กระปุกออมสิน Money Literacy

น้ำท่วม ตู้เย็น ภาระ และเงินออม


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

ผู้อ่านหลายคน ตอนนี้กลายเป็นผู้ประสบภัย แบบชนิดที่เรียกว่า ไม่เคยคิดเลยว่า ในชาตินี้ ตัวเองจะต้องเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมจนถึงขั้นไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้เป็นเดือนๆ

หากมองในแง่บวก ภัยพิบัติครั้งนี้ ก็ได้ย้ำสิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรามา นั้นก็คือ ชีวิต คือ ความไม่แน่นอนและเมื่อเจอกับความไม่แน่นอน สิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือก็คือ ความไม่ประมาท

น้ำท่วมครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ใครหลายคน รวมถึงตัวผม สำรวจข้าวของเครื่องใช้ที่เรามีในบ้าน ว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น สิ่งที่เราคิดว่าจำเป็น จะถูกยกขึ้นที่สูง ยกขึ้นชั้นสอง ไม่ก็ห่อพลาสติกอย่างดี เพื่อเตรียมการรับมือกับน้ำ (หลายคนสนิทสนมกับน้ำ ถึงขั้นเรียกว่า น้องน้ำ ไปเรียบร้อย)

ลองสังเกตดูนะครับ เราจะแคร์และให้ความสำคัญกับสิ่งของที่มีมูลค่าสูงก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งของที่เป็นภาระกับเรา ถ้าไม่รวมเงินที่ฝากอยู่ในธนาคาร และเครื่องประดับเพชรพลอย ทองคำต่างๆ ถัดมาก็คือ ของชิ้นใหญ่ๆ จำพวกเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถ้าใหญ่กว่านั้น ก็รถ

ในยามเหตุการณ์ปกติ ของที่เป็นภาระของเราเหล่านี้ เป็นของใช้ที่เราคิดว่ามันจำเป็นมาก ถ้า รถยนต์ ก็ต้องเอาไว้ขับไปทำงาน พาลูกไปส่งที่โรงเรียน ส่วนเฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โต๊ะ เตียง ถ้าไม่มี แล้วจะนั่งยังไง นอนยังไง ใช้ชีวิตคงจะลำบากไม่ใช่น้อย แต่ในยามวิกฤต ของเหล่านี้ กลับกลายเป็นภาระให้เราต้องดูแลรักษา และถ้าบางคนที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับมวลน้ำมาก่อนหน้านี้ อพยพออกมาได้แต่ตัว ก็อดห่วงและเสียดายกับข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหายไปไม่ได้ กลายเป็นว่า เสียหายทั้งทางทรัพย์สิน และทางใจ

สรุปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าจำเป็น (แต่ละคนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันนะครับ) กลับสร้างภาระทางใจให้เราทั้งสิ้น ยิ่งใครนับสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจำเป็นได้จำนวนมากเท่าไหร่ ภาระทางใจก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นน้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากผมจะเข้าใจมากขึ้นว่า ชีวิตคือความไม่แน่นอนแล้ว ยังทำให้ผมเห็นว่า สิ่งที่จำเป็นในยามวิกฤตจริงๆนั้น มีไม่มากเกินจากใจนี้ออกไปหรอก สิ่งที่เราห่วงข้างนอกกายนอกใจ ล้วนเป็นภาระส่วนเกิน ที่จะทำให้เรามีห่วงติดตามเราไปในการเดินทางตลอดสังสารวัฏทั้งสิ้น แค่น้ำมาเรายังห่วงโน้นห่วงนี้ ถึงคราวเป็นคราวตาย เราคงไม่วายอาลัยอาวรณ์โลกนี้อย่างแน่นอน

ย้อนกลับมาตอนเตรียมตัวรับมือกับน้ำ สิ่งหนึ่งที่ทุกบ้านต้องทำเหมือนกันก็คือ สำรวจตู้เย็น และอาหาร บ้านที่ขี้กังวล และเห็นว่าเสบียงไม่น่าจะพอ ก็จะออกไปล่าเสบียงกลับมาตุนไว้ พอน้ำมาจริง อยู่ไม่ไหว เพราะทั้งเน่าและเหม็น อพยพออกมา ก็ทิ้งเสบียงไว้ในบ้าน ไม่ได้กิน ไม่ได้ใช้อยู่ดี เรื่องนี้โทษกันไม่ได้ครับ เพราะไม่มีใครรู้จริงๆว่า น้ำจะมาในระดับไหน สะอาดหรือเน่า อยู่นานหรือชั่วคราว ดังนั้นสิ่งที่ทุกบ้านคิดเหมือนกันหมดก็คือ เหลือดีกว่าขาด

ผมไม่ได้จะบอกว่า แนวคิด เหลือดีกว่าขาด มันเป็นแนวคิดที่ผิดนะครับ แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ทุกครัวเรือนมีแนวคิดเหลือดีกว่าขาด สุดท้าย ทุกคนจะคิดแต่สะสมไว้เพราะกลัวไม่มีใช้ พอคิดอย่างนี้ครบกันทุกบ้าน ที่กลัวขาด ดันกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ก็นำมาซึ่งปัญหาใหม่ให้กับสังคม

คุณเชื่อไหม แนวคิด เหลือดีกว่าขาด ทำให้เงินในกระเป๋าของเราลดลงโดยไม่รู้สึกเสียดายเลยซักบาท ไม่ใช่แค่ในยามที่เจอวิกฤตน้ำท่วมแบบนี้นะ แต่รวมถึงในชีวิตประจำวันปกติของเราเองก็ด้วยเหมือนกัน

ขอกลับมายกตัวอย่างเรื่องตู้เย็นอีกครั้ง ใครซื้อตู้เย็นมา ตอนแรกๆของในตู้เย็นก็ยังไม่เยอะหรอกครับ ผ่านไป ๓ เดือน ช่องว่างในตู้เย็นของเราจะหายไป ของกินอะไรต่อมิอะไรจะเข้ามาแทนที่ช่องว่างเหล่านั้น พอถึงช่วงทำความสะอาด หรือจะยกตู้เย็นขึ้นชั้นสองเพราะกลัวน้ำท่วมบ้านแบบนี้ เปิดตู้เย็นออกมา เชื่อว่า ถ้าไม่คิดเข้าข้างตัวเอง เราจะเห็นของกินที่สามารถทิ้งได้หลายอย่าง โดยที่เราลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าซื้อมาตั้งนมนาน สาเหตุที่เราเจอของพวกนี้ในตู้เย็น เพราะตอนตัดสินใจซื้อ เรามีความคิดว่าซื้อไปก่อน เหลือดีกว่าขาดเป็นปัจจัยหนึ่งที่รวมกับเหตุผลอีกหลายข้อ


ลองนึกดูในบ้าน มีของใช้อยู่ ๒ จำพวก คือ
. ของที่เราคิดว่าไม่จำเป็น เราซื้อมาเผื่อไว้ก่อน โดยคิดว่าเหลือดีกว่าขาดสุดท้าย ไม่ได้ใช้ ก็เป็นภาระให้เราต้องตามเก็บ ตามทิ้ง
. ส่วนของที่เราคิดว่าจำเป็น ในยามที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด มันก็กลายเป็นภาระให้ตามเก็บ ตามทิ้งเช่นกัน

ดังนั้น ทั้งของจำเป็นและของไม่จำเป็น ล้วนสร้างภาระทางใจให้เราทั้งคู่ ที่เราทุกข์ ก็เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่น ว่ามันเป็นของๆเรา เราไม่อยากเสียมันไป ทั้งๆที่ความจริง ไม่ช้าก็เร็ว ยังไงเราก็ต้องเสียมันไปอยู่ดี

และเพราะมี เราที่ชอบนึกเอาเองว่า เป็นเจ้าของของใช้ที่จำเป็นและไม่จำเป็นเหล่านั้นอีกที ทุกข์จึงมีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ถึงแม้ของที่คุณซื้อมา จะมีต้นทุนทางการเงินเล็กน้อย หรือได้มาฟรีจริงๆ แต่สะสมไปเรื่อยๆ จะทำให้เรามีภาระทางใจที่เพิ่มขึ้นจนเป็นนิสัย ถึงคราวที่ต้องเอาตัวรอดจากวิกฤต หรือถึงคราวที่ต้องสลัดคืนโลก จะมาห่วงแบบนี้ มีแต่จะไม่คืบหน้าไปไหน

บทความครั้งนี้ พี่ๆน้องๆอ่านดูแล้ว อาจเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินเลย (ซึ่งก็จริง) ในเบื้องต้น เราคงละความเป็นตัวเราได้ยาก ไม่เป็นไร เอาที่เห็นผลจริงๆใกล้ตัวก่อน ถ้าเราลดภาระทางใจจากการสะสมของใช้เหล่านี้ได้ ก็หมายถึงเงินในกระเป่าของเรา จะไม่ถูกใช้จ่ายออกไปแบบสะเปะสะปะเหมือนเก่า เงินออมก็เพิ่มขึ้น แถมภาระทางใจก็ลดลง (เขียนมาตั้งนาน มาเข้าเรื่องเงินออม ก็ตอนสุดท้ายนี่เอง ฮาๆ) ศัตรูที่ทำให้เงินในกระเป๋าของคุณลดลง จริงๆมันก็คือ ความคิดอยากจะได้โน้นได้นี่ของตัวคุณเอง ไม่ใช่ใครอื่นเลย

ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันนะครับ และอย่าแค่ผ่านไปเฉยๆ อะไรดีๆที่มันไหลมากับน้ำ เราก็เก็บเอาไปใช้กันต่อในอนาคต อะไรที่แย่ๆก็ปล่อยให้มันไหลไป ให้มันไหลลงทะเลไปพร้อมๆกัน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP