จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

Butterfly Effect


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

056_destination



เมื่อเดือนที่แล้ว ระหว่างที่ผมกำลังทานอาหารกลางวันอยู่ที่บริเวณใกล้ที่ทำงาน
พี่ที่ทำงานซึ่งทานอยู่ด้วยกันได้เล่าให้ฟังว่า เขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
โดยในเที่ยวบินขากลับมาประเทศไทยนั้น เขาได้นั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจ (
Business Class)
แต่ปรากฏว่า วันนั้นเขาตั้งใจจะทานเจพอดี จึงไม่ได้ทานอาหารหลายอย่างที่เสิร์ฟ
บนเครื่องบินในชั้นธุรกิจนั้น เขารู้สึกเสียดายมาก เพราะมีอาหารน่าอร่อยหลายอย่าง

ผมได้ฟังแล้วก็ให้ความเห็นว่า จริง ๆ แล้ว พี่ก็ทำดีอยู่แล้วนะ
หากจะเปลี่ยนแนวคิดนิดเดียว จะได้ประโยชน์มากกว่านี้อีก

พี่คนนั้นถามว่า
เปลี่ยนแนวคิดยังไง
ผมอธิบายว่า
หากคิดว่า ที่ตนเองทานเจนั้น เป็นสิ่งที่ดี ทำด้วยใจกุศล เป็นสิ่งควรทำแล้ว
การที่เราทำในสิ่งที่ควรทำ เป็นกุศล โดยยอมสละไม่ทานอาหารน่าอร่อยหลายอย่างที่เสิร์ฟนั้น
เท่ากับว่า เรายอมสละในสิ่งเย้ายวนใจ เพื่อสิ่งที่เป็นกุศลกว่า และสิ่งที่ดียิ่งกว่า
แทนที่จะเสียดาย พี่ควรจะมีปีติยินดีในสิ่งที่ตนเองได้ทำมากกว่าว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
โดยการทำสิ่งที่ทำได้ยากนี้ ก็ย่อมจะสร้างบารมีมากกว่าการทำสิ่งที่ทำได้ง่าย


พี่คนนั้นบ่นเพิ่มว่า “ผมไม่ได้แจ้งเขาให้เตรียมอาหารเจไว้ล่วงหน้า เขาเลยไม่มีอาหารเจให้
นี่ผมเลยได้ทานแค่ขนมปัง กับน้ำผลไม้นะ ไม่ได้ทานอาหารอื่น ๆ เลย”
ผมตอบว่า “ก็ยิ่งดีสิครับพี่ ในเมื่อยิ่งทำได้ยาก ก็ถือว่ายิ่งเป็นการสร้างบารมีมาก
แต่แล้วพี่ก็ทำได้ใช่ไหมล่ะ ในที่สุดก็ทานเจใช่ไหม จึงควรจะมีปีตินะ ไม่ใช่รู้สึกเสียดาย”

ในชีวิตคนเราก็จะได้พบเจอเรื่องทำนองนี้มากมายนะครับว่า เวลาที่เราทำดีอะไรสักอย่าง
เรามักจะลืมคุณค่าของสิ่งดี ๆ ที่เราทำนั้น แต่เรากลับไปมองสิ่งอื่นที่มีคุณค่าด้อยกว่า
กล่าวคือ ทำดีแล้ว แทนที่เราจะมองคุณค่าของความดีที่เราได้ทำ และมีปีติตรงนั้น
แต่เรามักจะไปมองสิ่งอื่น มองคนอื่น หรือมองผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นแทน

เช่น บางคนถือศีลไม่ดื่มสุรา แต่พอไปร่วมงานเลี้ยงที่มีไวน์ราคาแพงขวดละเป็นหมื่นแล้ว
ตนเองได้ตัดใจและไม่ดื่มไวน์นั้นเลย แต่พอกลับมาถึงบ้าน ก็บ่นเสียดายว่า
ตนเองไม่ได้ลิ้มรสไวน์ราคาแพงนั้น เพราะว่าถือศีล และรู้สึกเสียดายมากเลย
ในกรณีนี้ หากเราเห็นว่าการถือศีลนั้นมีประโยชน์ มีคุณค่าสูงกว่าแล้ว
เราก็ไม่ควรต้องมาเสียดายกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่มีคุณค่านั้น
ในทางกลับกัน เราควรจะมีปีติว่า เรารักษาศีลไว้ได้ เราไม่ได้พ่ายแพ้ต่อสิ่งเย้ายวนใจ
แต่ในหลายคราว เราก็เป็นกันนะครับที่รู้สึกเสียดายในสิ่งเย้ายวนต่าง ๆ
เพราะว่ากิเลสมักจะมาหลอกให้เราหลงไปคิดให้คุณค่าแก่สิ่งเย้ายวนเหล่านั้นนั่นเอง

บางท่านถึงกับหลงเชื่อหรือกล่าวว่า ทำดีแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ทำดีได้ดีนั้นไม่มีจริงหรอก
ทำชั่วแล้วไม่เห็นได้ชั่วเลย ขนาดคนทำชั่วแล้วได้ดี ก็ยังมีให้เห็นเยอะแยะ
หลาย ๆ ท่านที่มีความเชื่อที่คลาดเคลื่อนเช่นนี้ (และบางท่านนั้นเสียกำลังใจในการทำดีไปด้วย)
อาจจะเป็นเพราะว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตนเองกำลังทำดี แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
หรือเพราะว่าได้ผูกโยงการกระทำ และผลลัพธ์ของการกระทำอย่างคลาดเคลื่อน
หรือเพราะว่าไม่มีสายตาที่ยาวไกลเพียงพอ และไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอ

กรณีที่เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตนเองกำลังทำดี แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ขอยกตัวอย่างว่า
เราร่วมทำบุญงานกุศลงานหนึ่งโดยให้เงินสิบบาท แล้วขอให้ถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง
หากทำบุญเงินไปสิบบาท แต่ขอให้ได้เงินกลับมาเป็นล้านบาท แล้วตนเองก็ไปซื้อหวย
พอไม่ถูกรางวัลที่หนึ่ง หรือรางวัลใด ๆ ก็มาโอดครวญว่า ทำดีแล้วไม่ได้อะไรเลย
เราลองพิจารณาให้ดี ๆ นะครับว่า กรณีเช่นนี้ถือเป็นการทำดีจริงหรือ
หากใครให้เงินไปสิบบาท แล้วบอกว่าจะต้องได้กลับมาสิบล้าน
นี่คงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการทำทานแล้ว น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการค้า หรือธุรกิจมากกว่า
แถมเป็นการค้าที่มุ่งหวังกำไรเกินสมควรเสียด้วย ลงทุนแค่สิบ แต่จะให้ได้กลับมาเป็นล้าน
นอกจากนี้ การเล่นหวยนั้นก็เป็นทั้งอบายมุข (คือ ช่องทางแห่งความเสื่อม
หรือเหตุแห่งความฉิบหาย) และยังเป็นการผิดศีลอีกด้วย แล้วจะบอกว่า ทำดี ได้อย่างไร

หากท่านไหนยังเห็นว่า เป็นการทำดีนะครับ
ขอให้ลองสมมุติว่า มีชายคนหนึ่งให้เงินเรามาสิบบาท
โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อเรารับเงินสิบบาทเขาแล้ว เราจะต้องให้เงินเขากลับไปหนึ่งล้านบาท
เราลองพิจารณาครับว่า การที่เขาให้เงินเราสิบบาท โดยมีเงื่อนไขเช่นนี้
ถือว่าเขาทำบุญกับเรา หรือว่าเขาเอารัดเอาเปรียบเรากันแน่ล่ะ

การทำทาน นั้นแปลว่า การให้ การสละ การแบ่งปันเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
หากเราให้เงินร่วมทำทาน โดยมุ่งหวังว่าเราจะต้องได้รับประโยชน์ใด ๆ แล้ว
(ยกเว้นบุญกุศลที่เกิดขึ้นเองเนื่องจากการทำทานนั้น)
หรือต้องได้ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนกลับมาแล้ว
ก็ย่อมจะถือว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนเอง มากกว่าที่จะทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
ก็ย่อมจะเรียกไม่ได้ว่า ทำทาน หรือหากจะเรียก ก็ถือเป็น ทานที่ด่างพร้อย

บางท่านไม่ดื่มสุรา และบอกว่าตนเองรักษาศีลข้อสุรา และไม่ผิดศีลข้อสุรา
แต่ว่าพอถึงช่วงปีใหม่ ถึงช่วงเทศกาลแล้ว ก็ได้ซื้อสุราหรือไวน์แจก
ลูกค้า และลูกน้องในแต่ละคราวเป็นจำนวนหลายร้อยขวดก็มี
จัดงานเลี้ยงแต่ละที ก็จัดสุรามาเลี้ยงแขกเหรื่อมากมายด้วย (โดยเข้าใจว่าเป็นการทำทาน)
เราลองพิจารณาให้ดีว่า เป็นการทำเพื่อประโยชน์คนอื่นหรือไม่
การดื่มสุรานั้น ก็ย่อมทำให้ขาดสติ เสียสุขภาพ เสียงานเสียการ เดินทางก็อันตราย
เป็นการผิดศีล (และเป็นอกุศลกรรม) บางคนทานมาก ๆ แล้วก็อาจจะทำให้ติดสุราไปเสียด้วย
บางคนเมาแล้วก็พูดจาผิดพลาดทำให้ไปพูดล่วงเกินผู้อื่น หรือทำให้เกิดการทะเลาะกับผู้อื่น ฯลฯ
จะเห็นได้ว่ามีแต่โทษหลากหลายทั้งนั้น จึงควรเรียกว่าเป็นการสร้างโทษให้แก่ผู้อื่น
มากกว่าจะอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่น และย่อมถือได้ว่าศีลข้อสุรานี้ด่างพร้อยแล้ว

บางท่านถือศีลและภาวนา โดยมุ่งอธิษฐานขอให้ได้บางสิ่งที่ไม่สมควร
ยกตัวอย่างว่า หากเราถือศีลและภาวนาเพื่อขอให้ถูกหวย
ซึ่งก็ทำนองเดียวกับกรณีทำทาน เพื่อขอให้ถูกหวยที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
หรือก็เคยมีกรณีหนึ่งนะครับที่ผู้หญิงท่านหนึ่งได้ไปยุ่งกับสามีคนอื่นทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขามีภรรยาแล้ว
ต่อมา ตัวเองเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา สามีของคนอื่นนั้นก็ไม่สนใจและไม่รับผิดชอบ
ผู้หญิงคนนี้ก็ทุกข์ใจมาก เสียใจมาก จึงไปถือศีลและภาวนา หวังว่าจะแก้ไขปัญหานี้
หวังว่าผู้ชายคนนี้จะกลับมาสนใจ กลับมาทำดีด้วย และรับผิดชอบ แต่ก็ไม่เป็นผล
แล้วก็มาสรุปว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้ช่วยอะไรได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ในเมื่อการถือศีลและภาวนาของเธอนั้น ทำไปเพื่อความต้องการได้สามีคนอื่น
ย่อมเป็นเรื่องที่ผิดศีล (และเป็นเรื่องของความโลภและราคะ)
ขณะที่เข้าใจว่าตนเองกำลังถือศีลนั้น แต่จิตใจตนเองกลับต้องการสามีคนอื่นอยู่ตลอด
และตนเองก็ไม่ยอมเลิกยุ่งกับสามีคนอื่นนั้น แล้วจะเรียกว่าตนเองกำลังถือศีลอยู่ได้หรือ
ระหว่างที่ภาวนานั้น ก็ทำไปเพื่อว่าสามีคนอื่นจะได้หันมาทำดีและรับผิดชอบตนเอง
จิตใจหมกมุ่นแต่เรื่องผิดศีล แล้วจะเรียกว่าเป็นการทำดี และรักษาศีลได้ไหม

กรณีที่เราไปผูกโยงการกระทำ และผลของการกระทำอย่างคลาดเคลื่อน
ทำให้เราเข้าใจหรือตั้งเป้าหมายถึงผลลัพธ์ของการทำดีนั้นคลาดเคลื่อนไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เราไปร่วมทำทานในงานกุศลแห่งหนึ่ง และอธิษฐานขอให้ผลบุญนั้น
ส่งผลให้ผู้หญิง (หรือผู้ชาย) ที่เรารู้จักนั้น มาชอบเรา และเป็นแฟนกับเรา
คำถามคือ การที่เรานำเงินใส่ซอง หรือใส่ตู้ร่วมทำบุญไป และ
การที่เธอหรือเขาที่เรารู้จักจะมาชอบเรานั้น มันจะเกี่ยวข้องกันได้ไหม
มันจะผูกโยงเป็นเหตุเป็นผลกันตามที่ใจเราปรารถนาได้จริง ๆ หรือ

สมมุตินะว่า มีผู้ชายหรือผู้หญิงคนหนึ่งมาชอบเรานะครับ แต่เราไม่ชอบเขาหรือเธอคนนั้น
ต่อมาเขาหรือเธอคนนั้น นำเงินไปใส่ตู้ทำบุญ และอธิษฐานขอให้เราหันไปชอบเขาหรือเธอนั้น
ถามว่า เราจะเชื่อไหมครับว่า จากเดิมที่เราไม่ชอบเขาหรือเธอคนนั้นเลย
แต่พอเขาหรือเธอไปร่วมทำบุญและอธิษฐานปุ๊บ เราก็จะเปลี่ยนไปชอบเขาหรือเธอนั้นเลย
เหมือนดังเช่นปาฏิหาริย์เช่นนั้น มันจะเป็นไปได้ไหม มันจะเกี่ยวโยงกันได้ไหม
(จริง ๆ แล้ว หากเขาหรือเธอมาทำบุญกับเราเยอะ ๆ ก็น่าจะมีโอกาสมากกว่าเสียอีกใช่ไหม)
สมมุติหากว่ามีคนที่เราไม่ชอบหลาย ๆ คนไปทำบุญในวิธีการเช่นเดียวกัน
เราก็ต้องหันไปชอบคนทั้งหลายเหล่านั้นทั้งหมดเลยหรือเปล่า มันเป็นไปได้ไหม

หากท่านไหนตอบว่าเป็นไปไม่ได้หรอกนะ
การที่เราจะชอบใครสักคนหนึ่ง มันมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง
ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเขาทำบุญและอธิษฐานเท่านั้น เราก็จะต้องไปหลงชอบเขาแล้ว
กรณีทีของเราที่อยากจะให้คนอื่นมาชอบก็ทำนองเดียวกันแหละครับ
ไม่เช่นนั้นแล้ว ชีวิตเราในโลกนี้จะมีความเสี่ยงมากเลย
หากใครคนไหนอยากจะให้เราไปหลงรักเขาหรือเธอแล้ว
ก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ไปทำทาน และอธิษฐานเท่านั้น
เราก็จะต้องไปหลงรักเขาหรือเธอ และเป็นแฟนกับเขาหรือเธอแล้ว
แม้ว่าเราจะไม่ชอบเขาหรือเธอเลยก็ตาม
(หากทำได้จริง ๆ แล้ว บรรดาดาราเกาหลี หรือดาราไทยจะเหลือไหมเนี่ย ...)

บางท่านอาจจะบอกว่าตนเอง ทำดี แล้วไม่ได้ดี เพราะไม่เห็นจะรวยและมีเงินเลย
ในขณะที่คนอื่น ๆ ที่ทำชั่วและมีเงินมีฐานะร่ำรวยนั้นกลับมีอยู่มากมาย
ก็ขออธิบายว่า การได้เงินและมีฐานะร่ำรวยนี้ไม่เกี่ยวกับการทำดีนะครับ
คนที่ไปหลอกคนอื่น โกงคนอื่น ปล้นคนอื่น ก็อาจจะได้เงินมาได้
คนที่โกงแผ่นดิน ค้ายาเสพติด ทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ก็อาจจะมีฐานะร่ำรวยก็ได้
ส่วนคนที่ทำงานสุจริตกินเงินเดือนไปเรื่อย ๆ ตามปกติ ซึ่งเป็นคนดี และทำดี
ก็อาจจะมีฐานะธรรมดา หรือมีฐานะยากจนก็ได้
ฉะนั้นแล้ว เรื่องฐานะร่ำรวยหรือยากจนไม่ได้เกี่ยวกับว่าทำดีหรือทำชั่วนะครับ
กรณีมีชื่อเสียง หรือได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ก็เช่นกัน
ไม่ได้แปลว่าจะต้องสืบเนื่องมาจากการทำดีเสมอไป
บางคนทำชั่วจนโด่งดังมาก ก็ย่อมจะมีชื่อเสียงจากการทำชั่วก็ได้
บางคนที่ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ เพราะใช้เส้นสาย หรือจ่ายสินบนก็ยังมี
หากเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็อาจทำให้เราผูกโยงการกระทำ
และผลลัพธ์ทั้งหลายอย่างคลาดเคลื่อนไปได้ และทำให้หลงเชื่อไปผิดทาง

กรณีที่บอกว่าไม่มีสายตาที่ยาวไกลเพียงพอ และไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอนั้น
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเห็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงบนพื้นดิน
หากเราไม่ได้มีสายตาที่ยาวไกลพอ และไม่ได้มีความเข้าใจที่เพียงพอ
เราอาจจะเห็นว่าเป็นการโยนข้าวทิ้งลงในพื้นดินเท่านั้น
แทนที่เราจะชื่นชมเขาว่าขยันทำมาหากิน
เราอาจจะตำหนิว่าเขาก็ได้ว่าโง่จริง อยู่ดี ๆ นำเมล็ดข้าวที่ควรเก็บไว้กินนั้นไปโยนทิ้งทำไม
เราตำหนิว่าเขาแล้ว เราก็จากไป เราไม่ได้อยู่จนเห็นต้นข้าวออกรวง
ไม่ได้เห็นผู้ชายคนนั้นเกี่ยวข้าวไปขาย หรือนำข้าวนั้นไปสีเปลือกออก และไปรับประทาน
หรือแม้ว่าเราอาจจะอยู่ต่อ แต่เราก็อยู่ต่อจนถึงแค่เห็นว่ามีต้นข้าวเติบโตขึ้นมาเท่านั้น
และเห็นว่าผู้ชายคนนั้นก็คอยหมั่นให้น้ำ และป้องกันแมลงต่าง ๆ
ในระหว่างนั้น เราเองอาจจะตำหนิผู้ชายคนนั้นซ้ำเสียด้วยว่า
ไปทำอะไรเพิ่มเติมอีกทำไม เสียเวลาเปล่า ๆ ไม่เห็นประโยชน์อะไรเลย
นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่มีสายตาที่ยาวไกล และไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอ

เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยได้ฟังเรื่องชีวิตจริงเรื่องหนึ่งจากสถานีวิทยุธรรมะนะครับ
เรื่องมีอยู่ว่า มีเด็กชายคนหนึ่งที่แม่ป่วยอยู่บ้าน และที่บ้านไม่มีอะไรกินเลย
เขาจึงไปแอบขโมยผลไม้ที่ร้านขายผลไม้ แต่โดนแม่ค้าขายผลไม้จับตัวเด็กชายนั้นไว้ได้
แม่ค้าขายผลไม้นั้นไม่ได้เรียกตำรวจ หรือทำร้ายเด็ก
ในทางกลับกัน เมื่อได้ฟังความจำเป็นจากเด็กแล้ว แม่ค้าจึงสั่งสอนเด็กว่าไม่ให้ลักขโมย
พร้อมกับให้เงินเด็กไปยี่สิบบาท เพื่อไปซื้อข้าวให้แม่ และให้ผลไม้ไปจำนวนหนึ่ง
แม่ค้าขายผลไม้ไม่ได้พบกับเด็กคนนั้นอีกเลย เวลาผ่านไปอีกยี่สิบกว่าปี
แม่ค้าขายผลไม้ได้ป่วยเป็นโรคร้าย และต้องทำการผ่าตัดใหญ่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
สมัยนั้นก็ยังไม่มีบัตรทอง ๓๐ บาทนะครับ
โดยแม่ค้าขายผลไม้เองก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร
จึงเครียดมาก ๆ ว่าตนเองจะมีปัญญาจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้นไหม
แต่เมื่อแม่ค้าผลไม้ได้ไปที่แผนกการเงินของโรงพยาบาลแล้ว
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้แจ้งว่า ค่ารักษาพยาบาลของแม่ค้าผลไม้นั้นได้ชำระแล้ว
โดยลงชื่อผู้ชำระเงินว่าเป็นนายแพทย์ตามด้วยชื่อและนามสกุล
ซึ่งนายแพทย์ท่านที่ชำระเงินให้นั้น ก็คือเด็กชายคนนั้นนั่นเอง
บางท่านอาจจะมองว่า แม่ค้าผลไม้โชคดีมากเลยที่มีคนอื่นมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้
แต่พระภิกษุท่านที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังได้สอนว่า
ในอันที่จริงแล้ว แม่ค้าผลไม้คนนั้นได้ชำระค่ารักษาพยาบาลนี้แต่แรกแล้ว
กล่าวคือชำระ โดยการช่วยเหลือเด็กชายคนนั้นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั่นเอง

จริง ๆ แล้ว เรื่องราวทำนองนี้มีอยู่มากมายนะครับเพียงแต่ว่าเราอาจจะมองไม่เห็น
โดยสิ่งทั้งหลายที่เราทำนั้น สามารถก่อให้เกิด “
Butterfly Effect” ในชีวิตเราได้
บางท่านอาจจะไม่เคยได้ยิน หรือไม่เข้าใจคำว่า “
Butterfly Effect” นะครับ
จึงขออธิบายก่อนว่าหมายถึง การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบอย่างมากมาย
เพราะได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องผ่านช่วงระยะเวลาพอสมควร
(บางคนอาจจะเทียบได้ว่า
เพียงผีเสื้อขยับปีกในที่หนึ่ง ส่งผลให้เกิดพายุหมุนในอีกที่หนึ่ง
หรือ
เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ทำนองนั้น)
เช่นสมมุติว่า เราสามารถเดินทางผ่านเวลาย้อนกลับไปในยุคสมัยหลายล้านปีก่อน
โดยย้อนกลับไปถึงยุคไดโนเสาร์ ซึ่งหากเราได้ไปฆ่าผีเสื้อในยุคนั้นสักตัวหนึ่ง
ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องมากมาย เนื่องเพราะผ่านช่วงระยะเวลาอันยาวนาน
ทำให้สิ่งทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ไม่เหมือนดังที่เป็นอยู่ และจะแตกต่างอย่างมากมาย
โดยหากเราไม่ฆ่าผีเสื้อตัวนั้น มันอาจผสมเกสรดอกไม้ ช่วยให้มีต้นไม้เติบโตอีกหลายพันต้น
ต้นไม้หลายพันต้นจะเป็นอาหารให้แก่ สัตว์เล็ก ๆ อีกหลายหมื่นตัว
สัตว์เล็ก ๆ หลายหมื่นตัวจะขยายพันธุ์และออกลูกหลานมาอีกนับแสนตัว นับล้านตัว
สัตว์เล็ก ๆ นับแสนตัว นับล้านตัวเหล่านั้นจะเป็นอาหารแก่สัตว์ใหญ่อีกจำนวนมากมาย
และก็เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ผ่านช่วงกาลเวลาเป็นหลายล้านปี
(ลองนึกดูครับว่าผลกระทบและความแตกต่างจะมากมายมหาศาลเพียงไร)
ซึ่งหากผีเสื้อตัวนั้นตายก่อนเพราะเราฆ่าแล้ว ผลกระทบเหล่านี้ก็จะหายไป หรือเปลี่ยนไป

หรือหากเราเคยได้อ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญอาจจะพบว่า
บางท่านนั้นได้รับแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่อะไรสักอย่างหนึ่งในยามที่เป็นเด็ก
แรงบันดาลใจนั้นเอง ได้มีผลสำคัญที่เปลี่ยนแปลงและผลักดันให้เด็กคนนั้น
เติบโตและทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์อันยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

หรืออาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าว่า มีชายคนหนึ่งขับรถเดินทางไปอีกจังหวัดหนึ่ง
ระหว่างทาง เขาได้แวะจอดรถยนต์ลงไปซื้อปลาตัวหนึ่งที่กำลังจะโดนฆ่า
และเขาได้นำมันไปปล่อยลงแม่น้ำ อันเป็นการช่วยชีวิตปลาตัวนั้นไว้
ในระหว่างที่กำลังปล่อยปลานั้น ได้มีรถยนต์แล่นผ่านไปคันหนึ่ง
เมื่อเขาปล่อยปลาเสร็จ และเดินทางไปต่อ เขาก็พบว่าทางข้างหน้าสะพานขาด
และมีรถคันที่ได้แล่นผ่านไประหว่างที่เขากำลังปล่อยปลานั้น ได้ตกลงไปในคูคลอง
ซึ่งหากชายคนนั้นไม่ได้แวะเสียเวลาซื้อปลาไปปล่อยแล้ว
รถที่จะตกลงไปในคูคลองนั้น ก็ย่อมจะเป็นรถยนต์ของเขาเอง
และเขาเองก็อาจจะบาดเจ็บถึงตาย หรือพิการ หรือต้องสูญเสียทรัพย์สินมาก
เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเนื่องได้มาก

ในชีวิตคนเราก็ย่อมจะมีเหมือนกันนะครับ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยเห็น
การที่เราเสียเวลาแวะให้เงินขอทานสักคนหนึ่ง ทำให้เราขึ้นรถเมล์ไม่ทัน
แต่หากเราได้ขึ้นรถเมล์คันนั้นได้ทัน เราอาจจะไปประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง
หรือไปเจอโจรล้วงกระเป๋าบนรถเมล์ก็ได้
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถทราบได้เท่านั้น
โดยหากเราทุกคนทราบสิ่งเหล่านี้ได้ ก็คงไม่มีใครกล้าทำชั่ว หรือทำสิ่งอกุศลแล้ว
เราต้องยอมรับว่าบางสิ่งบางอย่างที่ให้ผลร้ายนั้น ไม่ได้ให้ผลทันที ทำให้คนเราประมาท
เช่นว่า หากสูบบุหรี่หนึ่งมวนแล้วจะเป็นมะเร็งปอดตายทันที ก็คงไม่มีใครกล้าสูบบุหรี่
หรือหากดื่มสุราหนึ่งแก้ว แล้วจะทำให้ตับแข็งตายทันที ก็คงไม่มีใครดื่มสุราเช่นกัน
ปัญหาคือสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดทันที แต่ใช้ระยะเวลาที่สะสมอยู่พอสมควร

หากเราสังเกตให้ละเอียดแล้วจะพบว่า สิ่งที่เราได้ทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ล้วนแต่ให้ผลทั้งสิ้น
ล้วนแล้วแต่จะก่อผลกระทบต่อเนื่องไปในอนาคตกาลทั้งนั้น
สมมุติว่า เราอยู่ทำงานล่วงเวลาในที่ทำงานจนดึกดื่นจนกระทั่งงานเสร็จ
แต่พอวันรุ่งขึ้น เจ้านายเรียกเราไปตำหนิว่า งานที่ทำเมื่อคืนนั้นไม่ได้เรื่องเลย
เราอาจจะมองว่า ที่เราได้อยู่ดึกขยันทำงานนี้ ไม่ให้คุณประโยชน์อะไรเลย
เพราะว่าเราโดนเจ้านายตำหนิอยู่ดีว่างานไม่ได้เรื่อง
สิ่งที่เราไม่เห็นคือ เราได้สร้างและสะสมนิสัยความขยัน และความอดทนในตัวเราไว้
และหากเราจะเรียน ศึกษา หรือทำงานใด ๆ ในอนาคต
เราจะมีความขยันและความอดทนดังกล่าวที่จะมาช่วยสนับสนุนเราได้
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้ทำแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เปรียบเป็นการสะสม เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ
ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งดี เป็นกุศล หรือสิ่งไม่ดี เป็นอกุศล ก็ตาม ล้วนสะสมไว้ทั้งหมด

สมมุติว่า หลังเลิกงานในเย็นวันหนึ่ง เพื่อน ๆ ได้ชวนเราไปเที่ยวเตร่และดื่มสุรากัน
หากเราปฏิเสธไม่ไป และเราก็กลับบ้านไปทานข้าวที่บ้าน หรือกลับไปสวดมนต์ หรือภาวนา
ซึ่งเราอาจจะเห็นว่าไม่แตกต่างอะไรมากมายระหว่างไปกับเพื่อนและปฏิเสธไม่ไป
แต่หากเราไปกับเพื่อน ๆ แล้ว สิ่งที่สูญเสียที่เห็นได้ง่าย ๆ คือ เสียเงิน เสียเวลา เสียสุขภาพ
สิ่งที่สูญเสียต่อมาที่อาจจะไม่เห็นก็คือ เป็นการสร้างและสะสมนิสัยของเราเองให้มาทางนี้
และในคราวหน้า หากเขาก็มาชวนเราให้ไป ก็จะชักชวนได้ง่ายขึ้น
แต่หากเรากลับบ้าน เราไปสวดมนต์ หรือภาวนา ก็จะเป็นการสร้างสมนิสัยเราไปในทางอื่น
และหากในวันหลัง เขาจะมาชวนเราไปด้วย ก็จะชักชวนได้ยากขึ้น
โดยสิ่งที่สะสมไว้เหล่านี้วันละเล็กละน้อย สะสมไปเรื่อย ๆ
เมื่อผ่านเวลาไปเนิ่นนานพอสมควรแล้ว ย่อมจะส่งผลแตกต่างกันสิ้นเชิงและมากมาย
เช่น หากเราไปเที่ยวเตร่กับเขาแล้ว ในอนาคตเราก็ไปบ่อยขึ้น
ในระยะยาวเราเองอาจจะเสียเงินเยอะมากขึ้น ป่วยหนักขึ้น
หมดอนาคตการงาน เรากลายเป็นพวกขี้เมาไปด้วย
หรือหาแฟนดี ๆ ไม่ได้ (ได้แฟนเป็นพวกขี้เมาเหมือนกัน) ฯลฯ

โดยเหตุนี้ เราเองจึงไม่ควรประมาทครับ
เคยฟังครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งสอนว่า ไม่ควรประมาททั้งในกุศลกรรม และอกุศลกรรม
กล่าวคือ อย่าประมาทว่าเป็นกุศลกรรมเล็กน้อยแล้ว จึงไม่ทำ
อย่าประมาทว่าเป็นอกุศลกรรมเล็กน้อยแล้ว จึงทำ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะสะสมไว้ และเป็นการสร้างนิสัยของเราเอง
การที่เราเปลี่ยนหรือสะสมการกระทำเล็กน้อย ๆ ในแต่ละวันไปเรื่อย ๆ
ก็ย่อมจะเป็นการเปลี่ยนหรือสร้างนิสัยของตัวเราเอง
เมื่อเปลี่ยนหรือสร้างนิสัยอย่างใดแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อเส้นทางชีวิต
ซึ่งอาจจะถึงขนาดนำพาให้เราพ้นจากสังสารวัฏเลยก็ได้
ในการภาวนาก็เช่นกัน เพียงเราหมั่นขยันทำไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน
เสมือนเติมหยดน้ำทีละหยด สักวันหนึ่ง หยดน้ำทั้งหมดจะเติมเต็มมหาสมุทรได้
แต่หากเราวิ่งตามกิเลสไปเรื่อย ๆ จะเติมไปเท่าไร ก็ไม่มีวันเต็มนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP