ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรจะมีสมาธิตั้งมั่นได้ตลอดเวลา



ถาม - ทำอย่างไรจะมีสมาธิตั้งมั่นได้ตลอดเวลาคะ

มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีวิธี
แต่มันมีวิธีที่จะทำให้จิตของเรามีคุณภาพมากขึ้นในชีวิตประจำวัน
นั่นก็คือเมื่อเกิดเหตุวุ่นวายอะไรก็แล้วแต่ เข้ามากระทบจิตใจของเรา
แล้วมีปฏิกิริยาทางใจออกไปเป็นความวุ่นวาย เป็นความไม่บาลานซ์
ไม่สามารถที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้
ให้ยอมรับตามจริง ยอมรับตามจริงที่นี่นะ (แตะมือที่กลางหน้าอก)
ไม่ใช่ยอมรับตามจริงข้างนอก
ไม่ใช่ว่าใครเขาทำเรื่องผิดแล้วเราก็ปล่อยดูดาย ไม่ต้องไปจัดการ ไม่ต้องอะไร
คือเราจัดการตามหน้าที่ได้ทุกอย่าง ด้วยอาการทางกาย
แต่ด้วยอาการทางใจ เราต้องยอมรับตามจริง
ว่ามีปฏิกิริยาวุ่นวายอยู่แค่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่

ถ้าหากว่าตอนนี้เรามีปฏิกิริยาทางใจเป็นความเกลียด สมมุตินะ
เวลามีใครมาทำอะไรที่เห็นแก่ตัวเราจะไม่ชอบ
เราจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ทำไมทำอย่างนี้ ไม่ได้ ไม่ยอม
อาการรู้สึกไม่ยอมนี่ มันจะมีอาการเค้น มันจะมีอาการบีบ
มันจะมีอาการเหมือนกับอยากจะเข้าไปว่า หรืออยากเข้าไปกระแทก
อาการแบบนั้นถ้าเกิดขึ้น เรายอมรับตามจริง ยอมรับตามจริงว่ามันเกิดขึ้นในใจ
แล้วเห็นว่าอาการยอมรับตามจริงนั้น หรือเหตุแห่งสตินั้น
มันทำให้อาการอยากไปเค้น อยากไปบีบคอ หรืออยากไปเอาคืนอะไรต่อมิอะไรต่างๆ
มันทุเลาลง มันเบาลงจากใจของเราได้
เห็นว่าความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกเกลียด ความรู้สึกผูกใจเจ็บ
มันไม่สามารถตั้งมั่นในจิตใจของเราได้
ตราบเท่าที่สติมันมีอาการรู้อยู่ ยอมรับตามจริงอยู่

ทีนี้หลังจากที่เราเห็นบ่อยๆ ว่าความเกลียด ความโกรธ ไม่สามารถตั้งอยู่ในใจของเราได้
เราจะรู้สึกว่าจิตใจของเรานี่เยือกเย็น เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาเลยนะ
ไม่ใช่แกล้งที่จะเย็น ไม่ใช่แกล้งที่จะไม่เกลียด
แต่มันรู้สึกว่าไม่อยากเกลียดขึ้นมาเอง ไม่อยากผูกใจขึ้นมาเอง
ลักษณะของใจที่ไม่อยากผูกใจเจ็บขึ้นมาเองนั่นแหละ
คุณลองดูว่าจะทำให้วิธีพูดของคุณมันแตกต่างไป
วิธีที่โต้ตอบกับชาวโลกมันจะแตกต่างไป
และวิธีที่จะมีความสุขอยู่กับตัวเองมันจะมากขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นๆ
จนคุณเกิดความรู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรที่ต่อยอดคุณภาพของจิต ให้ดีขึ้นไปกว่านี้อีก

ซึ่งนั่นก็คือการสังเกต สังเกตตามจริงว่าปฏิกิริยาทางใจทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นความอึดอัดก็ดี ความสบายก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี
ความเคียดแค้นก็ดี หรือว่าความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยก็ดี
ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นที่นี่ (แตะมือที่กลางหน้าอก) แล้วหายไปจากที่นี่ทั้งนั้น
มันไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้
ไอ้เรื่องภายนอก รูปแบบภายนอก คนเกิดมาแล้วก็ต้องตายไป
เขาเข้ามากระทบเรา แล้วเขาก็ต้องกลับบ้านไป
แต่ใจของเราที่อยู่ติดตัวตลอดนี่แหละที่เราดูได้
ที่เรานึกว่าเป็นใจของเราอยู่ตลอดเวลา

แท้ที่จริงแล้วก็อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อะไรอย่างนั้นหายไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

เมื่อเราเฝ้าดูอยู่แล้วๆ เล่าๆ ไม่ว่าจะอารมณ์ลบหรือว่าอารมณ์บวก ไม่ว่าจะเป็นอาการไหนๆ
ในที่สุดใจมันเหมือนกับไม่ยึดอารมณ์อะไรเลย ไม่ครุ่นคิดถึงใครเลย
ไม่เกิดความรู้สึกอาลัยไยดีอะไรเลย
มีแต่ความรู้สึกเป็นสุขตั้งมั่นอยู่กับอิสรภาพของตัวเอง
อันนี้แหละที่มันจะเกิดบาลานซ์แบบใหม่ขึ้นมา
ไม่ใช่เรานั่งสมาธิอยู่ ไม่ใช่เราเอาใจไปผูกกับคำบริกรรมพุทโธ หรือว่าเอาไปจดจ้องกับลมหายใจอยู่
แต่มันเกิดความรู้สึกว่ามันเกิดสมาธิ เกิดบาลานซ์ขึ้นมาจากอิสรภาพทางใจ
ที่ไม่ข้องแวะ ที่ไม่ไปผูกใจอยู่กับใคร
ที่ไม่ไปผูกข้องกับอดีต ไม่ไปสร้างความหวังไว้ข้างหน้า

แต่มีความพออกพอใจที่จะอยู่กับปัจจุบันที่มันไม่ผูกกับอะไรเลย
นั่นแหละ ตรงนี้แหละเป็นสมาธิอีกระดับหนึ่ง
ที่มันจะเกิดขึ้นได้เกือบตลอดเวลา ถ้าหากว่าใจเรายังมีสติอยู่นะ

พูดง่ายๆ โดยสรุปก็คือว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คุณจะไปทำสมาธิ
ตั้งใจให้เกิดบาลานซ์อยู่ตลอดเวลาในระหว่างวัน
แต่เป็นไปได้ที่คุณจะพัฒนาจิตใจของคุณให้มันมีคุณภาพมากขึ้น
ให้มันมีความปล่อยวางมากขึ้น

แล้วความปล่อยวางนั่นแหละที่จะเป็นสมาธิโดยตัวของมันเอง
เป็นสมาธิอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ไม่ใช่เกิดขึ้นจากอาการฝืน ไม่ใช่เกิดขึ้นจากอาการกำหนดปั้นมันขึ้นมานะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP