สารส่องใจ Enlightenment

ทวนกระแสของกิเลส


พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
แสดง ณ วัดบุญญาวาส อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี
เมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๕๔


ในจิตใจของคนเราโดยส่วนมากนั้น มักจะขาดสติ ขาดความยั้งคิด
จึงทำอะไรไปตามอารมณ์ ไปตามอำนาจของกิเลส ซึ่งครอบงำจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย
เมื่อเกิดอารมณ์คือความคิดที่ไม่ดี เมื่อขาดสติความยั้งคิด ก็พูดหรือกระทำในสิ่งที่ไม่ดี
ตามอำนาจของความโลภ ความโกรธ ที่ครอบงำจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย
แต่คนทั้งหลายโดยมากก็คิดว่าตัวเองมีสติอยู่กับใจเจ้าของ
เพราะการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างไปตามความคิดไปตามอารมณ์
ก็คิดว่าอันนั้นแหละคือสติ คือปัญญา ของแต่ละบุคคล
แต่ความจริงการกระทำอะไรไปตามอารมณ์ ตามอำนาจของกิเลส
ก็คือสติปัญญาของกิเลสเป็นผู้บงการ เป็นผู้บังคับบัญชาจิตใจของเรานั้น ให้กระทำกรรมที่ไม่ดี
ก็ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า

การที่จะมีสติ ความยั้งคิด ที่จะระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรานั้น
ถ้าเราไม่พยายามที่จะฝึกหัดอบรมจิตใจของเรานั้น ด้วยการทำสมาธิภาวนาแล้ว
สติคือความระลึกได้ หรือสติปัญญา ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้อง ก็ไม่ค่อยเกิดขึ้น
เพราะความขาดสติ ขาดความยั้งคิด คนทั้งหลายจึงคิด จึงพูดหรือกระทำ ก่อให้เกิดความเสียหาย
เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายควรที่จะฝึกหัด อบรมจิตใจของเรานั้นให้มีสติ
เพราะสตินั้นเป็นทางสายเอก ทางดำเนินไปเพื่อที่จะละกิเลส
การที่จะฝึกใจเราให้มีสติที่เข้มแข็ง มีสติซึ่งตั้งมั่น
เราทั้งหลายก็ต้องฝึกหัด ทำสติให้ต่อเนื่อง
ด้วยการทำสมาธิภาวนา กำหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก
หรือกำหนดสติอยู่กับคำบริกรรมภาวนาว่าพุทโธ
หรือจะกำหนดสติอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ซึ่งถูกกับจริตของเรา

การทำสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตใจของเรานั้นได้มีความสงบ
เพราะจิตใจของคนเราโดยมาก มักมีความคิดฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งไปเรื่องต่างๆ
ปรุงแต่งไปเรื่องอดีต ปรุงแต่งไปเรื่องอนาคต
มีความฟุ้งซ่านก่อให้เกิดความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจ
การทำสติ ทำสมาธิ เพื่อที่จะทวนกระแสของอารมณ์ ทวนกระแสของกิเลส
เข้าไปสู่ความสงบของใจ เมื่อใจสงบเป็นสมาธิขึ้นมา มีสติ มีสมาธิเกิดขึ้น
ธรรมชาติของจิตจะแยกตัวออกจากอารมณ์ มีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง
อารมณ์หรืออาการของจิตที่เกิดขึ้น คือความพอใจ ความไม่พอใจ หรือความเฉยๆ
เราจะมีสติมีปัญญาที่จะเห็นอารมณ์แยกจากจิต
เมื่อเรามีสมาธิเป็นพื้นฐานของจิต สติปัญญาจะเห็นอารมณ์แยกจากจิต เป็นคนละส่วนกัน
แต่ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีความยั้งคิด ไม่มีสมาธิ
จิตกับอารมณ์นั้นจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อารมณ์อันใด จิตก็อันนั้น จิตอันใด อารมณ์ก็อันนั้น

แต่เมื่อเราฝึกฝนอบรมจิตใจของเรานั้นให้สงบเป็นสมาธิ
เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น เราจะมีสติ เห็นอาการของจิต
จะเป็นอารมณ์แห่งความโลภก็ดี อารมณ์แห่งความโกรธ อารมณ์ความพอใจ ความไม่พอใจ
ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งหลาย
ถ้าเราเพียงแต่ว่าเรามีสติ เฝ้าดูใจเรา เท่านั้นแหละ
เราจะเห็นอารมณ์ เห็นอาการของจิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น
เมื่อเราเห็นอารมณ์เป็นความทุกข์
เราก็จะมีสติ มีปัญญา ที่จะหาทางดับความทุกข์
คือเราจะมีสติ มีปัญญา ที่จะค้นคว้าหาสาเหตุของความทุกข์
ด้วยการคิด ด้วยการพิจารณาในความสงบ
เมื่อเราเห็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์
เราก็จะค้นคว้าหาทางที่จะดำเนินไป เพื่อที่จะดับความทุกข์ภายในจิตใจของเรา
การจะดับความทุกข์นั้น ดับได้สองทาง

ดับด้วยสมาธิ คือการกำหนดสติอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง
เพื่อที่จะตัดอารมณ์ออกไปจากจิตใจของเรา หรือละอารมณ์ออกไปจากจิตใจของเรา
กำหนดสติอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง โดยที่ไม่สนใจในอารมณ์
เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิ อารมณ์ก็ดับไป

อีกวิธีหนึ่ง ดับด้วยสติปัญญาที่มีสมาธิเกื้อหนุน
เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว ใช้สติปัญญาพิจารณาหาอุบายที่จะละอารมณ์ ละความยึดมั่นถือมั่น
ในอารมณ์ความโลภ ความโกรธ ความพอใจ ความไม่พอใจ ให้ออกไปจากจิตใจของเรา
ด้วยการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน เป็นการทำลายอารมณ์ เป็นการปล่อยวางอารมณ์
เราก็จะมีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน จิตเราก็ว่างจากอารมณ์ ถ้าเรามีสติมีปัญญา
เฝ้าดูแลรักษาจิตใจของเราเช่นนี้ สติปัญญานี้ก็จะกลั่นกรองสิ่งที่ไม่ดี
คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกไปจากจิตใจของเรา ทีละเล็กทีละน้อย
จิตใจของเรานั้นซึ่งสกปรก เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง
เมื่อเราซักฟอกด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
ก็จะมีความสะอาดเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ความบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา
จากความทุกข์ จากความวุ่นวายภายในจิตใจของเรา
ก็จะทำให้จิตใจของเรานั้นสงบ สงบด้วยศีล สงบด้วยสมาธิ สงบด้วยปัญญา
ซึ่งละความทุกข์ ละกิเลสให้บรรเทาเบาบางจากจิตใจของเรา
ความสุขที่แท้จริงก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นภายในจิตใจบุคคลนั้น

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายควรที่จะพยายามตั้งสติ คือความระลึกได้ ขึ้นมาอยู่เสมอ
ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง ทำกิจการงานใด อะไรก็แล้วแต่
ให้มีสติกำหนดอยู่กับหน้าที่การงานนั้นๆ
เมื่อว่างจากภาระหน้าที่การงานต่างๆ ก็พยายามตั้งสติ
กำหนดดูอารมณ์ภายในใจของเรา ตามรักษาจิตของตน
กำหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือกำหนดสติอยู่กับคำบริกรรมภาวนาว่าพุทโธ
สักสามนาทีหรือห้านาที เป็นการตั้งสติขึ้นมาใหม่
แต่ถ้าเราว่างจากภาระหน้าที่การงานต่างๆ ภายนอก
เราจะฝึกหัดอบรมจิตใจของเรานั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เราก็สำรวมในอิริยาบถนั่งสมาธิ สำรวมในอิริยาบถเดินจงกรม
ทำสติ ทำสมาธิให้ต่อเนื่อง จิตก็จะสงบได้ง่ายขึ้น
ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นจะยากลำบาก
เพราะเราต้องฝืนทวนกระแสของจิต ทวนกระแสของกิเลส
ซึ่งอำนาจของกิเลส อำนาจของอารมณ์ ซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจนั้น มีกำลังมาก

การที่จะกำหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา ต้องมีความตั้งใจจริง
ต้องมีสติที่ตั้งมั่นพอสมควร จึงจะกำหนดสมาธิให้เกิดขึ้นมาได้
เมื่อเราฝึกหัดทำสมาธิภาวนาอยู่บ่อยๆ ทำเสมอๆ
ก็จะเกิดความแคล่วคล่อง ความชำนาญ ในการที่จะวางจิตให้สงบ
เมื่อเราเกิดมีความชำนาญในการทำสมาธิภาวนา มีสติ มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน
ก็จะเกิดสติปัญญาที่จะมารักษาจิตใจของเรานั้น
ให้มีความสงบเยือกเย็น ให้มีความสะอาด ให้มีความบริสุทธิ์เกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายควรที่จะพยายาม
มีความตั้งใจในการที่จะมีสติ มีปัญญา ดูแลรักษาจิตใจของเราให้ดี

อย่าให้จิตใจของเรานั้นมีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ
ถ้ามีความทุกข์ใจเกิดขึ้น ก็หาสาเหตุแห่งความทุกข์ และหาทางดับความทุกข์
ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ในการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา
อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อความดับความทุกข์ภายในจิตใจของเรา


sathu2 sathu2 sathu2



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP