จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เมื่อยามสูญเสียบ้านและทรัพย์สิน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

063_destination



สถานการณ์น้ำท่วมในยามนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนอย่างมากมาย
หลาย ๆ ท่านต้องอพยพย้ายที่อยู่เป็นการชั่วคราว หลายท่านต้องสูญเสียบ้านเรือน
สูญเสียเงินทองทรัพย์สิน สูญเสียไร่นาพืชผล รวมถึงอาชีพการงานที่มั่นคง
บางท่านก็ถึงกับต้องสูญเสียญาติสนิทอันเป็นที่รักด้วย

ในคราวนี้ เราก็จะมาคุยกันในเรื่องการทำใจเมื่อสูญเสียบ้านและทรัพย์สินนะครับ
สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่อินทรีย์ในทางธรรมยังอ่อนอยู่ (รวมทั้งผมเองด้วยนะครับ)
ในยามที่เราต้องสูญเสียบ้านและทรัพย์สินทั้งหมดนั้น
ก็ย่อมเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก
บางท่านที่ทนรับเรื่องดังกล่าวไม่ได้ จนถึงกับตัดสินใจคิดสั้นก็มี

แต่หากเราจะลองใจเย็น ๆ พิจารณาเรื่องราวให้ดีแล้ว
การสูญเสียบ้านและทรัพย์สินนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงแค่ไหนกัน
เราสูญเสียบ้านและทรัพย์สิน แต่ไม่ได้สูญเสียชีวิต ไม่ได้สูญเสียอวัยวะในร่างกาย
ไม่ได้สูญเสียความรู้ความสามารถในการทำงาน ไม่ได้สูญเสียโอกาสในการดำรงชีพ
ไม่ได้สูญเสียโอกาสในการที่จะทำงานสร้างฐานะและหาทรัพย์สินขึ้นมาใหม่
หากเราจะลองเปรียบเทียบดูแล้ว โดยให้เราพิจารณาเลือกระหว่าง
กรณีโดนน้ำท่วมหรือโดนไฟไหม้ทำให้สูญเสียบ้านและทรัพย์สินไปทั้งหมด
กับกรณีตัวเราเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิต ทำให้เป็นอัมพาตทั้งร่างกายตลอดชีวิต
ทำให้เป็นคนปัญญาอ่อน หรือเกิดป่วยเป็นโรคมะเร็งร้ายทำให้ทรมานกาย
และก็ต้องตายในเวลาอีกไม่นาน หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้เราต้องสูญเสียพ่อแม่
สามีภรรยาหรือบุตรอันเป็นที่รักไป เป็นต้น
หากเราจะเปรียบเทียบการสูญเสียบ้านและทรัพย์สินกับสิ่งเหล่านี้แล้ว
อย่างไหนจะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่ากัน

หากเราตอบว่าการสูญเสียบ้านและทรัพย์สินเป็นเรื่องที่ร้ายแรงน้อยกว่าแล้ว

เราก็พึงจะทำใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเรา

แม้ว่าเราจะสูญเสียอะไรไปหลายอย่าง แต่ว่าเรายังมีชีวิตอยู่

เรายังมีความสามารถ มีร่างกาย และมีโอกาสที่จะสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ใหม่
ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่นี้
เราย่อมยังมีโอกาสสร้างกุศล เพื่อเป็นเสบียงติดตัวไปภพหน้า
เราย่อมยังมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อเดินไปในทางสู่การพ้นจากสังสารวัฏ
ฉะนั้นแล้ว เรายังมีอะไรที่ดี ๆ อยู่อีกหลายอย่าง
กรณีจึงไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก และหลงเข้าใจผิดไปว่า
ชีวิตของเราจะต้องสูญสิ้นคุณค่าทุกอย่างเสียแล้ว
เพราะคุณค่าของชีวิตคนเรานั้น ไม่ได้อยู่ที่บ้านหรือทรัพย์สินแต่อย่างใด
แต่อยู่ที่ว่าเราใช้ชีวิตของเราอย่างไร เราใช้เวลาในชีวิตไปทำอะไร
สิ่งเหล่านั้นต่างหากที่จะแสดงถึงคุณค่าของชีวิตเรา

แม้ดิน น้ำ ลม ไฟ โจร หรือภัยอื่นใดจะทำให้เราสูญเสียทรัพย์ภายนอกได้ก็ตาม
แต่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถจะทำให้เราสูญเสียทรัพย์ภายใน หรืออริยทรัพย์
ที่เราได้ทำทาน รักษาศีล หรือปฏิบัติภาวนาไว้แล้ว
และทรัพย์ภายในหรืออริยทรัพย์เหล่านี้ ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงส่งกว่า
มีคุณค่ามากมายกว่าทรัพย์ภายนอกทั้งหลายทั้งปวง

ในเรื่องนี้ ขอนำข้อเขียนของท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แสง จันทร์งามมาฝากอีกนะครับ
โดยนำมาจากหนังสือ ลีลาวดี ในตอนที่ชื่อว่า อัคคีภัย
ซึ่งในตอนนี้เป็นเรื่องราวที่ชายคนหนึ่งสูญเสียบ้านและทรัพย์สินจากอัคคีภัย
แต่หลักการและวิธีการคิดก็สามารถนำมาปรับใช้กับการสูญเสียเนื่องจากน้ำท่วมได้เช่นกัน
ขอเล่าเรื่องราวโดยย่อก็คือว่า พระเอกของเรื่องชื่อ เรวัตตะได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ
ในพระพุทธศาสนาแล้ว จากนั้น ก็ได้จาริกเดินทางไปทั่วจนได้ไปจำพรรษาที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง
และเกิดเหตุอัคคีภัยแก่บ้านของหัวหน้าหมู่บ้าน (หรือเรียกว่า “นายบ้าน”)
นายบ้านจึงมาขอให้พระเรวัตตะได้ให้ความช่วยเหลือ
พระเรวัตตะจึงได้ทำการช่วยเหลือโดยให้ธรรมโอสถแก่นายบ้านนั้น


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


... วันรุ่งขึ้น นายบ้านได้มาหาผมพร้อมด้วยน้ำตาแล้วรายงานว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คืนที่แล้วมาได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่เรือนของกระผม บ้านเรือนและทรัพย์สมบัติถูกเพลิงเผาผลาญหมดสิ้น กระผมกลายเป็นคนทุคตะเข็ญใจเสียแล้ว พระผู้เป็นเจ้าโปรดกระผมด้วย”

“ไม่ต้องกังวล อาตมาจะช่วยเต็มความสามารถ”

“ขอได้โปรดช่วยโดยเร็วด้วย มิฉะนั้น กระผมและบุตรภรรยาจะอดตายเสียก่อน” นายบ้านกล่าวอย่างร้อนใจ

“อาตมาจะลงมือช่วยเดี๋ยวนี้ทีเดียว แต่ขอให้อุบาสกสงบจิตใจ ลืมเรื่องไฟไหม้บ้านไว้ชั่วคราวก่อน”

อุบาสกนายบ้านนั่งก้มหน้าหลับตาลงด้วยอาการสำรวมเป็นอันดี แล้วผมก็เริ่มช่วยเขาด้วยธรรมโอสถดังนี้

ดูก่อนอุบาสก! จงตั้งใจให้สงบระงับ แล้วคอยฟังเรื่องที่อาตมาจะเล่าให้ฟัง ในระหว่างที่อาตมาเดินทางท่องเที่ยวมาโดยลำดับนั้น วันหนึ่งได้พักค้างคืนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นก็เข้าไปบิณฑบาตในบ้านตามวิสัยสมณะ ขณะที่กำลังเดินไปตามถนน ได้สังเกตเห็นฝูงชนกำลังรุมดูอะไรเป็นกลุ่มใหญ่ จึงเดินเฉียดเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อจะดูว่าได้เกิดเรื่องอะไรขึ้น อาตมาได้เห็นชายสองสามคนกำลังจับชายอีกคนหนึ่ง ดึงถูลู่ถูกังออกมาจากโรงทำหม้อของนายช่างหม้อ ชายคนที่ถูกดึงก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนที่จะกลับไปในโรงทำหม้ออีก พลางส่งเสียงร้องว่า ฉันไม่ไป ฉันไม่ไป นี่โรงทำหม้อของฉัน ฉันจะไปทำไม ฝ่ายคนทั้งหลายไม่ฟังเสียง พยายามผลักไสเขาออกไป พร้อมกับร้องว่า เจ้าคนบ้า เจ้าคนบ้า

ได้เห็นเหตุการณ์อันประหลาดนั้นแล้ว อาตมาจึงถามชายอีกคนหนึ่งว่าเรื่องอะไรกัน เขาอธิบายให้ฟังว่า ชายคนที่เขาดึงออกมานั้น เป็นคนแปลกหน้าจากไหนไม่ทราบ เมื่อคืนที่แล้วได้ไปขออาศัยพักบ้านนายช่างหม้อ บอกว่าวันรุ่งขึ้นก็จะออกเดินทางต่อไป อาศัยคืนเดียวเท่านั้น นายช่างหม้อก็ยินดีจัดที่พักให้ด้วยอัธยาศัยไมตรี หาของใช้จำเป็นต่าง ๆ มาให้ พอรุ่งขึ้นชายแปลกหน้าคนนั้นกลับทึกทักเอาว่า โรงทำหม้อและทุกสิ่งทุกอย่างภายในนั้นเป็นสมบัติของตน ไม่ยอมออกจากโรงหม้อ ชาวบ้านต่างคิดว่าเขาคงกลายเป็นบ้าไปเสียแล้ว จึงช่วยกันฉุดเขาออกมาดังที่เห็นอยู่นี้

ดูก่อนอุบาสก! ถ้าท่านไปพบเหตุการณ์เช่นนั้นเข้า ท่านจะคิดอย่างไร ท่านจะคิดว่าชายคนนั้นเป็นบ้าหรือเป็นคนดี

นายบ้านตอบอย่างเงื่องหงอยว่า ชายคนนั้นต้องบ้าแน่ เพราะไปเหมาเอาของเขาเป็นของตัว ทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีสิทธิ์เลย

ถ้าชายคนนั้นบ้า คนทั่ว ๆ ไปก็บ้าด้วย! อาตมาจะชี้แจงเหตุผลให้ฟัง โลกนี้คือโรงงานของนายช่างหม้อ คนทุกคนเป็นแต่ผู้มาขออาศัยชั่วคราว ในไม่ช้าก็ต้องจากไป เรามาสู่โลกนี้ด้วยตัวเปล่า สมบัติชิ้นเดียวก็ไม่มีติดตัวมา ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เช่น บ้านเรือน ไร่นา ผ้าผ่อน เงินทอง เรามาหาเอาทีหลัง เมื่อถึงคราวที่เราจะลาโลกนี้ไป เราต้องทิ้งทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไว้เบื้องหลัง จะมีมากน้อยเท่าไรก็เอาไปด้วยไม่ได้ ถ้าสมมติว่าทุกคนตายหมด ทรัพย์สมบัติจะตกอยู่กับโลกนี้เอง มันก็กลับคืนไปหาโลกซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของมัน เราทุกคนไม่ใช่เจ้าของ เราเป็นผู้ขออาศัยอยู่ชั่วคราว ในไม่ช้าต้องจากไป ทิ้งสิ่งต่าง ๆ ไว้ให้ผู้มาอาศัยทีหลังใช้ต่อไป เมื่อความจริงมีอยู่เช่นนี้ ทรัพย์ของเราอยู่ที่ไหน ของเราไม่มี แต่คนส่วนมากก็เข้าใจว่าบ้านของเรา เงินของเรา เสื้อผ้าของเรา ไร่นาของเรา ติดอยู่กับวัตถุเหล่านี้ ไม่อยากให้ตนพรากจากสิ่งเหล่านี้ ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้พรากจากตน เมื่อเกิดการพลัดพรากก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้รำพันเช่นเดียวกับชายแปลกหน้า ที่เข้าไปขอพักในโรงงานของนายช่างหม้อ แล้วทึกทักเอาว่าเป็นของตน ถูกเขาผลักไสให้ออกไปก็ไม่ยอมออก ฉะนั้น อาตมาจึงกล่าวได้ว่า คนส่วนมากก็บ้าเหมือนชายคนนั้น

ดูก่อนอุบาสก! อย่าเสียใจเลยที่ท่านต้องสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติเพราะการถูกไฟไหม้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา เรายืมเขาใช้ชั่วคราวเท่านั้น บัดนี้ถึงเวลาที่เขาจะต้องเรียกเอาของเขาคืน เราก็ควรคืนให้เขาไปด้วยความยินดี ในเมื่อชีวิตร่างกายของเรายังมีอยู่ก็หาเอาใหม่ ฉะนั้น อย่าโศกเศร้าเสียใจ ทำใจให้เข้มแข็งไว้ ในชีวิตท่านจะสร้างฐานะของท่านให้มั่นคงได้อย่างเดิม

นายบ้านยังคงตรึกตรองอยู่เป็นเวลานานพอสมควร จึงก้มลงกราบผม แล้วกล่าวด้วยเสียงแจ่มใสกว่าเดิม

“ท่านผู้เจริญ เทศนาของท่านให้ความสว่างแจ่มใสแก่จิตใจผมมาก ผมไม่เคยฟังเหตุผลเช่นนี้มาก่อนเลย จึงเข้าใจว่าทรัพย์ทั้งหลายเป็นของตนจริง ๆ แต่ที่แท้มันก็เป็นเพียงแต่วัตถุธาตุที่เราขอยืมใช้ชั่วคราว ในระหว่างที่อาศัยอยู่ในโลกเท่านั้นเอง เมื่อเข้าใจเหตุผลข้อนี้แล้ว ทำให้ผมสบายใจขึ้นมากทีเดียว ว่าแล้วเขาก็ก้มลงกราบผมด้วยความนอบน้อมอีกครั้งหนึ่ง

ดูก่อนอุบาสก! คนสามัญทุกคนย่อมตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งโมหะคือความหลง หรือความเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง ความจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่เขากลับเห็นเป็นอย่างอื่นไป แล้วก็ยึดถือว่าเป็นจริงเป็นจัง ตามความเข้าใจผิดของตนนั้น เข้าใจผิดในเรื่องอะไรบ้าง เข้าใจผิดในเรื่องทรัพย์ว่าทรัพย์เป็นของตนจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ทรัพย์เป็นแต่เพียงวัตถุธาตุมีอยู่กับโลก เมื่อคิดว่าทรัพย์เป็นของตนก็ติดอยู่ในทรัพย์ วุ่นวายอยู่กับทรัพย์ ทำชั่วเพราะทรัพย์ แล้วก็เป็นทุกข์เพราะทรัพย์ บางคนได้ยศแล้วก็หลงยศ คิดว่ายศเป็นของจริงจัง ติดแน่นอยู่ในยศ วุ่นวายเราะยศทำชั่วเพราะยศ แล้วก็เป็นทุกข์เพราะยศนั้น ตามความเป็นจริงยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเพียงสิ่งสมมติกันขึ้น ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง

นายช่างอาจจะเอาดินไปปั้นเป็นหม้อ เป็นไห เป็นถ้วยชาม เป็นตุ่มน้ำ เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ สิ่งอื่นๆ อีก แต่ในที่สุดมันก็คงเป็นดินนั่นเอง คนเราเขาอาจสมมติให้เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นจัณฑาล เป็นนายบ้าน เป็นทหาร เป็นเสนาบดี เป็นราชา และอื่น ๆ อีก แต่ในที่สุดเขาก็เป็นคนหนึ่ง เหมือนคนทั้งหลายในโลกที่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน

ยศทั้งหลายเป็นแต่เพียงสมมติ ยศที่แท้จริงของทุกคนคือ สัตว์โลก ที่รักชีวิตไม่คิดอยากตาย ปรารถนาความสุขสบาย เกลียดหน่ายต่อทุกข์ ถ้าคนเราคิดอยู่เสมอว่า คนเป็นเพียงสัตว์โลกคนหนึ่ง เขาจะไม่หลงใหลกับยศภายนอกที่คนสมมติให้ เขาจะไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เขาจะเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ แล้วก็ทำแต่ความดี ผลคือความสงบสุขก็เกิดมีในชุมนุมชน

ดูก่อนอุบาสก! นอกจากทรัพย์และยศที่กล่าวแล้ว คนเรายังหลงเข้าใจผิดในสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายจนจาระไนไม่หวาดไหว แต่พอจะสรุปได้ว่า ผู้ใดมีสิ่งใดก็มักจะหลงสิ่งนั้น มัวเมาอยู่กับสิ่งนั้น

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ!” นายบ้านกล่าวสวนขึ้น เหตุผลของพระคุณเจ้าให้ความสว่างแก่กระผมมากทีเดียว กระผมยังหลงอะไรต่อมิอะไรอยู่มาก ขอได้โปรดชี้แจงวิธีแก้ความหลงแก่กระผมด้วย

ดูก่อนอุบาสก! วิธีแก้ความหลงอาจทำได้ไม่ยากนัก เมื่อท่านรู้สึกตัวว่าเป็นผู้หลงแล้วเช่นนี้ ก็ยิ่งเป็นการง่ายที่จะแก้ความหลง ดุจบุรุษที่หลงทาง ถ้ารู้ว่าตนหลงทางจะพบทางถูกในไม่ช้า ถ้าไม่รู้ว่าตนหลงทาง เดินตามทางผิดเรื่อยไป จะไม่มีวันถึงจุดหมายปลายทางได้เลย

ท่านทราบแล้วว่า ความหลง คือความไม่รู้ความจริงแล้วเข้าใจผิด เหตุที่ไม่รู้ความจริง เพราะมีจิตมืดมัว เหตุที่จิตใจมืดมัว เพราะมีอะไรบางอย่างแทรกซ่อนอยู่ในจิตใจ ดุจน้ำที่เต็มไปด้วยฝุ่นผงย่อมไม่แจ่มใส หรือดุจคนที่ผงเข้าตา ทำให้รู้สึกขัดเคืองนัยน์ตา มองอะไรไม่เห็นถนัดแล้ว ก็เข้าใจว่าเชือกเป็นงู ในตัวอย่างหลังนี้ เชือกคือความจริง งูคือความไม่จริง ทำอย่างไรเล่าจึงจะรู้ความจริง คำตอบคือว่า เราอาจทำได้ ๒ วิธี

วิธีหนึ่ง โดยการศึกษาพิสูจน์สอบสวน สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นงูนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเอาไม้เขี่ย ๆ ดูบ้าง เอาไม้สอดขึ้นบ้าง ถ้าเห็นไม่กระดุกกระดิก เราจะเกิดความรู้ใหม่ว่างูตาย ธรรมดางูตายแล้วย่อมกัดใคร ๆ ไม่ได้ เมื่อรู้เช่นนี้ เราก็จับมาพิสูจน์ด้วยมือ ลูบคลำสัมผัสดูให้ตลอด ในที่สุดความรู้สึกอันกระจ่างชัดก็เกิดขึ้นในใจนั้นคือเชือก พอรู้ว่าเป็นเชือกเท่านั้น ความหวาดกลัว ความสงสัยลังเล หายไปอย่างปลิดทิ้ง

วิธีที่สอง โดยเอาผงออกจากตาเสียก่อน เพราะเมื่อผงออกจากตาแล้ว ความขัดเคืองนัยน์ตาจะหายไป ดวงตาจะแจ่มใสมองเห็นอะไรได้ชัดเจนตามความเป็นจริงเสมอ วิธีนี้ดีกว่าวิธีแรกเพราะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุอันแท้จริง เมื่อตาแจ่มใสแล้ว จะเห็นอะไรกระจ่างชัดไปหมด ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอีก วิธีแรกเป็นการแก้ปลายเหตุ ถึงจะเข้าใจถูกในเรื่องงู ก็อาจจะเข้าใจผิดในสิ่งอื่นได้อีก ต้องพิสูจน์สอบสวนกันอีก ไม่มีเวลาสิ้นสุดได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังดีกว่าไม่ทำเสียเลย

ดูก่อนอุบาสก! คนส่วนมากที่หลงอะไรต่าง ๆ อยู่เวลานี้ เพราะดวงตาคือจิตใจของเขาเต็มไปด้วยผง ทำให้ใจขุ่นมัว มองอะไรไม่เห็นถนัด จึงเข้าใจผิดไป เมื่อเข้าใจผิดก็ทำผิด พูดผิดไปด้วย ผลที่เกิดก็คือทุกข์ เมื่อเข้าใจผิดแล้วยังไม่รู้ว่าตัวผิด ไม่คิดจะพิสูจน์ความแล้ว ก็เดินตามทางผิดเรื่อยไป ผงที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวคืออะไร ท่านควรจะทราบลักษณะของจิตใจเสียก่อน จิตใจของคนเราในเวลาปกติ จะมีลักษณะแจ่มใสเยือกเย็นสงบ จะคิดอะไรก็ทะลุปรุโปร่ง เป็นความคิดที่ดี ถ้าพูดอะไรออกมาในขณะนั้น ก็เป็นคำพูดที่ดี ทำการงานอะไรก็เป็นการงานที่ดี เมื่อคิดดี พูดดี ทำดี ผลดีก็เกิดขึ้น

ดูก่อนอุบาสก! บางเวลาความอยากได้ ความกระหายจะเข้ามาแทรกจิตใจ ทำให้จิตใจกระวนกระวาย คล้ายเสือหิวที่ติดอยู่ในกรง บางเวลาความโศกเศร้าจะครองใจ ทำให้จิตใจหดหู่เงื่องหงอย บางเวลาความกำหนัดยินดีจะเข้าครองใจ ทำให้จิตใจฮึกเหิม แต่มืดมัวดุจช้างตกมันที่ตาบอด ความอยาก ความโกรธ ความริษยา ความกำหนัด ความโศก เป็นต้น เหล่านี้คือผงของจิตใจ ทำให้จิตใจขุ่นมัว มองเห็นอะไรไม่ถนัดดุจคนผงเข้าตา

วิธีแก้ ต้องมีสติตื่นตัว อย่าเผลอ ใช้สติเป็นยามคอยเฝ้าดูจิตใจของตน ตรวจตราดูจิตใจเสมอว่า ผ่องใสเป็นปรกติหรือขุ่นมัว ถ้าขุ่นมัวเพราะมีอะไรมาแทรก ความโกรธหรือความเกลียด ความโลภหรือความเบื่อหน่าย ความริษยาหรือความรัก เมื่อรู้ว่าอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่งกำลังครองใจอยู่ เช่น ความโกรธ ให้ตั้งสติไว้ให้มั่นคง อย่าเผลอ ติดตามความเคลื่อนไหวของมันทุกระยะ ว่าความโกรธนั้นขึ้นมาถึงระดับไหนแล้ว โกรธน้อย ๆ เพียงหงุดหงิดงุ่นง่าน หรือว่าเดือดพล่านเต็มที่ ให้ข่มใจไว้ อย่าให้ใจคิดเพราะใจที่เต็มด้วยความโกรธ ย่อมคิดชั่ว ข่มปากไว้อย่าให้ปากพูด ถ้าปากพูดในขณะกำลังโกรธ คำพูดจะเป็นคำพูดชั่ว ข่มแข้งขามือเท้าไว้อย่าให้ทำงาน ถ้าทำงานจะเป็นงานชั่ว ผลที่ตามมาคือความทุกข์ความเสียหาย ถ้ามีสติรู้ตัวอยู่อย่างนี้ ในไม่ช้าความโกรธจะระงับลง ใจจะกลับผ่องใสตามเดิม ต่อจากนั้นจะคิดจะพูดจะทำอะไร ก็คิดดี พูดดี ทำดี ผลเสียหายจะไม่มีเลย

ดูก่อนอุบาสก! อารมณ์ชนิดอื่น ๆ เช่น ความโลภ ความริษยา เป็นต้น ก็อาจจะระงับลงได้โดยวิธีนี้เหมือนกัน คนส่วนมาก ขาดสติยับยั้งใจ เมื่อความโกรธเป็นต้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ปล่อยให้มันลุกลามต่อไปได้ตามสบายตั้งแต่ใจจนถึงกาย ใจที่ถูกความโกรธครอบงำจะเดือดพล่าน และมืดมิดไม่เห็นเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น กลายเป็นใจยักษ์ใจมาร ใจเช่นนี้จะสั่งให้ปากด่าทอ สั่งให้กายทุบต่อยตีฆ่าอย่างทารุณ บางทีฆ่าได้แม้กระทั่งบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตน บางครั้งก็ทำลายพัสดุสิ่งของอันมีค่าที่ตนเคยหวงแหน เมื่อความโกรธสงบลง เมื่อเหตุผลกลับคืนมาแล้วนั่นแหละ เขาจะเสียอกเสียใจอย่างใหญ่หลวง ถึงเสียใจก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะสายเสียแล้ว นี่คือโทษของการขาดสติยับยั้งใจ จะก่อทุกข์โทษให้แก่กันไม่น้อยกว่าความโกรธเลย

ดูก่อนอุบาสก! เมื่อท่านทราบแล้วเช่นนี้ จงหมั่นตรวจตราดูจิตใจเสมอ มีสติยับยั้งใจในเมื่อมีอารมณ์ต่าง ๆ แทรกเข้ามาพยายามรักษาจิตใจให้อยู่ในสภาพอันผ่องใส แล้วท่านจะสบายใจตลอดกาล

ผมได้เทศนาสั่งสอนนายบ้าน ให้มีใจผ่องใสหายโศกเศร้าแล้ว ก็ห่มจีวรเข้าไปในบ้านพร้อมด้วยนายบ้าน ภาพที่ได้เห็น เมื่อมาถึงหมู่บ้าน ก็พบเรือนของนายบ้านที่กลายเป็นเถ้าถ่านแล้ว ลูกเมียของนายบ้านกำลังนั่งร้องไห้ มองดูกองเถ้าถ่านอยู่ใต้ร่มไม้ข้าง ๆ มีชาวบ้านมาดูเหตุการณ์ และแสดงความเสียใจกับนายบ้านมากมาย

ข้าแต่นาย ชายลูกบ้านคนหนึ่งกล่าว ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจยิ่งในเคราะห์กรรมของท่าน แต่จะทำอย่างไรได้ เอาเถอะท่านไม่ต้องวิตก พวกข้าพเจ้ายินดีจะช่วยเหลือท่าน

ขอบใจท่านที่หวังดีต่อเรา นายบ้านหันไปกล่าวกับเขาด้วยเสียงเป็นปกติ แต่ไม่ต้องเสียอกเสียใจ เพราะมันเป็นของธรรมดา บ้านนี้ไม่ใช่ของเรา ผ้าผ่อนเงินทองและทรัพย์สมบัติทุกชิ้น ที่ถูกเผาไหม้กับบ้านนี้ก็ไม่ใช่ของเรา เรายืมโลกเขาใช้ชั่วคราวในระหว่างที่เรามาพักอาศัยอยู่ในโลกนี้เท่านั้น เจ้าของเดิมเขาคือแผ่นดิน เขาต้องการเอาของเขาคืน เขาจึงใช้ไฟมาทวงเอา เราก็ให้คืนเขาไปแล้ว จะไปเสียอกเสียใจทำไม ชีวิตยังอยู่ก็หาเอาใหม่เท่านั้นเอง

คำพูดอันน่าฟังของนายบ้าน ทำให้ฝูงชนที่มาดูเหตุการณ์ตกตะลึงไปทีเดียว ข้าแต่นาย ท่านพูดน่าจับใจเหลือเกิน ลูกบ้านคนหนึ่งกล่าวทำลายความเงียบขึ้น

ไม่ใช่คำพูดของเราดอก เป็นคำพูดของพระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายองค์นี้ นายบ้านพูดพลางชี้มือมาทางผม

ไม่ใช่คำพูดของอาตมา ผมกล่าวขึ้นบ้าง แต่เป็นคำพูดของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ความจริง ธรรมดาของจริงย่อมน่าฟังเสมอ...


_/\_ _/\_ _/\_



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP