แต่จัดเป็นความทุกข์
เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น ท่านไม่ให้โทษผู้อื่น วัตถุสิ่งของ หรือสถานที่
ท่านให้พิจารณาถึงสมุฏฐานของความทุกข์ที่มันเกิดกับใจ
เมื่อพบสมุฏฐานแล้ว
ให้ดับที่ใจ
คือแทนที่จะทำตามใจปรารถนา แต่กลับหักห้ามใจ

ตัวอย่างเช่น คนที่เบื่อบ้าน เบื่องาน เบื่อคน
แทนที่จะให้หนีออกจากบ้าน จากงาน จากคน
แต่กลับให้พิจารณาถึงความเบื่ออันเป็นอาการของใจ
อาจจะมีเหตุสืบเนื่องมาจากความเกียจคร้านก็ได้
อาจจะมีเหตุสืบเนื่องมาจากความทะเยอะทะยานที่เรียกว่ามักใหญ่ใฝ่สูง
ทำให้มองข้ามความดีของบ้านของตน การงานของตน ลูกเมีย เพื่อนฝูงของตนไป ก็เป็นไป
หากเห็นข้อบกพร่องที่ควรแก้ไข ก็ให้รีบแก้ไข
เมื่อแก้ไขแล้ว ยังไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าบ้านของตน การงานของตน และคนของตนแล้ว
ต้องแก้ไขที่ใจคือปรับปรุงใจตัวเอง
ให้เหมาะกับบ้าน ให้เหมาะกับงาน และให้เหมาะกับตน
โดยปฏิบัติตามหลักที่ว่า “เมื่อไม่มีสิ่งที่เราพอใจ ก็ต้องพอใจในสิ่งที่เรามี”
สิ่งที่เรามีอาจจะเป็นบ้านที่เราเบื่อ บ้านที่เราเกลียด หรือคนที่เราไม่ชอบ
อาการเบื่อ อาการเกลียด อาการไม่ชอบ เป็นอารมณ์ที่เป็นฝักฝ่ายเสนาพระยามาร
ทำจิตใจให้เสื่อมจากความดี และคอยลิดรอนใจให้หมดความสุข

ปรกติการทำความดีต้องฝืนใจ
เปรียบเหมือนการขึ้นที่สูงต้องใช้แรง ต้องออกกำลังจึงจะขึ้นได้
การทำความชั่วไม่ต้องทำอะไรก็ทำความชั่วได้
เปรียบเหมือนคนขับรถยนต์
เป็นแต่เพียงวางมือจากพวงมาลัย รถก็คว่ำเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ฉะนั้น

พระพุทธองค์ตรัสเป็นพุทธโอวาทไว้ว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน สำเร็จมาแต่ใจ”
ดังนั้นคำถามที่ว่า “จะได้ความสุขมาจากไหน?” จึงตอบได้ว่า
“ได้ความสุขมาจากใจ
ความยินดีในสิ่งที่ตนได้และความพอใจในสิ่งที่ตนมี คือที่มาของความสุข”


sathu2 sathu2 sathu2


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คัดจาก จะหาความสุขได้จากที่ไหนๆ ใน เครื่องหมายของคนดี
โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) พิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP