สารส่องใจ Enlightenment

เพียรละความชั่ว



พระธรรมเทศนา โดยพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
ในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๑๕

ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของสงบ เมื่อใจของเราไม่สงบมันก็เข้ากันไม่ได้
เมื่อใจของเราสงบจึงค่อยเข้ากันได้ มันต้องอยู่ในเชื้อสายอันเดียวกัน
เหมือนกับเครื่องวิทยุถ้าคลื่นไม่ตรงกันก็รับไม่ได้
ฉะนั้นผู้จะฟังธรรมให้เข้าถึงธรรมแท้ๆ จะต้องทำความสงบ
คืออย่าให้จิตส่งฟุ้งไปที่อื่น ดูที่จิตของตนเอง
ธรรมที่ท่านแสดง เสียงที่ท่านพูด
ทำให้คล้ายกับว่าเป็นเครื่องครอบจิตของเราไว้ไม่ให้ส่งออกไปนอกจากนั้น
ฟังที่ใจ เอาใจฟัง ดูตรงใจของเรา หาความสงบอยู่ที่ตรงใจแห่งเดียว
ธรรมที่ท่านแสดงจะมาปรากฏในที่นั้นหมดถ้าใจของเราสงบ
เป็นการฝึกหัดทำภาวนาสมาธิไปในตัว


สมัยครั้งพุทธกาลท่านทำแบบนี้
ฟังธรรมเทศนาคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระพักตร์พระองค์
ถึงมรรคผลนิพพานและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ฟังธรรมเทศนาอยู่
ก็โดยเหตุที่ท่านฟังเป็น เอาใจเข้าไปฟัง ใจกับธรรมมันเข้าถึงกันได้
ธรรมเป็นของสงบ ใจก็เป็นของสงบ
เมื่อสงบแล้วก็เห็นกิเลส บาปอกุศลและนิวรณ์ทั้งหลายที่อยู่ในใจ
เห็นแล้วก็ชำระสะสางไปพร้อมกันในตัว จะหมดกังวลพัวพันในเรื่องกิเลสทั้งหลาย
ทำให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั้นเรียกว่าหมดจดจากกิเลสบาปธรรม
การฟังธรรมต้องฟังแบบนี้จึงจะรู้เรื่องดี เข้าใจในธรรมถึงธรรมแท้


วันนี้จะอธิบายเรื่องความเพียรต่อ
ความเพียรในทางพุทธศาสนาไม่ได้เพียรประกอบกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด
เป็นการเพียรทำความดีให้เกิดมีขึ้นในใจของตน
ท่านตั้งหลักเกณฑ์ไว้เป็นเครื่องวัดเครื่องหมายในการสร้างความดี
ความเป็นจริงหากว่าตั้งใจจะสร้างคุณงามความดีแล้ว
ถึงจะไม่มีหลักเกณฑ์เป็นเครื่องวัดมันก็ได้อยู่
แต่ที่มีเครื่องวัดเครื่องหมายนั้นมันหนักแน่น มั่นคงดีกว่า
เราทำถูกต้องหรือผิดแผกไปจากหลักธรรมก็จะรู้ได้


เมื่อเพียรสร้างคุณงามความดี สร้างบุญกุศลให้เกิดมีขึ้นมาแล้ว ท่านให้เพียรละความชั่วไปด้วย
พุทธศาสนาไม่มีการล้างบาปเหมือนศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาของชาติอื่นเขา
ทำชั่วแล้วมีการล้าง มีบาทหลวงคอยล้างให้
ส่วนศาสนาพุทธของเราไม่มีการล้าง มีแต่การละ
เราเป็นคนทำชั่ว เราละการทำชั่วนั้นด้วยตนเอง การละความชั่วเรียกว่าปหานปธาน
ความชั่วมีหลายด้านหลายทาง แต่มันก็อยู่ในตัวของเรานี่แหละ
เกิดจากตัวของเรา มีที่ตัวของเรา ปรากฏขึ้นที่ตัวของเรานี่เอง
เช่น เราทำชั่วโดยการลักขโมย ฉ้อโกง
หรือคิดอิจฉาริษยา ประหัตประหารคนโน้น อยากฆ่าอยากตีคนนี้ นี่เป็นความชั่ว
คนที่ไม่รู้จักความชั่ว เมื่อได้ประหัตประหารคนอื่น สำคัญว่าเป็นของดี
ถือว่าตนมีอำนาจอิทธิพลเหนือคนหรือเหนือสัตว์อื่นๆ อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักของดีของชั่ว
ผู้นั้นยากที่จะละความชั่วได้ เพราะเห็นของชั่วกลับเป็นของดี
การละทิฏฐิมานะก็เข้าใจว่าเป็นของเลว ไม่อยากยอมให้ใคร
มานะ คือความแข็งกระด้าง
ทิฏฐิ
คือความดื้อรั้น ไม่ยอมคนอื่น ถ้ายอมก็กลัวจะเสียรัดเสียเปรียบ
อันนี้เป็นความเข้าใจผิดเพราะ มีโมหะอวิชชาอยู่

ผู้ที่ละมานะทิฏฐิ โดยไม่เห็นว่าการละเช่นนั้นเป็นการน้อยหน้าต่ำตาหรือโง่เง่าเต่าตุ่นอะไร
ผู้นั้นมีความเห็นถูกต้องไม่หลง
เพราะการละทิฏฐิมานะเราไม่ต้องอาศัยคนอื่น ไม่มุ่งถึงคนอื่น เรามุ่งในตัวของเราเอง
มานะ อาสวะและกิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นที่ตัวของเรา มันทำให้เดือดร้อนวุ่นวาย
เราไม่ได้ละเพื่อคนอื่น เราละเพื่อตัวของเราคนเดียว
เพราะความเดือดร้อนเกิดขึ้นที่ตัวของเราต่างหาก
เราเห็นโทษแล้วจึงละ คนอื่นจะชมว่าดีหรือชั่วก็เรื่องของเขาต่างหาก
เขาจะว่าเราโง่เง่าเต่าตุ่นไม่มีปัญญาสามารถ นั่นก็เรื่องของเขาต่างหาก
ส่วนเราเห็นโทษแล้ว ว่ามันไหม้เผาผลาญอยู่ในใจของเรา เราจึงละของเราเอง
ผู้เห็นอย่างนี้จึงจะละได้ และไม่ต้องรอให้คนอื่นละหมดแล้วเราจึงค่อยละ

เรื่องกิเลสคือความชั่วทั้งปวงท่านผู้ดีทั้งหลายท่านทิ้งแล้วจึงค่อยหนีจากโลกอันนี้
คล้ายๆ กับว่าของชั่วเลวทรามต่างๆ ท่านผู้ดีวิเศษผู้เป็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านเห็นโทษเห็นเป็นของสกปรกน่าเกลียด เห็นเป็นของเลวทราม
จึงสละปล่อยทิ้งทั้งหมด แล้วจึงค่อยหนีจากโลกนี้
แต่เราปุถุชนคนหนานี่ซิ กิเลสหุ้มห่อปัญญา กลับเห็นเป็นของดิบของดี
พากันแย่งชิงกันทุกหนทุกแห่งเพื่อเอาของเหล่านี้
การแย่งชิงของชั่วจึงเป็นเหตุให้เดือดร้อนวุ่นวาย คนทั้งหลายในโลกจึงเป็นทุกข์
ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเห็นเป็นของไม่ดี ละทิ้งหมดปล่อยวางหมด
ท่านอยู่ที่ไหนก็สุขสบาย จะเป็นหมู่คณะหรืออยู่คนเดียวก็เป็นสุขสบาย ไม่มีการกระทบกระเทือน

คำว่า “ท่านละคำว่า เราพากันแย่งชิงตะครุบตะคลานกันอยู่
อย่างนี้น่ะมันเป็นอุปมาอุปมัยให้ฟังเฉยๆ
ความจริงกิเลสไม่มีตนมีตัว ไม่ได้เอาไปละที่ไหนหรือเอาไปทิ้งให้ใคร
เป็นการละออกจากใจของตนเอง
ของที่ไม่ดีละออกจากใจของตนเองทั้งหมด
ใครจะเอาหรือไม่เอาก็ช่าง
ของไม่ดีมีอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น
คนที่เกิดขึ้นมาเมื่อได้เข้าใจรู้เรื่องภาษามนุษย์จึงพากันมาแย่งชิงสิ่งต่างๆ
แย่งอำนาจ แย่งความเป็นอิสระ แย่งความเป็นใหญ่ แย่งอยากได้ แย่งความมัวเมา
จึงว่าพากันมาแย่งมาชิงเอาของไม่ดี ก็เลยเป็นเรื่องเดือดร้อน
เรื่องเหล่านี้ถ้าเห็นด้วยตนเอง เข้าใจด้วยตนเองแล้วไม่ยาก ละง่ายที่สุด
ไม่ต้องอื่นไกลอะไรในตัวของเรานี่แหละ เช่น เป็นหวัด จามน้ำมูกไหลออกมาจากจมูก
เราเห็นเป็นของชั่วแล้ว ของในตัวของเราแท้ๆ
พอปรากฏมากมายเป็นของไม่ดีต้องรีบเช็ด นี่ของไม่ดีมันต้องรีบเช็ด รีบทิ้ง
ทีนี้ของดีแต่เรามองไม่เห็น ไม่รีบเอา ไม่รีบรักษา
ดังอธิบายมาข้างต้นในเรื่องอนุรักขณาปธาน

ปหานปธานนั้น ต้องอาศัยความรู้ที่จะละความชั่ว ต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องความชั่ว
สมมุติว่าเดี๋ยวนี้เรามีความวุ่นวายจิตใจส่งส่ายไม่สงบ เป็นภัยของสมาธิ
หรือมีความเพลิดเพลินมัวเมาและลุ่มหลงปรุงแต่ง ส่งหน้าส่งหลัง ตรงโน้นตรงนี้
ความปรุงความแต่งเป็นภัยของสมาธิภาวนาทั้งนั้น
นี่เรียกว่าเราเห็น เห็นของชั่วเห็นเป็นของไม่ดีจริงๆ
เมื่อเห็นเป็นของชั่วของไม่ดีเช่นนี้ แล้วจะละได้
การเห็นโทษเห็นภัยแล้วมันทิ้งไปในตัวปล่อยวางไปเอง

ทีนี้เราไม่เห็นโทษมันนี่ซี เห็นแต่ว่าเป็นของดี
เมื่อเห็นเป็นของดีแล้วเลยอยากได้ จึงยึดเอาอันนั้น แล้วก็ไม่พออยากให้มันยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
ถ้ามีแล้วก็หยิ่งยโสดีกว่าคนอื่นทั้งนั้น สูงกว่าผู้อื่นทั้งหมด
เกิดอัสมิมานะถือตนถือตัว ถือใหญ่ถือโต ถืออิสระ มีมานะทิฏฐิไม่ยอมใคร
ในทางธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบนั้นคือคนต่ำต้อย คนเลวทราม
ผู้ละได้นั้นคือคนใจสูง ผู้ยึดคือคนใจต่ำ ใจเลวทราม
เมื่อเข้าใจอย่างนี้จะละได้สบาย

ปหานปธาน ให้เพียรดูที่จิตของเรานั้นแหละ
การกระทำสิ่งใดๆ ก็เกิดจากจิตเป็นคนบัญชา
ถ้าจับจิตเห็นจิตอันนี้แล้วจะรู้ได้ดีเห็นได้ชัด
กายจะทำอะไร ผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว เป็นบุญหรือเป็นบาป รู้ได้ดีทีเดียว
เอาสติไปตั้งไว้ที่จิต คิดค้นอยู่ที่จิต
เห็นใจเป็นผู้สั่งกายทำอะไรๆ เห็นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเราอ่านรู้เรียนเข้าใจเรื่องความชั่วดังอธิบายมานี่แล้ว
และเห็นชัดเห็นจริงด้วย ก็ละความชั่วได้ดี
ถ้ายังไม่ทันเห็นความชั่ว หรือยังไม่ทันเห็นตัวจิตจริงๆ แล้ว
ก็ไม่ทราบว่าจะไปละตรงไหน
เหตุนั้นคนเราจึงคอยให้คนอื่นละเสียก่อน
แล้วตนจึงค่อยละ เพราะยังไม่เห็นใจของตนตรงนี้เอง
เปรียบเหมือนถ้าเขาโกรธเรา เราอยากจะให้เขาหายโกรธเสียก่อน
แล้วเราจึงจะละความโกรธหรืออิจฉาริษยา
เขาเหยียดหยามดูถูกดูหมิ่นเราด้วยประการต่างๆ ก็หาว่าเขาผิด
เราต้องการอยากจะให้เขาละความผิดเสียก่อน
แล้วเราจึงจะละทีหลัง ถ้าเขาไม่ละก็หาว่าเขาไม่ดี
บางทีเขาละแล้ว เรายังไม่ยอมละเลย มานะทิฏฐิของเรายิ่งทวีขึ้นไปอีก อย่างนี้ก็มีมาก

เนื่องจากไม่รู้จักของดีก็เลยไม่รู้จักรักษา
ไม่รู้จักความชั่ว เลยไม่รู้จักละทิ้ง ไม่มีการพยายามที่จะละ
ถ้าเห็นว่ามันมาติดในจิตของตน เป็นอกุศล เป็นเครื่องมัวหมอง
ทำให้ใจไม่ผ่องใสสะอาด ให้เกิดเดือดร้อนเป็นทุกข์แล้ว
ก็พยายามที่จะรักษา ที่จะขัดเกลาชำระสะสางจิตใจทุกๆ วิถีทาง
นั่นเรียกว่าเพียรละความชั่ว การละความชั่วต้องละอย่างนี้
บางคราวถ้าไม่แสดงออกมาทางกาย มันก็แสดงมาทางวาจา
พูดยกโทษคนนี้นินทาคนนั้น สรรเสริญคนโน้น
พูดให้กระทบกระเทือนให้เป็นเรื่อง ให้คนอื่นเกลียด โกรธ
พูดอะไรออกมามีเจตนาเพื่อที่จะให้เขาเข้าใจในคำพูด
แล้วจะได้โกรธหรือเขาเกิดโทมนัสน้อยใจ
นี่ก็แสดงออกมาทางวาจาโดยมีใจเป็นคนบัญชาเหมือนกัน
ดังนั้นถ้าเห็นใจแล้วก็ไม่ยาก จะเห็นได้ชัดเลยว่าบาปอกุศลเกิดขึ้นมาที่ใจ
ก็พยายามที่จะละโดยแนวเดียวกันเหมือนกับกาย

ทีนี้หากว่ามันเกิดขึ้นทางใจ
โดยที่ไม่ได้พูดออกมาทางวาจาและไม่ได้แสดงกิริยาการกระทำด้วยกาย
แต่จิตใจนั้นคิดขุ่นมัวหมอง เกิดอิจฉาริษยา โทมนัสน้อยใจ นึกเศร้าโศกเสียใจ
หรือเกิดความเกลียดความโกรธคนใดฝังอยู่ภายใน สุมอยู่ภายใน
อันนั้นไม่มีใครเห็นด้วยหรอก เห็นด้วยตนเองคนเดียว
ถ้าไม่รู้จักใจตรงนี้ มันก็ไม่ทราบจะไปละอะไร ละไม่ถูกอีกนั่นแหละ
เพราะอย่างนั้นจึงให้เห็นใจเสียก่อน จึงจะละได้
นี่เรียกว่าพยายามละอกุศลบาปธรรม

บาปในที่นี้ ได้แก่ความชั่วที่ทำจิตให้มัวหมอง ทำจิตเดือดร้อนเป็นทุกข์ เรียกว่าบาป
เราพยายามที่จะเอาชนะมันพยายามชำระให้มันหมดไป จึงจะได้ความสงบสุข
น่าเสียดายบางคนต้องการอยากจะหาความสุข
แต่กลับไปแสวงหาทุกข์ เกิดทุกข์มากขึ้นกว่าเก่า
คือแทนที่จะละ กลับไปยึดไปถือเอาสิ่งที่เราจะละนั้นเสีย
เลยเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน
ความประสงค์นั้นไม่ได้อยากได้ความทุกข์เดือดร้อน อยากจะหาแต่ความสุข
แต่เวลาทำกลับไปหาแต่ความทุกข์เพราะไม่รู้
เช่น อยากจะไค้ความสุข อยู่วิเวกเยือกเย็น สงบกายสงบใจ
แต่ก็เกิดความอิจฉาริษยาเบียดเบียนคนอื่น ไปพูดกระทบเขา ทำให้เขาเดือดร้อนเป็นทุกข์
อันนี้เรียกว่าแสวงหาสุข แต่ไม่ประกอบในสิ่งที่เป็นเหตุให้ได้รับความสุข
กลับไปประกอบในสิ่งที่เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน จับไม่ถูกตัวเลยกลับตรงกันข้าม
เพราะฉะนั้นในการฟังธรรมครั้งนี้ ขอจงพากันจับหลักใหญ่ๆ ใจความให้มันได้
มีหลัก ๓ ประการ คือความชั่วมันเป็นอย่างไร มันเกิดที่ไหน แล้วเราจะพยายามละได้อย่างไร

ความชั่ว บาปทั้งหลายเกิดจากจิต
จิตเป็นคนสั่งการ ให้พูด ให้ทำ ให้คิดให้นึก
ถ้าหากเราเห็นจิต เราจะเห็นความชั่วเกิดที่จิต
จึงจะพยายามละความชั่วที่จิตของตนนั้นได้

ดังนั้นทุกๆ คนเมื่อเข้าใจและได้หลักแล้วก็ยึดหลักอันนี้
ตั้งไว้ปฏิบัติในปธานที่ ๓ คือปหานปธาน ละความชั่วอย่าให้มันเกิดมีขึ้นในตัวของตน
จิตใจก็จะผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์
นำมาซึ่งความสุขสบายทั้งกายและจิต คิดนึกสิ่งใดก็ปลอดโปร่ง
ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมก็จะปรากฏที่ใจของตน
ได้รับผลประโยชน์อันแท้จริงคือความสุขสงบ และเกิดปัญญาตามพุทธประสงค์
อธิบายมาพอแก่กาลเวลา เอวํ

sathu2 sathu2 sathu2


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - -

คัดจาก เพียรละความชั่ว
ที่มา
http://www.thewayofdhamma.org/page3_2/patum32.html



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP