จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

นักโทษประหาร


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


061_destination


ในฉบับนี้ ผมขออนุญาตนำหนังสือของท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แสง จันทร์งาม
มาฝากท่านผู้อ่านนะครับในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า “นักโทษประหาร”

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +



“นักโทษประหาร”

โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แสง จันทร์งาม


เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๘ เรา ๓ คน คืออาจารย์บุพพัณห์ นิมมานเหมินท์ นายกยุวพุทธิกสมาคมเชียงใหม่ ร.อ.เสาร์ สุวิทยาลังการ อนุศาสนาจารย์ประจำค่ายกาวิละและกรรมการยุวพุทธิกสมาคม และข้าพเจ้า ได้รับเชิญจากคุณเชาวน์ เจริญพงษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ให้ไปทำการอภิปรายปัญหาไขข้อข้องใจต่าง ๆ แก่นักโทษ ซึ่งมีจำนวน ๙๐๐ คนเศษในเรือนจำนั้น วิธีการอภิปรายของเราเป็นแบบให้นักโทษถามปัญหาแล้วเราช่วยกันตอบ ปรากฏว่านักโทษสนใจถามปัญหากันมาก ปัญหาที่ถามก็มีทุกชนิด แต่เมื่อประมวลดูแล้ว มีเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องผี เรื่องกรรม และเรื่องวิปัสสนาเป็นส่วนมาก เราอภิปรายได้เพียง ๔ – ๕ ปัญหาก็ต้องยุติด้วยเวลา ท่ามกลางความเสียดายของบรรดาผู้ต้องขังทั้งหลาย

ท่านผู้บัญชาการเรือนจำได้เล่าให้เราฟังว่า นักโทษที่อยู่ในเรือนจำนั้น ต้องโทษตั้งแต่ ๑๐ ปี ลงมา ถ้ามีนักโทษเกิน ๑๐ ปี ก็ส่งไปกรุงเทพฯ ความผิดส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์ ทางการเรือนจำให้อาหารและเสื้อผ้าแก่นักโทษ และมีระเบียบบังคับให้กิน นอน ทำงาน เล่นตามเวลา ภายในเรือนจำมีห้องสมุด มีการเปิดสอนวิชาชั้นประถมศึกษาให้แก่นักโทษที่สนใจสมัครเรียน นับว่าทางเรือนจำได้เอาใจใส่ต่อสวัสดิการและการบริการแก่ผู้ต้องขังเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ต้องขังมีความสะดวกสบายตามสมควรแก่อัตภาพ

แต่แม้จะมีความสบายกาย นักโทษทุกคนก็หาได้ลืมไม่ว่าตนเป็นผู้ต้องขัง ไร้อิสรภาพซึ่งเป็นยอดปรารถนาของทุกคน ข้าพเจ้าสังเกตเห็นผู้ต้องขังเหล่านั้นมีหน้าตาหม่นหมอง ไร้ราศี ขาดแววแห่งความสุขสดชื่น แม้จะยิ้มด้วยความพอใจต่อวาทะของผู้อภิปรายบางท่าน ก็เป็นการยิ้มแหย ๆ เฉพาะที่มุมปาก ไม่ใช่การยิ้มอย่างเบิกบานทั่วใบหน้า ทุกคนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะออกไปให้พ้นจากเนื้อที่ ๒ ไร่เศษ แวดล้อมด้วยกำแพงสูงทั้ง ๔ ด้านนั้น เฉพาะอย่างยิ่ง อยากออกไปสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของภรรยาและบุตรซึ่งตั้งตาคอยอยู่ทางบ้าน

เมื่อได้เห็นสภาพของนักโทษแล้ว ข้าพเจ้าเกิดความสงสารอย่างจับใจ สงสารเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่กำลังได้รับความทุกข์ ข้าพเจ้าได้ปรารภกับอาจารย์บุพพัณห์ว่า ถ้าเป็นไปได้ เราควรหาทางเข้ามาทำธรรมสงเคราะห์แก่นักโทษเหล่านี้เป็นการประจำ เพราะเขาเหล่านี้เป็นคนป่วยที่กำลังต้องการยาอย่างแท้จริง การเผยแผ่ธรรมในเรือนจำเป็นการยิงลูกศรถูกเป้าหมาย เพราะการเผยแผ่มีจุดประสงค์สำคัญคือ ทำคนชั่วให้เป็นคนดี เรือนจำอาจถือได้ว่าเป็นที่อยู่ของคนชั่ว ถ้าเราสามารถกลับจิตกลับใจเขาได้แม้เพียง ๔ – ๕ คน ก็จะเป็นมหากุศลและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนาอย่างมาก เราไปเทศน์ไปแสดงปาฐกถาที่อื่น ล้วนแต่คนดี ๆ มาฟังทั้งนั้น คนเหล่านี้แม้จะไม่ได้ฟังเทศน์เลย เขาก็จะไม่ทำชั่ว เป็นการวางยาแก่คนไม่ป่วย อาจารย์บุพพัณห์เห็นด้วย และจะติดต่อกับผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อดำเนินการต่อไป

ตั้งแต่วันนั้นมา ข้าพเจ้าก็เกิดความสนใจในคนประเภทที่เรียกกันว่านักโทษและเรือนจำ วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสจึงได้ไปเยี่ยมเรือนจำมหันตโทษอีกแห่งหนึ่ง และได้พบเห็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์น่าสนใจเหลือล้ำ ยิ่งกว่าที่พบเห็นมาแล้วในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อว่าสิ่งที่ได้พบเห็นในเรือนจำนั้นเป็นความจริง แต่ข้าพเจ้าก็ขอยืนยันกับท่านผู้อ่านว่า มันเป็นความจริง จริง ๆ เพราะเหตุผลบางประการ ข้าพเจ้าจะยังไม่บอกท่านว่าเรือนจำนั้นอยู่ที่ไหน

สิ่งแรกที่ประทับใจข้าพเจ้าก็คือ ความกว้างใหญ่ไพศาลของเรือนจำนั้นมันกว้างใหญ่จริง ๆ จนมองไม่เห็นกำแพงที่ล้อมอยู่โดยรอบ และจำนวนนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำนั้นก็มากมายเหลือคณนา ประกอบด้วยคนทุกชาติทุกชั้นวรรณะ เจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้คุมก็มีจำนวนมากมายพอ ๆ กับจำนวนนักโทษ ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่า มันน่าจะเป็นมหานครแห่งหนึ่งมากกว่าจะเป็นเรือนจำ

ท่านผู้บัญชาการเรือนจำ ซึ่งเป็นชายผิวคล้ำ ร่างใหญ่ อายุประมาณ ๕๐ ปี ได้อธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า "นักโทษทุกคนในเรือนจำนี้ ล้วนแต่ต้องคดีอุกฉกรรจ์ที่ต้องประหารชีวิตทั้งสิ้น"

ข้าพเจ้าถึงกับ สะดุ้งสุดตัวเมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงอันนี้ พยายามระงับใจให้เป็นปกติแล้วก็เรียนถามท่านผู้บัญชาการว่า "นักโทษเหล่านี้ส่วนมากทำความผิดอะไรครับ จึงถูกส่งตัวมาคุมขังที่นี่"

"ผมไม่ทราบและไม่สนใจว่าใครทำความผิดอะไรมาก่อน" ผู้บัญชาการตอบ แสดงความยิ่งใหญ่อยู่ในน้ำเสียง "มันเป็นหน้าที่ของตำรวจและศาล เมื่อตำรวจจับผู้กระทำความผิดได้ก็ส่งตัวให้ศาลดำเนินคดี เมื่อศาลพิพากษาเสร็จ ตำรวจก็คุมตัวนักโทษมาส่งผม ผมก็คุมขังไว้และจัดการประหารชีวิตตามชอบใจ ถ้าคุณอยากทราบว่าเขาทำผิดอะไร คุณลองไปถามนักโทษคนนั้นดูซิ" ผู้บัญชาการชี้มือไปที่นักโทษคนหนึ่งซึ่งกำลังนั่งถอนหญ้าอยู่ใกล้ ๆ

"นี่คุณ คุณทำความผิดอะไร จึงต้องมาถูกขังอยู่ในเรือนจำนี้" ข้าพเจ้าถามด้วยเสียงสุภาพ นักโทษคนนั้นเงยหน้าขึ้นมองดูข้าพเจ้าดุจเห็นข้าพเจ้าเป็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง ดวงตาของเขามีแววขุ่นแสดงว่าไม่พอใจอย่างมาก "คุณเป็นใครมาจากไหน" เขาถามด้วยเสียงเครียด "ผมไม่ได้ทำความผิดอะไร ผมไม่ได้เป็นนักโทษ ผมไม่ได้อยู่ในเรือนจำ!" เขาตอบด้วยเสียงดังลั่น

ข้าพเจ้าถึงกับยืนอ้าปากค้างด้วยความงงงันต่อพฤติกรรมประหลาดของนักโทษคนนั้น เมื่อไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร จึงหันไปมองดูผู้บัญชาการด้วยหวังจะได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติม อย่างน้อยท่านก็อาจจะบอกข้าพเจ้าว่า นักโทษคนนั้นเป็นคนเสียจริตหรืออะไรทำนองนั้น แต่แล้วข้าพเจ้าเองก็เกือบจะกลายเป็นคนเสียจริตไป เพราะท่านผู้บัญชาการและเจ้าพนักงาน ๔ ๕ คนซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ ได้หัวเราะเยาะขึ้นพร้อมกัน และไม่พูดว่ากระไร ข้าพเจ้าบอกไม่ถูกว่าขณะนั้นรู้สึกอย่างไร ทั้งโกรธทั้งงงทั้งประหลาดใจระคนกัน

"เอ นี่นักโทษคนนั้นบ้า หรือว่าท่านบ้า หรือว่าผมบ้ากันแน่" ข้าพเจ้าโพล่งออกมาด้วยความหัวเสียจนขาดสติสัมปชัญญะ

"บ้าด้วยกันทั้งนั้น" ผู้บัญชาการตอบหน้าตาเฉย

หลังจากเหตุการณ์ประหลาดนั้นแล้ว ท่านผู้บัญชาการก็พาข้าพเจ้าตระเวนชมเรือนจำต่อไป ตลอดระยะทางที่เดินผ่าน ข้าพเจ้าเห็นนักโทษรวมกันทำงานอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ ๕ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ทุกคนกำลังทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง หน้าตาและเนื้อตัวชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ งานที่นักโทษทำก็มีทุกประเภท เช่น บางกลุ่มก็ปลูกผักในสวนของเรือนจำ บางพวกก็เป็นช่างไม้ บางพวกก็เป็นช่างเหล็ก บางพวกก็เป็นช่างทอง บางพวกที่มีความรู้ก็ทำงานเป็นเสมียน บางพวกก็ค้าขายอยู่ในร้านค้าของเรือนจำ ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจมากที่ได้เห็นนักโทษทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง จึงได้ถามท่านผู้บัญชาการว่า "ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงานเหล่านั้น ทางเรือนจำแบ่งให้นักโทษบ้างหรือไม่ หรือเอาไว้เป็นของหลวงหมด"

ผู้บัญชาการตอบว่า "ผลประโยชน์ที่นักโทษทำได้ ตกเป็นสมบัติของนักโทษนั่นเอง ทางเรือนจำไม่เกี่ยวข้องเลย แต่เมื่อเขาถูกประหารชีวิตตายไปแล้ว สมบัติของเขาทั้งหมดจะต้องตกเป็นของเรือนจำ แต่ตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่เขาสามารถจะหาทรัพย์และใช้ทรัพย์ของเขาได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นนักโทษของเราทุกคนจึงตั้งหน้าทำงานด้วยความขยันขันแข็งโดยไม่ต้องบังคับ บางคนทำงานทั้งกลางวันกลางคืนก็มี"

ข้าพเจ้าถามขึ้นว่า "ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่เขามีการให้อาหารตามเวลา มีการให้เครื่องนุ่งห่ม ผมอยากทราบว่าที่เรือนจำนี้มีการให้อาหารและเสื้อผ้าหรือไม่"

"ไม่มี" ผู้บัญชาการตอบ "เราไม่ให้เสื้อผ้าหรืออาหารแก่นักโทษ เพราะนักโทษแต่ละคนมีสิทธิหาเองได้ ทำงานได้ ทางเรือนจำเลยปล่อยให้ทุกคนช่วยตัวเอง" แต่ทุกคนก็มีพออยู่กิน มีบางรายเหมือนกันที่เกียจคร้านหรือไร้ความสามารถ ไม่อยากทำงาน ไปเที่ยวขโมยหรือปล้นสะดมหรือฉ้อโกงเอาทรัพย์ของนักโทษคนอื่นมาเลี้ยงชีวิต"

"มีการปล้นกันภายในเรือนจำนี้ด้วยหรือครับ" ข้าพเจ้าถามด้วยความประหลาดใจ

"มี" ผู้บัญชาการตอบ "มีการปล้นกันทุกวัน มีการทะเลาะวิวาทกันทุกวัน มีการตีรันฟันแทงกันตายทุกวัน"

"แล้วทางการเรือนจำจัดการอย่างไร กับนักโทษใจร้ายที่ฆ่าเพื่อนนักโทษตายในเรือนจำ" ข้าพเจ้าถาม

"ไม่ทำอะไร" ผู้บัญชาการตอบคล้ายกับไม่เห็นว่าการฆ่ากันตายเป็นเรื่องร้ายแรง "ปล่อยให้เขาทำตามสบาย เพราะนักโทษทุกคนในเรือนจำนี้มีโทษถึงตายทุกคนอยู่แล้ว สักวันหนึ่งทุกคนจะต้องถูกประหารชีวิต ฉะนั้นแม้จะทำความผิดในระหว่างนี้หรือไม่ทำ ทุกคนก็จะต้องถูกประหารชีวิตอยู่แล้ว ดีเสียอีกที่เขาจัดการประหารชีวิตกันเอง โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่เพชฌฆาตเรือนจำต้องลำบาก"

ข้าพเจ้ามองดูหน้าท่านผู้บัญชาการเรือนจำด้วยความงุนงง พลางคิดในใจว่าเรือนจำนี้ช่างโหดร้ายทารุณป่าเถื่อนเสียเหลือเกิน ผู้บัญชาการเรือนจำเองก็ช่างใจไม้ไส้ระกำ เห็นชีวิตของคนเป็นชีวิตของมดของปลวกไปได้ แต่มิได้พูดออกมาด้วยวาจา เพียงแต่เดินตามผู้บัญชาการและคณะไปอย่างเงียบ ๆ

"คุณอยากจะดูการประหารชีวิตนักโทษไหมล่ะ" ผู้บัญชาการถาม

ข้าพเจ้าเกิดความกระอักกระอ่วนใจขึ้นมาทันที เพราะใจหนึ่งเกิดอยากรู้อยากเห็น แต่ใจหนึ่งเกิดความสังเวชสลดใจไม่อยากเห็นเพื่อนมนุษย์ถูกตัดคอต่อหน้าต่อตา กลัวจะเกิดเป็นลมเพราะตกใจกลัวต่อความโหดร้ายทารุณของการฆ่ามนุษย์ แต่คิดว่าวิธีการประหารชีวิตไม่แสดงความโหดร้ายทารุณเกินไป ก็จะไปดูประดับความรู้เสียบ้าง เพื่อแน่แก่ใจจึงถามผู้บัญชาการดู "ทางเรือนจำประหารนักโทษโดยวิธีไหน?"

"ทุกชนิด" ผู้บัญชาการตอบ "ใช้ปืนยิงบ้าง ใช้มีดแทงให้ตายบ้าง ใช้ค้อนทุบกะโหลกศีรษะบ้าง แขวนคอบ้าง บังคับให้ดื่มยาพิษบ้าง ปล่อยสัตว์ร้ายให้กัดตายบ้าง กดคอให้จมน้ำตายบ้าง ให้ล้อเหล็กขนาดใหญ่บดตัดคอให้ตายบ้าง บางทีก็ให้เจ้าหน้าที่ทรมานโดยตัดแข้งขาตีนมือเนื้อหนังออกทีละน้อย ๆ จนตายไปเอง"

ข้าพเจ้าเหงื่อแตกพลั่ก ด้วยความสะดุ้งตกใจกลัวต่อวิธีการประหารชีวิตอันทารุณโหดร้าย ที่ผู้บัญชาการบรรยายให้ฟัง "ผมไม่ดูละครับ" ข้าพเจ้าบอกผู้บัญชาการ "เพียงแต่ได้ยินท่านเล่าวิธีการให้ฟังเท่านั้น ผมก็แทบทนฟังไม่ไหวแล้ว ถ้าไปเห็นจริง ๆ ผมเป็นลมแน่"

"รู้สึกว่าคุณขวัญอ่อนมาก" ผู้บัญชาการกล่าวยิ้ม ๆ "ถ้าคุณกลายเป็นนักโทษและจะถูกประหารชีวิตแบบนั้นบ้าง คุณจะรู้สึกอย่างไร"

"ผมก็คงช็อคตายก่อนถูกประหารจริง ๆ" ข้าพเจ้าตอบ ผู้บัญชาการหันไปมองดูเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ยืนข้าง ๆ แล้วก็ยิ้มอย่างมีนัย ทำให้ข้าพเจ้าหวาดระแวงอย่างไรชอบกล

เราได้เดิน ผ่านนักโทษกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังนั่งล้อมวงเสพสุราและร้องเพลงกันอยู่อย่างสนุกสนาน "เขาทำอะไรกันครับ" ข้าพเจ้าถามท่านผู้บัญชาการ

"เขากำลังฉลองสมาชิกใหม่ วันนี้ตำรวจนำนักโทษเข้ามาส่งเรือนจำหลายคน พวกนี้คงสามารถดึงนักโทษใหม่บางคนมาเป็นสมาชิกได้ จึงดีอกดีใจและฉลองกันเป็นการใหญ่ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นของธรรมดาในเรือนจำของเรา นักโทษทุกกลุ่มต่างปรารถนาอยากได้นักโทษใหม่มาเข้าร่วมคณะมาช่วยการงานของคณะ มีการวิ่งเต้นหาสมาชิกใหม่กันทั่วไป"

เดินต่อไปอีกไม่นาน ข้าพเจ้าก็ได้พบกับภาพตรงกันข้ามกับภาพที่เพิ่งเห็นมา คือนักโทษกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งล้อมวงส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสมเพชเวทนา ข้าพเจ้าเดินเข้าไปใกล้แล้วถามว่า "เกิดอะไรขึ้นเหรอ"

"สมาชิกของเราคนหนึ่งเพิ่งถูกประหารชีวิต" นักโทษคนหนึ่งตอบทั้งน้ำตานองหน้า "เขาเป็นคนดีและขยันขันแข็งมาก เราทุกคนรักและเสียดายเขาที่มาด่วนถูกประหารชีวิตเสีย เราได้สูญเสียแขนขวาของเราไปเสียแล้ว........." ว่าแล้วเขาก็ร้องไห้คร่ำครวญต่อไป

"เขาถูกประหารชีวิตโดยวิธีใด" ข้าพเจ้าถาม

"โดยวิธีถูกตัดคอ" ชายคนเดิมตอบ เขาค่อย ๆ เลิกผ้าคลุมออกจากหน้าของศพ เผยให้เห็นหัวที่ขาดจากไหล่กลิ้งอยู่ต่างหากจากลำตัว มีเลือดนองอยู่บนพื้นและจับเกรอะตามหน้าและตามลำตัว "ขณะที่เขากำลังนั่งคุยกับเราอยู่อย่างสนุกสนานนั่นเอง เพชฌฆาตคนหนึ่งก็ถือดาบอันคมกริบวิ่งมาฟาดฟันลงไปที่คอของเขาสุดแรง ทำให้ศีรษะของเขากระเด็นตกไป เราต้องเก็บเอาศีรษะของเขามาเก็บไว้ที่เดิม แล้วก็เอาผ้าขาวม้าคลุมอย่างที่เห็นอยู่นี้"

ข้าพเจ้าบอกให้เขาดึงผ้าปิดศพเสียตามเดิม แล้วก็หันมาทางผู้บัญชาการด้วยความตั้งใจจะต่อว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนของเพชฌฆาต แต่ก็พูดไม่ออกอยู่เป็นนาน เพราะรู้สึกว่ามีอะไรมาจุกที่คอหอย เมื่อควบคุมสติสัมปชัญญะได้ดังเดิมแล้วจึงถามผู้บัญชาการว่า "ทำไมท่านปล่อยให้คนของท่านทำอย่างป่าเถื่อนเช่นนั้น ท่านมิได้แจ้งให้นักโทษทราบล่วงหน้าดอกหรือว่าจะประหารชีวิตโดยวิธีใด ที่ไหน และเมื่อไร นักโทษไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าและเตรียมตัวบ้างหรือ"

"การประหารชีวิตนักโทษนั้น" ผู้บัญชาการตอบ "เรายกให้เป็นหน้าที่ของเพชฌฆาตโดยตรง เพชฌฆาตมีอำนาจประหารชีวิตใคร ที่ไหน เมื่อใดก็ได้ตามชอบใจ โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า บางทีนักโทษกำลังนอนหลับอยู่ดี ๆ เพชฌฆาตอาจจะเอาดาบไปฟันคอตายโดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ บางคนกำลังเล่นอยู่อย่างสนุกสนาน เพชฌฆาตอาจจะเอาค้อนไปทุบหัวตายก็ได้"

"ถ้าอย่างนั้นนักโทษทุกคน ก็คงนอนตาไม่หลับ" ข้าพเจ้ากล่าว พลางสั่นหัวด้วยความอ่อนอกอ่อนใจต่อระเบียบการอันวิตถารของเรือนจำแห่งนั้น "คงหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรเพชฌฆาตจะมาลากตัวไปประหารชีวิต"

"ตรงกันข้าม" ผู้บัญชาการตอบ "ไม่มีนักโทษคนใดประหวั่นพรั่นพรึงต่อการประหารชีวิตเลย นักโทษส่วนมากลืมเสียสนิทว่าตนเป็นนักโทษประหาร ต่อเมื่อเห็นเพื่อนถูกประหารต่อหน้าต่อตานั่นแหละ จึงจะระลึกขึ้นได้ แต่ไม่ช้าก็ลืมสนิท แล้วก็สนุกสนานเพลิดเพลินต่อไป"

ท่านผู้บัญชาการเรือนจำพาข้าพเจ้าตระเวนชมเรือนจำต่อไปอีก เราได้ผ่านกลุ่มนักโทษไปมากมายหลายกลุ่ม สังเกตดูนักโทษทุก ๆ กลุ่มต่างทำงานและเล่นกันอย่างสนุกสนาน แทบทุกคนมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นอันดี ทำให้ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับผู้บัญชาการที่ว่านักโทษส่วนมากลืมสนิทว่าตนเป็นนักโทษประหาร

"ทางเรือนจำมีระเบียบควบคุมนักโทษอย่างไรบ้าง" ข้าพเจ้าถาม

ผู้บัญชาการหัวเราะแล้วตอบว่า "ไม่มีเลย นักโทษจะเล่นจะทำงานจะกินจะนอนจะเที่ยว ไปที่ไหนก็ได้ ภายในเรือนจำนี้ ไม่มีการควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น"

"การปล่อยปละละเลยเช่นนี้ ท่านไม่กลัวนักโทษแหกคุกหรือ"

ผู้บัญชาการเรือนจำหัวเราะดังยิ่งขึ้น แล้วตอบว่า "ไม่กลัว ผมจะบอกเหตุผลว่าทำไมไม่กลัว ประการแรกก็เพราะว่า ไม่มีใครอยากจะออกไปจากเรือนจำนี้ แทบทุกคนพอเข้ามาอยู่ในเรือนจำนี้ก็สนุกสนานเพลิดเพลิน จนไม่อยากจากไป ทุกคนอยากอยู่ที่นี่ อยากถูกประหารชีวิตและตายที่นี่ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ผมไม่กลัวว่า นักโทษจะหนี อยู่ที่โน่น ผมจะพาคุณไปดูเดี๋ยวนี้"

"ท่านผู้บัญชาการได้จูงแขนข้าพเจ้าพาไปยังหอคอยสูงหลังหนึ่ง เราเดินตามบันไดขึ้นไปจนถึงยอดหอคอยแล้ว ผู้บัญชาการก็ชี้มือให้ข้าพเจ้าดูสิ่งหนึ่ง พอเห็นสิ่งนั้นข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับผู้บัญชาการทันทีว่า ทำไมท่านจึงไม่กลัวนักโทษจะแหกคุก

สิ่งที่มีอยู่ข้างหน้าข้าพเจ้าคือกำแพงสูงใหญ่ที่ล้อมรอบเรือนจำอยู่ถึง ๓ ชั้น มีช่องว่างระหว่างกำแพงกว้างประมาณ ๓๐ เมตร กำแพงทั้ง ๓ มีความหนาและความสูงไม่เท่ากัน และสร้างด้วยวัสดุต่าง ๆ กัน คือกำแพงชั้นใน เป็นกำแพงก่อด้วยอิฐแต่ไม่มีการโบกปูน จึงมองเห็นแผ่นอิฐเรียงกันเป็นก้อน ๆ กำแพงอิฐมีความหนาประมาณ ๖ ฟุตและสูงประมาณ ๑๐ ฟุต กำแพงชั้นกลางมีสีเทาแก่เพราะสร้างด้วยแผ่นหินขนาดใหญ่ทั้งนั้น ท่านผู้บัญชาการบอกข้าพเจ้าว่า กำแพงหินกว้างและสูงมากกว่ากำแพงอิฐ ๒ เท่า กำแพงชั้นนอกสูงแลดูเป็นสีดำทะมึนตลอด มีความกว้างและความสูงมากกว่ากำแพงหิน ๒ เท่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นกำแพงขอบนอกที่มั่นคงแข็งแรงที่สุด ข้าพเจ้าได้ถามท่านผู้บัญชาการว่า "กำแพงชั้นนอกทำด้วยอะไร"

"ทำด้วยเหล็กทั้งแท่ง" ท่านผู้บัญชาการตอบ

"มิน่าเล่า ถึงไม่มีใครคิดจะหลบหนี" ข้าพเจ้าพูดขึ้นมาอย่างลอย ๆ ทันใดนั้น ข้าพเจ้าก็เหลือบเห็นนักโทษหลายต่อหลายคน กำลังใช้ท่อนไม้ขนาดกลางทุบต่อยและกระทุ้งกำแพงอิฐอยู่อย่างขะมักเขม้น "เอ๊ะ นั่นเขาทำอะไรกัน" ข้าพเจ้าถามด้วยความประหลาดใจ


"เขากำลังจะเจาะกำแพงหลบหนี" ผู้บัญชาการตอบด้วยน้ำเสียงเป็นปกติ คล้ายกับเห็นว่าการแหกคุกเป็นเรื่องเล็ก

"แล้วทำไมท่านจึงปล่อยให้เขาทำ ทำไมท่านไม่จับกุมหรือห้ามปราม"

"ไม่" ผู้บัญชาการตอบหน้าตาเฉย "นักโทษทุกคนมีสิทธิที่จะแหกคุกได้ เราไม่ห้ามปรามแต่อย่างใด เพราะมีน้อยคนเหลือเกินที่คิดจะแหกคุก คุณลองคิดดูซิในเรือนจำมีนักโทษตั้งเท่าไรแต่คุณก็เห็นแล้วว่า มีนักโทษเพียงไม่กี่คนที่กำลังเจาะกำแพง อีกอย่างหนึ่งกำแพงของเราก็แข็งแรงมากยากที่จะเจาะทะลุได้ นักโทษส่วนมากมักจะเลิกล้มความพยายามเสียในระหว่างนั้น แม้จะพ้นกำแพงอิฐไปได้ ก็ติดที่กำแพงหิน คุณดูที่ฐานกำแพงหินนั่นซิ"

ข้าพเจ้ามองตามมือผู้บัญชาการไปยังกำแพงหินและได้เห็นนักโทษ ๒ - ๓ คนซึ่งรอดพ้นจากกำแพงอิฐมาได้ กำลังเอาขวานเจาะกำแพงหินอยู่อย่างขะมักเขม้น "แล้วนักโทษอื่น ๆ ทำไมไม่ออกตามช่องที่เขาเจาะไว้แล้ว จะได้ช่วยกันเจาะกำแพงหินต่อไป" ข้าพเจ้าถาม

ผู้บัญชาการตอบว่า "ผมบอกคุณแล้วว่าไม่มีใครคิดอยากจะออกไปจากเรือนจำ และยิ่งกว่านั้น ช่องแต่ละช่องที่นักโทษเจาะสำเร็จนั้น เราจะจัดการปิดให้ดีเหมือนเดิมทันทีที่นักโทษคนนั้นลอดออกมาพ้น ฉะนั้นถ้าใครอยากออกก็ต้องเจาะช่องใหม่สำหรับตนเอง เจาะให้กันไม่ได้ ฉะนั้นนักโทษคนหนึ่งเจาะช่องได้สำหรับตนคนเดียวเท่านั้น"

"มีนักโทษคนใด สามารถเจาะทะลุกำแพงหินบ้างไหม"

"มีเหมือนกัน แต่น้อยเต็มที ถ้าคุณมองดูที่ฐานกำแพงเหล็ก คุณจะเห็นนักโทษหัวเห็ดเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น โน่นยังไงละ คนหนึ่งเพิ่งหลุดออกไปได้จากกำแพงหิน"

ข้าพเจ้ามองตามมือท่านผู้บัญชาการไปที่ฐานกำแพงเหล็ก และเห็นนักโทษผู้มีร่างล่ำสันบึกบึนคนหนึ่งกำลังใช้ขวานฟันกำแพงเหล็กอยู่อย่างเหนื่อยอ่อน ขวานของเขารู้สึกว่าเต็มไปด้วยประกายแวววับ ทุกครั้งที่เขายกขึ้นฟันมันจะสะท้อนแสงแวววาวเข้านัยน์ตาของเรา จนเราต้องหลับตา ข้าพเจ้านึกชมความอุตสาหะวิริยะของนักโทษหัวเห็ดคนนั้นอยู่ในใจ และภาวนาขอให้เขาออกไปให้ได้

"เคยมีนักโทษ เจาะกำแพงเหล็กออกไปได้บ้างไหมครับ ท่านผู้บัญชาการ"

"มีเหมือนกัน แต่น้อยเต็มที ในหมื่นหรือแสนคนจะมีสักคนหนึ่ง เท่าที่ผมอ่านดูในประวัติของเรือนจำนั้น เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีนักโทษสำคัญคนหนึ่งแหกคุกออกไปได้สำเร็จ และพาเอานักโทษอื่น ๆ ออกไปด้วยเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นมา ก็ไม่เคยมีการแหกคุกเป็นการใหญ่เช่นนั้นอีก"

"ถ้าสมมติว่ามีนักโทษแหกคุกออกไปได้สำเร็จ ทางเรือนจำติดตามไปจับเขานำมาขังไว้ในเรือนจำอีกหรือไม่ครับ" ข้าพเจ้าถามต่อไป

"ไม่" ผู้บัญชาการตอบ "เราปล่อยให้เขาไปเลย เราถือว่าเขามีความสามารถเป็นวีรบุรุษสมควรจะได้รับอิสรภาพ ยิ่งกว่านั้น เรายังให้สิทธิพิเศษแก่เขาอีกด้วย"

"สิทธิอะไรครับ" ข้าพเจ้าถามด้วยความสนใจ

"สิทธิที่เข้าออกเรือนจำได้ตามชอบใจทุกเวลา ถ้าเขาอยากจะกลับเข้ามาในเรือนจำ เพื่อชักชวนเพื่อนนักโทษให้แหกคุก หรือแนะนำวิธีเจาะกำแพงที่ได้ผลแก่นักโทษอื่น ๆ ก็อาจจะทำได้ตามชอบใจ คุณเดินตามผมมาทางนี้"

ข้าพเจ้าเดินตามผู้บัญชาการไปอย่างว่าง่าย เราได้มาถึงนักโทษกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งล้อมวงฟังชายคนหนึ่งพูดอยู่ใต้ต้นไม้ ชายประหลาดคนนั้นยืนอยู่ท่ามกลางวงแล้วพูดด้วยเสียงอันดังว่า "ตื่นเถิดพี่น้องทั้งหลาย อย่ามัวหลับใหลอยู่เลย อย่าลืมว่าท่านเป็นนักโทษประหารกำลังถูกขังอยู่ในกำแพงถึง ๓ ชั้น สักวันหนึ่งเพชฌฆาตจะมาลากคอท่านไปประหารชีวิต รีบลุกขึ้นแล้วแหกคุกหนีไปเสียก่อนที่จะถึงเวลานั้น............."

ชายคนนั้นพรรณนาโทษของเรือนจำต่อไปอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นความจริง แต่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่ามีนักโทษน้อยคนที่ตั้งใจฟังวาทะของเขา ส่วนมากหันหน้าไปคุยกันเสียบ้าง หลับเสียบ้าง ยิ่งกว่านั้นบางคนยังหัวเราะเยาะเขาและตะโกนคัดค้านเขาเป็นครั้งคราว แต่ชายคนนั้นก็ใจเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ เขามิได้แสดงอาการโกรธเคืองหรือพูดจาโต้ตอบผู้ก่อกวนเหล่านั้นแต่อย่างใด

เขาเอามือควานลงไปในถุงซึ่งวางอยู่บนพื้นข้าง ๆ แล้วหยิบเอาขวานเล่มหนึ่งขึ้นมา เขาชูขวานไปรอบ ๆ แล้วพูดขึ้นว่า "พี่น้องทั้งหลาย นี่คือขวานหินสำหรับเจาะกำแพงอิฐ ท่านผู้ใดอยากจะได้รับอิสรภาพ โปรดเอาขวานนี้ไปเจาะกำแพงอิฐ ข้าพเจ้ายินดีจะมอบขวานนี้ให้แก่ท่านฟรี" พูดแล้วเขาก็ชูขวานนั้นไปรอบ ๆ แต่ปรากฏว่าไม่มีนักโทษคนใดแสดงความสนใจในขวานของเขาเลย นักโทษคนหนึ่งได้ตะโกนขึ้นว่า "เดี๋ยวนี้เป็นสมัยจรวดแล้ว เราไม่ต้องการขวานหิน เชิญท่านนำไปแจกคนสมัยหินของท่านเถิด"

โดยมิได้คำนึงต่อคำเยาะเย้ยของนักโทษคนนั้น ชายผู้ใจเย็นยังคงชูขวานต่อไปอีก จนกระทั่งมีนักโทษคนหนึ่งยืนขึ้นเดินไปรับขวานจากเขา นักโทษคนนั้นหยิบขวานมาลูบคลำพิจารณาดูอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วก็ยื่นกลับคืนไปให้เจ้าของพลางพูดว่า "มันหนักเกินไป แบกไม่ไหว"

ชายผู้หวังดีหยิบเอาขวานหินเล่มนั้นมาเก็บไว้ แล้วล้วงเอาขวานอีกเล่มหนึ่งออกมาจากถุงยกชูไปรอบ ๆ พลางพูดว่า "พี่น้องทั้งหลาย นี้คือขวานเหล็ก ใช้สำหรับเจาะกำแพงชั้นกลาง คือกำแพงหิน ผู้ใดต้องการข้าพเจ้ายินดีจะให้โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด เชิญรับเอาไปเถิด" เขาส่งขวานไปรอบ ๆ ด้วยสายตาแสดงความวิงวอน แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครรับเอา

เขาวางขวานเหล็กลงไว้ แล้วล้วงเอาขวานเล่มใหม่ขึ้นมา เขาชูไปรอบ ๆ ตามเคย พลางกล่าวว่า "พี่น้องทั้งหลาย กำแพงเหล็กชั้นนอกอาจจะหนาและสูง แต่ท่านไม่ต้องท้อใจ นี้คือขวานพิเศษสำหรับเจาะกำแพงเหล็ก ถ้าท่านดูให้ดีท่านจะเห็นว่า คมของขวานนี้ทำด้วยเพชร โปรดดูด้วยตาของท่านเอง" เขาได้หยิบเอาเหล็กมาท่อนหนึ่ง แล้วก็เอาขวานนั้นฟันให้ดูเป็นตัวอย่าง ปรากฏว่าขวานจ้องฟันเพียงครั้งเดียว ท่อนเหล็กนั้นก็ขาดกระเด็น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครสนใจจะรับเอาขวานนั้นชายผู้ใจเย็นก็รวบรวมขวานใส่ในถุง ยกถุงขึ้นแบกบนบ่าแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังนักโทษกลุ่มอื่นต่อไป ท่ามกลางเสียงหัวเราะเยาะของนักโทษกลุ่มนั้น

ขณะนั้นเป็น เวลาเกือบ ๑๑.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าจะต้องกลับ เพราะมีนัดรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อน ข้าพเจ้าขอบคุณท่านผู้บัญชาการแล้วก็กล่าวคำอำลา

"คุณยังจะกลับไม่ได้" ผู้บัญชาการพูดขึ้นด้วยท่าทางขึงขัง ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจไม่น้อย ใจหนึ่งคิดว่าท่านผู้บัญชาการอาจจะชวนให้รับประทานอาหารกลางวันด้วย แต่เพื่อให้แน่ใจจึงถามดู "ทำไมล่ะครับ"

"กฎของเรือนจำมีอยู่ว่า ทุกคนที่เข้ามาในเรือนจำของเรา ต้องกลายเป็นนักโทษประหารของเราด้วย เพราะฉะนั้น เวลานี้คุณได้กลายเป็นนักโทษของเราเสียแล้ว"

ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจและงุนงงดุจถูกตีที่ศีรษะ แต่ก็ยังอุ่นใจอยู่ว่าผู้บัญชาการคงจะล้อเล่นสนุก ๆ มากกว่า จึงกล่าวว่า "ท่านผู้บัญชาการอย่าล้อผมเล่นเลยน่า ผมจะต้องรีบไปพบเพื่อนตามนัด"

"คุณจะไม่มีหวังไปพบเพื่อน ได้ตามนัดโดยเด็ดขาด" ผู้บัญชาการพูดพลางหัวเราะอย่างผู้มีชัย ท่านได้หันไปมองดูเจ้าหน้าที่เรือนจำอย่างมีนัย แล้วทันใดนั้น เจ้าหน้าที่มีร่างกำยำ ๒ คนก็ตรงเข้ามาขนาบข้างซ้ายขวาของข้าพเจ้าและยึดแขนไว้อย่างมั่นคง

ถ้าสามารถมองเห็นตัวเองในขณะนั้น ใบหน้าของข้าพเจ้าคงขาวซีดด้วยความตกใจกลัวสุดขีด เพราะการกระทำของผู้บัญชาการตอนนี้บอกว่าเอาจริงแน่นอน

"คุณไม่เชื่อหรือว่าผมพูดจริง" ผู้บัญชาการพูดขึ้น "ถ้าไม่เชื่อผมจะพาไปดูอะไรบางอย่าง" ว่าแล้วก็ออกเดินทันที ข้าพเจ้าก็ถูกเจ้าหน้าที่ฉุดให้เดินตามไปด้วย เราได้มาถึงตึกใหญ่หลังหนึ่ง ผู้บัญชาการสั่งให้หยุดอยู่ที่ประตู เมื่อประตูถูกเปิดออกข้าพเจ้ามองเข้าไปข้างใน ก็ได้พบภาพที่ไม่เคยนึกเคยฝันว่าจะได้พบในเรือนจำ ภายในตึกนั้นเต็มไปด้วยพระภิกษุสามเณร พระราชามหากษัตริย์ ประธานาธิบดี นายพล มหาเศรษฐี และบุคคลชั้นสูงอีกมากมาย!"

"ทั้งหมดนี้คือนักโทษประหารของผมทั้งสิ้น" ผู้บัญชาการพูดแล้วมองดูหน้าข้าพเจ้าคล้ายกับบอกว่า "คนใหญ่คนโตขนาดนั้นยังตกเป็นนักโทษของผม นับประสาอะไรกับคุณซึ่งเป็นคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง"

ข้าพเจ้ารู้สึกหน้ามืด ศีรษะหมุนติ้วคล้ายจะเป็นลม จึงทรุดตัวลงนั่งเอามือกุมศีรษะอยู่ใกล้ประตูตึกนั่นเอง ขณะที่นั่งหลับตาอยู่นั่นเอง ภาพใบหน้าของภรรยาสุดที่รักก็ปรากฏขึ้นมาในห้วงนึกแล้วภาพมารดา พี่น้อง ตลอดถึงลูกศิษย์ที่สอนอยู่เป็นประจำ จิตใจในขณะนั้นวิ่งพล่านกลับไปยังทุกคนและทุกสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง เขาเหล่านั้นจะอยู่อย่างไร กินอย่างไร และคิดอย่างไร เมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้าได้กลายเป็นนักโทษประหารเสียแล้ว ขณะที่จิตใจกำลังวิ่งพล่านอยู่นั้น ภาพพุทธสถานก็ปรากฏขึ้นมาในห้วงนึกพร้อมกับจำได้ว่า ในวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๘ จะต้องไปแสดงปาฐกถาเรื่อง " ตื่นเถิดชาวพุทธ" ประชาชนจำนวนมากที่อยากฟังปาฐกถาจะรู้สึกผิดหวังเพียงไร ถ้าถึงเวลาแล้วไม่มีข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถา พร้อม ๆ กันนั้น ก็เกิดการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวขึ้นมาทันทีว่า จะต้องไปแสดงปาฐกถาให้ได้

"ท่านผู้บัญชาการที่รักและคิดถึง" ข้าพเจ้าพูดออกมาคล้ายคนบ้า "ท่านจะเอากับผมอย่างไรก็เอา ผมยอมทั้งนั้น แต่ผมขอความกรุณาจากท่านเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายคือ ขออนุญาตออกไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสถานในคืนวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคมนี้ ท่านจะอนุญาตหรือไม่"

ผู้บัญชาการนิ่งคิดอยู่นักครู่หนึ่ง แล้วพูดว่า "ตกลง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ผมจะให้เจ้าหน้าที่เรือนจำ ๓ คนควบคุมคุณไปทุกฝีก้าว"

พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนที่เคารพ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพูดอยู่นี้ เจ้าหน้าที่ทั้ง ๓ คนจากเรือนจำก็กำลังยืนคุมข้าพเจ้าอยู่ คนที่ยืนทางขวามือของข้าพเจ้าคือเจ้าหน้าที่ทรมานนักโทษให้ตายโดยวิธีตัดแข้งตัดขา คนที่ยืนทางซ้ายมือนี้คือพนักงานปล่อยสัตว์ร้ายให้กัดนักโทษตาย ส่วนอีกคนหนึ่งที่ยืนถือขวานอยู่ข้างหลังข้าพเจ้านั้นคือเพชฌฆาตผู้ประหารชีวิตนักโทษโดยตรง หลังจากแสดงปาฐกถาที่นี่เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็จะถูกนำตัวสู่เรือนจำและจะถูกประหารชีวิต ณ วันใดวันหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเองไม่มีทางรู้

ข้าพเจ้าขออำลาท่านทั้งหลายไปก่อน......................สวัสดี



ปัญหาและคำตอบในเรื่อง "นักโทษประหาร"


. เรือนจำใหญ่ได้แก่อะไร ทำไมจึงเรียกว่าเรือนจำ

ตอบ เรือนจำใหญ่ได้แก่โลกนี้ทั้งโลก ถ้าพูดอย่างกว้าง หมายถึงภพทั้งสามภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งเป็นดินแดนตายของสัตว์ เหตุที่ได้ชื่อว่าเรือนจำก็เพราะเป็นที่กักขังสัตว์ไว้ มิให้บรรลุถึงพระนิพพาน

. นักโทษประหารหมายถึงใคร ทำไมจึงเรียกว่านักโทษประหาร

ตอบ นักโทษประหารหมายถึง สัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสาม เหตุที่เรียกว่านักโทษประหารก็เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายในสามภพ ไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดต่ำหรือสูง จะต้องตายทั้งสิ้น

. ข้อที่ว่า นักโทษไม่รู้ว่าตัวเป็นนักโทษถูกขังอยู่ในเรือนจำนั้นหมายความว่าอย่างไร

ตอบ หมายความว่าสัตว์ที่เกิดในสามภพ หารู้สึกตัวไม่ว่าตนติดอยู่ในห้วงทุกข์ และจะต้องตาย แต่มัวสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ในภพนั้น ๆ จนลืมตัว

. ข้อที่ว่านักโทษในเรือนจำรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ช่วยเหลือกันและกัน แสวงหาสมาชิกมาเข้ากลุ่ม และมีการเฉลิมฉลองเมื่อมีสมาชิกใหม่นั้น หมายความว่าอย่างไร

ตอบ หมายความว่า คนในโลกรวมกันอยู่เป็นครอบครัว เมื่อมีคนเกิดขึ้นในครอบครัวก็ดีอกดีใจ ถ้าไม่มีก็พยายามที่จะให้มีทุกวิถีทาง

. ตำรวจที่นำนักโทษมาส่งเรือนจำหมายถึงอะไร

ตอบ หมายถึงชาติหรือความเกิด ซึ่งส่งให้สัตว์มาเกิดในภพทั้งสาม

. กำแพงทั้งสามชั้นที่ล้อมเรือนจำไว้หมายถึงอะไร

ตอบ กำแพงอิฐชั้นใน หมายถึงกรรมดีและชั่ว ที่เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในสามภพ กำแพงหินชั้นกลางหมายถึงกิเลสหยาบ เช่น โลภ โกรธ หลง อันเป็นเหตุให้สัตว์ทำกรรม กำแพงเหล็กชั้นนอกหมายถึงอวิชชา ซึ่งเป็นกิเลสละเอียดทำลายได้ยาก แม้เกิดในพรหมโลกก็ยังมีอวิชชา

. ขวานหิน ขวานเหล็ก ขวานเพชร สำหรับทำลายกำแพงอิฐ กำแพงหินและกำแพงเหล็กหมายถึงอะไร

ตอบ ขวานหิน หมายถึงศีล สำหรับควบคุมกายวาจาให้เรียบร้อย ขวานเหล็กหมายถึงสมาธิ สำหรับปราบกิเลสหยาบ ขวานเพชรหมายถึงปัญญา ซึ่งใช้สำหรับทำลายกิเลสละเอียดคือ อวิชชา

. นักโทษที่กำลังแหกคุก โดยใช้ขวานทำลายกำแพงอิฐ กำแพงหินและกำแพงเหล็กหมายถึงใคร

ตอบ หมายถึงพุทธบริษัททั้งสี่ ผู้เห็นภัยในวัฏฏะ ปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อทำลายกรรม กิเลสหยาบและกิเลสละเอียด เพื่อความเป็นอิสระจากวัฏฏะ นักโทษที่กำลังทำลายกำแพงอิฐมีมาก เปรียบเหมือนคนที่ปฏิบัติขั้นศีลได้มีมาก นักโทษที่กำลังใช้ขวานเหล็กทำลายกำแพงหินมีน้อยลง เปรียบเหมือนพุทธบริษัทขั้นสมาธิมีน้อย นักโทษที่ใช้ขวานเพชรทำลายกำแพงเหล็กมีน้อยที่สุด เปรียบเหมือนพุทธบริษัทที่เข้าถึงปัญญามีน้อยที่สุด

. ทางเรือนจำไม่ห้ามปราม นักโทษที่คิดจะแหกคุก และถ้าแหกคุกได้สำเร็จยังได้รับสิทธิพิเศษให้เข้าออกเรือนจำได้ทุกเวลา ให้ชักชวนนักโทษอื่น ๆ ให้แหกคุกได้หมายความว่าอย่างไร

ตอบ หมายความว่า วัฏฏะไม่เคยกีดกันผู้ที่จะปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อบรรลุพระนิพพานเมื่อบรรลุพระนิพพานแล้ว จะเทศนาสั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายทำลายวัฏฏะเสีย ก็อาจทำได้

๑๐. บุรุษผู้ยืนโฆษณาชักชวนให้นักโทษแหกคุกและแจกขวานหิน ขวานเหล็ก ขวานเพชรหมายถึงใคร

ตอบ หมายถึงพุทธบริษัทผู้เห็นภัยในวัฏฏะ ปฏิบัติตามศีลสมาธิปัญญาจนบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยตนเอง แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม การที่นักโทษไม่ค่อยสนใจ เปรียบเหมือนมนุษย์ในโลกที่มัวเพลิดเพลินอยู่กับอารมณ์ของโลก ไม่สนใจในพระศาสนา ไม่ปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา

๑๑. การที่ "ข้าพเจ้า" เข้าไปเยี่ยมเรือนจำ แล้วก็พลอยถูกจับกลายเป็นนักโทษประหารไปด้วยหมายความว่าอย่างไร

ตอบ หมายความว่า ใคร ๆ ก็ตามที่ไปเกิดในภพทั้งสามแล้วจะต้องตายทั้งสิ้น

๑๒. เจ้าหน้าที่ทั้งสามของเรือนจำที่ควบคุม "ข้าพเจ้า" อยู่ทุกฝีก้าวนั้นหมายถึงอะไร

ตอบ เจ้าหน้าที่ทรมานสัตว์โดยการค่อย ๆ ตัดอวัยวะต่าง ๆ ออกทีละน้อย หมายถึงชรา ความแก่ เจ้าหน้าที่ปล่อยสัตว์ร้ายกัดนักโทษให้ตาย หมายถึงพยาธิ ความเจ็บป่วย เพชฌฆาตผู้ประหารชีวิตนักโทษโดยตรง หมายถึงมรณะ ความตาย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


หมายเหตุ - ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.fungdham.com/story.html

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนากับท่านผู้ประพันธ์ และทางเว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่ด้วยครับ




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP