กระปุกออมสิน Money Literacy

ลงทุนต่างประเทศ กระจายความเสี่ยงหรือยิ่งเพิ่มความเสี่ยง


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

ถ้าจะบอกให้ยกตัวอย่างซักสิ่งหนึ่งในโลกนี้ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ คำตอบที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ และอาจจะนึกได้เป็นอย่างแรก ก็คือ ใจของเรานั้นเอง แต่บางครั้ง ใจของเราเองเนี่ยล่ะ ที่บอกกับเราว่า มันไม่เคยมั่นใจอะไรขนาดนี้มาก่อน หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่า ลางสังหรณ์ หรือ หลายๆคน เรียกมันว่า ความบังเอิญ

ในศาสนาพุทธ ไม่มีคำว่าบังเอิญนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเกิดจากเหตุและผล ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ใจของเรา ชีวิตของเรา ก็ล้วนเป็นเช่นนี้ นี่คือสิ่งที่แน่นอนภายใต้ความไม่แน่นอนทั้งหลายในโลกเราใบนี้

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการลงทุนในต่างประเทศ?
ในความไม่แน่นอน มีความแน่นอนซ่อนอยู่ และในความแน่นอน ก็มีความไม่แน่นอนซ่อนอยู่ ลงทุนในต่างประเทศ เสี่ยงไม่เสี่ยง อยู่ที่นักลงทุนครับ ตอบตรงๆแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้หรอกว่า ช่วยกระจายความเสี่ยงได้จริง หรือ กลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงหนักขึ้นไปอีก

ย้อนกลับไปทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่า ว่าทำไมเขาถึงไปลงทุนในต่างประเทศกัน สาเหตุก็มีหลายอย่างครับ นักลงทุนบางคนทำธุรกิจนำเข้าส่งออก รายได้ หรือรายจ่าย อาจเป็นเงินในสกุลอื่นที่ไม่ใช่เงินบาท จึงจำเป็นต้องเปิดบัญชีกับธนาคารต่างประเทศ และหลายๆครั้ง เมื่อกำไรเหลือ และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน การแลกเปลี่ยนเงินระหว่างสองสกุลไปๆมาๆ จะเจอกับความผันผวนของค่าเงิน และค่าธรรมเนียมที่คิดตามรายการแต่ละครั้ง ดังนั้นก็ตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศผ่านตราสารหนี้ หรือตราสารทุนไปเลย ถึงเวลาใช้เงิน ก็ไม่ต้องแลกไปแลกมาอีก

หรือ นักลงทุนที่มีการลงทุนในประเทศในสัดส่วนที่เยอะแล้ว และมีความกังวลว่า เงินลงทุนของตัวเอง อยู่ในที่เดียวกันทั้งหมด หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา กลายเป็นเงินต้นหายไปทั้งจำนวน คงทำใจไม่ได้แน่ๆ เมื่อคิดได้อย่างนี้ ก็หาแหล่งออมเงิน หาแหล่งลงทุนที่อื่น เพื่อการกระจายความเสี่ยง จากตัวอย่าง นักลงทุนทั้งสอง ต้องการลดความไม่แน่นอนลงครับ

นอกจาก ใจของเราที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แล้ว ในโลกของการเงิน ก็ไม่มีสิ่งใดแน่นอน เช่นเดียวกัน

ความคาดหวังหลังจากที่เราไปลงทุนต่างประเทศก็คือ ผลตอบแทน ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนในประเทศครับ ส่วนคำถามที่ว่า นี่คือความคิดที่ดีแล้วหรือ ขนาดลงทุนในเมืองไทย ของใกล้ๆตัวเรา ยังทำกำไรลำบากเลย ถ้าเกิดคำถามนี้ขึ้นมาละก็ ผมตอบได้เลยครับว่า คุณยังไม่พร้อมรับความเสี่ยง คุณยังไม่พร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศ สาเหตุก็เนื่องมาจาก คุณยังมีความรู้ไม่มากพอในสิ่งที่คุณได้ลงทุนไป ระดับของการยอมรับความเสี่ยงของคุณจึงต่ำลงไปด้วย

แต่บางครั้งเราก็เห็นนักลงทุนหลายๆคนในตลาดหุ้น ซื้อขายรายวัน วันละหลายๆตัว กำไรเล็กๆน้อยๆเอาหมด ไม่สนใจด้วยซ้ำ ว่าหุ้นที่เขาซื้อนั้น ทำธุรกิจอะไร กำไรมากน้อยแค่ไหน ผู้บริหารไว้ใจได้หรือเปล่า นักลงทุนประเภทนี้ ส่วนตัวแล้ว ผมนิยามว่า นักเก็งกำไรครับ สำหรับคำว่านักลงทุนเขาคือคนที่ ศึกษาหาข้อมูล รู้ข้อจำกัด รู้จุดแข็งและจุดด้อยของตัวเอง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

ผมไม่นิยาม นักลงทุนตามความเสี่ยงที่เขารับได้นะ จะเสี่ยงมาก หรือเสี่ยงน้อย ถ้าเขามีสิ่งที่ผมบอก ถือว่าเป็นนักลงทุนได้ทั้งนั้น ดังนั้น หากคุณออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้ศึกษาหาข้อมูล ก็เท่ากับ ออกไปเก็งกำไร ออกไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับเงินลงทุนตัวเอง ฉะนั้น อย่าทำ เตือนกันแล้วนะ

ความเสี่ยงอะไรที่เราควรรู้ไว้ ก่อนจะขนเงินไปลงทุนในต่างแดน?

ประการแรก คือ อัตราแลกเปลี่ยน (Currency Risk) เพราะไปลงทุนในเงินสกุลต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ไปลงทุนในหุ้นที่อยู่ในฮ่องกง สกุลเงินที่ใช้ก็เป็นฮ่องกงดอลล่าร์ ตอนไปซื้อหุ้นที่โน้น อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ ๓.๘ บาทต่อฮ่องกงดอลล่าร์ ผ่านไปหนึ่งเดือน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็น ๓.๔ บาทต่อฮ่องกงดอลล่าร์ ถึงแม้ราคาหุ้นจะอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน แต่ถ้าเราขายหุ้น และแลกเงินกลับมาเป็นเงินบาท จะเห็นว่าได้เงินบาทน้อยลง จากเท่าทุน กลายเป็นขาดทุนทันที

ประการที่สอง คือ ความเสี่ยงของประเทศที่เราไปลงทุน (Country Risk) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของรัฐบาลในประเทศนั้น และมากระทบกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เราลงทุนอีกต่อหนึ่ง

ประการที่สาม คือ ความเสี่ยงด้านการเมือง และเศรษฐกิจ (Political and Economic Risk) จริงๆข้อนี้ก็คล้ายๆกับข้อสองนะครับ แต่ข้อนี้หมายถึงเชิงลบเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐศาสตร์ระดับมหภาคอย่างฉับพลัน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิด โดยส่วนใหญ่ ความเสี่ยงด้านการเมืองแบบนี้ จะพบเห็นในการลงทุนในกลุ่มประเทศที่เราเรียกว่าตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ครับ


ในมุมมองของนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง บ่อยครั้งเลยครับที่ตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศ ก็เพราะความไม่มั่นใจในความเสี่ยงด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ภายในประเทศเราเอง

ถ้าเรารู้ว่า ความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศมีอะไรบ้าง ศึกษามาอย่างเพียงพอแล้ว ก็ถือได้ว่า เราได้ทำการกระจายความเสี่ยงให้กับการลงทุนของเราครับ คนสองคน ถึงแม้จะออกไปลงทุนในต่างประเทศเหมือนกัน แต่ก็เป็นไปได้ว่า คนหนึ่งกำลังกระจายความเสี่ยง แต่อีกคนหนึ่งกลับกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเอง ข้อแตกต่างของสองคนนี้ก็คือ คนหนึ่ง รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่อีกคนหนึ่ง ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร

จริงอยู่ ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่เราลงทุน แต่มากกว่านั้น ความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับ ความรู้ ความใส่ใจ ของนักลงทุนเองครับ ต่อให้ไปลงทุนอะไรยากๆ ถ้าตั้งใจศึกษา ตั้งใจเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อยๆ ที่ว่าเสี่ยงในสายตาคนอื่น อาจเปลี่ยนมาเป็นง่ายในสายตาเราก็ได้ ใครเคยท้อกับตัวเองว่า ตามรู้กาย รู้ใจตัวเองไม่ทัน เผลอที เผลอนานเป็นวันๆ ทำไมมันยากจังก็ไม่รู้ ขอเพียงถ้าตั้งใจศึกษา ตั้งใจเรียนรู้ดูการเปลี่ยนแปลงของจิตของใจไปเรื่อย ที่ท้อในตอนแรก ก็อาจเปลี่ยนมาเป็น สนุกกับการดูใจตัวเองนะครับ

สุดท้ายแล้ว ขอสรุปหน่อยว่า ลงทุนต่างประเทศ เป็นการกระจายความเสี่ยงหรือยิ่งเพิ่มความเสี่ยง อยู่ที่ความขยัน ตั้งใจศึกษา และการพัฒนาของตัวเราเอง การจะพัฒนายกระดับจิต ตามรู้กายรู้ใจให้ทัน ก็อยู่ที่ความขยันตั้งใจศึกษา และพัฒนาตัวเองเช่นเดียวกันครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP