กระปุกออมสิน Money Literacy

ฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ ทางเลือกแรกของคนออมเงิน


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

เงินเดือนที่เราได้รับทุกเดือนๆ บริษัทเขาจ่ายเรายังไงครับ หรือ ถ้าอยู่ดีๆผมถูกรางวัลสลากกินแบ่ง ได้เงินมาก้อนหนึ่ง ยังไม่รู้ว่าเงินก้อนนี้จะเอาไปใช้ทำอะไร ผมควรนำเงินก้อนนี้ไปพักที่ไหนดี หรือ แม่ค้าในตลาด ได้เงินจากการขายผัก อยากเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน แม่ค้าควรเลือกเอาเงินไปฝากไว้กับใคร ทั้งสามคำถามที่ถามไปนั้น คำตอบล้วนแล้วแต่เป็น เงินฝากธนาคาร

ระบบเศรษฐกิจของเมืองไทยของเราตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความเกี่ยวข้องกับธนาคารเป็นอย่างยิ่ง จะเก็บเงิน จะหาแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อการลงทุน คนไทยร้อยทั้งร้อยนึกถึงธนาคารก่อนเป็นอันดับแรก คนต่างจังหวัดรู้จักและสนิทสนมกับผู้จัดการสาขาของธนาคารราวกับเป็นญาติสนิทของตัวเอง จะบอกว่า ชีวิตเราทุกวันนี้ ขาดธนาคารไม่ได้ ก็ดูจะไม่เกินเลยจากความเป็นจริงนะครับ

เหตุดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าไม่แปลกที่หากจะหาแหล่งออมเงิน หาแหล่งพักเงิน เราจะนึกถึงเงินฝากธนาคารก่อนเป็นอันดับแรก แต่รู้กันหรือเปล่าครับว่า เงินฝากธนาคาร เป็นแหล่งออมเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายๆประเภท แต่ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ ก็ยังคงฝากเงินเหล่านั้นไว้กับธนาคาร จะด้วยเพราะไม่รู้ว่าจะไปฝากไว้ที่ไหน หรือเพราะรู้ทั้งรู้แต่ก็ยังพอใจก็เถอะ บทความตอนนี้ ผมขอเล่าขยายความให้ทุกท่านเข้าใจเพิ่มขึ้นนะครับ

เงินฝากที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ก็คือ เงินฝากประเภทออมทรัพย์ ซึ่งข้อดีก็คือ ถอนได้ทุกวัน สภาพคล่องสูง แต่ผลตอบแทนต่ำ คิดดอกเบี้ยให้เราทุกๆ ๖ เดือน ถ้าดอกเบี้ยเกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีร้อยละ ๑๕ อีก แต่... เงินฝากออมทรัพย์ ถือเป็นประเภทเงินฝากที่มีเงินในระบบธนาคารมากที่สุด มาลองคิดกัน ว่าทำไม คนไทยถึงฝากเงินในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์กันเยอะเหลือเกิน สาเหตุแรกที่เจอเยอะที่สุดก็คือ ไม่กล้าเอาไปฝากประจำ เพราะไม่แน่ใจว่าต้องใช้เงินเมื่อไหร่ เลยพักไว้ในเงินฝากออมทรัพย์ดีกว่า แต่ผ่านไป ๒ ปี เงินก้อนนั้นก็ยังอยู่ในออมทรัพย์เหมือนเดิม ในการปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติที่กลัวการหลง กลัวว่าตัวเองจะเกิดกิเลส แล้วเพ่งไว้ ทำสมาธิไว้ ข่มใจให้นิ่งๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองขาดสติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ย้อนกลับมาดูตัวเอง กลับพบว่า ไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นเลย นั้นเป็นเพราะ การพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ จากการกลัวความผิดพลาด จากการกลัวความเสี่ยง หากแต่ การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ เราต้องยอมรับความเสี่ยงบ้าง เพื่อให้เราได้เรียนรู้กายและใจที่เคลื่อนไหว และเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงนั้น อยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ยังกลัวโน่น กลัวนี่ สุดท้าย เงินของเราก็ไม่ได้สร้างดอกผลอะไรให้เลย

เราต้องรู้จักวางแผนการเงินครับ การมีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การมีเงินทั้งหมดของชีวิตอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ อันนี้ ผมคิดว่าผิด ยิ่งปัจจุบัน เรามีบัตรเครดิตให้ใช้จ่ายแทนเงินสดจำนวนมากๆ ลดความกังวลในการถือเงินก้อนไปเดินตามห้างสรรพสินค้า ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะทิ้งเงินไว้ในแหล่งออมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดในระบบ เริ่มต้น อาจลองแบ่งสัดส่วนจากบัญชีของเราไปหาที่ๆผลตอบแทนสูงกว่า แต่ความเสี่ยงไม่สูงขึ้น ดูท่าไม่เลวนะครับ

ผลตอบแทนสูงขึ้น ความเสี่ยงเท่าเดิม แต่ถอนเงินออกมาไม่ได้ทุกวันเหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ก็คือ บัญชีเงินฝากแบบประจำ โดยปกติ ก็มีอายุ ๓ เดือน ๖ เดือน ๑๒ เดือน หรืออาจมีระยะเวลามากกว่านั้น เงื่อนไขก็คือ เมื่อฝากเงินกับบัญชีเงินฝากประจำแล้ว ธนาคารจะไม่อนุญาตให้ถอนเงินออกมา จนกว่าจะครบกำหนดเวลา ยิ่งเราฝากประจำระยะเวลานานขึ้น ดอกเบี้ยจากการฝากเงินก็จะเพิ่มสูงขึ้น ชดเชยสภาพคล่องของเราที่หายไปครับ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำจะต้องเสียภาษีร้อยละ ๑๕ ตั้งแต่บาทแรกนะ ไม่เหมือนบัญชีออมทรัพย์

แล้วบัญชีเงินฝากประจำ ให้ดอกเบี้ยเป็นที่น่าพอใจไหม? ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยของธนาคารที่เราฝากเงิน และขึ้นอยู่กับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในตอนนั้นครับ และสำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราเอง

ตัวปัญหาอยู่ที่เงินเฟ้อ (Inflation) ผมขออธิบายง่ายๆนะ เงินเฟ้อ ก็คือ การที่ระดับราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งขยับสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ ๕ บาท ผ่านไป ๑ ปี ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเป็นซองละ ๖ บาท จะเห็นว่า ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับตัวขึ้นไปร้อยละ ๒๐ ตัวนี้ล่ะครับ เราเรียกว่าเงินเฟ้อ ส่วนสาเหตุที่ราคาสินค้าหรือบริการนั้นสูงขึ้น ก็มาจากหลายๆสาเหตุ เช่น ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น จากราคาน้ำมัน หรือเงินเดือนพนักงานบริษัทที่ปรับตัวสูงขึ้น หรืออาจมาจากความต้องการซื้อสินค้าที่มีมากกว่าปริมาณสินค้าในช่วงเวลานั้น ฯลฯ

จากตัวอย่างราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นข้างต้น สมมติ ผมมีเงินเก็บอยู่ ๕ บาท เมื่อตอนที่ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังอยู่ที่ ๕ บาทเท่ากัน แสดงว่า ตอนนั้นผมสามารถซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ แต่ผ่านไป ๑ ปี ถ้าผมไม่เอารายได้เพิ่มเติมจากการทำงานมาคำนวณ ดูเฉพาะ ๕ บาทเดิม ถ้าผมเอาเงินไปฝากในธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ ๒๐ ก็เป็นอันว่า ผมกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ได้แล้ว เพราะราคามันขยับขึ้นไปเป็น ๖ บาท แต่เงินผมรวมดอกเบี้ยก็ยังต่ำกว่า ๖ บาทอยู่ดี ดังนั้น สรุปได้ว่า หาก เงินเฟ้อ สูงกว่า ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินธนาคาร อำนาจการซื้อสินค้าของเราจะลดลง และมูลค่าที่แท้จริงของเงินเราก็ลดลงตาม ถึงแม้เราจะมีเงินในปริมาณเท่าเดิมก็ตาม ปัญหาก็คือ มีโอกาสน้อยกว่าครับ ที่เงินฝากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นออมทรัพย์หรือฝากประจำ จะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ

อย่างที่บอกตั้งแต่แรกครับ เงินฝากธนาคาร เป็นแหล่งออมเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ดังนั้นเพื่อการวางแผนการเงินและให้เงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แค่เงินฝากธนาคาร คงไม่พอ

เงินฝากธนาคาร เปรียบไปก็คงคล้ายกับการพักผ่อน ทำให้เราพร้อมรับมือกับงานในวันถัดไป แต่ถ้าเราเอาแต่พักผ่อน งานข้างหน้าก็คงไม่มีความคืบหน้าให้เห็น แถมยังโดนคนอื่นวิ่งแซงอีกต่างหาก นักปฏิบัติ ก็ต้องเจริญสติ รู้กายรู้ใจนะครับ แค่ทำสมาธิทำความสงบ งานก็ไม่คืบหน้าเช่นกัน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP