จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

สงครามชีวิต


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


058_destination



ท่านผู้อ่านเคยทำข้อสอบข้อเขียนไหมครับ
สมัยที่ผมเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ผมต้องสอบข้อเขียนในหลายวิชาเลย
ส่วนใหญ่แล้ว ข้อสอบชุดหนึ่งจะมี ๔ ข้อ ข้อละ ๒๕ คะแนนเท่า ๆ กัน
มีเวลาสอบสองชั่วโมง โดยแบ่งเวลาแล้ว ก็ตกประมาณข้อละ ๓๐ นาที
ซึ่งจะต้องทำคะแนนให้ได้ ๖๐ คะแนนเป็นอย่างต่ำ จึงจะถือว่าสอบผ่าน

เมื่อผมได้เข้าสอบสักสองสามวิชาแล้ว ผมก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่า
การที่จะทำคะแนนสอบให้ได้ดีนั้น ผมไม่จำเป็นต้องแบ่งเวลาทำข้อสอบทุกข้อเท่ากัน
เพราะว่าในข้อสอบทั้งหมด ๔ ข้อนั้น ผมเข้าใจหรือสามารถตอบได้ไม่เท่ากัน
หากสมมุติว่า ในจำนวนข้อสอบ ๔ ข้อนั้น ข้อหนึ่งและข้อสอง ผมตอบได้
ส่วนข้อสาม ผมพอจะตอบได้ และข้อสี่นั้น ผมตอบไม่ได้หรือตอบได้นิดเดียวนะครับ

การที่ผมจะแบ่งเวลาทำข้อสอบ ๔ ข้อเท่า ๆ กันนั้น ถือว่าไม่เป็นประโยชน์
เหตุผลเพราะว่าในข้อสอบข้อที่สี่ซึ่งผมตอบไม่ได้หรือตอบได้นิดเดียวนั้น
ต่อให้ผมจะใช้เวลาเยอะเพียงไรก็ตาม ผมก็ได้คะแนนน้อยอยู่ดี
แต่สำหรับข้อสอบข้อที่ผมตอบได้หรือพอจะตอบได้นั้น หากมีเวลาพอสมควรแล้ว
ผมก็จะตอบได้เยอะ อธิบายได้ครบถ้วน และก็จะได้คะแนนดีในข้อนั้น ๆ

ในตัวอย่างที่ยกมานี้ หากผมแบ่งเวลาทำข้อสอบเท่ากันข้อละ ๓๐ นาทีนะครับ
สองข้อแรกที่ผมทำได้นี้อาจจะได้คะแนนข้อละ ๑๕ - ๒๐ คะแนน
ข้อที่สามซึ่งพอทำได้อาจจะได้ ๑๐ - ๑๕ คะแนน
ส่วนข้อสี่ที่ทำไม่ได้นี้ อาจจะได้ ๐ – ๕ คะแนน
ซึ่งเมื่อรวมแล้วก็จะได้คะแนนรวมอยู่ประมาณ ๔๐ – ๖๐ คะแนน
กล่าวคือ มีโอกาสผ่านอยู่บ้าง แต่โอกาสสอบตกเยอะกว่ามาก

หากผมเปลี่ยนใหม่ โดยแบ่งเวลาทำข้อสอบใหม่
ผมให้เวลาทำข้อสอบกับสองข้อแรกที่ผมทำได้ข้อละ ๔๐ นาที
ให้เวลาข้อสามเพิ่มเป็น ๓๕ นาที และให้เวลาข้อสี่เพียง ๕ นาที
คะแนนที่ได้ก็น่าจะเปลี่ยนไป และจะได้ประโยชน์มากกว่า
สองข้อแรกที่ผมทำได้นี้อาจจะได้คะแนนข้อละ ๒๐ – ๒๕ คะแนน
ข้อที่สามซึ่งพอทำได้อาจจะได้ ๑๒ - ๑๘ คะแนน
ส่วนข้อสี่ที่ทำไม่ได้นี้ อาจจะได้ ๐ – ๓ คะแนน
ซึ่งเมื่อรวมแล้วก็จะได้คะแนนรวมอยู่ประมาณ ๕๒ – ๗๑ คะแนน
กล่าวคือ มีโอกาสผ่านมากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย

เราจะลองยกตัวอย่างทำนองนี้เปรียบเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ก็ได้
โดยในสมัยก่อนที่ผมสอนรุ่นน้องเตรียมตัวทำข้อสอบนั้น
ผมมักจะเปรียบเทียบเหมือนกับว่าเราเป็นกองกำลังทหารเข้าทำสงคราม
โดยเราจะต้องนำกองกำลังทหารเข้าตีกองทัพข้าศึกใน ๔ เมืองเป้าหมาย

สมมุติว่าใน ๔ เมืองเป้าหมายนั้น มีความแข็งแกร่งแตกต่างกัน
เมืองที่หนึ่งแข็งแกร่งมากซึ่งยากมากที่กองกำลังทหารของเราจะเข้าไปตีเอาชนะได้
ส่วนเมืองที่เหลืออีกสามเมืองนั้น แข็งแกร่งพอประมาณ
และอยู่ในวิสัยที่กองกำลังทหารของเราจะสามารถเข้าตีเอาชนะได้

คำถามคือ เราจะแบ่งกองกำลังทหารเป็นจำนวนเท่า ๆ กันเพื่อเข้าไปตีเมืองทั้งสี่หรือไม่
หรือเราจะมองว่ากองกำลังทหารที่จะไปเข้าตีเมืองที่หนึ่งนั้น ส่งไปเยอะก็สูญเปล่า
แต่เราควรจะมุ่งแบ่งกองกำลังทหารไปเข้าไปตีอีกสามเมืองที่อยู่ในวิสัยที่
เราสามารถจะเข้าตีเอาชนะได้ จะเป็นประโยชน์มากกว่า
เพราะอย่างน้อยก็มีโอกาสสูงที่เราจะเข้าตีและยึดได้สามเมือง
แต่หากเราแบ่งกองกำลังทหารเท่า ๆ กันแล้ว
ในเมืองแรกนั้น มีโอกาสสูงมาก ๆ ที่เราจะแพ้และยึดไม่ได้
ในขณะที่อีกสามเมืองนั้น เราแบ่งกองกำลังทหารให้ไว้น้อย
ทำให้โอกาสที่จะเข้าตียึดอีกสามเมืองได้นั้น ลดน้อยลงไปด้วย
จนอาจจะทำให้เราแพ้ และในท้ายสุดแล้ว เราก็ยึดไม่ได้เลยสักเมืองนึง
(ปัญหาทำนองเดียวกับ จับปลาหลายมือนะครับ
จับไม่แน่นสักมือ ท้ายสุด ปลาก็หลุดหมดทั้งสองมือ)

ในทำนองเดียวกันนะครับ กองกำลังทหารเปรียบเสมือนกับเวลาในห้องสอบ
ส่วนเมืองที่แข็งแกร่งก็เปรียบเสมือนข้อสอบที่เราตอบไม่ได้นั่นแหละครับ
ยิ่งเราไปแบ่งเวลาให้เยอะ ๆ ก็เหมือนกับแบ่งกองกำลังทหารไปเยอะ ก็จะยิ่งเสี่ยง
ฉะนั้นแล้ว เราก็ส่งทหารไปเพียงน้อย ๆ เท่าที่จำเป็น
แล้วเราก็แบ่งกองกำลังทหารไปตะลุยบุกในสามเมืองที่เรามีโอกาสชนะจะดีกว่า
เพราะว่าเรามีโอกาสที่ดีกว่าในสามเมืองนั้น
ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราแบ่งเวลามาทำข้อสอบในข้อที่เราสามารถทำได้นะครับ

ถามว่าแล้วเรื่องการแบ่งเวลาทำข้อสอบ และการแบ่งกองกำลังทหารไปเข้าตีเมือง
มาเกี่ยวอะไรกับ “สงครามชีวิต” ในชื่อของบทความล่ะ
ตอบว่า เวลาในชีวิตของเราก็ทำนองเดียวกับเวลาที่ใช้ในการทำข้อสอบนะครับ
เราเคยหันมาพิจารณาบ้างไหมว่า เราแบ่งเวลาชีวิตของเราไปทำอะไรบ้าง
เราใช้เวลาในชีวิตของเราไปทำเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์เยอะไหม
เราใช้เวลาไปทำเรื่องที่ไม่มีทางสำเร็จเสมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำบ้างไหม
เรามีเป้าหมายในชีวิตแล้วหรือยังว่าเราจะต้องทำอะไร
หรือว่าเราใช้เวลาชีวิตไปแบบเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ โดยไม่มีจุดหมาย
หรือว่าเรามีจุดหมายชีวิตแล้ว แต่เราก็เรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ไม่ได้ทุ่มเทเพื่อจุดหมายนั้น

หากเราจะเปรียบเวลาในชีวิตของเราเป็นกองกำลังทหารแล้ว
ถ้าเราไม่มีจุดหมายชีวิต ก็เสมือนกับว่าเรายกกองกำลังทหารเดินทางไปเรื่อย ๆ
ตีเมืองโน้นเมืองนี้ไปเรื่อย ๆ ตีชนะได้เมืองบ้าง ตีแพ้เสียกองกำลังทหารไปเยอะบ้าง
โดยที่เราเองไม่มีเป้าหมายที่แน่นอนเลยว่า
ท้ายสุดแล้วกองกำลังทหารของเราจะต้องชนะเมืองไหนกันแน่
หรือเมืองไหนกันแน่ที่เป็นเมืองสำคัญที่เราควรจะทุ่มเทกองกำลังทหารเข้าโจมตี
เมื่อเราไม่ทราบ ก็เท่ากับว่าเราเดินกองทัพทหารไปอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย

หากเรามีจุดหมายชีวิต แต่เรากลับเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ไม่ได้ทุ่มเทเพื่อจุดหมายชีวิตแล้ว
ก็ไม่ต่างกับว่ากองกำลังทหารเรามีเมืองเป้าหมายที่ต้องไปเข้าตีเพื่อยึดให้ได้
แต่ปรากฏว่าเราไม่ได้ยกกองกำลังทหารไปเข้าตีเมืองเป้าหมายนั้น
เรากลับมัวแต่ยกกองกำลังทหารไปตีเมืองอื่น ๆ เรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ๆ
และพอท้ายสุดที่เราตัดสินใจจะเดินทางไปตีเมืองเป้าหมายนั้นแล้ว
ทหารที่เหลืออยู่ ก็มีจำนวนน้อยเกินไปเสียแล้ว (เสมือนกับว่าเวลาไม่พอเสียแล้ว)

จึงแนะนำให้เราทุกท่านลองสมมุตินะครับว่า
เรากำลังอยู่ในสมรภูมิสงครามชีวิต
เรามีกองทัพหรือกองกำลังทหารอยู่ ซึ่งก็คือเวลาในชีวิตของเราเอง
เราจัดสรรกองกำลังทหารอย่างเหมาะสมหรือเปล่า
เราทราบไหมว่า เมืองเป้าหมายของเรา คือเมืองไหน
หากเราทราบดีว่าคือเมืองไหน เราได้จัดสรรกองกำลังทหารไปเข้าตีเมืองนั้นบ้างไหม
หรือว่าเรามัวแต่มั่วยกกองกำลังทหารไปตีเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เมืองเป้าหมายเลย

หากเราไม่ทราบว่าเมืองเป้าหมายของเราคือเมืองไหน
ก็เปรียบเสมือนว่า เราไม่ทราบว่าอะไรคืองานสำคัญที่ต้องทำในชีวิตของเรา
ซึ่งในบทความตอนที่แล้ว ผมได้คุยว่า
ปัญหาอะไรเป็นงานหลักของชีวิตเรานั้น
จะต้องคุยกันยาว เพราะแต่ละคนก็ย่อมมีจริตและเป้าหมายที่แตกต่างกัน
โดยผมก็จะมาคุยแนะนำวิธีค้นหาในคราวนี้นะครับ

ด้วยความที่เราแต่ละคนก็มีจริต และปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกัน
ซึ่งก็อาจจะทำให้เป้าหมายของชีวิตนั้นแตกต่างกัน
ทีนี้ หากเรารู้สึกว่า เรามีเป้าหมายหลายอย่างมากมายเสียเหลือเกิน
ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า อะไรกันแน่ที่เป็นเป้าหมายหลักในชีวิตของเรา
ขอแนะนำว่า การค้นหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญและควรจะต้องทำนั้น
อาจจะพิจารณาได้โดยใช้สองวิธีการ ดังต่อไปนี้นะครับ

วิธีการแรก ให้เขียนรายการเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำในชีวิตออกมาสักสิบเรื่อง
จากนั้น สมมุติว่ามีเวลาให้ทำเพียงวันเดียว และสามารถจะทำได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น
ให้เราเลือกทำเรื่องใดเพียงเรื่องเดียวจากสิบเรื่อง
หากเราเลือกเรื่องไหน แสดงว่าเรื่องนั้นสำคัญที่สุด
จากนั้นให้สมมุติว่าเพิ่มเวลาเป็นสองวัน และสามารถจะทำได้เพียงสองเรื่อง
ให้เราเลือกทำอีกหนึ่งเรื่องเพิ่มขึ้น หากเราเลือกเรื่องไหน แสดงว่าเรื่องนั้นสำคัญเป็นที่สอง
จากนั้นให้สมมุติเพิ่มวันไปอีกทีละวัน และเลือกเรื่องเพิ่มอีกทีละเรื่อง
โดยวิธีการนี้เราก็จะได้เป้าหมายที่เรียงลำดับความสำคัญจากสำคัญมากไปหาสำคัญน้อย

วิธีการที่สอง ให้เขียนรายการเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำออกมาสักสิบเรื่องเช่นกัน
จากนั้น สมมุติว่ามีเวลาให้ทำเก้าวัน และสามารถจะทำได้เพียงเก้าเรื่องเท่านั้น
ให้เราเลือกไม่ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากสิบเรื่อง หากเราเลือกเรื่องไหน
แสดงว่าเรื่องนั้นสำคัญน้อยที่สุด จากนั้นให้สมมุติว่าลดเวลาเหลือแปดวัน
และสามารถจะทำได้เพียงแปดเรื่อง ให้เราเลือกไม่ทำอีกหนึ่งเรื่องเพิ่มขึ้น
หากเราเลือกเรื่องไหน แสดงว่าเรื่องนั้นสำคัญน้อยเช่นกัน
(แต่ยังสำคัญกว่าเรื่องแรกที่เลือกไปแล้ว)
จากนั้นให้สมมุติลดวันลงไปอีกทีละวัน และเลือกเรื่องไม่ทำเพิ่มอีกทีละเรื่อง
โดยวิธีการนี้เราก็จะได้เป้าหมายที่เรียงลำดับความสำคัญจากสำคัญน้อยไปหาสำคัญมาก

อนึ่ง พึงทราบว่าเป้าหมายชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนไปได้ตามเหตุและปัจจัยทั้งหลาย
เช่น คุณวุฒิ วัยวุฒิ ปัญญา หรืออินทรีย์ ฯลฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปนะครับ
สิ่งที่ว่าสำคัญมากเมื่อยามเด็ก อาจจะเป็นสิ่งไร้สาระในยามหนุ่มสาวก็ได้
สิ่งที่ว่าสำคัญมากในยามหนุ่มสาว อาจจะเป็นสิ่งที่ไร้สาระในยามชราก็ได้
ฉะนั้นแล้ว เราก็ควรจะหมั่นทบทวนเป้าหมายชีวิต และการใช้เวลาอยู่เสมอ
โดยเน้นมองไปในระยะยาวด้วย ไม่ใช่มองเพียงเพื่อความพึงพอใจระยะสั้น ๆ

มาถึงตรงนี้ เราน่าจะทราบวิธีหาเมืองเป้าหมายชีวิตของเราแล้วนะครับ
ต่อมา เราก็ลองพิจารณาว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น
เราได้จัดสรรแบ่งกองกำลังทหารอย่างเป็นประโยชน์หรือไม่
เราควรจะต้องปรับปรุงการจัดสรรแบ่งกองกำลังทหารเราอย่างไรหรือไม่
โดยเราพึงพิจารณาวางแผนเหล่านี้ให้รอบคอบ
เพื่อที่จะได้เป็นที่แน่ใจว่ากองกำลังทหารของเราเข้ารบถูกสมรภูมินะครับ
ไม่ใช่ว่าเรามัวแต่ยกกองกำลังทหารจำนวนมากไปตีเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เมืองเป้าหมาย
ปล่อยปละละเลยเมืองเป้าหมาย หรือส่งกองกำลังทหารไปน้อยเกินไป
พอเรามารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อตอนที่เวลาชีวิตหมด หรือใกล้จะหมดแล้วว่า
“โอ้ นี่เรารบผิดสมรภูมิมาตลอดเลย ... ทำแต่งานรองตลอด งานหลักไม่ได้ทำเลยนะ”
เช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราเองนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP