จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เหนื่อยใจบ้างไหม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


065_destination



เคยรู้สึก “เหนื่อยใจ” กันบ้างไหมครับ
เคยไหมครับที่ในบางคราว รู้สึกว่าชีวิตตนเองมีภาระหน้าที่มากมายให้ต้องรับผิดชอบ
รู้สึกว่าต้องทำไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีหมด และไม่รู้จบสิ้น
หมดเรื่องนี้แล้ว เรื่องใหม่ก็เข้ามาอีก ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน แต่ว่ามันมาได้ตลอดเลย
แม้จะทำอะไรไปได้เยอะแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องที่ต้องทำก็ยังมีเหลืออยู่อีกเยอะแยะ
ชีวิตก็มีอุปสรรคมากมาย แต่เวลาพักผ่อนกลับไม่ค่อยจะมี
ยังมีปัญหางานหลายเรื่องรอให้เราทำ แต่เราก็มีกำลังและเวลาจำกัดเหลือเกิน
พอมอง ๆ ไปแล้ว ก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยใจตัวเองมากมาย

หากท่านใดเคยรู้สึกทำนองนี้ หรือเคยรู้สึกบ่อย ๆ หรือกำลังรู้สึกอยู่ในช่วงนี้เลย
ในคราวนี้ เรามาคุยกันถึงวิธีการรักษาอาการ “เหนื่อยใจ” กันครับ
ในอดีตนั้น ผมเองก็เคยรู้สึกทำนองนี้ และรู้สึกเหนื่อยใจบ่อย ๆ เหมือนกัน
ด้วยเหตุมีภาระหน้าที่งานหลายอย่าง และมีปัญหาหลายเรื่องในชีวิต
ในอดีตนั้น เวลาที่ผมรู้สึกเหนื่อยใจ ก็จะมีวิธีการรักษาอาการนี้อยู่สองวิธีหลัก ๆ

วิธีการแรกคือ พยายามขยันตั้งใจทำงานเพื่อขจัดภาระงานให้เสร็จลุล่วง
ลดภาระงานค้างให้น้อยลง และแก้ไขปัญหาทั้งหลายให้ลดลงหรือเบาบาง
ซึ่งเมื่อภาระงานค้างน้อยลงหรือปัญหาได้ลดลงแล้ว ก็ช่วยให้รู้สึกสบายใจเบาใจขึ้น
แต่วิธีการนี้ก็แก้ไขปัญหาได้เพียงชั่วครู่นะครับ เพราะว่าภาระหน้าที่งาน
และปัญหาทั้งหลายในชีวิตนั้นไม่มีวันหมดหรอกครับ
เราอาจจะทำให้มันลดน้อยลงได้บ้างในบางเวลา หรือในบางคราว
แต่ว่าไม่นาน มันก็จะมีตัวใหม่โผล่มาเรื่อย ๆ บางทีบรรดาที่มาใหม่นั้นก็เยอะกว่าเดิมอีก
ฉะนั้นเราก็เหนื่อยใจอยู่เรื่อย ๆ แม้จะเบาลงบ้าง แต่ไม่นานเดี๋ยวก็เหนื่อยใจอีกแล้ว

วิธีการที่สองก็คือหลบไปพักออมแรงชั่วคราว เพราะรู้สึกว่าสู้กับมันไม่ไหวแล้ว
โดยก็วางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ชั่วคราว แล้วก็หลบไปพักออมแรง
ที่บอกว่า “หลบไปพักออมแรง” นั้น ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องได้หยุดพักงานยาว
หลาย ๆ วันและต้องเดินทางไปพักผ่อนที่อื่นนะครับ
ที่หลบไปพักออมแรงนี้ อาจจะเป็นเพียงแค่นอนหลับสักคืนหนึ่ง หรือสักตื่นหนึ่งเท่านั้น
หรืออาจจะไปหาของอร่อย ๆ ทาน หรือดูภาพยนตร์ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์
หรืออ่านหนังสือ หรือสนทนากับคนอื่น ๆ ในเรื่องที่สนใจ หรือไปทำกิจกรรมงานอดิเรกอื่น ๆ
หรือบางทีหากไม่มีเวลามากเป็นชั่วโมงที่จะไปทำอะไรนาน ๆ ก็อาจจะแค่นั่งจิบกาแฟ
หรือนั่งเหม่อลอยเคลิ้ม ๆ ขาดสติสักครู่หนึ่ง
จากนั้น ค่อยกลับมาลุยทำงาน และลุยแก้ไขปัญหากันต่อไป
ซึ่งในวิธีที่สองนี้ จะหลบไปพักนานเท่าไรก็ตาม
แต่ท้ายสุด ก็ต้องกลับมารับผิดชอบทำในเรื่องที่เราเหนื่อยใจนั้นอยู่ดี

ทั้งสองวิธีการที่เล่ามานั้นเป็นวิธีการที่ผมใช้ในอดีต
ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยรักษาอาการเหนื่อยใจได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าไร โดยก็เหนื่อยใจมาเรื่อย ๆ
แต่ในช่วงระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ผมได้ศึกษาและเรียนรู้วิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า
จึงจะขอเล่าให้ทราบว่าวิธีการที่รักษาอาการเหนื่อยใจได้มีประสิทธิภาพกว่านั้น
ก็คือวิธีการ “เจริญสติ” ครับ
ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่า “การเจริญสติ” จะช่วยรักษาอาการเหนื่อยใจได้อย่างไร
ก็จะขอเล่าเรื่องสนทนาระหว่างผมกับน้องคนหนึ่งในเรื่องนี้ให้ฟังนะครับ

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมและน้องคนหนึ่งได้ทำงานอยู่จนดึกด้วยกัน
ระหว่างที่เดินทางออกจากที่ทำงานเพื่อกลับบ้านนั้น น้องเขาได้ถามผมว่า
“พี่มีเรื่องยุ่งและทำงานเยอะแยะอย่างนี้แล้ว มีเวลาพักผ่อนเพียงพอหรือเปล่า
?
ผมตอบว่า “ก็พอนะ เพราะว่าเราต้องการเวลาเพื่อพักร่างกายเท่านั้นเอง
ส่วนเรื่องพักใจนั้น ถ้าจะพูดเฉพาะเรื่องหน้าที่งานและปัญหาในชีวิตนะ ใจไม่ต้องพักก็ได้”
น้องถามต่อว่า “อ้าว แล้วพี่ไม่รู้สึกเหนื่อยใจบ้างเหรอ เหนื่อยใจแล้วไม่ต้องพักเหรอ
?
ผมตอบว่า “ไม่มีหรอกนะ เรื่องเหนื่อยใจน่ะ เพราะว่าใจเรามันเหนื่อยไม่ได้หรอก”
น้องถามแย้งว่า “อย่างเวลาเรามีเรื่องคิดเยอะ ๆ มีปัญหาที่ต้องให้เราแก้ไขเยอะ ๆ
มีเรื่องต้องทำและรับผิดชอบเยอะ ๆ แล้วเราก็ต้องคิดและทำทั้งหมด เช่นนี้ไม่เหนื่อยใจหรือ
?
ผมตอบว่า “ไม่ใช่นะ ถ้าหากเรามีเรื่องคิดเยอะ ๆ แล้ว นั่นมันเป็นเรื่องเหนื่อยสมอง
หรือเราอาจจะคิดจนปวดหัวก็ได้ แต่นั่นเป็นเพียงการเหนื่อยทางร่างกาย
เหนื่อยที่อวัยวะของร่างกาย แต่ไม่ใช่เหนื่อยใจ เพราะว่าใจเรามันไม่เหนื่อยหรอกนะ”

ผมอธิบายต่อไปว่า “ยกตัวอย่างนะ สมมุติว่าเราวิ่งเร็ว ๆ รวดเดียวเป็นระยะทางห้ากิโลเมตร
หรือสิบกิโลเมตรนี้ ร่างกายเราก็เหนื่อยแทบตายใช่ไหม (อันนี้ผมคุยอย่างสมมุตินะครับ
เพราะหากให้ผมวิ่งจริง ๆ นะ แค่ห้าร้อยเมตรนี้ ผมก็คงแย่แล้วล่ะ ไม่ต้องถึงห้ากิโลเมตรหรอก)
แต่หากเปรียบเทียบกับว่า สมมุติใจเราคิดว่าเราอยู่กรุงเทพฯ เราวิ่งไปเชียงใหม่
เราอยู่ประเทศไทยเราวิ่งไปต่างประเทศ กระทั่งออกไปนอกโลก ไปในอวกาศ
ไปกลับ ๆ สักสิบรอบ ร้อยรอบ จะเดินทางเป็นแสน ๆ ล้าน ๆ กิโลเมตรก็ตาม
ใจมันจะเหนื่อยบ้างไหม ใจจะเหนื่อยสักนิดไหม เราจะบอกไหมว่า
โอ เมื่อครู่นี้เราคิดว่าเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ รู้สึกเหนื่อยใจมาก ๆ เลย
มันไม่เป็นอย่างนั้นใช่ไหม ลำพังเพียงแค่ใจมันคิดนั้น มันไม่เหนื่อยหรอกนะ
หรือคิดว่าไปปีนเขา เล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน
ลำพังแต่ใจเราไปคิดเรื่องเหล่านั้น ใจเราย่อมไม่เหนื่อยหรอก
ในกรณีที่บอกว่าคิดจนเหนื่อยล้านั้น มันก็จะเป็นการเหนื่อยล้าที่สมองต่างหาก”

หากจะอธิบายในอีกแบบหนึ่งก็คือว่า ร่างกายเรานั้นเป็น “รูปธรรม”
ซึ่งเมื่อขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หรือทำงานไปมาก ๆ ก็ย่อมมีเหน็ดเหนื่อยได้เป็นธรรมดา
แต่ในส่วนใจเรานั้นเป็น “นามธรรม” ไม่สามารถจับต้องได้
ตัวนามธรรมมันจึงไม่ได้เหน็ดเหนื่อยไปด้วยเหมือนกับร่างกายหรอกนะ
ยกตัวอย่างเวลาทานอาหารนั้น บางทีร่างกายทานอาหารจนอิ่มสุด ๆ แล้ว
แต่ใจก็ยังอยากทานอยู่ ใจมันไม่ได้อิ่มไปตามร่างกายที่อิ่มนั้นด้วยเลย

ยกตัวอย่างเช่น “สัญญา” ซึ่งแปลว่า “ความจำได้หมายรู้”
ตัวสัญญานี้ทำงานอยู่ทั้งวันทั้งคืน มันจำได้หมายรู้อยู่ตลอด
เริ่มตั้งแต่ตื่นมามองไปเห็นผ้าห่ม หมอน โต๊ะ ประตูห้อง ก็จำได้หมายรู้แล้วว่าอะไรคืออะไร
ไปอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแต่งตัว ก็เห็นผ้าเช็ดตัว สบู่ ขวดแชมพู ยาสีฟัน แปรงสีฟัน
เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ตัวสัญญาก็ทำหน้าที่จำได้หมายรู้อยู่ตลอด
หากตัวสัญญาไม่ทำหน้าที่จำได้หมายรู้ให้เราทราบว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว
เราก็อาจจะหยิบขวดน้ำยาล้างห้องน้ำมาสระผม
หยิบขวดแชมพูไปบ้วนปาก หยิบยาสีฟันมาถูตัว หรือหยิบสบู่มาสีฟันก็ได้
เราออกมาจากบ้าน ต้องเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เช่น จะไปเรียน หรือไปทำงาน
เราย่อมได้พบเจอผู้คนมากมาย และต้องได้พบสิ่งต่าง ๆ มากมาย
ซึ่งย่อมต้องอาศัยตัวสัญญานี้ทำหน้าที่จำได้หมายรู้ตลอดจนกระทั่งกลับมาถึงบ้าน
และจนกระทั่งเข้านอน แม้แต่นอนหลับแล้ว เราฝันโน่นฝันนี่ ตัวสัญญาก็ยังทำหน้าที่อยู่
ในเมื่อตัวสัญญาทำหน้าที่อยู่ตลอดถึงขนาดนี้แล้ว เราเคยรู้สึกว่าตัว “สัญญา” เหนื่อยบ้างไหม
เราย่อมจะไม่รู้สึกหรอกนะครับว่าตัวสัญญานี้เหนื่อย
กรณีเหนื่อยนั้นเราจึงใช้ได้กับร่างกาย แต่จะมาใช้กับใจนั้นไม่ได้
อย่างไรก็ดี ตัวนามธรรมนั้นก็อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ฉะนั้น แม้ว่าสัญญาจะไม่เหนื่อย แต่ว่ามันก็เกิดดับและไม่เที่ยงนะครับ

น้องเขาฟังที่ตอบแล้วก็ถามต่อว่า “อ้าว แล้วที่บอกว่าเหนื่อยใจนี้ มันคืออะไรล่ะครับ?
ผมอธิบายว่า “จริง ๆ แล้ว ที่เราบอกว่าเราเหนื่อยใจนั้น เราลองสังเกตให้ดีนะว่าคืออะไร
หากเรามีภาระหน้าที่รับผิดชอบเยอะ และเราต้องการให้มีน้อยลงเพื่อเราจะได้สบาย
มันก็คือความอยากจะสบาย โดยคิดว่าหากมีภาระหน้าที่รับผิดชอบน้อยลงแล้ว
จะทำให้เราสบาย จึงถือเป็นความอยาก หรือโลภะในใจเท่านั้นเอง
หากเราไม่พอใจสภาพที่ตนเองเป็นอยู่ที่ต้องมารับผิดชอบภาระหน้าที่งานอะไรมากมาย
(หรือบางทีเราเรียกว่า “เบื่อ” หรือ “เซ็ง” ก็ตาม) ก็ย่อมจะถือเป็นความไม่พอใจ หรือโทสะในใจ
หรือหากเราหลงไปคิดอะไรวุ่นวายสับสนไปหมดจนมึนงงไปหมด นั่นก็คือหลง หรือโมหะ
ฉะนั้นแล้ว ที่ว่าเราเหนื่อยใจก็จะเป็นเพียงแค่อาการที่ตกอยู่ภายใต้กิเลสตัวใดตัวหนึ่ง
ได้แก่ โลภะ โทสะ หรือโมหะเหล่านี้แหละ แต่เราก็ไปหลงเข้าใจว่าเราเหนื่อยใจ
หรือว่าใจเรากำลังเหนื่อย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ใจมันไม่ได้เหนื่อยหรอก
แต่ใจมันกำลังโดนกิเลสเข้าครอบงำต่างหาก ใจมันต้องการอยากจะมีความสุข
ใจมันไม่พอใจในสภาพหรือสภาวะที่เป็นอยู่ หรือไม่ก็ใจมันกำลังหลงไปในเรื่องต่าง ๆ”

เพราะฉะนั้น เราก็ลองสังเกตกันดูนะครับ ที่บอกว่า “เหนื่อยใจ” นั้น
แท้จริงแล้ว ใจเรามันเป็นอย่างไร ใจเรามันเหนื่อยจริง ๆ หรือ
?
หรือว่าแท้จริงแล้ว ใจมันกำลังอยาก กำลังไม่พอใจ หรือกำลังหลงกันแน่

ทีนี้ หากเราหัดเจริญสติและมีสติขึ้นมาแล้ว มันช่วยได้อย่างไร?
สติย่อมสามารถช่วยได้ คือเมื่อกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้น และพยายามจะครอบงำใจ
เรามีสติรู้ทัน กิเลส คือโมหะ โลภะ หรือโทสะเหล่านั้นก็ย่อมดับไป
อาการต่าง ๆ ที่เราเข้าใจว่าเป็นการเหนื่อยใจอะไรเหล่านี้ ก็จะดับไป
เพราะเมื่อมีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น เรามีสติรู้ทัน ความรู้สึกเหล่านี้ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
เรียกได้ว่า เรายังไม่ทันจะคิดเลยว่าเราเหนื่อยใจหรือเปล่า
แต่ว่าความรู้สึกเหล่านี้ก็ดับไปก่อนแล้ว ฉะนั้น ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องเหนื่อยใจเลยนะ

ทั้งนี้ ในตอนต้นนั้นที่ผมได้คุยกับน้องเขาว่า ไม่ต้องใช้เวลาพักใจเลยก็ได้
ตรงนั้นเป็นเรื่องของการทำงานและการรับผิดชอบปัญหาในชีวิตนะครับ
แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและเจริญวิปัสสนาแล้ว ผมก็ได้เรียนจากครูบาอาจารย์ว่า
กำลังของสมาธิจิตตั้งมั่นเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้ในการเจริญปัญญา
ฉะนั้นแล้ว การทำสมาธิเพื่อพักใจ ช่วยลดความฟุ้งซ่าน ช่วยให้จิตตั้งมั่น
และมีจิตใจมีแรงนั้น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นนะครับ
ซึ่งจะเป็นคนละเรื่องกันกับการพักผ่อนใจเพราะว่ารู้สึกเหนื่อยใจที่เล่ามาในช่วงแรก

นอกจากนี้ เมื่อเจริญสติจนเกิดปัญญารู้เห็นและเข้าใจความจริงของกายของใจ
ว่ากายนี้ใจนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่เราจะไปยึดถือเอาได้แล้ว
เมื่อรู้สึกว่าร่างกายเหนื่อย เราก็ไม่ไปยึดถือว่าเราเหนื่อย
เราเห็นว่าร่างกายมันเหนื่อย แต่ไม่ใช่ใจเราเหนื่อยและไม่ใช่ตัวเราเหนื่อย
(แต่ว่าเราก็ต้องให้ร่างกายพักผ่อนตามสภาพและตามที่สมควรนะครับ
ไม่ใช่ว่าพอบอกว่าร่างกายไม่ใช่เราแล้ว ก็เลยตะบี้ตะบันใช้งานแบบไม่ลืมหูลืมตา)
หรือใจเราจะรู้สึกโลภ โกรธ หลงอะไร เรารู้ทัน เราก็ไม่โดนกิเลสเหล่านั้นครอบงำใจ
ใจจะโลภ โกรธ หลง ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องโลภ โกรธ หลงตามนั้นไปด้วย

ได้เล่าเรื่องเหนื่อยใจไปพอสมควรแล้วนะครับ
ต่อมา ผมจะขอข้ามมาที่เรื่องการพักผ่อนร่างกาย
บางท่านอาจจะบอกว่าตนเองไม่ได้มีเวลาพักผ่อนร่างกายเลย
โดยอยากจะหยุดงานหลาย ๆ วัน และไม่ต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่งานหลาย ๆ วัน
เพื่อจะได้ไปเที่ยวและจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ในกรณีนี้เราควรจะต้องพิจารณาให้ดีว่า
ที่บอกว่า “ไม่ได้พักผ่อนเลย” นั้น ถามว่าในแต่ละวันเราไม่ได้มีเวลานอนพักผ่อนเลยหรือ
หากในเวลากลางคืนเราได้นอนพัก และในระหว่างวันได้มีเวลาว่างทำกิจวัตรส่วนตัว
นั่นก็ควรจะถือเป็นส่วนหนึ่งของเวลาพักผ่อนของร่างกายแล้วด้วยหรือไม่
เพราะจริง ๆ แล้วในแต่ละวันที่เราได้นอนพักในเวลากลางคืนนั่นก็ควรเป็นการพักผ่อนอยู่แล้ว
หรือการที่เราได้พักเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น ได้นั่งเฉย ๆ บนรถเดินทาง
นั่งบนโต๊ะอาหาร นั่งดื่มน้ำ เดินไปนั่นมานี่ โดยที่ไม่ได้กำลังทำงานอะไร
นั่นก็ควรถือเป็นส่วนหนึ่งของเวลาพักผ่อนได้ด้วยเช่นกัน

แต่บางท่านอาจจะไปเข้าใจหรือสะกดจิตตัวเองว่าตัวเองไม่ได้พักผ่อนเลย
เพราะว่าไม่ได้สนใจให้ความสำคัญว่าการได้พักเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเวลาสั้น ๆ ในแต่ละวัน
และการนอนหลับพักผ่อนในแต่ละวัน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพักผ่อนด้วย
หรือบางท่านอาจจะไปเข้าใจหรือสะกดจิตตัวเองว่า การพักผ่อนนั้นจะต้องได้หยุดยาว
โดยไม่ต้องทำอะไรอะไรเลย หรือจะต้องได้นอนเยอะ ๆ จะต้องได้นอนตื่นสาย ๆ เป็นต้น
ถามว่าที่ต้องการพักผ่อนอะไรเยอะแยะมากมายนั้น เป็นเพราะร่างกายต้องการ
หรือเพราะว่าใจต้องการกันแน่ ร่างกายนั้นก็อาจจะต้องการนอนแค่เพียงช่วงเวลาหนึ่ง
แต่ใจนั้นกลับหลอกหรือสะกดจิตตัวเองว่าต้องการนอนเยอะ ๆ มากกว่านั้นหรือเปล่า

ในเมื่อร่างกายเหนื่อย เราก็ควรให้ร่างกายได้พักผ่อนไปตามที่ร่างกายจะสมควรพัก
เท่านั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่ใช่ว่าร่างกายเหนื่อย แต่เราให้ร่างกายพักผ่อนไปเท่าที่
ใจต้องการจะให้ร่างกายพักผ่อน (ไม่ว่าจะน้อยเกินหรือมากเกินก็ตาม)
เช่นนั้น ก็ถือว่าไม่เหมาะสมแล้ว เพราะใจไม่ได้เหนื่อยไปกับร่างกายด้วยนะครับ

ฉะนั้นก็พึงพิจารณาด้วยใจเป็นกลางนะครับ ในแต่ละวันนั้น เราไม่ได้พักเลยจริง ๆ หรือ
อย่างเช่น เราเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของในร้าน หากในบางเวลาที่ไม่ได้มีลูกค้ามาซื้อของ
และเรานั่งเฉย ๆ อยู่ในร้าน โดยไม่ได้ทำอะไร เราจะไม่นับว่านั่นเป็นเวลาพักของร่างกายบ้างหรือ
หากไล่เรียงและพิจารณาอย่างเป็นกลางแล้วเห็นว่าเวลาพักผ่อนของเรามีน้อยเกินไป
เราก็ควรพิจารณาต่อไปว่า เราได้นำเวลาชีวิตไปทำเรื่องไม่จำเป็นเยอะไหม เช่น
ใช้เวลาคุยโทรศัพท์หรือคุยกับเพื่อนเยอะไหม ใช้เวลาเข้าอินเตอร์เน็ตเยอะไหม
ใช้เวลาดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านนิตยสาร อ่านการ์ตูน เล่นเกม ฯลฯ เยอะไหม
ถ้าหากเราใช้เวลาไปทำเรื่องไม่จำเป็นเสียเยอะ ก็ควรนำเวลาเหล่านั้นกลับมา
และใช้เพื่อให้ร่างกายได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก็จะเป็นประโยชน์กว่า

การเก็บเล็กผสมน้อยเหล่าเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ โดยถือว่าเป็นเวลาพักผ่อนในชีวิต
ก็ย่อมจะช่วยให้ร่างกายเราได้มีแรงไปทำเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้นนะครับ
หรือหากเราจะบอกว่า เราจะไม่พักในช่วงเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้
แต่จะนำเวลาเหล่านี้มาใช้เพื่อการปฏิบัติกรรมฐานในรูปแบบก็ยังได้
เช่น จะดูลมหายใจ บริกรรมท่องพุทโธ ดูท้องพองยุบ ขยับร่างกายกาย ฯลฯ
หรือเราอาจจะมองว่าการที่ได้ปฏิบัติกรรมฐานในรูปแบบในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น
ถือว่าเป็นเวลาพักผ่อนของเราไปด้วย คือเราได้พักผ่อนโดยการปฏิบัติธรรม
ก็ย่อมจะสบายใจเป็นสองต่อว่าได้ทั้งพักผ่อน และได้ทั้งปฏิบัติธรรมด้วยกันนะครับ
อันย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าการที่เราจะปล่อยเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ผ่านทิ้งไป
แล้วก็บ่นว่าไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย แถมเหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจอีก



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP